เครื่องเสียงรถยนต์ใน Luxury Car / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

เครื่องเสียงรถยนต์ใน Luxury Car

 

ย้อนกลับไปสักสามสี่สิบปีก่อน ธุรกิจรับติดตั้งเครื่องเสียงหรือระบบเสียงในรถยนต์ออกจะ ‘บูม’ มาก มีร้านค้าเปิดให้บริการทางด้านนี้เกิดขึ้นใหม่แทบจะไม่เว้นวัน

เฉพาะในกรุงเทพฯ เอง จากแต่ก่อนที่มีร้านติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์กระจุกตัวกันอยู่ไม่กี่ร้านละแวกบรรทัดทอง ก็ขยายลามไปทั่วกรุงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นน่าจะเป็นช่วงกลางๆ ทศวรรษที่ 80s หลังจากที่วงการเครื่องเสียง (บ้าน) ในบ้านเราเริ่มตื่นตัวกันมาก่อนหน้านั้นสักประมาณสี่ซ้าห้าปี

ทำให้ผู้นำเข้าเครื่องเสียงบ้านแทบทุกราย ต้องหันไปหาบรรดาระบบเสียงทั้งเครื่อง ลำโพง และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใช้งานในรถยนต์เข้ามาให้บริการกันอย่างคึกคัก

อันนำมาซึ่งธุรกิจรับติดตั้งเติบโตตามเป็นไฟลามทุ่งทั่วกรุง รวมถึงตามหัวเมืองจังหวัดใหญ่ๆ ด้วย

ธุรกิจรับติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์ได้รับความนิยมมากแค่ไหน ต้องย้อนกลับไปดูงาน Motor Show ครับ กับงานปีแรกๆ ซึ่งจัดแสดงรถยนต์อย่างเดียวในอาคาร (สถานลีลาศเดิม) ที่สวนอัมพร พอเครื่องเสียงติดรถยนต์ติดตลาดขึ้นมา ก็ต้องใช้ลานด้านนอกบริเวณรอบๆ สระน้ำ ด้านหน้าอาคาร เปิดซุ้มโชว์เครื่องเสียงและระบบเสียงในรถยนต์ชนิดที่เห็นแล้วละลานตาเต็มไปหมด ทั้งยังเปิดเสียง (เพลง) ประชันแบบแผดใส่กันอย่างสนุกสนานบันเทิงใจ

โดยที่บริษัทผู้นำเข้าไม่ได้มาเปิดบูธโชว์เองดอกนะครับ แต่ไปจับมือกับร้านรับติดตั้งที่เป็นพันธมิตรกันให้มาออกหน้าแทนด้วยแบรนด์ของตัวเอง

ขณะที่ร้านรับติดตั้งนั้นมีไม่น้อยรายเหมือนกัน ที่สั่งเครื่องสั่งลำโพงเข้ามาทำตลาดแบบมีแบรนด์เป็นของตัวเอง

 

ยุคนั้นรถยนต์ป้ายแดงออกจากห้างเริ่มมีแอร์หรือเครื่องปรับอากาศและระบบเสียงติดมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแล้วล่ะครับ

คือก่อนหน้านั้นสมัยสักห้าสิบปีที่แล้ว ซื้อรถยนต์ใหม่สักคันนี่ ไม่มีอุปกรณ์อะไรให้มาด้วยดอกนะครับ ต้องไปหาติดกันเอาเองทั้งนั้น

จึงเวลาประกาศขายเป็นรถมือสองตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีบริการเฉพาะ แบบโฆษณาย่อยที่แวดวงหนังสือพิมพ์เรียกว่า Classified Ad ต้องระบุไปในประกาศนั้นด้วยเลย ว่ารถคันนี้มีอะไรติดมาแล้วบ้าง โดยการใช้อักษรย่อ (เพราะต้องการประหยัดพื้นที่ตีพิมพ์ซึ่งคิดราคาประกาศเป็นคอลัมน์นิ้ว) แบบรู้กัน เลยต้องเขียนข้อความให้สั้นกันแบบสุดๆ ไม่งั้นเปลืองพื้นที่ตีพิมพ์ ต้องเสียเงินมากขึ้นโดยใช่เหตุ

