อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (16)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (16)

 

2558

ชีวิตเปลี่ยน

อาจินต์ฉลองขึ้นปีใหม่ 2558 ด้วยการล้มตึงอยู่หน้าเตียง เพราะว่าจะลุกขึ้นฉี่ มันเกิดขึ้นตอนหัวค่ำ และเกิดเพราะเหตุเดียวกันนี้มาสองสามครั้งแล้ว ครั้งนี้ จึงเป็นการล้มที่จะเปลี่ยนชีวิตไปอีกรูปแบบหนึ่ง

ฉันตัดสินใจเฉพาะหน้าก่อนว่าให้อาจินต์นอนกับพื้น ปูที่นอนลงกับพื้นเลย และให้ใช้แพมเพิร์สตัดปัญหาการที่ต้องลุกยืนฉี่ แม้จะมีกระป๋องฉี่วางข้างเตียงแล้วก็ตาม

ใช้แพมเพิร์สระยะแรก อาจินต์วุ่นวายมาก

“จะฉี่ทำยังไง”

“ฉี่เลยๆ ไม่ต้องทำอะไร”

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังงงๆ บางทีถึงกับพยายามล้วง ควักกระจู๋ออกมาฉี่นอกแพมเพิร์ส ชีวิตอาจินต์เปลี่ยนมาถึงจุดนี้แล้ว แล้วก็คงเบื่อตัวเองมาก

วันหนึ่ง หลังจากคุยกับแขกขาประจำที่มาเยี่ยมจนแขกกลับแล้ว อาจินต์ก็เดินเข้าไปในครัว ยกมือไหว้กราด มีฉันกับกบอยู่ตรงนั้น

“ฉันขอลาแล้ว”

“พี่จะไปไหน”

“ไปตาย”

“ทำไมจะตาย”

“เบื่อแล้ว ช่วยตัวเองไม่ได้ กวนคนอื่น”

“แล้วทำไงจะตาย”

“ก็นอนลง หลับตา”

“แล้วก็ตายหรือ”

“ตาย”

10 กุมภาพันธ์ 2558 วรพจน์มาหาพร้อมกับนำโล่รางวัล คำประกาศเกียรติ ซองเงินรางวัลบรรณาธิการเกียรติยศ จากสมาคมภาษาและหนังสือของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ที่เขาไปรับแทนเมื่อ 18 มกราคม 2558 มาให้

แล้วเต้ย-บูรพา อารัมภีร นายกสมาคมนักเขียน ก็พากรรมการสมาคมชุดใหม่มาเยี่ยม อาจินต์ไม่ค่อยหืออือกับใครหรืออะไรสักเท่าไรแล้ว

ต่อมา 25 กุมภาพันธ์ 2558 ทีมงานทำสารคดีชีวิต 8 คน ของมูลนิธิอมตะ ก็มาสัมภาษณ์และถ่ายทำประวัติชีวิตอาจินต์ เพื่อเผยแพร่ในงานวันมอบรางวัลนักเขียนอมตะประจำปี 2557 มูลนิธิประกาศรางวัลนี้ให้แก่อาจินต์ เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2558 แล้ว งานพิธีมอบจะจัดวันที่ 28 เมษายน

ขณะนี้ อารมณ์ คุณภาพชีวิต ของอาจินต์ เปลี่ยนแปลงไปไม่น้อยแล้ว บางวันนั่งเก้าอี้หวายหลับอยู่ดีๆ พอลืมตาตื่นมองไม่เห็นใครอยู่ข้างๆ ก็ร้องออกมาดุ่ยๆ …ไม่มีใครแยแสฉันเลย… แต่เพิ่งเมื่อวาน อารมณ์ดี สุขสงบดี มองคนนั้นคนนี้ แล้วบอกว่า …ขอบใจมาก ขอบใจทุกคนที่ช่วยกันดูแลฉันดี…

ปกติ ฉันจะอยู่ตรงไหน ทำอะไร อาจินต์ไม่เคยสนใจ แต่ตอนนี้ วันไหนฉันต้องเข้ากรุงเทพฯ แม้แต่วันเดียว จะหงุดหงิดมาก กบบอกอาจินต์อาละวาด พี่น้อยไปชั่วโมงหนึ่งคุณลุงก็ถาม… กลับรึยังๆ …ถามทั้งวัน สามสี่วันก่อนถามว่า กบจำได้ไหมที่พี่น้อยฝันร้ายแล้วละเมอร้องวี้ดน่ะวันไหน กบจำวันไม่ได้ คุณลุงว่า คุณน้อยเขาจะตายอยู่แล้ว แกยังไม่แยแสอีก กบก็ว่า แล้วคุณลุงจำได้รึเปล่า… จำได้… วันไหนล่ะ… ไม่บอก!!

