เสฐียรพงษ์ วรรณปก : บางแง่มุมเกี่ยวกับพระพุทธองค์ (4) สูกรมัททวะนั้นดังฤๅ

ประเด็นที่จะเล่าต่อไป เป็นเรื่องเก่าแล้ว รู้กันโดยทั่วไป ผมเองก็เคยนำไปพูดไปเขียนบ้างแล้ว แต่เอามาเล่าอีก เพื่อให้เข้าชุดกับเรื่องอื่นๆ ที่เล่ามาแต่ต้น ถือเป็น version ใหม่ก็แล้วกัน

เรื่องที่ว่านี้คือ สูกรมัททวะ พระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า มันคืออะไร

ก่อนจะวินิจฉัย ก็ต้องนำข้อมูลจากมหาปรินิพพานสูตรมาลงไว้ก่อน

นายจุนทะกัมมารบุตรได้ตระเตรียมของเคี้ยวของฉันอันประณีต และสูกรมัททวะเป็นอันมากในนิเวศน์ของตน โดยล่วงไปแห่งราตรีนั้น ให้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้เวลาแล้ว ภัตตาหารสำเร็จแล้ว…

พระผู้มีพระภาคตรัสกับนายจุนทะกัมมารบุตรว่า ดูก่อน จุนทะ ท่านจงอังคาสเราด้วยสูกรมัททวะที่ท่านตระเตรียมไว้ จงอังคาสภิกษุสงฆ์ด้วยของเคี้ยวของฉันอย่างอื่นที่ท่านตระเตรียมไว้… (นายจุนทะกัมมารบุตรได้ทำตามพุทธองค์ตรัสสั่ง)

ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกับนายจุนทะกัมมารบุตรว่า ดูก่อนจุนทะ ท่านจงฝังสูกรมัททวะที่ยังเหลือในหลุม เรายังไม่เห็นบุคคลในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ ซึ่งบริโภคสูกรมัททวะนั้นแล้ว จะพึงให้ย่อยไปด้วยดี นอกจากตถาคต…

นายจุนทะกัมมารบุตร…จึงฝังสูกรมัททวะที่ยังเหลือในหลุม แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค (ข้อความนี้จากทีฆนิกายมหาวรรค พระสุตตันตปิฎก ฉบับภาษาไทย เล่มที่ 10 ข้อ 117 หน้า 128)

เหตุการณ์ต่อมาก็คือ หลังจากเสวย สูกรมัททวะ แล้ว พระอาการประชวรก็กำเริบ และพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพพานในเวลาต่อมา ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ กรุงกุสินารา

ก่อนนั้นพระพุทธองค์ตรัสป้องกันนายจุนทะไว้ว่า บิณฑบาตที่มีอานิสงส์มากมีอยู่ 2 ครั้งเท่านั้นคือ ที่นางวิสาขาถวายก่อนตรัสรู้ และที่นายจุนทะกัมมารบุตรถวายก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน ถ้าใครพึงทำให้นายจุนทะเกิดความร้อนใจว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานเพราะเสวยภัตตาหารที่ตนถวาย หรือนายจุนทะจะเกิดความร้อนใจเอง อานนท์จงช่วยบรรเทาความร้อนใจของเขาด้วย ว่าเป็นลาภของเขาที่มีโอกาสถวายอาหารแด่พระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะดับขันธ์ปรินิพพาน

พุทธประวัติที่เราชาวพุทธไทยเรียน อาทิ พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส แปลสูกรมัททวะว่า เนื้อสุกรอ่อน หลายท่านบอกว่าไม่น่าจะเป็นเนื้อสุกรอ่อน และบอกว่าชาวพุทธฝ่ายมหายานเขาไม่แปลว่าเนื้อสุกรอ่อน แต่เขาว่าเป็น เห็ดชนิดหนึ่ง

ความคิดแย้งกันอย่างนี้ แต่ก่อนชาวพุทธเถรวาท (โดยเฉพาะเถรวาทไทย) ไม่ค่อยมี เพราะไม่สนใจว่าฝ่ายอื่นจะเข้าใจอย่างไร ถือว่าที่ฝ่ายตนได้รับถ่ายทอดมาถูกต้องแล้ว จึงมักไม่ค่อยรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป แต่เดี๋ยวนี้จะถือเช่นนั้นคงไม่ได้แล้ว ควรจะ เงี่ยโสต ฟังความเห็นที่แตกต่าง การตีความที่แตกต่างออกไป เชื่อตามหรือไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ฟังๆ ไว้ดีที่สุด

ที่จริง สูกรมัททวะคืออะไร พระอรรถกถาจารย์ท่านประมวลความคิดเห็นไว้ก่อนแล้วครับ

ท่านประมวลไว้ 3 ทรรศนะคือ

1.”สูกรมัททวะ ได้แก่ ปวัตตมังสะ (เนื้อที่ขายตามตลาด) ของสุกรที่เจริญเต็มที่ ซึ่งไม่แก่เกินไป” (สูกรมทฺทวนฺติ นาติชิณฺณสฺส เอกเชฏฐกสูกรสฺส ปวตฺตมํสํ)

มตินี้บอกว่าเป็น เนื้อหมู ที่ขายตามตลาดทั่วไป

2. “สูกรมัททวะ เป็นชื่อแห่งวิธีการปรุงข้าวอ่อนด้วยเบญจโครส เหมือนชื่ออาหารที่ปรุงด้วยควปานะ” (เอเก ภณนฺติ สูกรมทฺทวนฺติ ปน มุทุโอทนสฺส ปญฺจโครสยูสปาจนวิธานสฺส นาเมตํ ยถา ควปานํ นาม ปากนามนฺติ)

