ผี-พราหมณ์-พุทธ ถูกเชื่อมากกว่าศาสนาอื่น / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ผี-พราหมณ์-พุทธ

ถูกเชื่อมากกว่าศาสนาอื่น

 

คนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ในไทยมีความเชื่อเรื่องผี-พราหมณ์-พุทธ มากกว่าศาสนาอื่น คือมากกว่าคริสต์หรืออิสลามที่แผ่เข้ามาสมัยหลัง

ทั้งนี้ มีเหตุจากผี-พราหมณ์-พุทธ ผสมกลมกลืนปนเปนับพันปีอยู่ในอุษาคเนย์และในไทย นอกจากนั้นยังเข้ากันได้ดีกับ “เจ๊กไหว้เจ้า” หมายถึงชาวจีนโพ้นทะเลไหว้ผีบรรพชนที่ทยอยโยกย้ายเข้ามามากแล้วตั้งบ้านเรือนหลักแหล่งตั้งแต่สมัยอยุธยาจนปัจจุบัน

 

ผี ปะทะ พราหมณ์-พุทธ ก่อนผสมปนเปกัน

ผี,พราหมณ์, พุทธ น่าจะเริ่มประสมปนเปกันหลังพราหมณ์กับพุทธถูกเผยแผ่จากอินเดียถึงสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ พบหลักฐานจากความทรงจำเก่าแก่ว่าก่อนมีการประสมปนเปกันได้มีปัญหาต้องปะทะขัดแย้งระหว่างผีกับพราหมณ์-พุทธในระยะเวลาหนึ่งซึ่งน่าจะนานไม่น้อย

1. พราหมณ์กับพุทธเหยียดผีด้วยการเรียกคนพื้นเมืองนับถือผีว่า “นาค” เป็นตระกูลภาษาอินโด-ยุโรป แปลว่าเปลือยหรือคนเปลือย เพราะคนพื้นเมืองทั้งหญิงชายมีผ้าผืนน้อยหน้าแคบผืนเดียวหรือเปลือกไม้ชิ้นเดียวผูกรัดอวัยวะเพศไว้เท่านั้น นอกนั้นปล่อยร่างเปลือยเปล่า ซึ่งไม่นุ่งห่มผ้าผ่อนแบบอินเดีย

2. ผีปะทะพุทธเมื่อผีไม่ยอมอ่อนน้อมต่อคำสอนของพุทธ จึงทำให้พุทธต้องปราบผี แต่เรียก “ปราบนาค” (นาคคือสัญลักษณ์ความเชื่อศาสนาผี) ซึ่งมีบอกในคัมภีร์มหาวงศ์ (พงศาวดารลังกา) และในหนังสืออุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม)

3. ผี, พราหมณ์, พุทธ ประนีประนอมเข้าประสมปนเปกันเมื่อพราหมณ์กับพุทธปราบผีไม่สำเร็จ จึงมีการปรับตัวโน้มเข้าหากัน ดังนี้

(1.) ศาสนาผีเป็นฐานรากแข็งแกร่ง

(2.) เลือกรับสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับศาสนาพุทธ ส่วนที่ไม่ขัดกับหลักผีเข้ามาประดับศาสนาผี จึงทำให้ศาสนาผีดูดีมีสง่าราศีทันสมัย น่าเลื่อมใสขึ้นจากการประดับประดาห่อหุ้มคลุมด้วยศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธ

(3.) ศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม ส่วนศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธรักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล

หลังรับศาสนาจากอินเดีย ทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ แต่ยังนับถือศาสนาผี ดังพบประติมากรรมคนจูงลิง ดินเผา ราวหลัง พ.ศ.1000 ที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ต่อมาคนพื้นเมืองยอมรับคำว่านาค ดังนั้น เมื่อทำพิธีบวชคนพื้นเมืองเพศชายให้เป็นพระสงฆ์ไม่เรียกบวชคน แต่เรียกบวชนาค หมายถึงบวชคนเปลือยซึ่งมีน้ำเสียงเหยียดคนพื้นเมือง แต่ขณะเดียวกันฝ่ายพุทธยกย่องอำนาจผีด้วยการยอมรับพิธีทำขวัญนาคตามความเชื่อดั้งเดิมของผีก่อนเข้าพิธีบวชเป็นพระสงฆ์ แล้วยอมให้มีการแห่นาคก่อนเข้าพิธีบรรพชาซึ่งไม่พบในพุทธบัญญัติ

ศาสนาผีเป็นฐานรากแข็งแกร่งยังพบในพระพุทธรูปทั้งหลายถูกเรียก “หลวงพ่อ” เพราะมีผีทรงอานุภาพยิ่งใหญ่เป็นผู้พิทักษ์โดยสิงสถิตในพระพุทธรูปนั้น ทำให้พระพุทธรูปมีทั้งความเป็นพระและผีรวมอยู่ด้วยกัน

นอกจากนั้น ตามโบสถ์วิหารการเปรียญมีผีคุ้มครองแข็งแรงในลักษณะของนาค (คืองู) เป็นผู้พิทักษ์แข็งขันอยู่ที่หลังคาเครื่องบนอาคาร แต่ถูกกลบเกลื่อนความจริงด้วยชื่อเรียกสมมุติขึ้นใหม่ว่าช่อฟ้าและหางหงส์ เป็นต้น

