วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนพ่นพิษไทย ไล่ทุบหุ้น ทอง-น้ำมัน ธัญพืชราคาพุ่งทะยาน/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

วิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนพ่นพิษไทย

ไล่ทุบหุ้น ทอง-น้ำมัน

ธัญพืชราคาพุ่งทะยาน

 

ความตึงเตรียดกรณีรัสเซีย-ยูเครนที่หลายฝ่ายกังวลว่า กำลังจะปะทุกลายเป็นสงคราม หลังจากที่ประธานาธบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศรับรองเอกราชของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์กับสาธารณรัฐลูฮานสค์ (Donetsk-Luhansk) ซึ่งมีข้อพิพาททางด้านเชื้อชาติมาอย่างยาวนานพร้อมกับความต้องการที่จะแยกตัวออกมาจาก แคว้นดอนบาส ในประเทศยูเครน

โดยรัสเซียพร้อมที่จะส่ง “ทหาร” เข้าไปประจำการในสาธารณรัฐใหม่ด้วยข้ออ้างที่ว่า เป็นกองทหารเพื่อรักษาสันติภาพของรัสเซีย ในขณะที่ฝ่ายตะวันตกมองว่า การส่งกองทหารเข้าไปในพื้นที่โดเนตสค์-ลูลูฮานสค์ ก็คือการ “บุก” ยูเครนของรัสเซียนั้นเอง

สถานการณ์ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับ “คำขู่” ที่จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียของชาติตะวันตก ดูเหมือนจะไม่สามารถล้มเลิกความตั้งใจที่จะรัสเซียจะเข้าไปสนับสนุนดินแดนใหม่ ซึ่งเสมือนหนึ่งเป็น “รัฐกันชน” ระหว่างรัสเซียกับประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) จากความพยายามของยูเครนเองที่จะเข้าไปเป็นสมาชิกใหม่ของ NATO

และด้วยความเร่งด่วนของสถานการณ์ที่กำลังจะรุนแรงขึ้นส่งผลให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เตรียมประชุมวาระเร่งด่วนทันทีตามข้อเรียกร้องของยูเครน ในฐานะประเทศสมาชิกสหประชาชาติที่มีอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพในดินแดนของตนเอง

 

ท่ามกลางสถานการณ์ที่กำลังเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ หากรัสเซียส่งกองทหารเข้าไปในดินแดนโดเนตสค์-ลูฮานสค์ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของราคาพลังงานและธัญพืชจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการประกาศ “คว่ำบาตร” รัสเซียและดินแดนใหม่ตามคำขู่ของชาติตะวันตก

โดยล่าสุดประเทศสมาชิก NATO ได้ตกลงที่จะดำเนินการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลรัสเซียที่มีส่วนรวมในวิกฤตการณ์ยูเครน

ขณะที่สหรัฐมีรายงานข่าวออกมาว่าจะมุ่งเป้าไปที่ธนาคารสัญชาติรัสเซียกับภาวะหนี้สินเป็นหลัก

โดยความเป็นไปได้ในกรณีมาตรการคว่ำบาตรทางเศษฐกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการ “แบน” ธนาคารรัสเซีย

การกีดกันการทำธุรกรรมทางการเงินหรือพันธบัตร ก็คือ การทำให้เกิด “ข้อจำกัด” ด้านการเงิน

ซึ่งในมุมกลับจะส่งผลเสียต่อบรรดาชาติตะวันตกที่เข้าร่วมมาตรการคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจด้วย ส่วนมาตรการคว่ำบาตรรายบุคคลกับเจ้าหน้าที่ของรัสเซียที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบการอายัดทรัพย์สินในต่างแดนหรือการห้ามเดินทางนั้นแทบไม่ส่งผลใดต่อรัสเซียมากนัก

