สุจิตต์ วงษ์เทศ/สวดอภิธรรม มรดกตกทอดจากทำขวัญงานศพ

สุจิตต์ วงษ์เทศ/www.sujitwongthes.com

งานศพ (20)

สวดอภิธรรม

มรดกตกทอดจากทำขวัญงานศพ

งานศพในไทยเป็นมรดกตกทอดยาวนานหลายพันปีมาแล้ว ความเชื่อเรื่องขวัญยังเป็นแกนสําคัญเหมือนเดิมไม่หมดไป แม้เปลี่ยนจากฝังศพลงดิน เป็นเผาศพด้วยไฟ ตามประเพณีใหม่ในศาสนาพราหมณ์-พุทธ

ประเพณีพิธีกรรมหลายอย่างเลิกร้างไปก็มี ปรับเปลี่ยนไปก็มี สืบทอดไม่ขาดสายก็มี ความหมายของประเพณีพิธีกรรมเหล่านั้นไม่คงที่ ถึงทุกวันนี้รู้บ้างไม่รู้บ้าง บางทีคิดว่ารู้ แต่รู้คลาดเคลื่อนก็ไม่น้อย

ดังนั้น ที่พยายามรวบรวมต่อไปนี้ จึงไม่มีข้อยุติ และจะอธิบายเป็นอย่างอื่นอีกก็ได้

แต่งตัวสีสันฉูดฉาด

งานศพดั้งเดิม เป็นพิธีเรียกขวัญส่งขวัญ สนุกสนาน เรียก “งันเฮือนดี” คนไปร่วมงานแต่งตัวตามสบาย

เรือน พ.ศ.2500 งานศพในชนบทของไทย เผาศพบนเชิงตะกอน (ยังไม่มีเมรุ) คนไปงานศพแต่งตัวสีสันฉูดฉาด (เหมือนไปงานสมโภช)

แต่งชุดดําตามวัฒนธรรมตะวันตก เริ่มสมัย ร.5 มีเฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น จนหลัง พ.ศ.2500 จึงค่อยๆ มีในเมืองใหญ่ๆ นอกกรุงเทพฯ แล้วกระจายทั่วประเทศเมื่อไม่นานนี้เอง

พระสวดอภิธรรมที่บ้านงานศพ คนฟังพระสวดแต่งตัวสีสันตามสะดวก (จิตรกรรมเชื่อกันว่าฝีมือขรัวอินโข่ง สมัย ร.4 ในโบสถ์วัดมหาสมณาราม เขาวัง อ. เมือง จ. เพชรบุรี ภาพนี้และภาพอื่นๆ ต่อไป โดย รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล)

สวดอภิธรรม

ทําขวัญงานศพ หมายถึงพิธีเรียกขวัญและส่งขวัญงันเฮือนดีหลายวันหลายคืน ถูกปรับเปลี่ยนเป็นสวดอภิธรรมเมื่อหลังรับศาสนาจากอินเดีย-ลังกา สืบจนทุกวันนี้

พบร่องรอยในอีสานมีสวดอภิธรรมงานศพ เรียกสวดยอดมุมด้วยทํานองโหยหวนมีลูกคอ เมื่อตั้งศพในเรือน และสวดนําหน้าศพตอนหามแห่ไปเผาในป่าช้า (คําบอกเล่าของ ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ จากกาฬสินธุ์)

ตามประเพณีในอินเดีย ไม่มีสวดอภิธรรมงานศพ “เมื่อมีผู้วายชนม์ก็จะห่อหุ้มศพด้วยผ้าประดับดอกไม้วางบนแคร่ และนําไปประชุมเพลิงทันที” (จากบทความเรื่องพิธีเกี่ยวกับความตายในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจําวันที่ 21-27 ตุลาคม 2559 หน้า 81)

เดินสามหาบ

เดินสามหาบในงานศพไทยทุกวันนี้ เป็นประเพณีสืบเนื่องจากพิธีเรียกขวัญส่งขวัญงานศพยุคดั้งเดิม

เมื่อเผาศพแล้ว รุ่งเช้าจัดข้าวของทําบุญถวายพระสงฆ์ โดยใส่กระบุงกระจาดรวม 3 หาบ เดินเวียนรอบที่เผาศพ 3 รอบ ขณะเดินเวียนต้องร้องตะโกนกู่หากัน เสร็จแล้วจึงนําของ 3 หาบถวายพระสงฆ์

[จากหนังสือ ประเพณีเนื่องในการเกิด และประเพณีเนื่องในการตาย ของ เสฐียรโกเศศ จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ แด่ นายยิบ อินซอย พ.ศ.2513 หน้า 216-217]

1. หาบใส่ของ มีสิ่งของต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจําวันของยุคนั้น เช่น หม้อดินเผา, เตาเชิงกรานดินเผา ฯลฯ

หาบมี 2 ข้าง ใส่สิ่งของต่างกัน ข้างหนึ่งเป็นของคาว มีข้าวสาร, พริก, หอม, กระเทียม, กะปิ ฯลฯ อีกข้างหนึ่งเป็นของหวาน

เครื่องมือเครื่องใช้ทํานองเดียวกันนี้ นักโบราณคดีเคยขุดพบในหลุมศพ (ยุคก่อนประวัติศาสตร์) ราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่บ้านเก่า (กาญจนบุรี), บ้านเชียง (อุดรธานี) ฯลฯ

อาหารบางอย่างเคยขุดพบในหลุมศพที่บ้านโนนวัด (นครราชสีมา) เช่น โครงกระดูกปลาช่อนกับปลาดุกหลายตัวรวมกันในภาชนะดินเผา ฯลฯ

2. ร้องตะโกนกู่หากันขณะเดินหาบของเวียนรอบที่เผาศพ สืบเนื่องจากตะโกนเรียกขวัญที่หายจากร่างให้คืนร่างคนตาย ตามประเพณีเรียกขวัญ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

โดยเชื่อว่าขวัญหายจากร่างแล้วหลงทางกลับไม่ถูก เมื่อขวัญได้ยินเสียงตะโกนนั้น ขวัญจะกลับคืนร่างตามเสียงที่ได้ยิน

แห่ศพไปเผา แต่งตัวตามสบาย ชุดขาวก็ได้ สีสันฉูดฉาดก็ดีมีทั้งนั้น

แปรรูป

แปรรูป หมายถึงเก็บกระดูกที่เผาแล้ว (อัฐิ) มาเรียงเป็นรูปคน (บางทีเรียก แจงรูป)

เสร็จแล้วรวบรวมกระดูกเหล่านั้นใส่ภาชนะเก็บไว้ในที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น สร้างเสาไม้แกะสลักหรือหล่อซีเมนต์คล้ายเสมา หินเป็นที่บรรจุอัฐิ ตั้งไว้ในวัดหรือในป่าช้า

[จากบทความเรื่อง “เสมาหินอีสาน” (พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารเมืองโบราณ พ.ศ.2528) รวมอยู่ในหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน ของ ศรีศักร วัลลิโภดม สํานักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ.2546 หน้า 413-414]

ปัจจุบันเก็บอัฐิไว้ตามวัด ล้วนสืบเนื่องจากพิธีศพครั้งที่สองยุคดึกดําบรรพ์ เช่น สร้างเจดีย์บรรจุ, ทําาช่องบรรจุบนกําแพงวัด ฯลฯ