6 เดือนของอัฟกานิสถาน ภายใต้การนำของทาลิบัน…อีกครั้ง/บทความต่างประเทศ

A Taliban fighter with his family watches his daughter enjoying at a park, near Kabul, Afghanistan, Friday, Feb. 11, 2022. Six months since Kabul was ceded to the Taliban with the sudden and secret departure of U.S.-backed president residents say a calm has settled on the country, but the future is uncertain as the economy teeters on the verge of an economic collapse and the new Taliban rulers tackle the transition from war to relative peace. (AP Photo/Hussein Malla)

บทความต่างประเทศ

 

6 เดือนของอัฟกานิสถาน

ภายใต้การนำของทาลิบัน…อีกครั้ง

 

ผ่านไป 6 เดือน หรือครึ่งปีแล้ว นับตั้งแต่กลุ่ม “ทาลิบัน” กลับมายึดครองอัฟกานิสถานได้สำเร็จอีกครั้ง หลังจากเคยถูกสหรัฐอเมริกาโจมตีจนต้องพ่ายแพ้ไปเมื่อปี ค.ศ.2001 และกลับเข้ามายึดประเทศอีกครั้ง หลังสหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกไป

การกลับมาปกครองอัฟกานิสถานอีกครั้งของทาลิบัน ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอัฟกันเป็นอย่างไร ถูกจำกัดสิทธิเหมือน 20 กว่าปีก่อน ที่ทาลิบันปกครองประเทศอยู่หรือไม่

สำนักข่าวเอพีได้รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถานตอนนี้ว่า ประเทศอัฟกานิสถานตอนนี้มีความปลอดภัยมากขึ้น มีความรุนแรงน้อยลง เรียกได้ว่า น้อยลงมากกว่าช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

หากแต่เมื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่างๆ กำลังจะล่มสลาย เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ ที่มีต่อทาลิบัน ทำให้ชาวอัฟกันหลายหมื่นคนพากันหนี บ้างก็อพยพออกจากประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มชนชั้นสูงที่มีการศึกษา ที่ต่างหวาดกลัวถึงอนาคตด้านเศรษฐกิจของตัวเอง หรือการขาดซึ่งเสรีภาพภายใต้การนำของกลุ่มทาลิบัน ที่มีแนวคิดที่เคร่งครัดเกี่ยวกับหลักอิสลาม

อย่างเมื่อตอนที่ทาลิบันปกครองอัฟกานิสถานช่วงทศวรรษ 1990 กลุ่มทาลิบันได้ห้ามเด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ และห้ามผู้หญิงทำงานอย่างเด็ดขาด

 

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในกรุงคาบูลวันนี้ ยังมีนักรบของทาลิบันยืนถืออาวุธอยู่ตามท้องถนน แต่ผู้หญิงสามารถออกมาเดินตามท้องถนนได้ ขณะที่พวกชายหนุ่มทั้งหลายก็สามารถสวมเสื้อแบบชาติตะวันตกได้ ไม่ต้องสวมชุดซัลวาร์ กามีซ ที่เป็นเสื้อเชิ้ตตัวยาว กับกางเกงหลวมๆ ตามประเพณีดั้งเดิม ที่กลุ่มทาลิบันสนับสนุนให้ใส่

อีกอย่างที่ไม่เหมือนกับเมื่อตอนทศวรรษ 1990 คือ การที่กลุ่มทาลิบันอนุญาตให้ผู้หญิงบางคนสามารถทำงานได้ โดยสามารถทำงานได้ในกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงที่ท่าอากาศยานนานาชาติคาบูล

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้หญิงชาวอัฟกันอีกจำนวนมากที่รอจะเข้าทำงานในกระทรวงอื่นๆ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ ที่ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด

