สุดต้าน!! น้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด รัฐจำใจเฉือนภาษีดีเซล รายได้หายวับ 1.7 หมื่นล้าน/เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ

 

สุดต้าน!! น้ำมันโลกพุ่งไม่หยุด

รัฐจำใจเฉือนภาษีดีเซล

รายได้หายวับ 1.7 หมื่นล้าน

 

มีผลบังคับใช้แล้ว สำหรับกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ฉบับที่ 19 พ.ศ.2565 ปรับปรุงการใช้พิกัดอัตราสรรพสามิต สินค้าน้ำมันดีเซลใหม่ ทำให้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะลดลงประมาณลิตรละ 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 และหลังจากนั้นให้กลับไปใช้อัตราภาษีเดิม

โดยรายละเอียดการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน มีดังนี้

น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ภาษีเดิม 6.44 บาท ลดเหลือ 3.44 บาท

น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก ภาษีเดิม 6.44 บาท ลดเหลือ 3.44 บาท

ขณะที่น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมไม่เกิน 4% อัตราเดิม 6.44 บาท ลดเหลือ 3.44 บาท

น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 4% แต่ไม่เกิน 7% เดิมเก็บภาษี 5.99 บาท ลดเหลือ 3.20 บาท

น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 7% แต่ไม่เกิน 9% ภาษีเดิม 5.93 บาท ลดเหลือ 3.17 บาท

เป็นการตัดสินใจของกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ที่ก่อนหน้านี้พยายามยื้ออยู่นานตั้งแต่ปลายปี 2564 ช่วงราคาน้ำมันเริ่มพุ่งแรง และรัฐบาลต้องควักเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนเรื่อยๆ

ช่วงก่อนลดภาษี กองทุนน้ำมันฯ ต้องอุ้มดีเซลเกือบ 4 บาทต่อลิตร เพื่อดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนเกิดเสียงเรียกร้องให้กระทรวงการคลังลดภาษี

แต่เพราะภาษีน้ำมันคือรายได้หลักของในประเทศ ท่ามกลางรายได้ประเภทอื่นที่ร่อยหรอจากการที่ประเทศไทยเผชิญกับเจ้าโรคระบาดโควิด-19 มากว่า 2 ปี กระทรวงการคลังจึงต้องยื้อให้ถึงที่สุด

 

ขุนคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการตัดสินใจลดภาษีดีเซลว่า ทำเพื่อพยุงราคาน้ำมัน เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง แม้ว่าที่ผ่านมา ครม.จะอนุมัติให้สามารถกู้เงินได้ 3 หมื่นล้านบาท แต่ขณะนี้ยังติดปัญหากู้เงินไม่ได้ เนื่องจากเรื่องงบการเงิน เพราะกองทุนได้เปลี่ยนสถานภาพจากนิติบุคคลเป็นองค์การมหาชน คาดว่าจะสามารถกู้ได้ในเดือนมีนาคม 2565 และกองทุนยังต้องอุดหนุนทั้งเรื่องดีเซล และก๊าชหุงต้ม (แอลพีจี) ด้วย ส่วนจะมีผลต่อการปิดหีบรายได้ ในปีงบประมาณ 2565 หรือไม่นั้น จะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป แต่หากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น การจัดเก็บรายได้ ภาษีจะกลับมา

นอกจากนี้ ผลจากการลดภาษีดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังชี้แจงว่า จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้รวม 17,000 ล้านบาทในช่วง 3 เดือน หรือเฉลี่ยประมาณเดือนละ 5,700 ล้านบาท พร้อมระบุว่า การลดภาษีน้ำมันดีเซล 3 บาทต่อลิตร จะลดตามสัดส่วนความเข้มข้นของเนื้อน้ำมัน

สาเหตุที่กำหนดการลดภาษีถึงเดือนพฤษภาคม 2565 เพราะคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะทยอยปรับลดลงในช่วงนั้น ตามปัจจัยน้ำมันโลก และความเสี่ยงในเรื่องของรัสเซีย และยูเครนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ด้วยสถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ ที่ง่อนแง่น วงเงิน 3 บาทที่ลด จึงส่งถึงประชาชนโดยตรง 2 บาท ขณะที่อีก 1 บาทจะถูกไปใช้ดูแลกองทุนน้ำมันฯ ส่งผลให้บรรยากาศความดีใจของประชาชนไม่เต็มที่นัก

