กำเนิด ‘สตาร์ตอัพ’ : ความหมาย ความงาม และความรุ่มรวยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

กำเนิด ‘สตาร์ตอัพ’

: ความหมาย ความงาม

และความรุ่มรวยในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479

 

หากท่านได้ไปร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญในปีนั้น ท่านอาจพบเห็นวัยรุ่นแห่งระบอบใหม่ใส่รองเท้าสเก๊ตวิ่งไถลล้อไปโน่นมานี่ในงานเฉลิมฉลองอย่างแคล่วคล่องอย่างใจนึกฝัน

งานฉลองรัฐธรรมนูญจัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 10-12 ธันวาคม 2475 ต่อมา ภายหลังรัฐบาลมีชัยชนะเหนือกบฏบวรเดชแล้วมีการขยายงานฉลองรัฐธรรมนูญติดต่อกันนานถึงครึ่งเดือน จากนั้น มีการจัดติดต่อกันเป็นมหกรรมเฉลิมฉลองที่สำคัญแห่งยุคประชาธิปไตย

สำหรับงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479 นั้น มีงาน 6 วันระหว่าง 8-13 ธันวาคม โดยมีคณะผู้สำเร็จราชการฯ เสด็จเข้าร่วมงานจุดเครื่องนมัสการ พระชัยวัฒน์และรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันที่ 11-12 ธันวาคมด้วย

จากความทรงจำของสงวน โภโต นักเรียนโรงเรียนมัธยม ผู้เข้าร่วมงานในครั้งนั้นเล่าว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญจัดที่สนามหลวงและสวนสราญรมย์ มีประชาชนมาร่วมงานมากมายทั้งกลางวันและกลางคืน งานมิได้แต่เพียงมุ่งความสนุกอย่างเดียว แต่แฝงความหมายแฝงที่ลึกซึ้งด้วย (สงวน โภโต, 2480)

โฆษณาขายขายสเก๊ตในกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2479 สะท้อนคติแห่งยุคสมัย

ความหมายในงานประกวดปราณีตศิลปกรรม

หากท่านเปิดสมุดกำหนดการงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2479 อ่านจะพบประกาศแจ้งการประกวดประณีตศิลปกรรมเป็นครั้งแรก ที่แบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1) ภาพเขียน มีลักษณ์หรือความหมายของรัฐธรรมนูญ หรือหลัก 6 ประการ

2) ภาพปั้น ลอยตัวและนูนต่ำ ลักษณ์หรือความหมายของรัฐธรรมนูญ หรือหลัก 6 ประการ

3) รูปถ่าย มุ่งแสดงความสวยงามของประเทศ ชักจูงชาวต่างประเทศมาเที่ยว รูปถ่ายจะเป็นภาพธรรมชาติ หรือสิ่งก่อสร้างก็ได้

4) ศิลปะการพิมพ์ เปิดให้โรงพิมพ์ต่างๆ พิมพ์ข้อความบทบัญญํติแห่งรัฐธรรมนูญเข้าประกวด โดยพิจารณาจากการเรียงอักษรถูกต้อง ความเรียบร้อยของการพิมพ์ การวางขนาด ความคิดในการสอดรูปสอดสี ภาพหน้าปก หรือลวดลายเดินทองและฝีมือในการเย็บปก และ

5) ตุ๊กตาแต่งกายแบบไทย มี 4 หมวด ตุ๊กตาปั้นด้วยดิน ตุ๊กตากระดาษ ตุ๊กตายัดนุ่นหรือขี้เลื่อย และตุ๊กตาเซลลูลอยด์

นักเรียนคนหนึ่งที่เข้าชมงานแสดงประณีตศิลป์ ได้บันทึกว่า มีการจัดแสดงภาพเขียน ภาพปั้น รูปถ่าย เป็นการมุ่งฝึกฝนให้พลเมืองไทยรู้จักการประดิษฐ์ สร้างสรรค์ การแสดงนาฏศิลป์ มีการแสดงการเต้นรำประกอบดนตรี เป็นการส่งเสริมการศึกษาของชาติ (สงวน โภโต, 2480)

หากท่านเที่ยวชมงานแล้วเจ็บป่วยสามารถไปพบแพทย์พยาบาลได้ที่สวนสราญรมย์ สนามหลวงด้านพระบรมมหาราชวัง อีกทั้งมีพยาบาลพร้อมกระเป๋ายาเดินดูแลผู้เจ็บป่วยทั่วสนามหลวงด้วย

