เมื่อรัฐมุ่งรักษาความมั่นคง กลับฉุดลากเศรษฐกิจ-สังคมดิ่งเหว?/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

 

เมื่อรัฐมุ่งรักษาความมั่นคง

กลับฉุดลากเศรษฐกิจ-สังคมดิ่งเหว?

 

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้พาตัวเองกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วจนเรียกว่าก้าวเหนือกว่ากลุ่มชาติยุโรปและใกล้เคียงกับสหรัฐ

ซึ่งจีนดำเนินนโยบายและลักษณะเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่เหมือนที่อื่น ด้วยรัฐบาลบริหารประเทศและประชาชนด้วยอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ แต่โอบรับแนวคิดเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตลาด

จึงเกิดระบบและกลไกทางเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนใครโดยเฉพาะหลายประเทศที่มุ่งไปทางเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่

กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกมิติอยู่ภายใต้การสนับสนุนจนถึงกำกับควบคุมโดยรัฐบาลจีน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจสำหรับจีนคือความมั่นคงของชาติ รัฐบาลจีนกุมบังเหียนกับเศรษฐกิจทุกเรื่อง

และด้วยการความเชื่อมั่นของนโยบายที่ออกโดยพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันที่สุด ย่อมต้องออกมาดีที่สุดอย่างไร้กังขา

แต่ว่า…ดีที่สุดกับทั่วโลกแค่ไหน?

 

จีนกำลังเจอโจทย์ใหญ่ที่สกัดความปรารถนาเป็นชาติมหาอำนาจทั้งเศรษฐกิจและการเมือง

อย่างปมละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในซินเจียง ที่มีรายงานว่าพบการลิดรอนสิทธิอย่างเป็นระบบต่อชนกลุ่มน้อยในซินเจียงจำนวนมาก

รวมถึงการบังคับใช้แรงงานและส่งชาวอุยกูร์ไปเป็นแรงงานให้กับโรงงานของจีนหรือแม้แต่บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในจีน

พอมีการจุดประเด็นละเมิดชาวอุยกูร์และเอาไปบังคับใช้แรงงาน ที่มีลักษณะเข้าข่ายใช้แรงงานทาส สาธารณชนและองค์กรภาคประชาชนกดดันบริษัทต่างชาติ ให้แสดงจุดยืนคัดค้านจีนต่อเรื่องละเมิดชาวอุยกูร์ ทำให้หลายบริษัทต้องแสดงตัวไม่รับวัตถุดิบหรือการใช้แรงงานที่มีลักษณะแรงงานบังคับ

ซึ่งจีนตอบโต้ด้วยการปฏิเสธข้อกล่าวหาพร้อมกับโจมตีต่างชาติว่าทำลายเศรษฐกิจจีน ความมั่นคงของจีนมีลักษณะพิเศษที่มีความอ่อนไหวหากว่าภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของชาติทุกบั่นทอนหรือทำให้เสียหาย

และจุดกระแสให้คนจีนพากันแบนสินค้าต่างชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตก

นั้นทำให้เกิดคำถามว่า สิ่งที่จีนรับมือนั้นเหมาะสมแค่ไหน?

 

การมุ่งมั่นปกป้องความมั่นคงสำหรับจีน ไม่เพียงป้องกันภัยจากภายนอกแต่รวมถึงภัยจากภายในจีนด้วย

รัฐบาลจีนได้เข้าไปควบคุมกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อไม่ให้สังคมและประเทศจีนถูกบิดเบือนจากสิ่งที่รัฐบาลจีนมองว่าไม่ใช่ลักษณะของสังคมนิยมแบบจีน

เช่น การจัดการคนรวยที่ใช้ช่องโหว่กฎหมาย บริษัทที่เติบโตจนท้าทายอำนาจรัฐบาล หรือวัฒนธรรมไอดอล ชายร่างบอบบางกิริยานุ่มนวล

ตัวอย่างที่โด่งดังคือ แจ๊ก หม่า แห่งอาลีบาบาที่พอแสดงมุมมองที่ต่างจากรัฐบาลจีนก็ถูกจัดการให้หายจากการรับรู้ของสังคม

หรือฟ่าน ปิงปิง ดาราสาวชื่อดังที่อื้อฉาวกรณีเลี่ยงภาษี ก็ถูกลงโทษด้วยการค่าปรับสูงลิ่วและบังคับให้หายจากแสงสปอตไลต์เกือบปี

การควบคุมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจยุคใหม่แบบดิจิตอล จีนได้ออกสารพัดกฎหมายที่เข้าไปจัดการในนามต่อต้านการผูกขาด ความปลอดภัยของข้อมูลและความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งกฎควบคุมบรรดาบิ๊กเทค อย่างอาลีบาบา, ดี่ดี่ (DiDi) หรือเทนเซนต์ ยักษ์ใหญ่ด้านแพลตฟอร์มและเกม ด้วยข้ออ้างของการป้องกันการผูกขาด

