เลือกผู้ว่าฯ กทม. เลือกคน… หรือเลือกข้าง (จบ)/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เลือกผู้ว่าฯ กทม.

เลือกคน… หรือเลือกข้าง (จบ)

 

เลือกตั้ง หรือเลือกข้าง…

หลังรัฐประหาร 2549

การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2550 หลังรัฐประหาร แม้พรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนชื่อมาจากไทยรักไทยจะยังคงชนะในระดับทั่วประเทศ แต่คะแนนเสียงใน กทม.ลดลงจาก 1.6 ล้าน เหลือเพียง 1.08 ล้าน ส่วนประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพิ่มจาก 9 แสน 7 หมื่น กลายเป็น 1.4 ล้าน เพราะมีปัจจัยพิเศษมาช่วย

ฝ่ายอนุรักษนิยม และกระแสต้านทักษิณ ชินวัตร ยังแรงมากใน กทม. นั่นจึงเป็นฐานการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งในปี 2551 ของกลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง โดยการชุมนุมยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ใช้ตุลาการภิวัฒน์เปลี่ยนรัฐบาลเป็น ปชป.

รัฐบาลจากการเลือกตั้งพรรคพลังประชาชนอยู่ได้ไม่ถึงปี

และมีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2552 ซึ่ง ปชป.ชนะ ได้คะแนน 9.3 แสน เพื่อไทยได้ 6.1 แสน

ปี 2553 การเมืองแรงขึ้น และก็มีการล้อมปราบการชุมนุมคนเสื้อแดงกลางกรุง มีคนตายเป็นร้อย บาดเจ็บเป็นพัน ทำให้ความแตกร้าวภายในชาติลุกลามมากยิ่งขึ้น

เมื่อมีการยุบสภา เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2554 การเลือกตั้งจึงเหมือนกับเป็นการเลือกข้าง แม้พรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะได้ ส.สเกินครึ่ง 265 คนจากทั่วประเทศ แต่ในกรุงเทพฯ เพื่อไทยได้ ส.ส.เพียง 10 คน ในขณะที่ประชาธิปัตย์ได้ถึง 23 คน

คะแนนของ ปชป.ในกรุงเทพฯ คือ 1,277,669 ใกล้เคียงกับเพื่อไทยที่คะแนนเพิ่มขึ้นได้ 1,239,508

เพื่อไทยแพ้ ส.ส.เขตในกรุงเทพฯ ชั้นในเกือบทั้งหมด เห็นชัดเจนว่าคะแนนของกลุ่มอนุรักษนิยมยังคงเลือก ปชป.อย่างเหนียวแน่น และจำนวนคะแนนที่ใกล้เคียงกันนี้ก็ไปปรากฏในการเลือกข้างในอนาคต

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 2556

เลือกข้าง…ไม่เลือกคนและนโยบาย

ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เพื่อไทยอยากพลิกสถานการณ์จากที่ยันกันอยู่ในแนวรบ กทม.เป็นการรุกเพราะคิดว่าสามารถชนะในศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.ได้ ถึงแม้ฟอร์มของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จะดีกว่าตั้งแต่ต้น การโฆษณานโยบายก็เหมือนจะได้รับการตอบรับ

แต่ประชาธิปัตย์ก็แพ้ไม่ได้ ถ้าเสียฐานที่มั่น กทม. จะมีผลสะเทือนทั้งพรรค ปชป.จึงตีโต้สุดแรง ทุกวิถีทางทั้งวิชาเทพ วิชามาร

ผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ซึ่ง มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ด้วยคะแนน 1,256,349 ส่วน พล.ต.อ.พงศพัศตามมาด้วยคะแนน 1,077,899 ทั้งสองคนทำลายสถิติการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่นายสมัคร สุนทรเวช เคยได้คะแนนสูงสุดเมื่อปี 2543 ครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิสูงถึง 64% ประมาณ 2.7 ล้านคน

ทีมวิเคราะห์คาดผิดอย่างแรง คิดว่า พล.ต.อ.พงศพัศจะได้เกิน 1,060,000 และเป็นผู้ชนะ ปรากฏว่าได้คะแนนตามนั้นจริง แต่ก็ยังแพ้ ปชป.ซึ่งไปปลุกคนมาต้านเพื่อไทยได้สำเร็จ