หญิงในศาสนาผีมีสถานภาพสูงกว่าชาย ได้แก่ เป็นใหญ่ในพิธีกรรม (เข้าทรงผีฟ้า) และเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์, สำหรับพิธีแต่งงานหญิงเป็นนายชายเป็นบ่าว (ขี้ข้า) ของหญิง เสร็จพิธีแล้วชายเป็นเขยต้องไปอยู่รับใช้ในเรือนของหญิง

ชายในศาสนาพราหมณ์, พุทธ มีสถานภาพสูงกว่าหญิง ครั้นหลังรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธก็เปลี่ยนไปยกย่องชายมีสถานภาพสูงกว่าหญิง ได้แก่ ชายเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับศาสนาพุทธ ส่วนหญิงถูกลดสถานภาพต่ำกว่าชายไม่มีสิทธิ์ในพิธีกรรมพราหมณ์-พุทธ แต่ยังเป็นใหญ่ในพิธีกรรมทางศาสนาผี (เพราะผีฟ้าไม่ลงทรงผู้ชาย)

เครื่องรางอย่างเครื่องประดับในศาสนาผี ราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว พบทั้งที่เมืองอู่ทองลงไปถึงภาคใต้ของไทย แล้วยังพบอยู่ในบรรดาชุมชนใกล้ทะเลตั้งแต่ไต้หวันลงไปถึงภูมิภาคอุษาคเนย์
(ซ้าย) ลิง ลิง-โอ (Ling Ling-O) เครื่องรางต่างหู 3 ปุ่ม อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว รูปห่วงกลม ที่ขอบห่วงมีปุ่มยื่น 3 แห่ง พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
(ขวา) เครื่องรางต่างหู 2 หัว อายุราว 2,000 ปีมาแล้ว ทำจากหินหยกสีเขียว เป็นแท่งยาว มี 2 หัวคล้ายรูปสัตว์ ข้างบนแท่งทำคล้ายตะขอแขวน พบที่เมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ศาสนาพุทธไปสุวรรณภูมิ

สุวรรณภูมิคือดินแดนทอง ซึ่งผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เคลื่อนไหวโยกย้ายเข้าไปตั้งหลักแหล่งอยู่รวมกันเป็นบ้านเมืองระดับรัฐแรกเริ่ม และมีเครือข่ายกว้างขวางตามลุ่มน้ำสำคัญ สืบเนื่องจากการเป็นชุมทางการค้าทางไกลระหว่างอินเดียกับจีน (โดยไม่เป็นอาณานิคมของอินเดีย) ดึงดูดนักแสวงความมั่งคั่งเดินทางเสี่ยงภัยไปค้าขายสม่ำเสมอเป็นที่รู้ทั่วกัน

ความเป็นมาสมัยเริ่มแรกของสุวรรณภูมิไม่เกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาไม่ว่าศาสนาพุทธหรือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เพราะแรกสุดเป็นเรื่องการค้าทางไกลระหว่างอินเดียกับจีน ส่วนการเผยแผ่ศาสนาเป็นผลพลอยได้ตามไปทีหลังเมื่อกลุ่มผู้นำทางการเมืองในอินเดียและรวมถึงลังกาใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้า เนื่องเพราะศาสนาพุทธสนองกิจกรรมการค้าและใกล้ชิดเศรษฐีผู้มั่งคั่งจากการค้า จึงส่งพระสงฆ์อาศัยเรือพ่อค้าไปเผยแผ่ศาสนาพุทธในบ้านเมืองสุวรรณภูมิเพื่อขยายอำนาจไปควบคุมเส้นทางการค้าทางไกลและชุมทางการค้ากับจีนและเครือข่าย

ศาสนาพุทธถูกเผยแผ่จากอินเดียถึงสุวรรณภูมิตั้งแต่เมื่อไหร่? ไม่พบหลักฐานบอกตรงไปตรงมา ทำให้ต้องคาดคะเนว่าน่าจะมีลักษณะเริ่มแรกทยอยตามสถานการณ์สังคมการค้าครั้งนั้น แล้วเข้มข้นขึ้นสมัยหลังเมื่อได้รับสนับสนุนเป็นทางการจากอำนาจรัฐที่หนุนศาสนาพุทธซึ่งย้ายจากอินเดียไปอยู่ลังกา

พระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปสุวรรณภูมิ ในไทยเป็นที่รู้สืบเนื่องยาวนานว่าพระเจ้าอโศกส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงนานาประเทศหลายทิศทาง (เมื่อราว พ.ศ.235) ในจำนวนนั้นมีพระโสณะกับพระอุตตระไปสุวรรณภูมิ แต่ต่อมาเมื่อตรวจสอบหลักฐานต่างๆ แล้วพบดังนี้

(1.) การเผยแผ่ศาสนาพุทธของพระเจ้าอโศก มีจารึกพระเจ้าอโศกระบุชื่อไว้ว่าไปถึงบ้านเมืองใดบ้าง แต่ไม่พบชื่อสุวรรณภูมิในจารึกพระเจ้าอโศก

(2.) พระเจ้าอโศกส่งพระโสณะกับพระอุตตระไปเผยแผ่ศาสนาพุทธถึงสุวรรณภูมิ พบระบุไว้ในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา (แต่งหลัง พ.ศ.1000) •