‘เศรษฐา ศิระฉายา’ ในฐานะผู้ผลิต ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’ / คนมองหนัง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘เศรษฐา ศิระฉายา’

ในฐานะผู้ผลิต ‘ละครจักรๆ วงศ์ๆ’

 

เรื่องหนึ่งที่คนและสื่อมวลชนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยได้ระลึกถึงมากนัก หลังการจากไปของ “เศรษฐา ศิระฉายา” ก็คือบทบาท ณ ห้วงเวลาหนึ่ง ที่เศรษฐาเข้ามาผลิตละครแนวพื้นบ้าน จักรๆ วงศ์ๆ ให้แก่ทางช่อง 3 ในนามบริษัท “เมืองละคร”

ซึ่งนั่นถือเป็นความพยายามในการยกระดับการผลิตสื่อบันเทิงประเภทนี้ “ครั้งใหญ่” และ “ครั้งสุดท้าย” ของทางช่อง 3

สามลักษณะเด่นสำคัญของละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ผลิตโดยเศรษฐาและทีมงาน ก็คือ การคิดใหญ่-เล่นท่ายาก, การยกระดับโปรดักชั่น และการมุ่งแข่งขันกับบริษัท “สามเศียร” แห่งช่อง 7 อย่างจริงจัง

 

ค่าย “เมืองละคร” ของเศรษฐา ประเดิมเปิดตัวด้วย “บิ๊กโปรเจ็กต์” อย่าง “ขุนช้างขุนแผน” (2542)

ในฐานะผู้ชม เราจะได้พบเห็น “กระบวนการเรียนรู้” บางอย่างดำรงอยู่ในละครเรื่องนั้นอย่างชัดเจน โดยช่วงแรกๆ คุณภาพของ “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับ “เมืองละคร” คล้ายจะไม่ค่อยลงตัวนัก

ทั้งในแง่การกำกับการแสดง รวมถึงการมีสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่หลุดเข้ามาในฉากหลัง (ด้วยเหตุนี้ ค่าย “สามเศียร” ฝั่งช่อง 7 จึงต้องลงทุนก่อสร้างอาณาจักรโรงถ่ายลาดหลุมแก้วของตนเอง เพื่อตัดขาดจากโลกภายนอกให้มากที่สุด)

อย่างไรก็ตาม พอละครดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณช่วงครึ่งหลัง “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับนั้นกลับกลายเป็นงานที่ดูได้สนุกสนานเพลิดเพลิน

ที่สำคัญ เศรษฐาในฐานะผู้กำกับฯ ยังพยายามคุมโทนให้เรื่องราวของ “ขุนช้างขุนแผน” เดินหน้าไปถึง “จุดอวสาน” อันน่าพึงพอใจ (ขณะที่หลายคนจะชอบจดจำว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ “ขุนแผนผจญภัย” ในยุค 2510 ของฝั่งดาราวิดีโอ-สามเศียร เป็นมหรสพทางโทรทัศน์ที่ “ด้นสด” ไปเรื่อยๆ และ “จบไม่ลง”)

และดูเหมือนโครงสร้างเรื่องราวของ “ขุนช้างขุนแผน 2542” จะกลายเป็นมาตรฐาน-แบบอย่างสำหรับหนัง-ละคร “ขุนช้างขุนแผน” เวอร์ชั่นหลังๆ (รวมถึง “วันทอง 2565”)

อีกหมุดหมายหนึ่งที่บ่งชี้ถึงความทะเยอทะยานของค่าย “เมืองละคร” ได้ดี ก็คือการตัดสินใจผลิตละครเรื่อง “อิเหนา” ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ที่ “ใหญ่” และ “ยาก” มากๆ (กระทั่งฝั่ง “สามเศียร” ก็ไม่ค่อยกล้าจะหยิบวรรณคดีหลักๆ มาทำละครทีวี แต่เลี่ยงไปใช้วิธีดัดแปลงเรื่องราวแทน เช่น ลดทอน-ย่อขนาด “รามเกียรติ์” จนกลายเป็น “เทพศิลป์ อินทรจักร”)

ตราบถึงปัจจุบัน มีเพียงละคร “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” (2565) อีกหนึ่งเรื่องเท่านั้น ที่กล้านำเสนอเนื้อหาบางส่วนของ “อิเหนา” ในฐานะภาพแทนความรู้สึกของตัวละคร

 

ในแง่โปรดักชั่นหรือคุณภาพงานสร้าง นอกจากเทคนิคพิเศษต่างๆ ที่ “เมืองละคร” ทำได้ดีกว่าละครพื้นบ้าน จักรๆ วงศ์ๆ ข่อง 3 ยุคเดิมแล้ว เศรษฐาและทีมงานยังแสวงหาวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องนักแสดง-การแสดงได้อย่างน่าสนใจ

ต้องยอมรับว่า “โลกของละครจักรๆ วงศ์ๆ” นั้นมีลักษณะเป็น “โลกเฉพาะ” ที่ต้องการทีมนักแสดงซึ่งเข้าใจตรรกะเหตุผล วิธีการพูดจา และการวางบุคลิกท่าทาง ที่ไม่เหมือนกับตัวละครในสื่อบันเทิงชนิดอื่นๆ

ยุคก่อนหน้า “เมืองละคร” ละครจักรๆ วงศ์ๆ ช่อง 3 ยังใช้วิธีการถ่ายทำแบบโบราณ หนึ่งในจุดด้อยใหญ่ก็คือ “การพากย์เสียงตัวละคร” โดยไม่ใช้เสียงพูดของนักแสดงจริง นี่ส่งผลให้ละครกลุ่มนั้น “ดูตลก” และ “ไม่สมจริง” หากประเมินจากค่านิยมของคนดูช่วงกลางทศวรรษ 2530

