ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ท่าอากาศยานต่างความคิด |
เผยแพร่ |
ท่าอากาศยานต่างความคิด
อนุสรณ์ ติปยานนท์
คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน (4)
มีความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบทสองประการที่เราจะได้พบเห็นโดยเฉพาะในชีวิตชนบทอันห่างไกล ประการแรกนั้น ได้แก่ การศึกษา ส่วนประการที่สองนั้น ได้แก่ การสาธารณสุข แม้ว่าปัจจุบันภาพนักเรียนโรงเรียนประชาบาลที่ใส่เสื้อกางเกงกระโปรงปะหน้าปะหลัง (และเป็นเสื้อผ้ามรดกที่รับมาจากพี่คนก่อนและคนก่อน) จะไม่ค่อยได้พบเห็นกันอีกต่อไปแล้ว รวมถึงภาพการเดินเปลือยเท้าไปโรงเรียนหลายสิบกิโลก็แทบไม่มีให้พบเจอ นักเรียนที่อายุพอควรล้วนมีรถเครื่องส่วนตัวไว้ขับขี่ไปโรงเรียน ในขณะที่นักเรียนผู้มีอายุน้อยกว่าก็มีจักรยานหรือรถโรงเรียนคอยรับส่ง
แต่ถึงกระนั้นในเรื่องขององค์ความรู้ การเข้าถึงโรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนสอนพิเศษเฉพาะทางก็ดูจะยังกระจุกตัวอยู่แต่ภายในเมืองใหญ่ ในระดับอำเภอและตำบล สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาเช่นนี้ยังมีให้เห็นน้อยเต็มที โชคดีที่โลกออนไลน์ได้เข้ามาถมเต็มในสิ่งเหล่านี้ เด็กคนใดที่มีนิสัยใฝ่รู้ย่อมสามารถหาทางเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ ได้ ทั้งช่องเรียนในสื่อโซเชียล รายการบันทึกในช่องยูทูบ ความเหลื่อมล้ำที่ว่าจึงดูมีระยะห่างที่ลดลงและแคบลงในขณะปัจจุบัน
ทว่า ในขณะที่ช่องว่างทางการศึกษาได้หดแคบลง ช่องว่างด้านสุขภาพอนามัยกลับดูยังคงตกอยู่ในสภาพดั้งเดิม แม้นโยบายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือที่เรารู้จักกันในนามของโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคดูจะได้สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับชีวิตคนชนบทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคลอดลูกที่ในอดีตต้องเที่ยวหยิบยืมเงินญาติมิตรเพื่อนฝูงมาเตรียมการสำหรับสิ่งนี้ ไปจนถึงความเจ็บป่วยในโรคเรื้อรังที่ถึงกับต้องขายไร่นารักษาตัว การใช้บัตรทองได้แก้และบรรเทาปัญหาที่ว่านี้ไปมากมาย อัตราการตายของทารกและเด็กเกิดใหม่ลดต่ำลง การเติบโตที่ไม่เหมาะสมและสุขภาพพื้นฐานดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม แพทย์และโรงพยาบาลก็ยังไม่ใช่ทางเลือกแรกอยู่ดี ร้านขายยา หมอแผนโบราณ ไปจนถึงหมอขวัญคนทรงก็ยังมีอิทธิพลอยู่ไม่น้อย ไม่นับในเรื่องของการดูแลสุขภาพพื้นฐานของชีวิต ที่ผู้คนทั่วไปในชนบทยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น การตรวจสุขภาพประจำปี การพบปะแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่ไม่มีในความคิดคำนึง แม้จะมีโครงการของโรงพยาบาลประจำตำบลที่จัดกิจกรรมเหล่านี้อยู่เนืองๆ แต่คนส่วนใหญ่ก็ดูจะหาโอกาสหลบหนีมากกว่าเข้าร่วม การไปโรงพยาบาลเฉพาะเวลาเจ็บป่วยและพบแพทย์ในยามอาการหนักดูจะเป็นปรัชญาชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นห่างไกลไปเสียแล้ว
ถัดออกจากที่พักของผมไปสองห้องก่อนถึงบ้านของพี่ต่อนั้นเป็นบ้านของคุณป้าท่านหนึ่งที่มีชื่อว่าป้าล้ำ ป้าล้ำนั้นเป็นป้าผู้มีใจโอบอ้อมอารีแบบที่เราย่อมนึกภาพได้ บ้านของป้าล้ำเป็นบ้านสองคูหาที่ป้าล้ำใช้อาศัยอยู่กับหลานชายวัยรุ่น พ่อแม่ของหลานผู้เป็นเลือดเนื้อโดยตรงของแกไปทำมาหากินในกรุงเทพฯ และทยอยส่งเงินมาให้ป้าล้ำเป็นค่าดูแลหลาน (อันเป็นรูปแบบหนึ่งของชีวิตต่างจังหวัดที่ทำให้เราได้พบคนแก่และเด็กมากมายไปหมด) ป้าล้ำอาศัยเงินก้อนนั้นรวมกับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายได้หลักและหารายได้เสริมจากการสานกระบุงตะกร้าไปฝากขายที่ร้านขายของชำในอำเภอ ถ้าพ้นจากกิจกรรมเช่นนั้น ป้าล้ำแทบจะอุทิศเวลาทั้งหมดไปกับการตักบาตรทำบุญ เข้าวัดรักษาศีล
แทบทุกวันโกนผมจะเห็นป้าล้ำเดินออกจากบ้านในชุดขาวพร้อมด้วยปิ่นโตและตะกร้าที่ใส่ของใช้ส่วนตัวเพื่อไปค้างแรมที่วัด และเช้าวันรุ่งขึ้นป้าล้ำจะกลับจากวัดพร้อมข้าวปลาอาหารที่หลงเหลือมาจากการใส่บาตรทำบุญ อาหารเหล่านั้นจะถูกป้าล้ำนำออกมาให้ผมพร้อมทั้งบทสนทนาที่ถามไถ่และแสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย และถ้าอาหารเหล่านั้นมีไม่เพียงพอป้าล้ำจะถามว่าผมอยากกินอะไรเป็นพิเศษ ก่อนจะลงมือไปปรุงมาให้ ความเห็นอกเห็นใจของป้าล้ำต่อคนแปลกหน้าอย่างผมนั้นมีอย่างมากมายเหลือเกิน
การได้สนทนาและผูกมิตรกับป้าล้ำมากขึ้นทุกทีทำให้ผมพบว่าฟันฟางในปากของป้าล้ำแทบจะไม่มีหลงเหลือให้ใช้งานได้อย่างปกติแล้ว ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่าป้าคงกินอาหารได้น้อยเต็มทีในชีวิตประจำวัน ซึ่งป้าล้ำก็ยืนยันกับผมว่ามันหาได้สร้างความทุกข์ใจใดๆ กับป้า อาหารเหลว ข้าวต้ม และนมถั่วเหลืองทำให้ป้ามีชีวิตได้อย่างเป็นปกติดี
