นักกีฬา LGBTQ ในโอลิมปิกฤดูหนาว 2022/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

นักกีฬา LGBTQ

ในโอลิมปิกฤดูหนาว 2022

กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 หรือ Beijing 2022 ระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ นับเป็นเมืองในทวีปเอเชียเมืองที่ 4 ที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว

ก่อนหน้านี้ เมืองซัปโปโร (Sapparo) ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพปี 1972 เมืองนางาโนะ (Nagano) ปี 1998 และเมืองเปียงชาง (PyeongChang) ประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2018

การที่ปักกิ่งได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวคราวนี้ ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์” เป็นครั้งแรกที่เมืองที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว เพราะกรุงปักกิ่งเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2008 มาแล้ว

เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ประเทศเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว จะต้องเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูหนาว สำหรับนักกีฬาพิเศษที่ร่างกายมีข้อจำกัด แต่หัวใจแกร่งเกินร้อย

พาราลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 4-13 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีนักกีฬาพิเศษกว่า 500 คน จากกว่า 40 ประเทศเข้าแข่งขัน

โอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 นักกีฬาทีมชาติไทย 4 คนได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขัน คือ คาเรน จันเหลือง, มรรค จันเหลือง, นิโคล่า ซาโนน และมิดา ฟ้าใจมั่น

นักกีฬาที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 2,871 คนมาจาก 91 ประเทศ เป็นชาย 1,581 คน และหญิง 1,290 คน

ที่น่าสนใจก็คือ โอลิมปิกฤดูหนาวคราวนี้ นักกีฬาถึง 32 คน ประกาศตัวว่า เป็นนักกีฬา LGBTQ หรือกลุ่มที่แสดงออกความหลากหลายทางเพศ (ย่อมาจาก Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender และ Queer)

มากกว่าครั้งก่อนในโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชาง ที่มีนักกีฬา LGBTQ ประกาศตัว 15 คน

 

สมัยโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชาง มีนักกีฬาสุดหล่อ 2 คนของทีมชาติอเมริกา กลายเป็นนักกีฬาที่โด่งดัง เพราะเป็นนักกีฬาเกย์ 2 คนแรกในประวัติศาสตร์ของนักกีฬาทีมชาติอเมริกาที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ก่อนลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2018

นักกีฬาเกย์สุดหล่อทั้ง 2 คน คือ อดัม ริพพอน (Adam Rippon) นักสเก๊ตลีลา หรือฟิกเกอร์ สเก๊ตติ้ง (Figure Skating) ปัจุจุบันอายุ 32 ปี เจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2018 ที่เมืองพยองชาง โดยอดัมเผยว่าตัวเองเป็นเกย์เมื่อปี 2015

อีกคนคือ กัส เคนเวอร์ธี (Gus Kenworthy) นักฟรีสไตล์ สกีเออร์ (Freestyle Skier) หรือสกีฟรีสไตล์ ลีลาผาดโผน ปัจจุบันอายุ 30 ปี เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกฤดูหนาว ปี 2014 ที่เมืองโซชี่ ประเทศรัสเซีย โดยกัสเผยตัวว่าเป็นเกย์ในปี 2015

โอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง 2022 กัส เคนเวอร์ธี เปลี่ยนสัญชาติมาลงแข่งให้ทีมชาติสหราชอาณาจักร เขามีพ่อเป็นคนอเมริกัน แม่เป็นคนอังกฤษ ส่วนออดัม ริพพอน ไม่ลงแข่งขันในปักกิ่ง 2022

นักกีฬาอาชีพที่เป็นเกย์ส่วนใหญ่ไม่เปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ในขณะที่ยังเป็นนักกีฬาอาชีพอยู่ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมหรือสปอนเซอร์ ส่วนใหญ่เปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ก็ต่อเมื่อเลิกเป็นนักกีฬาอาชีพแล้ว

อดัม ริพพอน เล่าถึงเหตุผลที่เขาตัดสินใจเผยตัวว่าเป็นเกย์ให้สาธารณชนทราบเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2015 โดยให้สัมภาษณ์นิตยสาร Skating ว่าตอนเด็กเขาจำได้ว่ามีความรู้สึกไม่แน่ใจในตัวตนของตัวเอง และไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ จะคิดกับตัวเขาอย่างไร

