เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก เยือนไทย-เข้าเฝ้าสังฆราช ขับเน้นปฏิญญามักกะห์ 2019/บทความพิเศษ

บทความพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected], http://www.oknation.net/blog/shukur

 

เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก

เยือนไทย-เข้าเฝ้าสังฆราช

ขับเน้นปฏิญญามักกะห์ 2019

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน รวมทั้งผู้อ่านทุกท่าน

ข่าวการที่ ฯพณฯ ชัยค์ ดร.มูฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกเยือนไทย 14-19 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นที่จับตาของสื่อไทยมิใช่น้อย

โดยเฉพาะวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ 2565 เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จลงพระวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ประทานพระวโรกาสให้ท่าน (ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก) เข้าเฝ้า

ซึ่งโอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชมีพระดำรัสสรุปความว่า การพบปะกันครั้งนี้ขอให้ถือว่าเป็นการพบกันของเพื่อน ซึ่งล้วนควรมีความปรารถนาดีต่อกัน อันจะยังให้เกิดสันติสุขในหมู่มวลมนุษยชาติ

พร้อมทั้งมีรับสั่งเล่าประทานว่าภายในบริเวณวัดราชบพิธเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดราชบพิธ ซึ่งมีนักเรียนผู้นับถือศาสนาต่างๆ ทุกศาสนามาใช้เล่าเรียนและพำนัก ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ ต่างได้มาศึกษาร่วมกัน เรียนรู้วิถีชีวิตของกันและกัน

แม้ในอดีตชุมชนใกล้เคียงกันกับวัดราชบพิธก็มีชาวมุสลิมอาศัยร่วมอยู่ด้วย การอยู่ร่วมกันของศาสนิกชนต่างศาสนาในสังคมไทยจึงดำเนินไปโดยสงบสุขเป็นปกติ

ทรงเล่าประทานว่า คนไทยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมประเพณีของศาสนาอิสลามมานานแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งมีชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางเข้ามาค้าขายหรือรับราชการในเมืองไทย มีผู้สืบเชื้อสายมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสกุลใหญ่ซึ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวาง

ในส่วนพระองค์เคยเสด็จไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประชากรคนไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามอยู่เป็นจำนวนมาก

ทรงสังเกตว่าทั้งชาวพุทธและชาวมุสลิม ต่างใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสันติตามหลักศาสนา ยามที่ชาวมุสลิมมีการงานประเพณีใด ชาวพุทธก็นำสิ่งของไปช่วยงาน

ในขณะที่ถ้าชาวพุทธมีการงานประเพณีใด ชาวมุสลิมก็นำสิ่งของมาช่วยงานเช่นเดียวกัน ทรงสามารถยืนยันได้เพราะได้เคยทอดพระเนตรเห็นประจักษ์มาด้วยพระองค์เอง

ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์มีพระบรมราชปณิธานที่จะพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์บำรุงทุกศาสนา พระบรมราโชบายเช่นนี้จึงทำให้เมืองไทยร่มเย็นด้วยสามัคคีธรรมเสมอมา

ส่วน เลขาธิการองค์การสันนิบาต รู้สึกประทับใจในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ พร้อมย้ำว่า มุสลิมที่ดีควรสร้างสะพานแห่งมิตรภาพแม้จะแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรม พร้อมสำทับว่า

“ผู้ใดผู้ยุยงให้ผู้คนในสังคมรู้สึกแตกแยกบาดหมางกันโดยอ้างความแตกต่างกันทางศาสนา บุคคลนั้นไม่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมที่แท้จริง”

การเยือนครั้งนี้ของท่านเลขาธิการย้ำทุกเวทีถึงการใช้ปฏิญญามักกะห์ 2019 ในการขับเคลื่อน

ปฏิญญามักกะห์ 2019 หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Makkah Declaration (2019) เป็นปฏิญญาที่ประกาศในเมืองมักกะห์ (Makkah) ประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia) ซึ่งเรียกร้องให้อยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร อันเป็นสะพานสู่สันติภาพ/สันติสุข ขจัดและต่อต้านความสุดโต่ง คลั่งไคล้ทางชาติพันธุ์ สำนักคิด ศาสนาและวัฒนธรรม อันจะเป็นกำแพงปิดกั้นความร่วมมือและสมานฉันท์ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและทำลายความสงบสุข

ปฏิญญาดังกล่าวได้รับการประกาศในเดือนพฤษภาคม 2019 ในวันสุดท้ายของการประชุมสี่วันซึ่งจัดโดยองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก (Muslim World League) ที่เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย

โดยได้รับฉันทานุมัติจากบรรดาผู้นำนักวินิจฉัย ผู้ทรงคุณวุฒิศาสนาอิสลามจาก 139 ประเทศและลงนามโดยบุคคลสำคัญของมุสลิมราว 1,200 คน

ในปาฐกถาพิเศษว่าด้วยความสำคัญของพันธมิตรหลากหลายวัฒนธรรม (Importance of Alliance of Civilizations) ชัยค์ ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลกะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ในโอกาสเยือนศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.30-11.30 น. ณ ห้อง 105 อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ท่านให้ทัศนะส่วนหนึ่งว่า “นี่คือความท้าทายจากทฤษฎีสู่ปฏิบัติ การที่จะให้เกิดพันธมิตรหลากหลายอารยธรรม เราจำเป็นต้องสอนลูกหลานของเรา สร้างความเข้าใจ ให้เกิดความตระหนักว่า ความหลากหลายของอารยธรรมไม่ได้เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกัน ความหลากหลายของอารยธรรมเป็นสิ่งที่ดีงาม และทุกคนต้องภูมิใจในอารยธรรมของตนเอง”

ซึ่งหลังจากท่านได้แสดงทัศนะเสร็จได้กล่าวกับนักข่าวจากต่างประเทศถามถึงผลงานการขับเคลื่อนองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกทั้งในโลกตะวันตกอย่างอเมริกา ยุโรปหรือโลกตะวันออก ประเทศมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมอย่างประเทศไทยว่า แม้ในเชิงประจักษ์เรายังเห็นสถานการณ์ Islamophobia หรือโรคหวาดกลัวและเกลียดชังอิสลามซึ่งสิ่งนี้ยังเป็นงานที่ท้าทายในภารกิจสร้างสะพานเอื้ออาทรระหว่างกัน

ปฏิเสธมิได้ว่า หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชายแดนภาคใต้มีความพยายามของกลุ่มศาสนิกสุดโต่งบางคนบางกลุ่มสร้างความเกลียดชังและถูกกระพือให้แรงขึ้นในโลกโซเชียลจนมีบางกรณีต้องขึ้นโรงขึ้นศาลฟ้องร้องกัน

“ขณะที่บางคน บางองค์กร กำลังสร้างความเกลียดชัง สร้างความแตกแยกทางศาสนา/ศาสนิก แต่ผู้นำต่างศาสนาก็สร้างสะพานสันติภาพต่อกัน”

ประโยคข้างต้น ทุกภาคส่วนก็ต้องต่อยอด

โดยมีโครงการดีๆ มากมายที่ขับเคลื่อนก่อนหน้านี้ เช่น ม.มหิดล ปักหมุด พื้นที่ทางศาสนา ลดต่าง ด้วย “เป้าหมายร่วมแห่งสุขภาวะ” ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา (IHRP) มหาวิทยาลัยมหิดล คือผู้ริเริ่มโครงการนี้ (เพื่อนรักต่างศาสนา )

โดยการนำทีมลงพื้นที่ชายแดนใต้ถักทอสายใยแห่งสันติภาพ ร่วมกับการนำองค์ความรู้ทางสุขภาวะ เป็นทูตสันถวไมตรีในการระดมเอาเครือข่าย ทั้งที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พร้อมด้วยนักกระบวนกรด้านการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งเชิงลึกด้วยสันติวิธี ร่วมสร้างสรรค์สังคมแห่งสุขภาวะ และสังคมอุดมปัญญา เพื่อเยียวยาความบอบช้ำด้วยปัญหาความรุนแรงจากความขัดแย้งต่างๆ ที่ผ่านมาในพื้นที่ชายแดนใต้

ทำให้ทุกวันนี้ด้วย โครงการเพื่อนรักต่างศาสนา นำโดย ผศ.ดร.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ สามารถ “ปักหมุด” ลงในพื้นที่ทางศาสนา ซึ่งได้แก่ วัดไทย และมัสยิดของชาวไทยมุสลิม ให้เป็นพื้นที่ทางสังคมร่วมกันของชุมชนในชายแดนใต้

ดังนั้น รัฐน่าจะลองเป็นเจ้าภาพ ชวนองค์การสันนิบาตโลกมุสลิม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักจุฬาราชมนตรี เอาโมเดลนี้ไปขับเคลื่อนต่อยอดต่อไป