ผมเคยเอ่ยถามป้าว่าทำไมป้าล้ำจึงไม่ใส่ฟันปลอมให้ครบถ้วนเพื่อการบริโภคที่ถูกควร ป้าล้ำบอกว่าแกเคยถามหมอฟันที่โรงพยาบาลถึงฟันปลอมเช่นกัน หากแต่ผู้เป็นหมอแนะนำกับแกว่าควรปล่อยให้ฟันทุกสี่จากไปแล้วใส่ฟันปลอมเป็นชุดในคราเดียวจะสะดวกกว่า แต่ฟันที่เหลือของป้าล้ำก็ดูจะทนทานยิ่งโดยเฉพาะฟันหน้าสองสามซี่ที่แม้เวลาจะผ่านไปนับสิบปีมันก็หาได้หักหรือคลอนและทำให้ป้าล้ำต้องกินอาหารด้วยฟันเพียงไม่กี่ซี่ที่กลายเป็นอุปสรรคดังกล่าวนั้นเสมอมา
ปัญหาเรื่องสุขภาพฟันนั้นดูจะเป็นปัญหาที่คนเฒ่าคนแก่ในชนบทแบบป้าล้ำเผชิญกันมาก ตอนฟันฟางหักทีละซี่ การใส่ฟันทดแทนก็ดูจะสิ้นเปลืองเกินไป แต่การที่ฟันหักทำลายไปอีกหลายซี่ก็ยิ่งก่อปัญหา จะถอนฟันที่เหลือเพื่อทำฟันปลอมทั้งชุด ผู้เป็นเจ้าของก็ดูจะเสียดาย “ของมันยังดีอยู่ ไปถอนมันทำไม” นั่นคือคำตอบที่มักได้ยินเสมอเมื่อมีใครสักคนถามกับผู้เป็นเจ้าของถึงทางออกในเรื่องนี้ การใช้งานสิ่งใดให้ถึงที่สุดจนสภาพของสิ่งของนั้นเกินกว่าจะทำงานได้อีกต่อไปคือแนวทางของการบริโภคและใช้สอยสิ่งต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้
พ้นจากเรื่องของสุขภาพฟัน ปัญหาในเรื่องของสุขภาพสายตาดูจะเป็นปัญหาใหญ่อีกข้อ แม้ผู้คนใน ต.โนนบุรีจะไม่ได้ทำงานกลางแจ้งหนักเหมือนแต่ก่อน แต่การใช้สายตาก็เป็นไปอย่างเข้มข้นไม่มากก็น้อย ซึ่งสวนทางกับการใส่ใจไยดีในสุขภาพของมัน
เย็นวันหนึ่ง ในขณะที่พี่ต่อนั่งเล่นอยู่ที่หน้าบ้านของผมพร้อมทั้งพลิกหนังสือการ์ตูนผีเล่มละบาทจากกองหนังสือของผมไปมา พี่ต่อก็เอ่ยถามขึ้นว่า “พี่ยังอ่านการ์ตูนอยู่อีกหรือ?”
“ก็อ่านบ้างเวลาไม่อยากอ่านอย่างอื่น พี่ต่อเอาไปอ่านบ้างสิ เพลินๆ ไม่ต้องคิดมาก”
“ไม่ไหวแล้วพี่ ผมไม่ได้อ่านหนังสือมานานแล้วหลังจากสายตาสั้น”
“สายตาสั้น พี่ต่ออายุเกินสี่สิบแล้วไม่สั้นแล้ว มันน่าจะสายตายาวมากกว่า”
“เป็นอย่างไรพี่ สายตายาว”
“มันคือการที่เรามองไกลๆ ชัด แต่มองใกล้ไม่ชัดน่ะ” ผมหยิบใบปลิวของร้านสะดวกซื้อที่ให้พนักงานมาเดินแจกตามบ้านยื่นให้พี่ต่อ “พี่ต่อลองอ่านตัวหนังสือพวกนี้ เป็นไงบ้าง”
“มันพร่าไปหมดเลยพี่ ผมมองไม่เห็นเลย”
“เข้าใกล้ละ” ผมขยับใบปลิวเข้าใกล้พี่ต่อ “ยิ่งพร่าพี่ อ่านไม่ได้เลย”
ผมถอยใบปลิวออกห่าง “ครานี้เป็นไงบ้างครับพี่?”
