เดือด ที่โน่น ร้อน ที่นี่/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เดือด ที่โน่น

ร้อน ที่นี่

 

โลกร้อนระอุถึงขีดสุด

เมื่อสถานการณ์เผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติตะวันตก ทวีความตึงเครียดอย่างหนัก

และอยู่ในภาวะล่อแหลมที่จะปะทุเป็นสงคราม “ใหญ่”

เมื่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย สั่งกองกำลังทหารรัสเซียเข้าไปทำหน้าที่รักษาสันติภาพในพื้นที่ของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทางตะวันออกของยูเครนที่มีชายแดนติดกับรัสเซีย

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากประธานาธิบดีปูตินลงนามรับรองเอกราชของดินแดนโดเนตสค์และลูฮานสค์ ซึ่งเป็นดินแดนของยูเครนที่มีคนเชื้อสายรัสเซียจำนวนมากอาศัยอยู่ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์

ปูตินอ้างว่า ยูเครนไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของการเป็นรัฐจริงๆ เลย ถูกสร้างขึ้นโดยรัสเซียทั้งหมด ยูเครนถูกปล้นไปตอนที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 และในปัจจุบันรัฐบาลยูเครนคอร์รัปชั่น และกำลังถูกควบคุมจากภายนอก

ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดคือ การขัดขวางไม่ให้ยูเครนได้เป็นสมาชิกขององค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพราะเมื่อยูเครนเป็นสมาชิกนาโตจะเพิ่มความเสี่ยงเกิดการโจมตีอย่างกะทันหันต่อรัสเซียมากขึ้น

จึงได้ลงนามกฤษฎีกายอมรับการแยกตัวเป็นอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และ สาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางตะวันออกสุดของยูเครน

โดยปูตินบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรทำมานานแล้ว เพื่อยอมรับอิสระและอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์ และสาธารณรัฐประชาชนลูฮานสค์

ทั้งนี้ รัสเซียได้สะสมกำลังทหารประชิดแนวชายแดนยูเครนมากกว่า 100,000 นายตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ารัสเซียมีแผนจะบุกรุกรานอยู่ โดยสหรัฐยังประเมินล่าสุดว่ารัสเซียมีกำลังพลประจำการอยู่ในภูมิภาคดังกล่าวมากถึง 169,00-190,000 นาย ที่รวมถึงในดินแดนโดเนตสค์และลูฮานสค์

พร้อมเตือนว่ารัสเซียจะบุกโจมตียูเครนได้ทุกเมื่อ

 

คําประกาศและปฏิบัติการดังกล่าวของรัสเซียดังกล่าว ส่งผลให้นานาชาติพากันออกมาก่นประณามการตัดสินใจดังกล่าวที่ถือเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน

และยังทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศมาตรการคว่ำบาตรตอบโต้รัสเซียในทันที และจะมีมาตรการตอบโต้รัสเซียรุนแรงจากชาติยุโรปสำทับเพิ่มเติมด้วย

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะลงนามในคำสั่งผู้บริหารเพื่อห้ามการลงทุนใหม่ทางด้านการค้าและการเงินในภูมิภาคดังกล่าว

ขณะที่แถลงการณ์ร่วมของนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลีเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (อียู) และนายชาร์ลส์ มิเชล ประธานรัฐสภายุโรป ระบุว่า การกระทำของปูตินถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน และอียูจะตอบโต้ด้วยการคว่ำบาตร

ผู้นำอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ยังเห็นพ้องกันในการดำเนินมาตรการตอบโต้รัสเซีย โดยชี้ว่าการประกาศรับรองเอกราชของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนดังกล่าวเท่ากับปูตินได้ทำลายข้อตกลงสันติภาพมินสค์ ที่มีการลงนามไว้ในปี 2015 ซึ่งกำหนดให้ทางการยูเครนต้องให้อำนาจปกครองตนเองในวงกว้างแก่กลุ่มกบฏในภูมิภาค ซึ่งทำให้ชาวยูเครนจำนวนมากไม่พอใจเพราะมองว่าเป็นการยอมจำนนต่อรัสเซียและยังส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของยูเครน

 

ด้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ได้จัดประชุมฉุกเฉินขึ้นในวันเดียวกัน เพื่อหารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยนางลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น กล่าวต่อที่ประชุมว่า การรับรองการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคตะวันออกของยูเครน เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างบริบทเพื่อการบุกรุกรานยูเครนมากยิ่งขึ้น

และว่า ประเทศต่างๆ ต้องยืนหยัดร่วมกันในการเรียกร้องให้รัสเซียถอนกำลงทหารออกไปและกลับมาสู่โต๊ะเจรจาทางการทูตและทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่สันติภาพ

นายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การตัดสินใจของรัสเซียเป็นการละเมิดบูรณาภาพแห่งดินแดนและอธิปไตยของยูเครน และขัดต่อหลักกฎบัตรสหประชาชาติ

 

สําหรับประเทศไทย ในเฉพาะหน้า คงไม่มีผลกระทบรุนแรงนัก

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ บอกว่าได้เตรียมแผนอพยพคนไทย 250 คนในยูเครนหลังสถานการณ์ทวีความตึงเครียดมาก

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานเอกอัครราชทูตไทยในโปแลนด์ กรมการกงสุล และส่วนราชการอื่นๆ เตรียมการเอาไว้แล้ว ขณะนี้ตั้งกลุ่มไลน์เพื่อติดต่อประสานงานกับคนไทยและเจ้าของกิจการที่มีคนไทยทำงานในยูเครน

การเตรียมการอพยพมี 3 วิธีคือ 1.เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางออกจากยูเครน 2.อพยพคนไทยไปเมืองลวิฟซึ่งตั้งอยู่ในยูเครนใกล้กับโปแลนด์ และให้เดินทางไปยังกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงโปแลนด์ เพื่อเช่าเครื่องบินเหมาลำออกจากโปแลนด์ และ 3.เช่าเครื่องบินเหมาลำจากไทย อาจเป็นเครื่องบินบริษัทการบินไทยหรือกองทัพอากาศ ไปรับคนไทยที่เมือลวิฟหรือกรุงวอร์ซอ

ทั้งนี้ สถานทูตไทยในรัสเซียและโปแลนด์ กรมยุโรปและกรมการกงสุล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินสถานการณ์ เมื่อเห็นว่าควรต้องดำเนินการก็จะประสานกับคนไทยให้อพยพทันที

 

อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ที่น่าจะเป็นวิกฤตระดับโลกนี้ คงจะมีผลกระทบติดตามมาแน่นอน

และทำให้ข่าวดีของประเทศไทย “เฉา” ลงไปทันที

โดยก่อนที่ปูตินจะเขย่าโลกเพียงหนึ่งวัน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ดีเกินคาดหมาย

โดยไตรมาส 4/2564 ขยายตัว 1.9%

ทำให้ตลอดปี 2564 ขยายตัว 1.6% มูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท (506,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) จีดีพีต่อหัวเฉลี่ย 232,176 บาทต่อคนต่อปี (7,255.5 เหรียญต่อคนต่อปี)

ดีกว่าที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.2% และดีขึ้นจากปี 2563 ที่ลดลงถึง 6.2%

เพราะไตรมาส 4/2564 มีการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว และไม่จำกัดพื้นที่ (Test & Go) ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย 342,024 คน มูลค่าส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 18.8% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่ม 0.3% และการลงทุนเพิ่ม 3.4% ส่วนด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่ม 1.4% สาขาการผลิตอุตสาหกรรม เพิ่ม 4.9% และสาขาการขายส่งและการขายปลีก เพิ่ม 1.7% ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่ง เพิ่ม 14.4% และ 2.9% ตามลำดับ

สำหรับปี 2565 คาดหมายว่าจะขยายตัว 3.5-4.5%

 

