ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | On History |
ผู้เขียน | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ |
เผยแพร่ |
On History
ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
จากบางกอก
ถึง Krung Thep Maha Nakorn
ชื่อ “บางกอก” นั้น บางท่านว่าเพี้ยนมาจาก “บางเกาะ” เพราะหลังจากการขุดคลองลัด จากบริเวณหน้าปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน คือบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ละแวกวัดอรุณราชวราราม ไปจนถึงปากคลองบางกอกน้อย แถวๆ โรงพยาบาลศิริราช ก็ทำให้เกิดสภาพของพื้นที่ที่กลายเป็นเกาะขึ้นมา จนถูกเรียกว่าบางเกาะไปในที่สุด
อย่างไรก็ตาม วัดอรุณฯ ที่ตั้งอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่นั้น เดิมมีชื่อว่า “วัดมะกอก” ซึ่งก็หมายความว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีต้นมะกอกมาก (คงจะเป็นต้นมะกอกน้ำ) แถมต่อมาเมื่อมีการขุดคลองแล้วก็มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นภายหลัง ในตำบลเดียวกัน บริเวณคลองบางกอกใหญ่ จึงเรียกวัดใหม่นี้ว่า วัดมะกอกใน (ปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศ) แล้วเรียกชื่อวัดมะกอกเดิม หรือวัดอรุณฯ ว่า วัดมะกอกนอก
คำว่า “บางกอก” ไม่ว่าจะเป็นชื่อย่าน หรือชื่อคลอง จึงควรจะเพี้ยนมาจาก “บางมะกอก” หมายถึง ย่านที่มีต้นมะกอกเยอะมากกว่า
น่าสนใจว่า การขุดคลองลัด ซึ่งต่อมาได้ขยายใหญ่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักในปัจจุบัน ก็ได้ทำให้ย่านบางกอกใหญ่โต และสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด กรุงศรีอยุธยาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง พร้อมกับตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “ทณบุรี” (ต่อมาคือ ธนบุรี) ดังปรากฏในกฎหมายพระไอยการอาชญาหลวง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2091-2111)
การยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนี้แสดงให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเห็นความสำคัญ และในกฎหมายฉบับที่ว่านี่เองที่ระบุตำแหน่ง “นายพระขนอนทณบุรี” คือนายด่านเก็บภาษี คู่กับขนอนน้ำ ขนอนบกต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา
หมายความว่า อยุธยาได้นับบางกอกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอำนาจรัฐของตนเอง จนถึงกับต้องตั้งเจ้าหน้าที่เก็บภาษีไปประจำอยู่ที่นั่น และจะค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนมีตำแหน่ง “เจ้าเมือง” ในที่สุด
ถึงแม้จะมีอำนาจรัฐที่เข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเมืองเสียใหม่ว่า “ธนบุรี” แล้ว แต่ชื่อ “บางกอก” ก็ยังคงถูกใช้ควบคู่กันไปอยู่ดีนะครับ
หลักฐานก็อย่างเช่น ในเอกสารที่มีชื่อว่า “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (Histoire Naturelle et Politique du Royaume de Siam) ที่เขียนขึ้นโดยนิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) นักเดินทางชาวฝรั่งเศส ที่ติดตามคณะเผยแผ่ศาสนาเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2224-2229 ตรงกับสมัยของสมเด็จพระนารายณ์นั้น ได้มีข้อความระบุว่า