พระยาพหลฯ ชมงานประกวดประณีตศิลปกรรมในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2480 และรูปปั้นชื่อ หลักเศรษฐกิจ ของสิทธิเดช แสงหิรัญ เครดิตภาพ : ชาตรี ประกิตนนทการ

ประชันความงามของสาวสยามทั่วประเทศ

สมุดกำหนดการระบุว่า ประกวดนางสาวสยามครั้งนี้มีการแบ่งรอบคัดเลือกนางงามประจำภาคทั้ง ภาคกลาง ใต้ ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ นางงามพระนคร ธนบุรี จากอำเภอต่างๆ ก่อนประกวดนางสาวสยาม พร้อมมีกำหนดรางวัลให้กับนางงามประจำภาคต่างๆ และนางสาวสยามด้วย

เวทีประกวดที่สวนสราญรมย์ปีนี้ มีการขยายเวที ตกแต่งเวทีด้วยดอกไม้ มีแท่นยืนหมุนนางงามให้ชมรอบทิศ มีการจัดที่นั่งจำนวนมาก มีบาร์ขายเครื่องดื่ม เครื่องว่าง มีการแสดงจากคณะปรีดาลัย โรงเรียนหัวจง ซินหมิน กว๋องสิว จิ๊นเตก เตี่ยจิวกงฮัก หวงหวน และคณะกายกรรมนายเซ้ง สลับฉากอย่างต่อเนื่องตลอดงาน ระหว่างประกวดจะมีดนตรีของคณะปรีดาลัยซึ่งควบคุมโดยนายนารถ ถาวรบุตร บรรเลงขับกล่อมผู้ชมตลอดงาน

ท่านสามารถเลือกชมเวทีประกวดนางงามได้หลากหลาย เช่น วันที่ 8 ธันวาคม มีการประกวดนางงามจากภาคกลางและใต้ วันที่ 9 ธันวาคม ประกวดนางงามจากภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 10 ธันวาคม ประกวดจากนางงามพระนครจากอำเภอต่างๆ และรอบตัดสินว่า ใครคือนางงามภาค และใครคือนางสาวสยาม ซึ่งจัดในวันที่ 12 ธันวาคม

พ่อค้าแม่ค้าวางของขายในงานฉลอง 2479 เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร

ความเป็นเลิศของเด็ก สมรรถภาพ

และความสุนทรียแห่งระบอบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ งานฉลองปีนี้ ยังมีการแข่งสมรรถภาพของพลเมืองแห่งระบอบใหม่ด้วยแข่งกีฬาหลายประเภททั้งบนบกที่สนามหลวงและกีฬาทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งมีการขยายระยะทางของการวิ่งทนเป็น 9,000 เมตรตามตัวเลขลงท้ายศักราชในแต่ละปีด้วย

ในด้านสุนทรียในงานนั้น มีการแสดงดนตรีหลายประเภท ทั้งการแสดงดนตรีฝรั่งเครื่องสายผสม ดนตรีไทยมโหรี แคนวง และเครื่องสาย การแสดงละครไทยและงิ้ว การเต้นรำควิกสเต็ป วอลซ์และแทงโก้ที่สวนสราญรมย์

ปีนั้น มีการประกวดเพิ่มเติมใหม่คือ ประกวดเด็กชายและหญิงสมบูรณ์ ประกวดดอกไม้ไฟ การจัดดอกไม้สดและแห้ง ประกวดสลักผักผลไม้ ประกวดการแต่งเพลงบรรเลงด้วยเปียโน การแข่งขันเครื่องสายของนักเรียน

นอกจากนี้ มีการเต้นรำที่อาคารสโมสรคณะราษฎรที่ขยายเวทีให้ขยายให้กว้างใหญ่ มีระเบียงกว้างสำหรับวงดนตรี 2 วง และช่วงค่ำในวันที่ 8 ธันวาคม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการฯ เสด็จเปิดเวทีเต้นรำเป็นปฐมฤกษ์ด้วย

พานรัฐธรรมนูญ งานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2479 กลางท้องสนามหลวงและนางสาวสยามปีนั้น

“สตาร์ตอัพ”

การประกวดสินค้าอุตสาหกรรมไทยทำ

ด้วยรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้คนไทยผลิตและใช้สินค้าไทย มีการจัดแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ “เพื่อนำให้ประชาชนประดิษฐ์คิดจัดทำขึ้นเองออกเป็นสินค้าจำหน่ายบ้าง หวังว่า การเพาะนิสัยการจัดแสดงการอุตสาหกรรมคงนำประโยชน์ให้ประชาชนตื่นตาตื่นใจขึ้น…”