การเลือกตั้งในครั้งนั้น บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมเปิดเผยว่าเขาไม่สนใจนโยบายและตัวผู้สมัคร แต่การไปลงคะแนนเพียงเพื่อสกัดกั้นทักษิณมายึดกรุงเทพฯ เปรียบเทียบถึงขั้นเสียเมืองกับข้าศึก

ครั้งต่อไป คงต้องคอยดูผู้ที่ไม่ออกมาใช้สิทธิ 1.5 ล้านคน ว่าจะตื่นหรือจะเงียบตลอดไป

ผลของคะแนนปี 2556 ที่ออกมาเหมือนกับการฉายหนังซ้ำของการเลือกตั้งใหญ่ 3 กรกฎาคม 2554 ครั้งนั้น ปชป.ได้ประมาณ 1.3 ล้าน เพื่อไทยได้ 1.2 ล้าน ตอกย้ำการแบ่งข้างอย่างชัดเจน

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกสร้างกระแสต่อต้านมาตั้งแต่ม็อบแช่แข็ง ปี 2555 เมื่อเห็นชัยชนะในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ 2556 ทำให้คนบางกลุ่มมั่นใจ นำไปสู่การเตรียมการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาล และก็เกิดการชุมนุมของ กปปส. เพื่อล้มรัฐบาล จนนำไปสู่การรัฐประหารพฤษภาคม 2557

รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์อยู่ได้ 2 ปีกว่า

 

วิเคราะห์ความต่าง

ของคะแนนใน กทม.

ปี 2556 กับปี 2562

ถ้าจะประเมินการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ปี 2565 ว่าจะต่างกับการเลือกตั้งในปี 2556 อย่างไร?

ต้องดูการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ปี 2562 ที่ ผลการเลือกตั้ง กทม.มีการพลิกผันอย่างมาก เพราะการเมืองระดับประเทศมีการเปลี่ยนเนื่องจากเกิดขั้วการเมืองใหม่ ซึ่งจะส่งผลถึงการเมือง กทม.ด้วย

1. ปี 2556 แบ่งเป็น 2 ขั้วใหญ่ ผู้สมัครผู้ว่าฯ จาก ปชป.และเพื่อไทยสองคนทำคะแนนรวมกันเกินกว่า 2.3 ล้าน คิดเป็น 86% ผู้สมัครอื่นๆ อีก 23 คน ได้คะแนนรวมกันไม่ถึง 14%

2. ดูการเลือกตั้ง ส.ส. 2562 ห่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาประมาณ 6 ปี สภาพการเมืองเปลี่ยนอย่างมาก ใน กทม.มิได้เป็น 2 พรรคใหญ่…แต่ยังเลือกข้างเป็น 2 ฝ่ายแต่หลายพรรค

ผลคะแนนพรรคเก่าคือเพื่อไทยได้ ได้คะแนน 634,115 ปชป.ได้ 474.820

ส่วนพรรคใหม่คือ พลังประชารัฐได้ 791,893 อนาคตใหม่ได้ 804,272

ถ้ารวมคะแนนของฝ่ายอนุรักษนิยมคือพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์ จะได้คะแนน 1,266,713

ส่วนฝ่ายประชาธิปไตยจะได้คะแนน จากอนาคตใหม่และเพื่อไทยรวมกัน 1,438,387

3. คะแนนของฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงตัวเลขประมาณ 1.2 ล้าน ลดลงเล็กน้อยจากทั้งปี 2554 และปี 2556 ถ้าวิเคราะห์แบบง่ายๆ ก็คือ คนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ เปลี่ยนไปเลือกพลังประชารัฐ ซึ่งถือเป็นพรรคของ คสช. แต่ก็มีบางส่วนยังเป็นขาประจำของประชาธิปัตย์เหมือนเดิม