“บางกอก (BANKOC) เป็นสถานที่อันมีความสำคัญที่สุดแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างปราศจากข้อสงสัย เพราะว่าในบรรดาเมืองท่าด้วยกันแล้ว ก็เป็นแห่งเดียวเท่านั้นที่พอจะป้องกันข้าศึกได้ ผังเมืองนั้นมีส่วนยาวมากกว่าส่วนกว้าง มีอาณาบริเวณไม่เกินครึ่งลี้ มีกำแพงกั้นเฉพาะทางด้านชายแม่น้ำใหญ่ ซึ่งไหลผ่านตัวเมืองทางด้านทิศตะวันออกกับทิศใต้ เหนือจากปากอ่าวขึ้นมาประมาณ 12 ลี้ ตรงแหลมที่แม่น้ำแบ่งสายทางแยกนั้นมีพื้นที่เป็นรูปจันทร์ครึ่งซีก เป็นทำเลพอป้องกันได้ มีป้อมอยู่เพียงแห่งเดียว (หมายถึงป้อมวิชัยประสิทธิ์ ซึ่งในสมัยพระนารายณ์นั้นเรียกว่า ป้อมวิชเยนทร์-ผู้เขียน) มีปืนใหญ่หล่ออยู่ 24 กระบอก”
ดังนั้น ถึงจะมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ธนบุรี” แต่ชาวต่างชาติก็ยังเรียกว่า “บางกอก” ซึ่งก็คงจะเป็นด้วยผู้คนทั่วไปในพื้นที่ชุมชนเมืองบางกอกในสมัยนั้น ที่ใช้ชื่อดั้งเดิมเป็นปกติ ฝรั่งและชนชาติอื่นๆ จึงได้เรียกตามนั่นแหละครับ
หลังจากรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์ และได้สร้างเสาหลักเมือง และพระบรมมหาราชวัง ลงที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของบางกอก จึงทำให้ปัจจุบันเรียกพื้นที่ส่วนนี้ว่า “พระนคร” แต่ในยุคกรุงศรีอยุธยานั้น พื้นที่ฟากนี้ไม่ได้เรียกว่า พระนคร เพราะยังไม่ได้มีปราสาทราชวังใดๆ
ในกลอนเพลงยาวของหม่อมภิมเสน ซึ่งเป็นกวีในแผ่นดินสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (หรือที่มักเรียกกันอย่างลำลองว่า พระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์องค์สุดท้ายของอยุธยา) ที่เดินทางจากพระนครศรีอยุธยาไปยังเพชรบุรี แล้วได้แวะค้างคืนที่เมืองธนบุรีนั้น มีกลอนบทหนึ่งว่า
“ถึงบางจีนชื่อเช่นเหมือนชื่อพี่ ชื่อสิมีนึกหน้าแล้วแฝงหน้า
ท่านบอกบทกำหนดสักวามา จะถึงท่าประทับที่บุรีธน”
ชื่อ “บางจีน” ที่ปรากฏอยู่ในกลอนข้างต้นนั้น คือพื้นที่ฝั่งตรงข้ามฟากแม่น้ำของบางกอก (หรือบุรีธน ซึ่งหมายถึง ธนบุรี ที่ปรากฏอยู่ในกลอน) ซึ่งก็คือย่านที่มีคนจีนอาศัยอยู่ ดังเป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อคราวที่รัชกาลที่ 1 จะสร้างพระบรมมหาราชวังนั้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ไล่ที่ทำวัง” คือการย้ายพวกชาวจีนที่อยู่อาศัยมาแต่เดิม ออกไปอยู่ที่สำเพ็ง (หมายถึงบริเวณวัดสำเพ็ง คือวัดปทุมคงคา ย่านตลาดน้อย)
และเมื่อรัชกาลที่ 1 ได้สร้าง “พระนคร” ของตนเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้มีการสถาปนาชื่อสำหรับพระนครออกมา ซึ่งมักจะเรียกันอย่างย่นย่อว่า กรุงรัตนโกสินทร์บ้าง กรุงเทพมหานครบ้าง โดยทุกชื่อนั้นก็ล้วนแล้วแต่หมายถึง พระนครของราชวงศ์จักรีเหมือนทั้งนั้น
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะชื่อเหล่านี้ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม เช่น การเขียนเป็นจารึกในพระสุพรรณบัฏ เป็นต้น
