วงค์ ตาวัน : แนวรบใหม่ของ คสช.

วงค์ ตาวัน

เป็นอันว่า สถานการณ์การเมืองไทยหลังวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาคดีจำนำข้าวที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตกเป็นจำเลย ได้พลิกผันไปอย่างไม่มีใครคาดมาก่อน นั่นคือ การตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศก่อนวันที่ 25 สิงหาคม เพียงวันสองวัน

การเดินทางออกไปดังกล่าว ทำให้รัฐบาล คสช. ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนเวทีใหม่ของยิ่งลักษณ์ นั่นคือ อาจจะไปสู้ในเวทีระดับสากล แถมคราวนี้ไปรวมกับพี่ชายอดีตนายกฯ ทักษิณ กลายเป็น 2 พี่น้อง 2 แรงแข็งขัน

“จะเป็นแนวรบใหม่ ที่น่าจับตามองอย่างมาก”

แต่ก็เป็นไปได้มากว่า ในช่วงแรก คงจะเป็นการไปเพื่อหลบรอดูเหตุการณ์สักพัก อย่างน้อยก็รอดูวันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดให้มาฟังคำพิพากษาใหม่ คือ วันที่ 27 กันยายน

แล้วถ้าหากในวันนั้น จำเลยยังไม่มาปรากฏตัวอีก ก็เป็นไปได้ที่ศาลอาจจะอ่านคำพิพากษาลับหลัง

อีกทั้งเป็นไปได้มากว่า หากศาลอ่านคำพิพากษา ทำให้ได้รู้ผลคำตัดสินที่แน่ชัดแล้ว นั่นแหละคงจะมีความเคลื่อนไหวจากยิ่งลักษณ์

“จะเดินทางกลับมา หรือจะเป็นการเดินทางที่ยาวนานไปเลย!?!”

ถ้าหากยิ่งลักษณ์ต้องไปอย่างยาวนาน ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับพี่ชาย คราวนี้คงได้เห็นการเปิดแนวรบใหม่ในทางการเมือง ซึ่งกลุ่มอำนาจ คสช. และเครือข่าย จะต้องเตรียมรับศึกใหม่

ต้องไม่ลืมว่า นับจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหาร ช่วงดังกล่าวนั้น ทักษิณตัดสินใจเล่นบทนิ่งเงียบ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อน้องสาว

“โดยเปรียบกันว่า เหมือนยิ่งลักษณ์ตกเป็นตัวประกัน ทำให้ทักษิณต้องพลอยสงบปากสงบคำไปด้วย”

แต่คราวนี้เมื่อยิ่งลักษณ์ออกสู่โลกกว้าง มีอิสรภาพ พ้นจากสถานะตัวประกันแล้ว

เราอาจจะได้เห็นการเคลื่อนไหวจากทักษิณและยิ่งลักษณ์ ที่ร้อนแรงมากขึ้น

ที่พูดๆ กันถึงยุทธศาสตร์โลกล้อมไทย คราวนี้อาจจะได้เห็นของจริง!

ผลจากการหลบหนีของยิ่งลักษณ์ ด้านหนึ่งย่อมทำให้ คสช. เหมือนยกภูเขาออกจากอกในทันที เพราะเดิมทีวิเคราะห์กันอย่างเคร่งเครียดและหวาดหวั่นว่า หากยิ่งลักษณ์เล่นบทสตรีหัวใจสิงห์เดินเข้าคุก กระแสจากมวลชนที่สนับสนุนอดีตนายกฯ หญิงอย่างมากมายนั้น จะนำไปสู่อะไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสะเทือน ที่จะไปปรากฏในวันเลือกตั้ง ที่น่าจะมีขึ้นในปลายปี 2561

จนอาจกระทบต่อยุทธศาสตร์ การเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งในปีหน้า ของกลุ่ม คสช.

