เพื่อครองโลก : ยุทธภูมิรัฐศาสตร์จีน vs. อเมริกา (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

เพื่อครองโลก

: ยุทธภูมิรัฐศาสตร์จีน vs. อเมริกา (1)

 

อัลเฟรด วิลเลียม แม็กคอย (ค.ศ.1945-ปัจจุบัน) เป็นเพื่อนอาจารย์อาวุโสร่วมคณะประวัติศาสตร์กับศาสตราจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่มหาวิทยาลัย Wisconsin-Madison สหรัฐ

“อัล” เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะแง่มุมระบอบอาณานิคมของยุโรปในอดีตและนโยบายของอเมริกาต่อภูมิภาคนี้ในระยะใกล้

ผลงานโดดเด่นของอัลได้แก่ The Politics of Heroin in Southeast Asia (ค.ศ.1972) ซึ่งเปิดโปงปฏิบัติการลับขององค์การข่าวกรอง CIA สหรัฐที่สมคบคิดช่วยเหลือการค้าฝิ่น/เฮโรอีนเถื่อนในภูมิภาคนี้ จน CIA พยายามขัดขวางไม่ให้ตีพิมพ์ออกมาแต่ไม่สำเร็จ (มีฉบับแปลโดยพิสิฐ วงศ์วัฒนะ ในชื่อ “การเมืองและเฮโรอีน บนถนนสู่อำนาจสายเดียวกัน” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2537)

นอกจากนั้น อัลยังได้ตีพิมพ์งานวิชาการประวัติศาสตร์และการเมืองที่มีนัยแหลมคมร่วมสมัยอีกหลายเล่มเรื่อยมา

งานเล่มล่าสุดของอัลเมื่อปลายปีก่อนได้แก่ To Govern the Globe : World Orders and Catastrophic Change (พฤศจิกายน 2021, เพื่อครองโลก : ระเบียบโลกกับภัยพิบัติความเปลี่ยนแปลง) ซึ่งลำดับความเป็นมาของบรรดาระเบียบโลกที่สถาปนาขึ้นโดยมหาอำนาจจักรวรรดิต่างๆ ตั้งแต่โปรตุเกส บริเตน มาจนถึงอเมริกา ครอบคลุมพื้นที่ห้าทวีปยาวนานเจ็ดศตวรรษ แล้วต่างค่อยทยอยกันล่มสลายลงเนื่องจากมหาภัยพิบัติ อย่างเช่น กาฬโรคระบาดใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1350 จนถึงปัจจุบันที่ระเบียบโลกอเมริกันกำลังเผชิญการท้าทายใหญ่จากการผงาดขึ้นของจีน เบื้องหน้าวิกฤตโลกร้อน/ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอันทำท่าจะคืบเข้ามา ในปี ค.ศ.2050 (https://history.wisc.edu/2021/11/23/professor-alfred-mccoy-publishes-new-book/)

ศาสตราจารย์แม็กคอยได้ให้สัมภาษณ์เรื่องความขัดแย้งจีน vs. อเมริกาปัจจุบันในแง่ภูมิรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์จากมุมมองแห่งข้อค้นพบของเขาในหนังสือเล่มนี้อย่างน่าสนใจหลากหลายประเด็น (https://www.democracynow.org/2021/11/16/us_china_meet_in_virtual_summit)

ซึ่งผมขอทยอยนำมาเล่าต่อบางส่วนเพื่อช่วยให้หยั่งเข้าใจยุทธภูมิรัฐศาสตร์โลก (global geopolitical strategy) ของความขัดแย้งจีน vs. อเมริกาอันเป็นบริบทสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยและเอเชีย-อาคเนย์ทุกวันนี้

ศาสตราจารย์ Alfred W. McCoy แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน กับหนังสือเล่มล่าสุดของเขา

กรณีไต้หวัน

ประเด็นขัดแย้งร้อนแรงเฉพาะหน้าระหว่างทางการวอชิงตันกับปักกิ่งคือกรณีไต้หวัน

ประธานสีจิ้นผิงเตือนสหรัฐว่ากำลังเล่นกับไฟในเรื่องไต้หวัน ตัวประธานสีได้ประกาศผูกมัดตัวเองต่อสาธารณชนจีนว่าจะรวมไต้หวันเข้ากับจีนให้จงได้ โดยถือเป็นส่วนสำคัญยิ่งของมรดกที่เขาจะมอบให้ประเทศชาติ