แต่ที่จริงแล้วบิ๊กเทคเหล่านี้กุมฐานข้อมูลลูกค้าจำนวนมหาศาลไว้ซึ่งรัฐบาลจีนอาจต้องการตรงนี้ การออกกฎแบนไม่ให้ใช้เงินคริปโตในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาของตัวเองขึ้นมาแทนในชื่อ “ดิจิตอลหยวน”

การออกกฎจำกัดเวลาเล่นเกม ไปจนถึงควบคุมเทคโนโลยีการศึกษาและโรงเรียนกวดวิชาเพื่อแก้ไขปัญหาชนชั้นกลางที่ประสบปัญหาค่าเล่าเรียนลูกหลานที่สูงขึ้น

แน่นอนว่าจีนจะยืนกรานแนวทางนโยบายต่างๆ เหล่านี้ ว่าเพื่อจรรโลงให้สังคมและเศรษฐกิจดำเนินภายใต้วิถีของรัฐบาลจีน

แต่สิ่งที่จีนทำ กำลังทำให้จีนเสียโอกาสทางเศรษฐกิจลงไปพร้อมกันด้วยหรือไม่

เพราะกฎต่างๆ ที่ออกมา ก็ได้สร้างความกังวลกับบริษัทหรือนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในจีนเพราะเจออุปสรรคและเงื่อนไขที่มากขึ้นอาจทำให้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปที่ประเทศอื่น ซึ่งมีหลายประเทศเร่งความพร้อมตัวเองและรอโอบรับต่ออยู่แล้ว

ผลกระทบด้านกลับต่อเศรษฐกิจของจีนนั้น กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง ถือเป็นกรณีสะท้อนตรงนี้ได้อย่างดี ว่าเพื่อได้สิ่งที่ต้องการ ต้องแลกมาด้วยบางสิ่งที่เท่ากัน

 

ล่าสุดกรณีโควิด-19 ที่เจอหลายเชื้อกลายพันธุ์จนมาถึงโอมิครอน จีนเลือกดำเนินนโยบายที่คงมีแต่ที่จีนที่เดียวที่ทำอยู่คือ นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” พอพบผู้ติดเชื้อแม้เพียงไม่กี่คนก็สั่งล็อกดาวน์ทั้งเมืองและตรวจหาเชื้อคนเป็นแสนเป็นล้านในพื้นที่กันขนานใหญ่ และจำกัดไม่ให้คนจีนออกนอกประเทศหรือรับต่างชาติเข้ามาเป็นเวลาปีกว่า

ผลลัพธ์ที่ได้คือ การจำกัดควบคุมการระบาดแบบเข้มงวดขั้นสุด ได้ทำลายโอกาสฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนและประชาชนได้แต่อยู่กับที่ไม่สามารถออกไปไหนได้

ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนแสดงความกังวลต่อนโยบายดังกล่าวว่า โควิดเป็นศูนย์กำลังผลาญงบประมาณ, เวลาและทรัพยากร และกำลังก่อผลเสียหายไม่ใช่แค่กับจีนที่เดียว แต่กับทั้งระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังการผลิตส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในจีน หรือแม้แต่มาตรการล็อกดาวน์เองก็ส่งผลต่อการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจนอัตราที่ต่ำมาก

การล็อกดาวน์ท่ามกลางยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ความเสียหายก็เรียกว่าส่งผลเป็นลูกโซ่

 

โรเดอร์ริก เคฟเฟอร์พุฟต์ นักวิเคราะห์อาวุโสของ MERICS ได้กล่าวหลังรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งมาวิเคราะห์ เกี่ยวกับนโยบายความมั่นคงของจีน ได้ข้อสรุปว่า ในปี 2022 จีนยังคงดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อแต่จะล้มเหลวในที่สุด เพราะไปสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและนำไปสู่ความคับข้องใจของสาธารณชนให้มากขึ้น

นโยบาย “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” ที่ตามมาด้วยสารพัดกฎหมายที่ควบคุมทุกมิติโครงสร้างของจีน เป็นเจตนาที่จะสร้างรูปแบบสังคมใหม่ขึ้นในแบบของสีจิ้นผิงเอง

ลัทธิชาตินิยมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี จีนใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือกดดันหรือบังคับขู่เข็ญประเทศที่ไม่ยอมรับวิถีทางของจีน อย่างกรณีลิทัวเนียหรือสโลเวเนียที่เลือกผูกมิตรกับไต้หวัน

นำไปสู่คำถามที่ว่า แนวคิดการส่งเสริมภายในแบบเข้มงวดและเผชิญหน้าภายนอกอย่างแข็งกร้าวของจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง จะส่งผลต่อทั้งจีนและระเบียบการเมืองโลกมากแค่ไหน?