พรรคการเมืองที่คาดหวังจะเป็นเสียงสนับสนุนนายกฯ ของ คสช. หรืออาจตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับเส้นทางของนายกฯ คนนอกโดยตรง จะได้รับผลจากกระแสของมวลชนยิ่งลักษณ์ขนาดไหน

“ดังนั้น เมื่อยิ่งลักษณ์เลือกหนทางหลบหนี ประเด็นนี้ก็ทำให้ คสช. โล่งอกโล่งใจในทันที เพราะตัดเงื่อนไขที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งไปได้!”

แต่อีกด้านหนึ่ง เชื่อว่า คสช. อาจจะต้องไปหนักอกหนักใจกับแนวรบใหม่ ในเวทีนอกประเทศแทน

เพราะหนนี้ ไม่มีน้องสาวเป็นตัวประกันแล้ว ทักษิณต้องเดินเครื่องเต็มกำลังแน่ อีกทั้งยังมียิ่งลักษณ์ที่สดใหม่ในสายตาของคนทั้งโลก มาร่วมเคลื่อนไหวอีกแรง

“เช่นนี้แล้วก็น่าจะหนักหนาสาหัสไม่น้อยเลยสำหรับ คสช.”

หากย้อนไปดูกรณีทักษิณ ซึ่งแม้ว่าในบ้านเราจะกล่าวหาว่าทุจริตคดโกงเช่นไร แต่กระบวนการเล่นงานทักษิณนั้น ปรากฏต่อสายตาคนทั่วโลกว่า เป็นเรื่องทางการเมืองแน่ๆ

ดังนั้น แม้จะต้องหลบหนีคดี ซึ่งอ้างว่าเป็นเรื่องทุจริต แต่ก็เป็นข้อหาที่มาจากกลุ่มที่กุมอำนาจ และเชื่อกันในหมู่มวลชนที่เกลียดชังทักษิณเท่านั้น

แต่มวลชนฝ่ายที่ไม่เกลียดทักษิณ ไม่ได้มองเช่นนั้น จนนำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง 2 มาตรฐานตลอดหลายปีที่ผ่านมา

“ยิ่งในสายตานานาชาติ ยิ่งเชื่อว่าข้อกล่าวหาทุจริต ก็คือเกมการเมืองมากกว่า ทำให้ทักษิณเคลื่อนไหวไปมาได้แทบทั่วทุกประเทศ”

มากรณีอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นเหตุการณ์ที่สดใหม่ ทำให้คนทั่วโลกได้เห็นรายละเอียดชัดเจนมากขึ้นไปอีก

นับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนนิยมกว่า 15 ล้านเสียง จนเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของไทย ในปี 2554

แต่จากนั้นก็มีกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้าน จนเกิดการประท้วงชัตดาวน์ในปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557

โลกก็มองเห็นว่า ยิ่งลักษณ์ยอมยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมืองกันใหม่ ถือเป็นหลักประชาธิปไตยมาตรฐาน แต่ฝ่ายม็อบกลับไม่ยอมรับ จากนั้นก็ทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร นี่ยิ่งทำให้ทั่วโลกไม่ยอมรับวิธีการล้มยิ่งลักษณ์

ต่อมามาเกิดคดีความตั้งข้อหาร้ายแรง ในช่วงที่รัฐบาลทหารปกครองประเทศ จนสุดท้ายยิ่งลักษณ์ตัดสินใจหนี

“ถ้ากระบวนการดำเนินคดีเกิดในรัฐบาลปกติ ก็จะทำให้คนทั่วโลกมองอีกอย่าง แต่นี่กระทำในช่วงรัฐบาลทหาร”

ข้อมูลเหล่านี้ น่าจะทำให้ยิ่งลักษณ์ได้เปรียบ คสช. อย่างมาก ในเวทีสากล

ความจริง ตั้งแต่ม็อบนกหวีดเคลื่อนไหวขับไล่ยิ่งลักษณ์ในปลายปี 2556 นั้น ก็ทำทุกวิถีทางเพื่อจะกดดันให้ยิ่งลักษณ์ต้องหนีออกนอกประเทศ เพื่อให้จุดจบเหมือน 3 ทรราช ที่ถูกประชาชนขับไล่เมื่อ 14 ตุลาคม 2516