เรื่องการให้สัมภาษณ์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีอารมณ์ ใครมาสัมภาษณ์ก็ดุ บางทีดุมาก ฉันเคยบอกยศผู้เป็นคนรับนัดให้ลุงแล้ว ว่าหยุดพักได้แล้ว ลุงพูดอะไรตอนนี้ก็ไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่าถูกหรือผิด ความจำต่างๆ สับสนมากแล้ว อารมณ์ก็ไม่ดีด้วย แต่จนวันนี้ยังมีนัดมาอีก ทุกนัดถูกดุ มันไม่ใช่เรื่องดี ต้องหยุดเด็ดขาดแล้ว

จะนัดคุยได้แต่คนเก่าแก่ที่คุ้นเคยรักใคร่พอแล้ว

แล้ววันที่ 9 พฤษภาคม 2558 คุณสะอาด เปี่ยมพงศ์สานต์ ก็มากับคุณมนัส สัตยารักษ์ ผู้เขียนเขียนด้วยปืน มีนิวัติ กองเพียร พามา เขาคุยรำลึกความหลังครั้งทำงานที่ทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม กันเป็นที่สนุกสนานเพลิดเพลินมาก

ขณะที่อาจินต์อารมณ์ดีบ้างไม่ดีบ้าง หลงบ้างจำบ้าง หลับบ้างตื่นบ้างอยู่นี้ วิถีชีวิตติดดินตามธรรมชาติรอบๆ ตัวก็ดำเนินต่อไป ฉันมีความสุขเพลิดเพลินกับสิ่งเหล่านี้ และก็พยายามนำอาจินต์เข้ามามีส่วนร่วมบ้าง บางทีก็ได้ผล บางทีก็ไม่ได้ผล อาจินต์เพลิดเพลินไปด้วยได้บ้างบางกรณี แต่บางกรณีไม่นึกว่าจะเกี่ยวข้องได้กลับได้ เช่น ฉันนั่งคุยกับจักรเรื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก อาจินต์ได้ยินมาตลอด จบแล้วบอกว่า …จะไปด้วย …ไปไหน? ก็ไปดูปรินเตอร์ที่จะซื้อน่ะสิ อยากดู!!

ระยะนี้ หมายถึง 2-3 ปีมานี้ มีงานเพลงเก่าที่อาจินต์ทำไว้ได้รับความสนใจขึ้นมา 2-3 เพลง ส่วนมากเป็นจดหมายรักจากเมียเช่า สวัสดีบางกอก บางคนจะเอาไปร้องประกวด บางคนก็เอาไปทำซีดี คาราโอเกะ

แต่ทำอะไรอาจินต์ก็ไม่สนใจ ไม่รับรู้ด้วย บอกก็เฉยๆ

อาจินต์ตอนนี้จะรับรู้ก็แต่ที่เห็นตรงหน้า ปีนี้ นายจักรเขาปลูกฟักทอง เริ่มเมื่อเดือนสิงหาคม แล้วก็ปลูกผักชี ราวกลางกันยายน เวลาเขาเก็บผักชีมานั่งทำโคนผักชีกันอยู่ที่โรงรถ อาจินต์ก็จะลงมานั่งดูด้วย พอเพลิดเพลินไปบ้าง บางทีก็อวยชัยให้พร ให้กำลังใจเขา

วันไหนว่าง พอจะพาออกไปไหนได้ก็พาไป หลายครั้งที่มีคนมาแล้วฉันพาไปดูงานและบริจาคช่วยเหลือเด็กที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก อาจินต์ชอบไปด้วย ไปคุยกับเด็ก ชอบคุยกับเด็กมาแต่ไหนแต่ไร ที่บ้านสุทธิสาร เคยมีเด็กเล็กๆ 2-3 คน ขี่จักรยานเข้ามาเที่ยวท้ายซอยหน้าบ้านเรา อาจินต์จะเรียกเด็กหยุดยืนคุยด้วยเสมอ คุยไม่คุยเปล่า มักจะให้ตังค์เด็กไปกินขนมจนโตก็ให้ตังค์ไปเล่นเกม ตอนนี้เด็กพวกนั้นโตหมดแล้ว

