แถเถือกไปใน ‘ความหลง’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

แถเถือกไปใน ‘ความหลง’

 

การบริหารจัดการประเทศให้ไปได้ดี ความเชื่อมี่นต่อรัฐบาลมีผลสูงมาก ด้วยไม่ว่าการดำเนินการอะไรก็ตามจำเป็นอย่างยิ่ง

ที่กลไกที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าทำไปแล้วจะไม่เกิดผลในทางที่เป็นพิษภัยกับตัวเอง

ถึงวันนี้น่าจะไม่มีใครมั่นใจแล้วว่าสิ่งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา สั่งการให้ทำนั้นจะเป็นความถูกต้องและไม่นำความเดือดร้อนมาให้ภายหลัง

เป็นความปกติเมื่อความไม่เชื่อมั่นเกิดขึ้น ความไม่เชื่อถือก็ตามมา และความละล้าละลังที่จะร่วมมือก็เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ ยันการรับนโยบายไปปฏิบัติของกลไกราชการ

ผู้บริหารที่ชาญฉลาดจึงต้องพยายามที่จะรักษาความเชื่อมั่นไว้ให้ได้ แต่ถึงวันนี้ความไม่เชื่อมั่นดูเหมือนจะกระจายไปทั่วแล้ว

อารมณ์นี้สะท้อนชัดใน “นิด้าโพล” ล่าสุดที่สำรวจเรื่อง “ยุบสภา…เมื่อไรดี”

 

ในคำถาม “ท่านเชื่อว่านายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางแผนจะยุบสภาเมื่อไร” ร้อยละ 68.09 ตอบว่านายกฯ ไม่มีแผนจะยุบสภา แต่วางแผนจะอยู่ยาวจนครบวาระในปี 2566, มีแค่ร้อยละ 8.91 ที่ตอบว่าก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปลายเดือนพฤษภาคม 2565, ร้อยละ 8.23 หลังเสร็จการประชุมเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเดือนพฤศจิกายน 2565, ร้อยละ 6.09 หลังกฎหมายลูก 2 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2565, ร้อยละ 4.95 หลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ผ่านความเห็นชอบจากสภาประมาณเดือนสิงหาคม 2565, ร้อยละ 3.73 ไม่ตอบ

ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีความคิดที่จะยุบสภา

แต่เมื่อถาม “ควรจะยุบสภาเมื่อไร” มากถึงร้อยละ 58.79 เห็นว่าควรยุบให้เร็วที่สุด, มีแค่ร้อยละ 23.38 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่ควรยุบ ให้อยู่ยาวจนครบวาระปี 2566 และที่เหลือกระจายไปตามวาระต่างๆ ของคำถามแรกอย่างละเล็กละน้อย

และเมื่อถาม “ท่านคิดว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความมั่นคงแค่ไหนในขณะนี้” มากถึงร้อยละ 43.11 ตอบว่าไม่มีความมั่นคงเลย และร้อยละ 33.05 ที่เห็นว่าไม่ค่อยมีความมั่นคง ที่ยังเห็นว่าค่อนข้างมีความมั่นคงมีแค่ร้อยละ 16.38 ขณะที่เหลือร้อยละ 7.46 เท่านั้นที่ยังเชื่อว่ามีความมั่นคงมาก

 

ผลการสำรวจนี้สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หมดแล้ว ไม่เหลือสภาพที่จะอยู่ต่อไปได้

แต่ส่วนใหญ่กลับเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังจะดื้อดึงที่จะอยู่ต่อไป ในสภาพที่ไม่เหลือความเชื่อมั่นนั้น

ในสภาวะเช่นนี้ เป็นความน่าสนใจยิ่งว่าจะเกิดอะไรกับความเป็นไปของประเทศชาติ เพราะไม่มีทางเลยที่กลไกราชการจะไม่คิด “ใส่เกียร์ว่าง” คือทำแค่ที่จำเป็นต้องทำ ไม่ทำอะไรที่เสี่ยงกับต้องร่วมขบวนไปกับนโยบายที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าผิดพลาด

ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นแล้วจากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งการทำงานร่วมกันในคณะรัฐมนตรี และในรัฐสภา เนื่องจากนักการเมืองย่อมอ่อนไหวต่อการรับรู้ถึงอันตรายที่จะมาถึงตัวในอนาคตได้ไวกว่า การตั้งหลักเพื่อเซฟตัวเองไว้ในจุดที่ปลอดภัยจึงเกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง แม้จะยังยืนหยัดนั่งเก้าอี้ผู้บริหารประเทศอยู่ แต่สถาพ “เป็ดง่อย” น่าจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ บนความอึดอัดของประชาชนที่ทุกวันนี้เดือดร้อนกันแสนสาหัสอยู่แล้ว

และการมีรัฐบาลที่หลงอยู่ในอำนาจ โดยไม่รู้สึกรู้สาว่าหมดสภาพที่จะควบคุมการสร้างสรรค์งานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ รังแต่จะทำให้ประชาชนต้องเผชิญทุกข์ยากกันไปตามยถากรรม