แต่นอกจากยิ่งลักษณ์จะปักหลักไม่หนีไปไหน ยังใช้วิธีการประชาธิปไตยมาหาทางออก กลับถูกฝ่ายแกนนำม็อบปฏิเสธ เลือกหนทางทำให้รถถังออกมามากกว่า

“ดังนั้น ที่คิดว่าจะเอามวลชนมาฮือไล่ยิ่งลักษณ์ให้หนีเตลิดออกนอกประเทศ แบบ 14 ตุลาฯ แต่กระบวนการทั้งหมดกลับข้างกัน ดังนั้น ผลจึงตรงกันข้ามไปด้วย”

เพราะ 14 ตุลาฯ คือ การลุกฮือของคนทั้งประเทศ เพราะทนไม่ไหวกับระบบอำนาจผูกขาดในกลุ่มทหารหยิบมือเดียว จึงระเบิดเป็นการประท้วงใหญ่

เพื่อขับไล่รัฐบาลทหาร ต้องการให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนในอำนาจทางการเมืองเพื่อเลือกรัฐบาล

แต่ม็อบนกหวีดไล่ยิ่งลักษณ์ เพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตย และต้องการให้หยุดประชาธิปไตย ตามสโลแกนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ ยังไม่ต้องให้มีเลือกตั้งพักใหญ่ ซึ่งจนบัดนี้บ้านเมืองเราไม่มีประชาธิปไตยมากว่า 3 ปีแล้ว

“นี่จึงเข้าทำนอง เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับ 14 ตุลาฯ”

หลังจากม็อบนกหวีดล้มรัฐบาลเลือกตั้งสำเร็จ โดยปูทางให้ทหารออกมาควบคุมการปกครองแล้ว จะพบว่ายิ่งลักษณ์ก็ยังไม่หลบหนี เคลื่อนไหวไปมาอย่างเป็นปกติ โดยพบปะมวลชนในภาคเหนือและอีสาน ที่ยังต้อนรับอย่างอบอุ่น

เฟซบุ๊กยิ่งลักษณ์ มีคนเข้ามาติดตามอย่างมากมาย ปรากฏตามยอดไลก์ที่พุ่งสูง

แม้ในช่วงต้นจะพบว่า มีเจ้าหน้าที่ คสช. ติดตามกดดันตลอดเวลา คล้ายกับให้ยิ่งลักษณ์ทนไม่ไหว ต้องหนี แต่ยิ่งลักษณ์ก็ไม่หนีอีก

ยังใช้ชีวิตปกติ แต่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ การถูกดำเนินคดี ซึ่งก็เดินทางไปศาลสู้คดีอย่างเข้มข้นทุกนัด

“จนกระทั่งถึงวันนัดพิพากษา แล้วยิ่งลักษณ์ก็ตัดสินใจหนี”

ข่าวคราวในเช้าวันที่ 25 สิงหาคม ทำให้บรรดามวลชนฝ่ายสนับสนุน คสช. พากันดีใจ พร้อมกับเปิดฉากรุกไล่ทางการเมือง เพราะการหนีคดี เสมือนการพ่ายแพ้ทางการเมืองอย่างราบคาบ

แต่ดีใจกันได้ไม่นาน ก็เริ่มพบว่า การออกนอกประเทศครั้งนี้ น่าจะนำไปสู่การเปิดแนวรบใหม่ คือแนวรบในเวทีโลก

คราวนี้ครบทั้งพี่ทั้งน้อง ดูน่าหนักใจไม่น้อยเลยสำหรับ คสช.

แม้แต่สถานการณ์ในการเลือกตั้งปี 2561 ซึ่งไม่มียิ่งลักษณ์เป็นเสี้ยนหนามอีกแล้ว แต่ก็อาจจะไม่ราบรื่นสำหรับ คสช.

เพราะจะเจอกับกระแสจากทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ในเวทีนอกประเทศที่ยังไม่รู้ว่าจะร้อนแรงทรงพลังขนาดไหน!?!