อย่างถ้ามีติดตั้งมาเรียบร้อยเต็มพิกัดเลยก็ใช้ตัวอักษร อ.ว.ท.ม. ซึ่งได้ความแบบรู้กันคือ มีแอร์ วิทยุ เทป และล้อแมกซ์พร้อมสรรพ

ที่ต้องบอกวิทยุ เทป แยกจากกันนี่ เป็นเพราะยุคนั้นเครื่องรับวิทยุกับเครื่องเล่นเทปในรถยนต์ แยกกันเป็นคนละเครื่องนะครับ

เครื่องเล่นเทปติดรถยนต์รุ่นแรกๆ เป็นพวก 8-Track แล้วค่อยพัฒนามาเป็น Cassette Tape ช่วงทศวรรษที่ 80s ต่อจากนั้นอีกไม่นานเครื่องทั้งสองจึงค่อยถูกนำมารวมอยู่ในเครื่องเดียวกัน แล้วถัดมาอีกหน่อยค่อยมีภาค Equalizer เพิ่มเข้ามาในเครื่องเดียวกันที่ว่านั้นด้วย ซึ่งรุ่นแรกๆ มักจะใส่ EQ มาให้แบบ 5-Band คือให้ปรับแต่งเสียงได้ที่ 5 ย่านความถี่หลัก

แต่เครื่องเสียงหรือระบบเสียงที่ติดรถยนต์ให้มาเสร็จสรรพในยุคแรกๆ ที่เริ่มเป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำรถพร้อมแอร์นั้น สุ้มเสียงมันไม่ค่อยจะเป็นที่ถูกหูหรือถึงอกถึงใจสักเท่าไรนัก ส่วนใหญ่ออกรถใหม่มาก็เอาไปเปลี่ยน เปลี่ยนใหม่ไม่พอ มีการเพิ่มเข้าไปอีก บางคันใส่เครื่องใส่ลำโพงซะจนแทบจะไม่มีที่เก็บของในห้องเก็บสัมภาระใต้ฝากระโปรงหลังกันนั่นเทียว

เวลาเปิดฟังทีต้องลดกระจกลง จนเป็นที่มาของคำล้อแกมประชดในยุคนั้นที่ว่า – ติดตั้งมาเผื่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย — เพราะส่วนใหญ่คนเดินถนนหรือคนในรถร่วมทางที่ได้ยิน ล้วนรู้สึกเหมือนๆ กัน ว่านั่นคือ Noise Pollution หรือมลภาวะทางเสียงในสังคมนั่นเอง

 

ธุรกิจรับติดตั้งเครื่องเสียงและระบบเสียงรถยนต์จึงยืนยาวรุ่งโรจน์มานับสิบปี กระทั่งช่วงหลังๆ ที่ระบบเสียงในรถยนต์เริ่มได้มาตรฐาน คุณภาพเสียงให้ออกมาในระดับเป็นที่ยอมรับกันได้ กอปรกับรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีภาคอิเล็กทรอนิกส์ของระบบขับเคลื่อนที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น การเข้าไปทำอะไรหรือยุ่งเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าภายในรถเริ่มเป็นเรื่องต้องห้ามของบริษัทขายรถยนต์ส่วนใหญ่ ที่ไม่อนุญาตให้เปลี่ยนบางอุปกรณ์ที่มาพร้อมกับรถ เพราะจะทำให้ขาดคุณสมบัติในการรับประกัน ธุรกิจนี้จึงค่อยซาๆ ไป เพราะคนออกรถใหม่เริ่มไม่เข้ามาใช้บริการแบบอุ่นหนาฝาคั่งดังแต่ก่อนแล้ว

ระบบเสียงที่ติดมากับรถพร้อมสรรพทั้งเครื่องและลำโพง มักจะมาจากค่ายผู้ผลิตหรือโรงงานที่รับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค โดยก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตในไต้หวัน