การแสดงแบ่งเป็น

1) แผนกวิทยาศาสตร์ มีการสอนประชาชนทำน้ำยาสกัดวิตามินบี เอสเทอร์น้ำมันกระเบา การฟอกหนังจากสมุนไพร การปั้นเครื่องดินเผา การทำยามะละกอ

2) แผนกโรงเรียนวิสามัญ โรงเรียเพาะช่าง โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย โรงเรียนอาชีพช่างกล โรงเรียนช่างตัดเสื้อวัดสุทัศน์ โรงเรียนช่างไม้วัดสุทัศน์ โรงเรียนประชาบาล แสดงวิธีการช่างไทย แสดงเครื่องมือก่อสร้าง เครื่องมือช่าง การตัดเย็บ การทำเสื้อ ทำรองเท้า เป็นต้น

3) แผนกเกษตรและวัตถุธรรมชาติให้ความรู้แร่ธาตุ พืชพันธุ์จากป่า พืชผัก แมลงทำลายพืชโรคสัตว์ การปลูกฝ้าย การประมง

4) แผนกสินค้าและหัตถกรรมเรือนจำ แสดงงานประดิษฐ์ของผู้ต้องขัง

5) แผนกสินค้าทั่วไป เป็นการประกวดสินค้า งานประดิษฐ์จากเอกชน

6) หอการค้า แสดงสินค้าที่ผลิตในประเทศ

7) สมาคมโรงสีไฟ แสดงข้าวชนิดต่างๆ พร้อมถุงกระสอบยี่ห้อต่างๆ

8) แผนกอุตสาหกรรม แสดงขั้นตอนการทอผ้า การตัดเสื้อ การทำอาหารกระป๋อง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องจักรสาน เครื่องโลหะ เครื่องไม้ น้ำปลาน้ำจิ้มต่างๆ เครื่องเขียน บุหรี่ สบู่ ยาอม เครื่องสำอาง เป็นต้น

การจัดแสดงครั้งนี้ รัฐบาลกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าส่งสินค้าทั่วไป และสินค้าอุตสาหกรรมโดยมีรางวัลเหรียญทอง เงิน และทองแดง เพื่อส่งเสริมและสร้างความมั่นใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภค

ด้วยสิทธิและเสรีภาพของสตรี การออกสมาคมของสตรี การประกวดนางสาวสยาม ส่งผลให้สตรีเกิดความมั่นใจในตนเอง ส่งผลให้สินค้าเครื่องสำอาง ธุรกิจแต่งหน้าทำผมตามแบบสมัยใหม่ให้นิยมแพร่หลาย

ดังเช่น แป้งหอมยี่ห้อ “แป้งน้ำ 1.77” ซึ่งเป็นแป้งแต่งหน้า แก้สิว เป็นเครื่องสำอางไทยทำ ที่เริ่มผลิตแป้งในเดือนมกราคม 2477 (นับใหม่คือ 2478) ต่อมามีการส่งเครื่องสำอางนี้เข้าประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2479 และรับรางวัลที่ 1 ในปีนั้น ต่อมา โรงงานผลิตแป้งได้แตกธุรกิจแผนกดัดผมขึ้น

ไม่แต่เพียงความมั่นใจของสตรีไทยสะท้อนให้เห็นในความนิยมใช้เครื่องสำอางแต่งหน้าแล้ว ยังเห็นได้จากการปรากฏร้านแต่งหน้าทำผมที่เป็นธุรกิจเสริมสวย เสริมบุคลิกใหม่ให้กับสตรีในพื้นที่สาธารณะครั้งนั้นอีกด้วย

ทั้งนี้ กิจกรรมต่างๆ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479 สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกแห่งยุคสมัยที่เชื่อมั่นในความรุดหน้าอย่างรวดเร็วภายหลังการปฏิวัติ 2475 ของชาติในด้านความเป็นอารยะ ความงามและการส่งเสริม “สตาร์ตอัพ” สินค้าและบริการที่คนไทยผลิตขึ้น

บรรยากาศตลาดนัดและซุ้มประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2479 เครดิตภาพ : เนาวรัตน์ ศรีจามร
ฉลากแป้ง และร้านแป้ง 1.77 สินค้าของไทย
บรรยากาศภายในแผนกดัดผมของแป้ง 1.77 เริ่มต้นธุรกิจเสริมสวยครบวงจร