หรือช่วงไม่กี่ปีก่อน ก็เคยมีผู้ผลิตเจ้าหนึ่งทดลองสร้าง “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางเลือก” ออกมา แต่การแสดงของนักแสดงในละครเหล่านั้น (ซึ่งส่วนใหญ่เป็น “หน้าใหม่-มือสมัครเล่น”) กลับเต็มไปด้วยความขัดเขิน-ไม่ลงร่อยลงรอย เพราะเหมือนพวกเขาและเธอจะไม่เข้าใจในระบบเหตุผลต่างๆ ของโลกเฉพาะใบดังกล่าว

ขณะที่ทาง “สามเศียร” (อย่างน้อยในประมาณสองทศวรรษหลัง) แก้ไขปัญหาเดียวกันด้วยการพึ่งพานักแสดงรุ่นเก๋าในบทสมทบ ผสมผสานกับการทำงานหนักของตัวผู้กำกับการแสดง ในการชี้แนะนักแสดงนำรุ่นใหม่ๆ

(ผมเคยดูเบื้องหลังที่ผู้กำกับฯ ละครจักรๆ วงศ์ๆ ฝั่งช่อง 7 อย่าง “หนำเลี้ยบ-ภิพัชพนธ์ อภิวรสิทธิ์” กำกับนักแสดงรุ่นใหม่ด้วยการเข้าไปสาธิต-แสดงบทรายบุคคลให้ตัวละครแต่ละคนที่จะรับบทบาทนั้นๆ ได้ดูก่อนถ่ายทำ แล้วค่อยปล่อยให้นักแสดงสวมบทไปตามต้นแบบของผู้กำกับฯ หรือโลดแล่นไปในระบบตรรกะเหตุผลชุดเดียวกัน)

ตรงกันข้าม ค่าย “เมืองละคร” พยายามแก้ปัญหานี้ ด้วยการดึงดารารุ่นใหม่เกรดดีๆ มาเล่นละครจักรๆ วงศ์ๆ แน่นอนว่าดารากลุ่มนั้นอาจไม่ได้เข้าใจระบบเหตุผลของโลกเฉพาะไปในแนวทางเดียวกันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่พวกเขาและเธอก็มีความเป็นมืออาชีพสูงพอ จนทำให้ผลงานการแสดงที่ปรากฏหน้าจอ ดู “น่าเชื่อถือ” และ “ไม่ตลก”

 

จะเห็นว่าการดำเนินงาน-ธุรกิจของค่าย “เมืองละคร” นั้นมีประเด็น “การต่อสู้” ที่สามารถนำไปวางเทียบเคียงกับค่าย “สามเศียร” ผู้ยึดครองตลาดหลักของละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย ได้มากมายหลายข้อ

ทว่า ปรากฏการณ์น่าจดจำในทศวรรษ 2540 ก็คือ ทั้งสองค่ายเคยผลิตละคร “ชนกันจังๆ” มาแล้ว

ดังกรณีการสร้างละคร “แก้วหน้าม้า” ซึ่งทาง “เมืองละคร” ลงมือผลิตและนำส่งให้ช่อง 3 เริ่มปล่อยออกอากาศในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ขณะที่ “แก้วหน้าม้า” ฉบับ “สามเศียร” ก็เริ่มแพร่ภาพทางช่อง 7 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน หรือคล้อยหลังกันเพียงสองสัปดาห์

นอกจากนั้น ณ ช่วงครึ่งหลังของปี 2543 จนถึงต้นปี 2544 “สามเศียร” ก็เคยผลิตละครทวิภาค “นางสิบสอง” กับ “พระสุธน-มโนห์รา” ป้อนให้ช่อง 7

ก่อนที่ “เมืองละคร” จะสร้างละคร “พระรถเสน” และ “พระสุธน-มโนห์รา” อีกเวอร์ชั่น ลงจอช่อง 3 ในช่วงกลางปี 2544

ช่อง 7 ยังวางเกมดักทางละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “ค่ายเมืองละคร” ซึ่งออกอากาศทุกเย็นวันธรรมดา (หลังเด็กเลิกเรียน) ด้วยการนำละครเก่าของ “ค่ายสามเศียร” ที่เคยฉายช่วงเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ มารีรันอีกรอบตอนบ่ายๆ วันจันทร์-ศุกร์ ซึ่งเป็นสล็อตเวลาก่อนหน้าละครของเศรษฐาและฝั่งช่อง 3 เล็กน้อย

แม้ในปลายทางสุดท้าย การผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ โดยบริษัท “เมืองละคร” จะไม่ถูกจัดเป็นผลงานระดับ “โบแดง-มาสเตอร์พีซ” ของ “เศรษฐา ศิระฉายา” ทั้งยังมิได้ถูกจดจำโดยสาธารณชนสักเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ตอนได้ทราบข่าวว่าทางช่อง 3 ประกาศนโยบายยุติการแพร่ภาพละครจักรๆ วงศ์ๆ ในปี 2546 (เข้าใจว่ายังเหลือผลงานของ “เมืองละคร” หลงค้างอยู่ในสต๊อกด้วยซ้ำ) ผมกลับมีความรู้สึกเสียดายมากๆ

เพราะเห็นว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ ของ “เศรษฐา-เมืองละคร” นั้น ยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ค่อนข้างสูง จนกลายเป็นคู่แข่งขันที่ “สมน้ำสมเนื้อ” ที่สุด ของค่าย “สามเศียร” แห่งช่อง 7