แต่มาตรการคว่ำบาตรที่หวั่นเกรงกันมากก็คือ การสร้างข้อจำกัดทางด้านพลังงาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพุ่งเป้าไปที่โครงการท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ข้ามทะเลบอลติกของบริษัท Gazprom รัสเซีย ระยะทาง 1,200 ก.ม.ที่พร้อมจะส่งก๊าซ 55,000 ล้าน ลบ.ม.ไปยังผู้ซื้อหลักในยุโรปผ่านทางเมือง Greifswald ในเยอรมนีจะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย

 

อย่างไรก็ตาม เพียงแค่ “คำขู่” ทั้งการประกาศคว่ำบาตรและความพร้อมที่จะส่งกองทหารรัสเซียเข้าไปดินแดนโดเนตสค์-ลูฮานสค์ ได้ส่งผลทันทีต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

โดยนักวิเคราะห์ชี้ว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส จะทำราคา “เหนือกว่า” 90 เหรียญ/บาร์เรลขึ้นไป

โดยราคาล่าสุดวันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2556) อยู่ที่ 92.35 เหรียญ/บาร์เรล และที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังไม่ขึ้นทะลุ 100 เหรียญ/บาร์เรล ยังคงมีผลจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการคือ สงครามในทางปฏิบัติยังไม่ได้ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ กับเกิดการผ่อนคลายการคว่ำบาตรอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศหลักที่ส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลก

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ล่าสุดปรากฏว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ในประเด็นที่ว่า หากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรลแล้ว “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นกลไกสำคัญในการ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้ขายปลีกเกินกว่าลิตรละ 30 บาท และการอุดหนุนุราคาก๊าซหุงต้ม จะมีความสามารถในการอุดหนุนต่อไปหรือไม่

เนื่องจากกองทุนน้ำมันฯ ใกล้จะติดลบ ประกอบกับยังไม่มีสถาบันทางการเงินแห่งใดยอมให้เงินกู้ 20,000 ล้านบาทเพื่อมารักษาสภาพคล่องของกองทุนเสริมไปจากการหักเงินเข้ากองทุน 1 บาท/ลิตร จากการที่รัฐบาลยอมลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตร

นอกจากราคาน้ำมันแล้ว ราคาทองคำในตลาดก็ผันผวนเป็นอย่างมาก ล่าสุดช่วงเช้าของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ สมาคมค้าทองคำได้ประกาศราคาทองคำแท่งขายออก 29,150 บาท รับซื้อ 29,050 บาท ทองคำรูปพรรณ ขายออก 29,650 บาท รับซื้อ 28,531.12 บาท อ้างอิงราคาทองคำตลาดลอนดอนและนิวยอร์กระหว่าง 1,900.10-1,907.40 เหรียญ/ออนซ์

โดยกลุ่มฮั่วเซ่งเฮง มองว่า ความตึงเครียดที่เกิดกรณีรัสเซีย-ยูเครนทำให้ทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ “แต่ทองคำจะปรับตัวขึ้นไปได้มากแค่ไหน คงต้องติดตามสถานการณ์ว่าจะจบลงหรือลุกลามไปขนาดไหน โดยปัจจุบันทองคำปรับตัวมาอยู่ที่เหนือ 1,900 เหรียญ/ออนซ์แล้ว จึงให้แนวต้านถัดไปที่ 1,920-1,930 เหรียญ/ออนซ์”

สอดคล้องกับบริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาทองคำอยู่ในช่วงที่ซื้อมากเกินไป (overbought) ไปแล้ว แต่ที่ราคาทองคำไม่สามารถย่อลงมาได้ก็เพราะเกิดวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ถ้าหากวิกฤตการณ์นี้ยังไม่จบ มองว่าจะส่งผลให้ทองคำปรับตัว sideway up ขึ้นไปเรื่อยๆ หากทองคำปรับตัวขึ้นต่อให้แนวต้านไว้ที่ 1,920 เหรียญ/ออนซ์ หากผ่านไปได้ก็จะมีแนวต้านอีก 2 จุด ที่ 1,945 เหรียญ/ออนซ์ และ 1,955 เหรียญ/ออนซ์