หนึ่งในนั้นคือกลุ่มรถบรรทุกที่เรียกร้องราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตร

“อภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า มีความพอใจในระดับหนึ่ง เพราะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ที่ 27.94 บาทต่อลิตร ส่วนต่างจังหวัดบางพื้นที่อยู่ที่ 30.5 บาทต่อลิตร เพราะถือว่ารัฐได้ลงมาดูแลผู้ประกอบการขนส่งบ้างส่วนแล้ว แม้ว่าจะเป็นการให้แบบไม่เต็มใจ แต่เข้าใจว่ารัฐไม่มีงบประมาณมากนักที่จะนำมาดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะเดินหน้าทวงคืน 1 บาทที่รัฐนำไปชดเชยให้กับกองทุนน้ำมันฯ เพราะมองว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินภาษีของประชาชน ทำไมรัฐไม่นำมาลดราคาให้กับประชาชน

ฟากพลพรรคนักการเมืองอย่าง “พิชัย นริพทะพันธุ์” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ด้านเศรษฐกิจ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วิจารณ์ว่า ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ลงลิตรละ 3 บาท ลดน้อยเกินไปและช้าเกินไป

และมองว่าการลดราคาช่วง 3 เดือนไม่เพียงพอ เพราะราคาน้ำมันโลกไม่น่าจะลดลงได้ภายใน 3 เดือน

กลับกันราคาน้ำมันใน 3 เดือนข้างหน้ามีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

นอกจากนี้ การลดภาษีดีเซลไม่ได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนแต่อย่างใด เป็นแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเองมากกว่า เพราะการลดภาษีสรรพสามิตครั้งนี้เพื่อไปลดภาระของกองทุนน้ำมันเท่านั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์

 

แม้จะไม่ถูกใจใครหลายคน แต่สถานการณ์ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังง่อนแง่นขั้นสุด ติดลบกว่า 18,000 ล้านบาท คือเหตุผลที่ทำให้สัดส่วนภาษีที่ลดลง 3 บาท ไม่สามารถนำไปช่วยประชาชนได้ทั้งหมด

ที่ผ่านมาแม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะอนุมัติขยายกรอบเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ จาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท แต่ด้วยราคาน้ำมันดิบทั้งเบรนท์ เวสต์เท็กซัส และดูไบ ที่ยืนเหนือระดับ 90 เหรียญสหรัฐ และกำลังใกล้ระดับ 95 เหรียญ ส่งผลให้วงเงินกู้ดังกล่าวอาจไม่เพียงพอในการดูแล หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ซึ่งเวลานั้นราคาน้ำมันคงทะลุ 100 เหรียญ

โดยน้ำมันดิบที่แพงขึ้นทุก 1 เหรียญ เทียบราคาขายปลีกในไทยจะเพิ่มขึ้น 20 สตางค์ต่อลิตร

อัพเดตกระบวนการกู้เงินจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่กำลังง่วนกับการกู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาทโดยเร็วที่สุด ล่าสุดพบว่า กระบวนการไม่ได้ราบรื่นนัก เพราะธนาคารที่พร้อมปล่อยกู้ยังมีกระบวนการภายในที่ต้องใช้เวลาอนุมัติ ล่าสุด 20 กุมภาพันธ์ กองทุนน้ำมันฯ ติดลบแล้ว 20,000 ล้านบาท

อุปสรรคของกองทุนน้ำมันฯ จึงเป็นที่มาของการลดภาษีดีเซล เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่รัฐบาลต้องใช้

หลังจากนี้คงต้องลุ้นสถานการณ์วันต่อวัน หากยังพุ่งไม่หยุดและกองทุนน้ำมันฯ เอาไม่อยู่ อาจเห็นรัฐจำยอมลดภาษีจนหมดหน้าตักก็เป็นไปได้!!