แต่เมื่อได้เห็นคนอื่นๆ กล้าเปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ เล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง ทำให้อดัมได้คิดว่าหากเขากล้าเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ เขาก็จะสามารถยอมรับในสิ่งที่ตัวเขาเป็นและได้เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

อดัมบอกว่า หลังจากเขาเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ให้สาธารณชนทราบ เขารู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก ทำให้เขาได้แชมป์ U.S. Championship ในปี 2016 เพราะเวลาแข่งขัน เขาได้แสดงให้กรรมการและผู้ชมเห็นถึงตัวตนที่แท้จริงของเขา

ถามอดัมต่อว่า การเป็นนักกีฬาเกย์มีความรู้สึกอย่างไร อดัมตอบว่ามีความรู้สึกเหมือนนักกีฬาชายแท้ทุกอย่าง คือต้องตั้งใจฝึกซ้อมเต็มที่ เพียงแต่มีคิ้วที่สวยกว่าเท่านั้นเอง

ส่วนกัส เคนเวอร์ธี บอกว่า ที่เขาตัดสินใจเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์นั้นก็เพราะอยากให้สาธารณชนทราบจากปากเขาเอง และต้องการช่วยเด็กๆ ที่มีความรู้สึกเช่นเดียวกับตัวเขา

ความรู้สึกของกัสหลังจากประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ ก็เหมือนกับอดัม ริพพอน คือเหมือนยกภูเขาออกจากอก และได้รับกระแสตอบรับในทางบวกจากแฟนๆ สกี ทำให้เขาตื้นตันจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่

นอกจากนี้ กัส เคนเวอร์ธี ยังได้กระแสตอบรับที่ดีมากจากบรรดาสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็น Visa, Nike, Toyota, Ralph Lauren, Samsung และ Prada ซึ่งกัสบอกว่าที่เขาได้รับความสนใจจากสปอนเซอร์เพราะเขามีเรื่องราวชีวิตที่สามารถเล่าสู่กันฟังที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องชีวิตนักกีฬาที่มีแต่เรื่องการฝึกซ้อมและการแข่งขันเท่านั้น

แต่ยังมีเรื่องราวการต่อสู้ในชีวิตของเขาตั้งแต่เป็นเด็ก ที่ทำให้เขาเป็นตัวตนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

ทิม คัลคินส์ (Tim Calkins) อาจารย์ด้านการตลาดแห่ง Northwestern University วิเคราะห์ว่า ขณะนี้โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่สปอนเซอร์ยอมรับในความแตกต่างของนักกีฬา จากอดีตที่นักกีฬาต้องเสียสปอนเซอร์หลังเผยว่าตัวเองเป็นเกย์

ทิม คัลคินส์ เห็นว่าสปอนเซอร์สมัยนี้ ต้องการนักกีฬาที่มีคุณสมบัติ 3 ประการคือ

1. ประสบความสำเร็จด้านกีฬา

2. มีนิสัยและบุคลิกน่ารัก น่าเอ็นดู

3. มีความสามารถในการสื่อให้เห็นถึงความแตกต่าง หลากหลาย

กัส เคนเวอร์ธี มีคุณสมบัติพร้อมทั้ง 3 ข้อ ทำให้ตอนนี้ กัสมีรายได้จากสปอนเซอร์ปีละประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ หรือ 32 ล้านบาท

กัสบอกว่า การลงแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวในฐานะนักกีฬาเกย์นั้น ทำให้เขาเป็นเป้าสนใจ และกดดันพอสมควร แต่เขาก็ไม่กลัวว่าการเป็นนักกีฬาเกย์จะบดบังความสามารถในการแข่งขันสกีของเขา

กัสบอกว่า แม้เขาจะเป็นนักกีฬาเกย์ แต่หากเขาชนะการแข่งขัน เขาก็เป็นผู้ชนะการแข่งขันวันยังค่ำ ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงได้

พิศณุ นิลกลัด

FB : @Pitsanuofficial