ในทางกลับกัน ประธานาธิบดีไบเดนก็แถลงในการประชุมชาวเมืองอเมริกันแห่งหนึ่งเมื่อเดือนตุลาคมศกก่อนว่าสหรัฐผูกมัดตัวเองที่จะปกป้องไต้หวัน จะเห็นได้ว่าผู้นำทั้งคู่ต่างแสดงท่าทีเรื่องไต้หวันในวิถีที่ถ้าดำเนินการตามนั้นสุดเหวี่ยง ก็จะนำไปสู่ข้อพิพาทขัดแย้งอย่างเลี่ยงไม่พ้น

ข้อมูลภูมิหลังเรื่องนี้ที่สำคัญอยู่ตรง น.ส.พ.นิวยอร์กไทม์สรายงานว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ทดลองทำเกมจำลองสงครามระหว่างอเมริกากับจีนในกรณีไต้หวันขึ้นมา และปรากฏว่าในการเล่นเกมจำลองสงครามดังกล่าว 18 ครั้งหลัง อเมริกาแพ้รวดทั้ง 18 ครั้ง!

ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะจีนมีขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธ (anti-ballistic missles หรือ ABM) ที่ประณีตพิสดารที่สุดของโลก ในสภาพความเป็นจริงที่เกาะไต้หวันอยู่ประชิดติดจีน หากแม้นสหรัฐเคลื่อนกำลังกองเรือบรรทุกเครื่องบินเข้าไปในช่องแคบไต้หวันเหมือนที่เคยทำในกรณีพิพาทขัดแย้งครั้งล่าสุดเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1990 แล้ว มันก็อาจถูกยิงจมลงด้วยระบบขีปนาวุธป้องกันตัวของจีนอันประณีตพิสดารที่สุดในโลกดังกล่าว

(หมายถึงกรณีวิกฤตไต้หวันปี ค.ศ.1996 เมื่อประธานาธิบดีคลินตันสั่งเรือบรรทุกเครื่องบินอเมริกัน 2 ลำให้แล่นเข้าไปริมช่องแคบไต้หวันเพื่อตอบโต้การที่จีนยิงถล่มน่านน้ำรอบเกาะไต้หวันอย่างหนักหน่วงเพื่อข่มขวัญชาวไต้หวันในจังหวะที่ไต้หวันกำลังจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งแรกพอดี

แม้ตอนนั้นกำลังทหารสองฝ่ายจะไม่ถึงขั้นประจันหน้ากันจริง แต่ผลระยะยาวของกรณีนี้บวกกับสถานการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีก็ทำให้จีนตัดสินใจปรับยุทธศาสตร์การทหารของตนจากเดิมที่เคยมุ่งรับมือสงครามที่อาจเกิดขึ้นได้กับสหภาพโซเวียต เป็นหันมาเตรียมต้านทานสหรัฐอเมริกาแทน และจากการเน้นกำลังไพร่พลทหารบกจำนวนมหาศาล มาเป็นเน้นเทคโนโลยีก้าวหน้าของกองทัพเรือและกองทัพอากาศแทน ดู Richard McGregor, Asia’s Reckoning : The Struggle for Global Dominance, 2017, pp. 151-153)

ดังนั้น ในอนาคตเฉพาะหน้า หากแม้นสหรัฐเผชิญหน้าความเป็นไปได้ที่จะต้องทำสงครามเนื่องจากไต้หวันแล้ว สหรัฐก็คงจะต้องเพลี่ยงพล้ำล่าถอยออกมาและได้แต่แลดูไต้หวันถูกยึดครองไปตาปริบๆ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเข้าทำสงครามที่ตนท่าจะพ่ายแพ้

แผนที่โครงการ BRI ของจีนประกอบด้วยเส้นทางสายไหมทางบก 3 เส้นทาง : 1) สีอิฐ เชื่อมจีน เอเชียกลาง รัสเซียและยุโรป 2) สีเหลือง เชื่อมจีน อ่าวเปอร์เซียและทะเลเมดิเตอร์เรเนียนผ่านเอเชียกลางและตะวันออกกลาง 3) สีแดง เชื่อมจีนกับเอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้, ส่วนเส้นทางสายไหมทางทะเล 4) สีฟ้า เชื่อมจีนกับยุโรปทางทะเลผ่านทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเส้นทางทั้งหมดครอบคลุมภาคพื้นทวีปยูเรเชียหรือยุโรป+เอเชีย, อ้างจากเจษฎาพัญ ทองศรีนุช, “สี่ทศวรรษนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทยต่อจีน : นโยบาย ปัจจัยและข้อเสนอแนะ”, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต, 2560, น.395

ภาคพื้นทวีปยูเรเชีย

กับโครงการข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

(The Belt and Road Initiative (BRI) หรือ ????)