“ดีขึ้นนะ ผมเห็นรางๆ แล้ว”
“สายตายาวแล้วพี่ต่อแบบนี้ พรุ่งนี้มีตลาดนัดที่อำเภอ ผมพาพี่ไปซื้อแว่นใหม่มาใส่ เดี๋ยวก็อ่านชัดเอง”
“ผมไม่มีเงินพี่ เห็นเขาว่าตัดแว่นทีละหลายร้อยเลย”
“เอ้ย แว่นสายตายาว เราซื้อได้เลย พี่ไม่ต้องตัด มันมีไล่เบอร์ไปเลย พี่ค่อยๆ เลือกเอาเลย มันไม่แพงอันละห้าสิบหกสิบบาทเอง”
เย็นวันถัดมา ผมกับพี่ต่อพบตนเองยืนอยู่หน้าร้านขายแว่นในตลาดนัด
“เริ่มจาก +1.00 นะพี่ ไล่ไปเรื่อยๆ” ผมยื่นแว่นให้พี่ต่อไล่ไปตามกำลังเบอร์พร้อมกับเอาใบปลิวร้านชำอันเดิมให้แกอ่านข้อความด้วย
“อันนี้เป็นไงพี่” ตอนนั้นพี่ต่อกำลังสวมแว่นที่ติดป้ายว่า +2.00
“เริ่มชัดแล้วพี่ เริ่มชัดแล้ว”
“อันนี้ล่ะ” ผมยื่นแว่น +2.50 ให้พี่ต่อ
“โห อ่านสบายเลยพี่”
“แล้วเทียบกับอันนี้ล่ะ” ผมยื่นอันที่ +2.75 ให้
“อันนี้แหละ ดีมากเลย”
เราทั้งคู่กลับจากตลาดนัดด้วยแว่นใหม่ของพี่ต่อที่มีค่าสายตา +2.75 หลังจากนั่งพักที่บ้าน พี่ต่อก็เอ่ยขึ้นว่า “ผมยืมการ์ตูนผีพี่ไปอ่านนะ ผมไม่ได้อ่านนานแล้ว ตอนนี้พอมองเห็นขออ่านเสียที”
เหตุการณ์ที่ว่านี้ทำให้ผมพบว่าปัญหาการเสื่อมสลายทางสายตาของผู้คนอาวุโสในหมู่บ้านดูจะเป็นเรื่องที่พวกเขาไม่ไยดีมากนัก ผมเขียนเรื่องราวของพี่ต่อลงในพื้นที่ออนไลน์ของตนเอง เพื่อนนักเขียนรุ่นพี่ที่ชื่อ เรืองรอง รุ่งรัศมี (ซึ่งปัจจุบันพี่เรืองรองท่านได้จากเราไปแล้ว) ได้ส่งข้อความมาบอกว่าอ่านเรื่องที่ว่านี้แล้วอยากส่งแว่นสายตายาวจำนวนหนึ่งมาให้แก่ชาวบ้านโนนบุรีที่มีปัญหาสายตายาว โดยคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ได้มากและขอให้ผมทำหน้าที่แจกจ่ายแทนแกด้วย
บ่ายวันหนึ่งหลังจากที่กล่องแว่นสายตายาวของพี่เรืองรอง รุ่งรัศมี เดินทางมาถึง ผมจึงจัดกิจกรรมมอบแว่นสายตาตามความตั้งใจของพี่เรืองรอง พี่ต่อเป็นคนออกไปเดินเคาะบ้านที่มีคนเฒ่าคนแก่ พร้อมทั้งกำชับให้ทุกคนมาเอาแว่นไปใช้งาน ช่างซ่อมโทรทัศน์ประจำหมู่บ้านที่ใช้แว่นจนพังแล้วพังอีกจนต้องเอาเทปพันรอบกรอบเป็นคนแรกที่มาถึง
คุณยายซอยถัดไปมาขอแว่นไปสำรองอันที่ได้มาจากโรงพยาบาล คนขายกาแฟจากร้านกาแฟในอำเภอมารับแว่นไปก่อนจะบอกว่าจะได้อ่านกล่องไม้ขีดไฟชัดเสียที ไม่เว้นแม้กระทั่งป้าล้ำที่มารับแว่นไปและบอกกับผมว่าครานี้จะได้อ่านหนังสือสวดมนต์แบบสบายตา พี่ต่อจัดแจงแจกแว่นเหล่านั้นจนหมด
และเมื่อผมถามพี่ต่อว่า “ได้อ่านการ์ตูนผีแล้ว สนุกเหมือนตอนเป็นเด็กไหม?”
“ไม่รู้สิพี่ ผมหลับก่อนอ่านจบทุกทีเลย สงสัยเพราะไม่ได้อ่านนาน ตัวหนังสือมันชัดก็จริงแต่ดูมันไม่เข้าหัวเลย”