ครูญี่ปุ่นก็ต้องผจญกับ “งานมหาโหด”สำรวจบุคลากรเขามีปัญหาอะไร แล้วผู้นำแก้ไขอย่างไร ?

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

ครูญี่ปุ่นกับ “งานมหาโหด”

เป็นที่ทราบกันดีว่าคนญี่ปุ่นได้ชื่อว่า ขยัน อดทน ตั้งใจและทุ่มเทให้กับงานที่ทำอย่างยิ่ง เพื่อองค์กรและส่วนรวม จนถึงขั้นไม่ปริปากบ่นแม้งานจะหนักเพียงใด ก็อดทนจนถึงที่สุด จนถึงจุดจบ “คะโรชิ”(過労死)คือ ทำงานหนักเกินไปจนตาย เป็นการทำงานต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเวลานาน รับภาระงานหนัก ไม่มีวันหยุด ไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ จนเป็นเหตุให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย โรคเกี่ยวกับสมอง และหัวใจจนทำให้เสียชีวิต หรือเกิดความเครียด ซึมเศร้าจนคิดสั้นจบชีวิตตัวเอง

ที่ผ่านมา เคยได้ยินคนญี่ปุ่นที่เสียชีวิตจาก “คะโรชิ” ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัท ผู้บริหารระดับกลาง พนักงานเข้าใหม่ใน 2-3 ปีแรกที่ยังปรับตัวไม่ได้ เป็นต้น

แต่อยากให้ท่านผู้อ่านมาลองฟังเรื่องราวของครูญี่ปุ่นกับ “งานมหาโหด” ที่นำไปสู่การเสียชีวิต

เกิดกรณีที่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ครูนิชิโมโต้ อายุ 33 ปีประจำโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ที่โอซากา ฟ้องร้องโรงเรียนที่สอนอยู่ว่าให้ทำ “งานมหาโหด” ด้วยเหตุผลว่าอยากให้สังคมได้รับรู้ ปัญหาที่ครูต้องทำงานหนักนานต่อเนื่องหลายชั่วโมงต่อวัน อยากให้ครูทุกคนได้ทำงานตามปกติ ได้สนุกกับงาน เป็นที่ปรึกษาช่วยแก้ปัญหาทุกข์ใจของนักเรียน

ทุกวันครูออกจากบ้านตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง ถึงโรงเรียนราว 7 โมงครึ่ง ในแต่ละเดือนต้องทำงานล่วงเวลา เคยทำถึง 155 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนที่เกิน “คะโรชิไลน์”(過労死ライン)ถึงเกือบ 2 เท่า

“คะโรชิไลน์”(過労死ライン)คือ เกณฑ์ที่เป็นจุดเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำงานเจ็บป่วย เสียชีวิต หรือฆ่าตัวตาย กล่าวคือ ทำงานล่วงเวลาต่อเนื่องเกิน 100 ช.ม. ก่อนเกิดอาการป่วย1เดือน หรือเฉลี่ยเกิน 80 ช.ม. ก่อนเกิดอาการ 2- 6 เดือน ตามกฎหมายคุ้มครองผู้ใช้แรงงานที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อได้รับผลกระทบจากการทำงาน

ครูล้มป่วยจนต้องขอพักรักษาตัวนาน 5 เดือน แม้เป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 กิจกรรม

ต่างๆของโรงเรียนลดลง แต่ก็ยังมีช่วงที่ต้องทำงานล่วงเวลา เริ่มทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า เสร็จงาน 2 ทุ่ม รวมเวลา 13 ชั่วโมง

เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาแสนสาหัสของครู ต้องนอนตี 2 ตื่น 6 โมงเพื่อไปโรงเรียน รู้สึกเหนื่อยเหลือเกิน อยากหยุดพัก แต่ก็หยุดไม่ได้ เป็นครูประจำชั้น มีวิชาสอนประจำ เป็นที่ปรึกษาชมรมรักบี้ ทำงานธุรการหลายอย่าง เป็นหัวหน้าทีมนำนักเรียนไปทัศนศึกษาต่างประเทศและเรียนภาษาต่างประเทศ ครูบอกว่า ต้องกลับบ้านด้วยรถไฟเที่ยวสุดท้ายอยู่บ่อยๆ จำได้ว่าโงนเงนโซเซขึ้นรถไฟ คิดแต่ว่าอยากไปให้พ้นจากสภาพนี้ให้เร็วที่สุด

ฝ่ายโรงเรียนให้การต่อศาลว่า ไม่ได้รับการร้องขอลาหยุด อีกทั้งครูก็ไม่เคยขาดงานเลย จึงไม่คิดว่าครูมีปัญหาด้านสุขภาพและจิตใจ

แต่ครูค้านว่า ถึงขีดสุดแล้ว สภาพจิตใจเกือบจะรับไม่ไหวแล้ว เคยเรียกร้องให้ปรับเปลี่ยนการทำงาน โดยเพิ่มคน หรือไม่ก็ลดงานลงบ้าง แต่ไม่ได้รับการตอบสนองเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจต้องตายแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ปรับปรุงเรื่องการทำงานให้เลย จนนำไปสู่การฟ้องร้อง

ปี 2016 กระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์พบว่า ในโรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยมต้นทั่วประเทศ มีครูที่ต้องทำงานหนักเกิน “คะโรชิไลน์” 30% และ 60% ตามลำดับ นอกจากงานสอน เตรียมเอกสารประกอบการสอน ตรวจการบ้าน ออกข้อสอบแล้ว ครูต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองรายงานความประพฤติ ดูแลกิจกรรมชมรมต่างๆ เหนื่อยหนักมากทีเดียว