มตินี้ว่าได้แก่ ข้าวหุงด้วยนมโค

3. “รสายนวิธีชื่อว่า สูกรมัททวะ รสายนวิธีนั้นมาในคัมภีร์รสายนศาสตร์ นายจุนทะตกแต่งอาหารตามคัมภีร์รสายนศาสตร์ เพื่อมิให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน” (เกจิ ภณนฺติ สูกรมทฺทวํ นาม รสายนวิธิ ตํ ปน รสายนสตฺเถ อาคจฺฉติ ตํ จุนฺเทน ภควโต ปรินิพฺพานํ น ภเวยฺยาติ รสายนํ ปฏิยตฺตนฺติ)

มตินี้ว่าเป็น สมุนไพรชนิดหนึ่ง

คัมภีร์ฝ่ายมหายาน ตีความสูกรมัททวะว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไม้จันทร์ เรียกในภาษาจีนว่า จันทันฉิ่วยื้อ และว่าเห็ดชนิดนี้หมูชอบกิน จึงเรียกว่า สูกรมัททวะ ว่ากันอย่างนั้น

สรุปแล้ว สูกรมัททวะ ตีความกัน 3 นัย คือ

1. เนื้อสุกรอ่อน

2. ข้าวหุงด้วยนมโค

3. สมุนไพรชนิดหนึ่ง

ที่ถูกควรจะเป็นอะไร ผมมิบังอาจวินิจฉัยว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขอเสนอความคิดเห็นอันต่ำต้อยสักเล็กน้อยดังนี้

พิเคราะห์จากข้อความแวดล้อมในพระสูตร สูกรมัททวะ มิใช่อาหารที่ปรุงด้วยเนื้อหมูธรรมดาแน่นอน และคงมิใช่ข้าวหุงด้วยนมโคด้วย เพราะในพระสูตรกล่าวว่า อาหารชื่อสูกรมัททวะนี้ย่อยยาก พระพุทธองค์เท่านั้นที่จะย่อยได้ ถ้าเป็นเนื้อหมู เป็นข้าวหุงด้วยนมโค ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการย่อย มติที่ 3 ที่บอกว่าเป็นโอสถพิเศษปรุงตามตำรับรสายนศาสตร์ (ทางฝ่ายมหายานระบุว่าเห็ดแก่นจันทร์) น่าพิจารณากว่าสองมติข้างต้นเพราะ

1. นายจุนทะรู้ว่าพระพุทธองค์ทรงประชวร จึงขวนขวายหาโอสถมาปรุงถวาย การปรุงยาต้องตระเตรียมกันทั้งคืน ถ้าเป็นการหุงหาอาหารธรรมดา ก็ไม่น่าเสียเวลานานถึงขนาดนั้น

2. พระองค์มิให้นายจุนทะถวายสูกรมัททวะแก่พระสงฆ์อื่น ก็เนื่องจากพระรูปอื่นมิได้อาพาธเหมือนพระองค์ และยาที่นายจุนทะปรุงนี้ บางทีอาจปรุงด้วยตัวยาหนักเบาสำหรับพระพุทธองค์โดยเฉพาะ อย่างตำราไทยโบราณว่าไว้ ต้องมีการคูณธาตุน้ำหนักยา มีหนักเบามากน้อยตามความเหมาะสมแก่คนไข้เป็นรายๆ ไป ใช่ว่ายาหม้อเดียวจะรักษาได้ทุกคนก็หาไม่ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงตรัสว่า พระองค์เท่านั้นเหมาะจะเสวยสูกรมัททวะนี้ และย่อยมันได้ดี

เข้าทำนองว่า ลางเนื้อชอบลางยา นั่นแล

มีความเป็นไปได้มากและสมเหตุสมผลมากที่สุด ที่สูกรมัททวะเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง

3.ถามว่าถ้าสิ่งที่ว่านี้เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง แล้วทำไมจึงมีชื่อว่า สูกร (หมู) อยู่ด้วย

ข้อนี้ตอบไม่ยาก ดูตัวอย่างชื่อสมุนไพรโบราณแล้วจะเข้าใจ ยาแต่ละขนานมีชื่อแปลกๆ ทั้งนั้น เช่น น้ำนมราชสีห์ ก็มิได้เอาน้ำนมของราชสีห์มาทำ ยาจตุรพักตร์ ก็มิได้หมายถึง พรหมสี่หน้า จริงๆ เสลดพังพอน เปลือกไข่เน่า ฯลฯ ไม่เกี่ยวอะไรกับพังพอน หรือไข่ไก่ไข่เป็ดเน่าแต่ประการใด

สูกรมัททวะ (สุกรอ่อน) ก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับสุกรก็ได้ ฉันใดก็ฉันนั้นแล

ที่ปกรณ์ฝ่ายสันสกฤต (ฝ่ายมหายาน) ระบุว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่เกิดจากไม้จันทร์ ก็ฟังดูเข้าที อาจเป็นเห็ดชนิดนี้ก็ได้ บางท่านเสียดายคำว่า หมู อยู่ก็กล่าวว่า เห็ดที่หมูชอบกิน ก็ว่ากันไป

แต่จะเป็นเห็ดหรือไม่ใช่เห็ด ก็เข้าข่ายมติที่สามที่ชื่อว่า สูกรมัททวะ คือ สมุนไพรชนิดหนึ่งแล