ขณะเดียวกัน ก็มีการต่อสู้เชิงภูมิรัฐศาสตร์เบื้องลึกดำเนินควบคู่ไป…

ในประวัติศาสตร์ 5 ศตวรรษที่ผ่านมา ชาติมหาอำนาจที่ขึ้นครองความเป็นเจ้าในโลกทุกๆ ประเทศ ตั้งแต่โปรตุเกส ดัตช์ บริเตน มาจนถึงสหรัฐอเมริกา และบัดนี้ก็รวมทั้งจีนด้วย ได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวเหมือนกัน นั่นคือการเข้าครอบงำภาคพื้นทวีปยูเรเชีย ซึ่งทุกวันนี้เป็นที่ตั้งของประชากรและผลิตภาพของโลกราว 70%

อาศัยที่จีนเปิดการค้าเสรีกับสหรัฐจนทำรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศสำรองอู้ฟู่ล้นเหลือ (ถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2014) จีนจึงทุ่มทุน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สร้างโครงสร้างพื้นฐานมหึมาในโครงการ BRI ตั้งแต่วางรางรถไฟ ตัดถนน ท่อส่งก๊าซ ฯลฯ เพื่อเชื่อมต่อภาคพื้นทวีปยูเรเชียอันกว้างใหญ่ไพศาลให้ผนึกเข้าเป็นตลาดหนึ่งเดียวกัน อันจะเป็นช่องทางส่งผ่านการค้าและพลังอำนาจหลั่งไหลถ่ายเทกลับมายังปักกิ่ง

จีนในสมัยประธานสีจิ้นผิงได้พยายามดำเนินการเพื่อหักทะลวงการยึดกุมภาคพื้นทวีปยูเรเชียทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐด้วยโครงการ BRI นี่เอง

แรกเริ่มเดิมทีในสมัยสงครามเย็น (ค.ศ.1945-1991) สหรัฐควบคุมแกนกลางของภาคพื้นทวีปยูเรเชียจากปลายทั้งสองด้าน กล่าวคือ สหรัฐคุมปลายด้านยุโรปตะวันตกผ่านพันธมิตรองค์การนาโต (NATO – The North Atlantic Treaty Organization) และเข้าคุมปลายด้านเอเชียตะวันออกกับเอเชียอาคเนย์ผ่านสนธิสัญญาร่วมป้องกันแบบทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและพันธมิตรองค์การซีอาโต้กับปากีสถาน ฟิลิปปินส์และไทย (SEATO – The Southeast Asia Treaty Organization ดู https://www.silpa-mag.com/history/article_60172)

จากปลายสองด้านนี้ สหรัฐก็ตีวงแหวนเหล็กกล้าล้อมกรอบครอบงำยูเรเชียด้วยกองเรือบรรทุกเครื่องบิน ฝูงเครื่องบินเจ็ต ฝูงเครื่องบินทิ้งระเบิดและบรรดาฐานทัพโพ้นทะเล

มาบัดนี้ จีนกำลังชกสวนด้วยหมัดเหล็กโครงการ BRI ทะลุทะลวงผ่านวงแหวนเหล็กกล้าดังกล่าว เพื่อหักฝ่าการยึดกุมภาคพื้นทวีปยูเรเชียทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐและสร้างเสริมการเข้าควบคุมแทนของตนให้มั่นคง

นอกจากนี้ จีนยังได้สร้างท่าเรือ 40 แห่งรายรอบภาคพื้นทวีปยูเรเชียไปจรดชายฝั่งทวีปแอฟริกา เมื่อผสมผสานการตีวงล้อมแนวชายฝั่งยูเรเชียทางภูมิรัฐศาสตร์เข้าด้วยกันกับโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานมหึมาข้ามทวีปแล้ว ก็จะทำให้จีนอยู่ในฐานะจะควบคุมครอบงำภาคพื้นทวีปยูเรเชียตรงไหนก็ได้ดังประสงค์

นี่คือกุญแจไขอำนาจภูมิรัฐศาสตร์ของโลกตลอดห้าศตวรรษหลังที่ผ่านมา และยังน่าจะเป็นเช่นนั้น ต่อไปจนสิ้นศตวรรษนี้

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)