ที่สำคัญคือ จารึกเหล่านี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อให้คนทั่วไปอ่านกันหรอกนะครับ อย่างที่บอกว่าเป็นของที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม คือการติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชื่อยาวๆ เหล่านี้ (เช่น ชื่อเต็มของกรุงเทพมหานคร ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก) จึงทำหน้าที่ในการผสมผสานตัวเองเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ มากกว่าที่จะถูกใช้เรียกจริง
รัชกาลที่ 4 เคยอธิบายเอาไว้ว่า ชื่อ “รัตนโกสินทร์” นั้น แปลว่า “เมืองที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต” ลักษณะเช่นนี้เทียบได้กับเมืองหลวงพระบาง ในประเทศลาว ซึ่งหมายถึงเมืองที่ประดิษฐานพระบาง อันเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกรูปหนึ่ง ที่มีอาณาบารมีเทียบเคียงกับพระแก้วมรกตได้ (ดังจะเห็นได้ว่า มีตำนานว่าผีอารักษ์ประจำพระพุทธรูปทั้งสององค์นี้ไม่ถูกกัน ปรากฏอยู่ในพงศาวดารไทยเลยทีเดียว)
และต้องอย่าลืมนะครับว่า รัชกาลที่ 1 เองนี่แหละที่เป็นผู้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเวียงจันทน์ เมื่อครั้งรัชสมัยของพระเจ้าตากสิน
ชื่อ “รัตนโกสินทร์” นั้น จึงเป็นการนำเอาอาณาบารมีของพระแก้วมรกต สวมทับเข้าไว้กับพระนครที่พระองค์สร้างขึ้น
ในขณะที่ชื่อ “กรุงเทพมหานคร” นั้น อันที่จริงแล้วเป็นคำที่หมายถึงการสืบทอดเอาอาณาบารมีของ “กรุงศรีอยุธยา” มาใช้ เพราะคนอยุธยานั้นเรียกเมืองของตนเองว่า “กรุงเทพ” ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คนในยุคต้นกรุงเทพฯ ทราบเป็นอย่างดี ดังปรากฏข้อความตอนพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นลูกของรัชกาลที่ 1 กับท้าวทรงกันดาล ดังความที่ว่า
“เอานามพระนครเดิมเป็นนามต้นว่า กรุงเทพมหานคร นามหนึ่งชื่อ บวรทวารวดี เหตุมีน้ำล้อมรอบดุจเมืองทวารวดีแต่ก่อน นามหนึ่งชื่อศรีอยุธยา เหตุเอานามเมืองสมเด็จพระรามนารายณ์อวตารมาประกอบเข้า ทั้งสามนามประมวลเข้าด้วยกัน จึงเรียกชื่อว่า กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน”
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องตลกร้ายดีเหมือนกันที่ เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2 (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2275-2301) แห่งกรุงศรีอยุธยาส่งพระสงฆ์ไปประดิษฐานพุทธศาสนาสยามวงศ์ในลังกาทวีปนั้น ในเอกสารของพระองค์จะเรียกอยุธยาว่า “กรุงเทพ”
แต่เมื่อคราวที่รัชกาลที่ 2 ส่งพระสงฆ์ไปลังกา (น่าเชื่อว่าเมื่อครั้งที่ สุนทรภู่ยังเป็นเด็กอาจจะเคยได้เดินทางไปด้วย จนรู้เส้นทางเดินทาง และสภาพภูมิศาสตร์ในเกาะศรีลังกาเป็นอย่างดี จนสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแต่งพระอภัยมณีได้) พระภิกษุเหล่านี้กลับเรียกกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “อยุธยา”
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าพวกฝรั่งจะไม่รับรู้ หรืออาจจะไม่สนใจอะไรเหล่านี้นัก จึงได้เรียกความเป็น “พระนคร” ที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่ของรัชกาลที่ 1 ด้วยชื่อเดิม ซึ่งมีศูนย์กลางความเป็นชุมชนอยู่ที่อีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาคือ “บางกอก” จนทำให้เรียกกรุงเทพฯ ว่า “Bangkok” มาจนกระทั่งทุกวันนี้นั่นเอง