จึงไม่แปลกที่ปลายทางของ “งานมหาโหด” นี้ มีครูบางคนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง

ครูฮาโตดะ ใฝ่ฝันอยากเป็นครู ได้สมัครเป็นครูโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งเมื่อเรียนจบ หลังจากผ่านไป 4 ปี จึงได้รับการบรรจุ แต่ผ่านไปได้เพียงครึ่งปีเท่านั้น ก็จบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 27 ปี

ครูกลับบ้านดึกทุกวัน บางวันมีคนพบครูนอนหลับอยู่ที่บันไดชั้นล่างของอพาร์ตเมนต์ เนื่องจากเดินขึ้นชั้น 2 ไม่ไหว ครูเคยทำงานล่วงเวลาถึง 169 ชั่วโมง เกินกว่า 2 เท่าของ “คะโรชิไลน์” เป็นครูประจำชั้น มีวิชาสอน เป็นที่ปรึกษาชมรมเบสบอลที่ครูไม่ถนัด และที่หนักหนาสร้างความเครียดมาก คือต้องพูดคุยกับผู้ปกครองของนักเรียนเกเรที่ก่อปัญหาต่างๆ

ทางโรงเรียนคงคิดว่าไม่หนักหนาอะไร ครูกว่า 20 คนไม่มีใครสังเกตเห็นความเหน็ดเหนื่อยของเพื่อนร่วมงานเลย เพราะทุกคนก็มีงานเต็มมือ จึงไม่เคยมีใครคิดจะยื่นมือเข้ามาแบ่งเบาภาระ

ในไดอารี่ของครูพบข้อความ “ถ้าถามว่าอยากได้อะไรที่สุดตอนนี้ ขอตอบว่า อยากได้เวลาที่จะนอนหลับได้สนิท เพราะว่าพอนอนก็กังวลเรื่องงาน แต่ร่างกายร้องว่าอยากพัก ช่างเป็นนรกแท้ๆ”

อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ครูก็จบชีวิตตัวเอง มีข้อความว่า “ขอโทษทุกคน แต่เหนื่อยเหลือเกิน”

เดือนกรกฎาคม 2019 ศาลประจำจังหวัดมีคำตัดสินให้จังหวัดและเมืองชดใช้เงินจำนวน 65 ล้านเยนให้แก่ครอบครัว ครูใหญ่ไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับการทำงานที่นานเกินไปติดต่อกัน ไม่ให้คำแนะนำที่เหมาะสมหรือช่วยปรับการทำงานเพื่อให้ครูได้กลับบ้านเร็วขึ้นเลย

จากการสำรวจพบว่า มีครูทั่วประเทศกว่า 9 พันคน ที่ต้องลาหยุดงานเกินกว่า 1 เดือน เนื่องจากอาการป่วย “ซึมเศร้า” จากภาระงานมหาโหด ในเดือนมกราคม พบว่าทั่วประเทศขาดแคลนครูถึง 2500 คน ปัญหา “การทำงานมหาโหด” ของครู จึงเป็นตัวเร่งให้เกิดการขาดแคลนครูอย่างช่วยไม่ได้

ญี่ปุ่นมีกฎหมายเงินพิเศษแก่บุคลากรครู(教職員給与特別措置法)โดยให้เงินเพิ่ม 4% สำหรับข้าราชการครู เพราะเห็นว่าครูต้องทำงานหนัก แต่ครูจะไม่ได้รับเงินค่าล่วงเวลาอีก จึงเป็นที่วิจารณ์กันว่านี่เป็นเหตุให้ผู้บริหารไม่ใส่ใจปริมาณภาระงานของครู

เงินเพิ่ม 4% นี้ มีฐานการคำนวณตั้งแต่ปี 1966 ซึ่งครูโรงเรียนประถมและมัธยมต้น มีการทำงานล่วงเวลาเพียง 8 ชั่วโมง แต่ปี 2016 ครูโรงเรียนประถมทำงานล่วงเวลาเฉลี่ย 59 ช.ม.ต่อเดือน ครูโรงเรียนมัธยมต้น 81 ช.ม.ต่อเดือน ผ่านมาเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ครูต้องทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่ผู้บริหารไม่ได้คิดจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของครู

3 ปีที่แล้วกระทรวงศึกษาและวิทยาศาสตร์ ได้วางกรอบการทำงานล่วงเวลาของครูไม่ให้เกิน 45 ช.ม.ต่อเดือน แต่ไม่ได้แก้ไขเรื่องค่าตอบแทนของครู

เมื่อส่วนกลางไม่ช่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งจึงเคลื่อนไหว เริ่มปรับระเบียบโรงเรียนในจังหวัด กำหนดให้มี “วันที่ไม่ทำงานล่วงเวลา” 1 วันต่อสัปดาห์ เพิ่มผู้ช่วยงานด้านธุรการ จ้างครูเก่าที่เกษียณแล้วมาช่วยสอนบางวิชา ลดจำนวนชมรมต่างๆในโรงเรียน เพื่อลดจำนวนครูที่ต้องดูแล ทำให้ครูได้กลับบ้านได้เร็วขึ้น ได้พักผ่อนมากขึ้น

ครูญี่ปุ่นอุทิศตัว ทำงานหนักเพื่อนักเรียน ไม่เห็นแก่เหน็ดหนื่อย จนตัวเองต้องเป็นเหยื่อของ “งานมหาโหด” แต่ครูไทยถูกผ.อ.โรงเรียนสั่งให้ทำงานรับใช้ส่วนตัว ซักผ้า ให้อาหารสุนัขที่บ้าน

เฮ้อ…เพลียใจจริงๆ…