แต่กระนั้น นายดนุชาเตือนว่าจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนี้

1. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ท่ามกลางการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

2. การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก

3. ภาระหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์หรือความต้องการในประเทศ รวมทั้งความสามารถในการชำระหนี้ ในขณะเดียวกันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ประกอบกับตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

4. ปัญหาชะงักงันของห่วงโซ่การผลิตที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ โดยเฉพาะปัญหาการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่ดีขึ้นจากปี 2564 ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางทะเลยังสูง

5. ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินของโลก จากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ นโยบายทางการเงินของประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทย รวมถึงความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจ

 

ซึ่งความขัดแย้งระหว่างชาติมหาอำนาจกรณีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน อันเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย

ก็เริ่มมีผลแล้ว ซึ่งนอกจากทำให้ตลาดหุ้นร่วงหนักทันที

ขณะเดียวกัน ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น กดดันให้ปัญหาเงินเพ้อมากขึ้น

ต้องไม่ลืมว่า เรื่องน้ำมันแพงที่ฉุดให้สินค้าขึ้นราคา ได้สร้างปัญหาให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่ผ่านมาโดยตลอด

และถูกวิพากวิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายค้านในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม ม.152 ระหว่างวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลพาประเทศไปสู่ภาวะ “แพง-จน-พัง”

คือของ “แพง” ทั้งแผ่นดิน

จนทำให้ประชาชน “ยากจน” มากขึ้น

และทำให้ประเทศ “พัง”

ถือเป็นการดิสเครดิตรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์อย่างมาก

ซึ่งเมื่อต้องเผชิญวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังไม่รู้ว่าจะบานปลายเป็น “วิกฤตการณ์ของโลก” ขนาดไหน

แต่ก็คงทำให้สถานการณ์แพงจนพัง ย่ำแย่ลงไปอีก

ยังไม่นับหากมีการรบด้วยกำลังทหาร และขยายเป็นสงครามนานาชาติ ความเสียหายย่อมมากมายมหาศาลแน่นอน

 

หรือแม้ไม่มีสงครามใหญ่ ความเสียหายจากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่ฝ่ายตะวันตกกำลังพิจารณา ก็คงกระทบไปทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

เช่น อาจควบคุมไม่ให้นานาชาติค้าขายกับรัสเซีย ซึ่งไทยอาจต้องปฏิบัติตามมาตรการของฝ่ายตะวันตก

แน่นอนย่อมกระทบการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไทยตั้งเป้าหมายในการส่งออกสินค้าต่างๆ ไปยังรัสเซียในปี 2565 ว่าจะให้เติบโต 7-8% จากปี 2564 ที่ขยายตัว 41.68% มูลค่า 1,027 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วย สินค้ากลุ่มรถยนต์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋อง อาหารทะเลกระป๋อง ยางพารา ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ข้าว

ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากรัสเซีย เช่น น้ำมันดิบ ปุ๋ย และแร่โลหะ

ซึ่งการส่งออกและนำเข้าเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบจากวิกฤตแน่ๆ หากมีมาตรคว่ำบาตรออกมา

นอกจากนี้ ททท.ได้ตั้งเป้าหมายปี 2565 จะดึงนักท่องเที่ยวรัสเซียมาไทยประมาณ 5-7 แสนคน ซึ่งถือว่าฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ส่วนปี 2562 ก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้าไทยมากถึง 1.4 ล้านคน สร้างรายได้ 102,895 ล้านบาท

นี่ถือเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ ที่อาจจะสะดุดจากวิกฤตยูเครน-รัสเซียเช่นกัน

ดังนั้น วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน แม้ดูเหมือนจะไกลจากประเทศไทย

แต่เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ตรงกันข้ามคงต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับสถานการณ์

เพราะ เดือด ที่นั่น

ร้อน ถึงที่นี่ อย่างหลีกเลี่ยงยาก