ในระยะ 6 ปีที่มีจำนวนคนมีสิทธิ์เลือกตั้งเพิ่มขึ้นมาทั้งจากเติบโตขึ้นตามอายุและย้ายเข้ามาจากต่างจังหวัดมีความเป็นไปได้ว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะหันไปเลือกพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น คะแนนของฝ่ายประชาธิปไตยจึงเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้าน ในปี 2554 กลายเป็น 1.4 ล้านในปี 2562

 

วิเคราะห์ความต่าง

การเลือกผู้ว่าฯ ปี 2556 กับครั้งใหม่ปี 2565

ใครได้เกิน 8 แสน มีโอกาสชนะ

หลังเลือก ส.ส. การเคลื่อนไหวการเมืองจาก 2562-2565 ระบบปกครองยังปฏิบัติคล้ายอำมาตยาธิปไตย ผู้คนก็พยายามแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ มากขึ้น ดังนั้น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งต่อไปจึงจะไม่ใช่เป็นการแข่งขันระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์เพียง 2 พรรคอีกแล้ว แต่จะมีลักษณะหลากหลาย

เนื่องจากจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างรวดเร็ว เกมบังคับให้ทุกพรรคต้องส่ง ส.ก.เพื่อตรึงพื้นที่ และถ้ามีตัวบุคคลดีๆ ก็ต้องส่งผู้ว่าฯ ด้วย

ถ้าดูตามจากที่ปรากฏเป็นข่าวจะพบว่า

คนที่ 1 คือ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แม้จะลงในนามอิสระ แต่คาดว่าฐานเสียงเพื่อไทยก็ต้องสนับสนุนเนื่องจากเพื่อไทยไม่ได้ส่งคนลงแข่งขัน

คนที่ 2 คือ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ซึ่งประชาธิปัตย์ส่งโดยตรง

คนที่ 3 คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นตัวแทนของพรรคก้าวไกล

คนที่ 4 ก็คือ ผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ ปัจจุบันซึ่งอาจลงในนามพรรคพลังประชารัฐหรือในนามกลุ่มอิสระ

คนที่ 5 จะมาจากพรรคกล้า

คนที่ 6 จะมาจากพรรคไทยสร้างไทย

นอกนั้นจะเป็นผู้สมัครจากพรรคใหม่หรือบุคคลอิสระซึ่งจะมีไม่น้อยกว่า 5 คนที่พอมีชื่อเสียง

ถ้าวิเคราะห์คะแนนเสียง พอประเมินคะแนน…ขั้นต่ำ…ได้บ้าง

จำนวนผู้มีสิทธิ์ประมาณ 4,480,000 คน ถ้ามาใช้สิทธิ์ 65% เท่ากับ 2.9 ล้าน

ฝ่ายค่ายประชาธิปไตยที่มีคะแนนเสียงเดิมประมาณ 1.4 ล้าน น่าจะไปเป็นของพรรคก้าวไกลไม่น้อยกว่า 6 แสน จากฐานความนิยมพรรคและคนรุ่นใหม่

ของ ดร.ชัชชาติอีกประมาณอย่างน้อย 6 แสนคะแนน ทั้งจากเพื่อไทยและผู้นิยมตัวบุคคล แม้บางส่วนจะต้องถูกแบ่งไปให้พรรคไทยสร้างไทย

ส่วนของพรรค ปชป. ฐานเสียงเดิมประมาณ 500,000 และสามารถเพิ่มได้อีก แต่การจะดึงเสียงให้เพิ่มขึ้นก็ไม่ใช่ง่ายเพราะยังมีพรรคกล้าซึ่งดูแล้วฟอร์มกำลังดี และต้องการแจ้งเกิด

พลังประชารัฐก็จำเป็นต้องรักษาฐานเสียงไว้ มิฉะนั้น ส.ส. 12 คนจะไม่เหลือ ถ้าได้ผู้ว่าฯ อัศวินก็จะเบาแรง

เมื่อทุกฝ่ายต้องรักษาฐานเสียงตัวเอง แม้รู้ว่าแพ้ก็ต้องแข่ง การประเมินอย่างแท้จริงต้องให้ผู้แข่งขันลงสนามครบทุกฝ่ายก่อน คะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2565 ครั้งนี้ ต้องแบ่งกัน ถ้าใครได้เกิน 8 แสน ก็มีโอกาสชนะ