แต่กลุ่มทาลิบันก็ยังคงมีการปราบปรามการประท้วงของผู้หญิง และนักข่าว หรือแม้แต่ชายที่ขายดอกไม้และลูกโป่งรูปหัวใจในช่วงวันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก ก็ถูกทาลิบันควบคุมตัวไป เนื่องจากไม่ต้องการต้อนรับแนวคิดเรื่องความรักของชาติตะวันตก

ขณะที่เด็กผู้หญิงสามารถเข้าเรียนได้เกรด 1 ถึงเกรด 6 แต่ยังไม่สามารถเรียนได้สูงกว่านั้น

แต่กลุ่มทาลิบันได้สัญญาไว้แล้วว่า เด็กผู้หญิงทุกคนจะได้เรียนหนังสือหลังวันปีใหม่ของชาวอัฟกัน ในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้ โดยมหาวิทยาลัยจะเปิดเรียนได้อีกครั้ง รวมไปถึงมหาวิทยาลัยของเอกชนและโรงเรียนต่างๆ จะไม่ถูกปิดอีก

 

เอพีรายงานว่า ตอนนี้อัฟกานิสถานกำลังเผชิญกับความยากจนลง แม้แต่คนที่มีเงิน แต่ก็ยากที่จะเข้าถึงเงินเหล่านั้นได้ เนื่องจากถูกสหรัฐอเมริกาอายัดไว้ และธนาคารต่างๆ เปิดให้ถอนเงินได้จำกัดเพียง 200 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ ทำให้คนเข้าแถวหน้าธนาคารยาวเหยียด เพื่อรอถอนเงิน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ทาลิบันยึดอัฟกานิสถานเอาไว้ มีทรัพย์สินในต่างแดนที่ถูกอายัดเอาไว้มากถึงกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในคำสั่งบริหาร ที่สัญญาว่า เงินจำนวน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนทรัพย์สินของอัฟกานิสถานที่ถูกอายัดไว้ในสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 7,000 ล้านดอลลาร์ จะถูกนำไปให้แก่ครอบครัวของเหยื่อเหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐอเมริกา

ขณะที่อีก 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะนำไปใช้เพื่อการช่วยเหลือชาวอัฟกัน

คำสั่งดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นให้แก่ชาวอัฟกันอย่างมาก และพากันออกมาประท้วง เรียกไบเดนว่าเป็น “หัวขโมยระดับโลกแห่งปี 2022” พร้อมแผ่นป้ายที่เขียนต่อว่าต่างๆ นานา ว่า “9/11 ไม่ได้ทำอะไรให้ชาวอัฟกัน” “นายไบเดน น่าละอาย คุณฆ่าคนของเรา คุณทิ้งระเบิดใส่เรา แล้วตอนนี้ยังมาขโมยเงินของเราอีก”

 

เกรม สมิธ ที่ปรึกษาอาวุโสโครงการเอเชีย ของกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศ ได้ออกมาเตือนว่า การคว่ำบาตรดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดสิ่งเลวร้ายขึ้น

“การกดดันทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการกำจัดทาลิบันจากการปกครอง แต่จะทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย และทำให้ผู้คนพากันหนีออกจากประเทศ ทำให้เกิดวิกฤตผู้ลี้ภัยขึ้น”

โดยสมิธมองว่า การปกครองของทาลิบันรอบนี้ อาจจะถือว่า 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่อัฟกานิสถานมีสันติภาพมากที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้

ขณะที่เจ้าหน้าที่สงเคราะห์ระหว่างประเทศคนหนึ่งบอกว่า กลุ่มทาลิบันทำให้ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการคอร์รัปชั่นลดน้อยลงอย่างมาก นั่นหมายความว่า รายได้ต่างๆ จะเพิ่มขึ้น แม้ว่าธุรกิจจะย่ำแย่

6 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมจึงดูเหมือนสถานการณ์ในอัฟกานิสถานจะสงบมากขึ้น แต่ก็ต้องรอดูต่อไปว่า ทาลิบันจะทำให้อัฟกานิสถานเป็นไปในทิศทางใดต่อไป