ส่วนแนวรับ หากทองคำมีการย่อตัวลงมามองไว้ที่ 1,900 เหรียญ/ออนซ์ เป็นแนวรับแรก หากผ่านไปได้ก็จะมีแนวรับอีก 2 จุด ที่ 1,880 เหรียญ/ออนซ์ และ 1,865 เหรียญ/ออนซ์

 

ทางด้านสถานการณ์ในตลาดหลักทรัพย์ไทยก็ไม่ดีนัก แม้จะได้รับผลกระทบแค่ทางอ้อมจากความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ (political risk) ไม่ใช่ผลกระทบโดยตรงเหมือนกรณีการเกิดสงครามทางการค้า โดยมีการประเมินว่า ถ้าเกิดมีการตอบโต้ที่หนักจากฝั่งชาติตะวันตกและรัสเซียไม่ยอมจนอาจเกิดเป็น “สงครามเต็มรูปแบบ” ขึ้นมาแล้ว ในกรณีนี้ประเมินว่า จะส่งผลกระทบต่อ SET Index ดิ่งลงหนักสุดราว 5% หรือร่วงกว่า 90 จุด โดยอาจจะมาอยู่บริเวณระดับ 1,600 จุด

แต่ยัง “น้อยกว่า” ถ้าเทียบเคียงช่วงเกิดสงครามทางการค้า (Trade War) ระหว่างสหรัฐและจีน ที่ SET Index ปรับตัวลงหนักกว่า 10%

นอกเหนือจากราคาน้ำมัน-ทองคำ และความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่ากังวลสำหรับประเทศไทยที่จะได้รับผลกระทบมากก็คือ ราคาธัญพืชหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ จากการที่ประเทศยูเครนเป็นแหล่งผลิตสำคัญของ “ข้าวสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์

ในเรื่องนี้ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบอย่างมากจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากยูเครนถือเป็นแหล่งนำเข้า “ข้าวสาลี” ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอาหารสัตว์

ล่าสุดขณะนี้ราคาข้าวสาลีนำเข้าปรับขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 12 บาท จากเดิมก่อนที่จะมีวิกฤตในปี 2564 มีราคากิโลกรัมละ 8-9 บาท หรือปรับขึ้นไปกิโลกรัมละ 3 บาท คิดเป็น 34-35% ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีนำเข้า “สูงกว่า” ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ

และส่งผลกระทบทางอ้อมถึงต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะหากนำเข้าจากยูเครนไม่ได้ก็ต้องหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่น ซึ่งก็จะมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน

“แม้สถานการณ์ความตึงเครียดจะยังไม่กระทบต่อการขนส่ง แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นแรงกดดันจากก่อนหน้านี้ที่มีการปรับขึ้นค่าขนส่ง ค่าระวางเรือไปแล้ว 2-3 เท่า และในส่วนผู้ประกอบการเองไม่ได้มีการสต๊อกวัตถุดิบไว้มากนัก เพราะจะต้องนำเข้าข้าวสาลีตามมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าของกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ซึ่งหากเทียบแล้วในแต่ละปี ผู้ประกอบการจะสามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ประมาณ 1,000,000 ตัน ซึ่งจะเป็นการนำเข้าแบบปีต่อปี”

“หากถามว่า จะตรึงราคาด้วยสต๊อกเดิมถึงเมื่อไหร่ ก็คงจะตอบไม่ได้”

 

เบื้องต้นวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครนจึงส่งผลกระทบโดยตรงกับราคาน้ำมันและราคาธัญพืชสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยทันที

ในขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมกำหนดมาตรการทั้งทางด้านพลังงานและราคาอาหารเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์นี้ ซึ่งส่อเค้าว่าจะยืดเยื้อยาวนาน

ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทั้งรัสเซียและชาติตะวันตกที่จะยอม “ผ่อนคลาย” ความตึงเครียดที่จะเกิดขึ้นหรือไม่