ช่วงที่ตลาดเครื่องเสียงรถยนต์บูมมากๆ นั้น ผมเคยได้ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตของบางรายซึ่งรับว่าจ้างงานในลักษณะนี้ที่ไต้หวันอยู่คราว เข้าไปเห็นสายงานการผลิตของเขาแล้วตื่นตาจริงๆ ครับ

เพราะใต้หลังคาอาคารเดียวกันนั้น เห็นเขาผลิตเครื่องให้แบรนด์ดังๆ อันเป็นที่นิยมในบ้านเราถึงสามสี่ยี่ห้อเลยทีดียว

โรงงานผลิตรายนี้นับว่าอยู่แถวหน้าของวงการอุตสาหกรรมผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบ OEM เพราะรับจ้างผลิตเครื่องเสียง และเครื่องรับโทรทัศน์ ให้แบรนด์ต่างๆ ทั้งของญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา หลายยี่ห้อ ซึ่งมีทั้งเครื่องเสียงบ้านและเครื่องเสียงรถยนต์ ทั้งยังมีแบรนด์เป็นของตัวเองออกมาทำตลาดด้วย บ้านเราก็มีตัวแทนนำเข้ามาจำหน่าย (แล้วก็ชวนผมไปชมโรงงานนั่นแหละครับ) ต่อมาสักประมาณยี่สิบปีที่แล้วโรงงานนี้ได้เข้าไปควบรวมเป็นกิจการร่วมค้ากับยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์รายหนึ่งของจีนจนทุกวันนี้

สำหรับปัจจุบันที่เมืองจีนนี่, นับว่ามีโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่รับจ้างผลิตแบบ OEM ให้กับบริษัท หรือแบรนด์ต่างๆ มากที่สุดในโลกก็ว่าได้นะครับ

มีอยู่หนเมื่อไม่นานปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมโรงงานหนึ่งที่เขตอุตสาหกรรมพิเศษของเมืองจีน ซึ่งรับจ้างผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ และอุปกรณ์ระบบเสียงแบบครบวงจร พบว่ามีบางผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เกาหลีก็ยังมาว่าจ้างให้ที่นี่ผลิตด้วยเลย

 

ครับ, ก็นำเรื่องราวย้อนอดีตมาบอกกล่าวเล่าสู่กันแบบ – ที่เห็นและเป็นไป, อะไรแถวๆ นั้นแหละครับ

ระบบเสียงจากแบรนด์แถวหน้าๆ ของวงการ เริ่มถูกนำมาพูดถึงในเชิงพาณิชย์ร่วมกับค่ายรถยนต์ให้เห็นบ้าง ก็เมื่อสักสิบปีที่ผ่านมานี้เอง ในบ้านเราหากจำไม่ผิดลำโพง Bose น่าจะเป็นรายแรกๆ ที่ถูกนำมาใช้โฆษณาในลักษณะเสริมความโดดเด่นให้กับรถเก๋งนั่งหรือ Sedan หรูของค่าย Nissan Motor รุ่น Teana (ที่เห็นในรูปนั่นแหละครับ โดยบอกว่าเป็นระบบเสียงแบบ Premium Bose Sound) ซึ่งหลังจากนั้นก็ไม่ได้พบเห็นว่ามีเจ้าไหนอีกบ้าง หรืออาจจะหลงหูหลงตาไปเองก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะไม่กี่ปีให้หลัง พบเห็นค่ายรถหรูจำพวก Luxury Car หลายๆ ยี่ห้อ อาทิ Bentley, Porsche, Jaguar หันมาจับมือกับค่ายเครื่องเสียงระดับแถวหน้าของวงการที่อยู่ในกลุ่ม Hi-End เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งน่าสนใจดี

ส่วนจะมีค่ายไหนใครบ้างที่จับมือกัน, เที่ยวหน้ามาเล่าสู่กันฟังต่อครับ