ราวปลายพฤศจิกายน 2558 เป็นเวลาที่จักรจะต้องเก็บผักชีขายชุดสุดท้าย ตลาดผักชีนี่ก็คงเหมือนๆ กับตลาดพืชเกษตรอื่นๆ คนซื้อขายเป็นผู้กำหนดราคา แปลงผักชีใหญ่ๆ ที่ชาวบ้านรวมกันปลูกหลายราย จะมีรถรับซื้อมารับทุกเย็น ราคาแล้วแต่เขากำหนดเป็นวันๆ แถวบ้านเราไม่มีแปลงผักชีรายอื่น มีแต่ไม่กี่ไร่ของจักร คนซื้อก็ไม่มา เราต้องบรรทุกไปขายตรงที่เขามารับซื้อ ไม่ไกลนัก หมู่บ้านเดียวกันแต่อีกทิศหนึ่ง วันก่อนเขาไปส่งอีกที่หนึ่งกิโลละ 40 วันนี้เขาจะไปอีกที่ ฉันรู้สึกว่านายจักรไม่มีหัวพ่อค้าเอาเสียเลย รู้แต่เรื่องปลูก เรื่องซื้อขายเขาทำยังไงกันก็อย่างงั้น ฉันเลยอยากจะไปดูบ้าง

ไปแล้วก็คุยกับผู้รับซื้อ หาข้อมูลบ้าง ได้รู้ว่า ตลาดสี่มุมเมืองรับซื้อได้เยอะที่สุด ตลาดไทเล็กกว่า ตลาดนครปฐม ราชบุรี ใกล้หน่อยแต่เล็ก ราชบุรีรับได้แค่ 10 คันรถปิกอัพก็เต็มแล้ว ตลาดสี่มุมเมืองรับ 20 คันยังไหว วันนี้จักรขายได้กิโลละ 80 สรุปรวมยอดขาดทุน ทั้งผักชี ทั้งฟักทอง ราคาปลายทางที่ตลาดไทกำหนดนั้น ผู้รับซื้อนำไปส่งก็ราคาหนึ่ง รายย่อยนำไปส่งก็อีกราคาหนึ่ง ลดลงไปเรื่อยๆ คนปลูกขาย 80 ผู้ซื้อขายต่อเป็นทอดๆ ปลายทางอาจเป็นร้อยกว่าสองร้อย คิดแล้วปวดหัว ปัญหาโลกแตก ก็คงคล้ายกับข้าว มัน อื่นๆ

“ทำไมเธอไม่รวมตัวกัน แล้วพากันไปส่งปลายทางเสียเอง”

“โอ้ ไม่ง่าย มีค่าใช้จ่าย มีปัญหาชาวบ้าน ถ้าไม่ใช่ทุนใหญ่จ้างคนทำเป็นระบบ ชาวบ้านก็มักมีปัญหาเอง คนนั้นได้ทำงาน ไปส่งก็มีค่าแรง คนนี้อยากไปด้วยบ้าง ไม่ได้ไป กิจการเล็กเกินไปทำลำบากครับ เหนื่อยกับชาวบ้านมากกว่า”

เขามีประสบการณ์กับเรื่องทำนองนี้มาตั้งแต่เด็ก เกษตรกรรมของครอบครัวเขาที่ชุมพร

ปีนี้ เริ่มต้นด้วยการล้มที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของอาจินต์ และมันจบลงด้วยอาการแปลกประหลาดของฉัน ฉันมีโรคประจำตัวอะไรไม่รู้ นานๆ ที อาจมีอะไรเครียดสะสม กลางคืนจะฝันร้ายจนร้องวี้ดไม่รู้ตัว

คืนหนึ่งใกล้จะสิ้นปี ฉันวี้ดลั่นจนตัวเองตื่น ได้ยินเสียงอาจินต์ร้องว่า

“ใคร ใคร ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร อาจินต์จะไปหา อาจินต์อยู่ที่นี่ จะไปหา อาจินต์อยู่นี่ โรงสีอยู่นี่ ใครทำให้เครียดอย่างงี้ ใครทำ…”

ฉันนอนนิ่งเงียบ ใจเต้น ได้ยินเสียงยัยกบร้องเรียกลุง กลัวลุงล้ม

“คุณลุง คุณลุง อย่าลุก อย่าลุก”

แล้วทุกคนก็กลับเข้านอน

รุ่งขึ้นเช้า ฉันยังไม่ตื่น แต่รู้สึกมีอะไรขยุกขยิกที่ปลายเท้าซ้าย รีบหดกลับ ลืมตา

อาจินต์กำลังดึงผ้าห่มคลุมปลายเท้าให้!!