เสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘เจดีย์ล้านนา’ ของ ‘จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา’ / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

เสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘เจดีย์ล้านนา’

ของ ‘จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา’

 

ขออนุญาตผู้อ่านที่กำลังติดตามเรื่อง “พระสกุลช่างเมืองฝาง” อยู่อย่างต่อเนื่องมาสองตอนแล้ว ว่าขอให้อดใจรออ่านประเด็นดังกล่าวในฉบับถัดไปนะคะ

เนื่องจากสัปดาห์นี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้อง “แทรกคิว” ขอประชาสัมพันธ์กิจกรรมงานที่กำลังจะจัดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ก่อน

นั่นคืองานเปิดตัวหนังสือเล่มสำคัญ “เจดีย์ล้านนา” เขียนโดย “จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ศกนี้

ปกหนังสือ “เจดีย์ล้านนา” เขียนโดย “จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา” เป็นภาพเจดีย์วัดอุโมงค์ วาดโดยศิลปิน “พรชัย ใจมา”

ด้วยจิตวิญญาณแห่งนักประวัติศาสตร์ศิลปะ

จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา คือใคร? เขาคือ “นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ” คนสำคัญ ที่รู้จักกันดีในแวดวงวิชาการด้านโบราณคดี จิรศักดิ์เรียนจบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี วิชาเอกประวัติศาสตร์ศิลปะ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร

เขาเคยรับราชการในตำแหน่งนักวิจัย ศูนย์วิจัยล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ผลงานที่เขาศึกษาค้นคว้าในระหว่างที่ทำงานให้กับสถาบันวิจัยสังคม มช. ได้แก่ หนังสือเรื่อง “เจดีย์ในเชียงใหม่” “ความสัมพันธ์ระหว่างล้านนา-ล้านช้าง กรณีศึกษาศิลปกรรมในเมืองเชียงใหม่และหลวงพระบาง” กับ “ลวดลายปูนปั้นประดับโบราณสถานในเมืองเชียงใหม่” เป็นต้น งานส่วนใหญ่ตีพิมพ์ระหว่างปี 2543-2545

หลังจากนั้นเขาได้ลาออกจากราชการตั้งแต่ปี 2546 ไปประกอบอาชีพส่วนตัว

ทว่า ทุกครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม ปรมาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางมาบรรยายให้ความรู้แก่หน่วยงาน สถาบันการศึกษาต่างๆ ในแถบล้านนา ไม่ว่าคราใดก็ตาม

บุคคลที่เรามักเห็นว่าทำหน้าที่คอยขับรถรับ-ส่ง ติดสอยห้อยตามอาจารย์สันติจากสนามบินเชียงใหม่ไปยังสถานที่ต่างๆ ก็คือ “จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา” คนนี้คนเดียวแทบทุกคราวไป

หลายครั้งที่ดิฉันยังได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีกับ “พี่แดง” (ชื่อเล่นของคุณจิรศักดิ์) แม้จะเป็นช่วงหลังจากที่พี่เขาได้ลาออกจากราชการไปนานแล้วก็ตาม

ยอมรับว่านักวิชาการที่เจาะลึกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะในดินแดนล้านนามีจำนวนไม่มากนัก แทบจะนับนิ้วได้

ในยามที่ดิฉันติดขัดอยากขอคำปรึกษาหาคนให้ช่วยวินิจฉัยว่าสิ่งที่ดิฉันตั้งข้อสมมุติฐาน หรือกำหนดอายุงานศิลปกรรมชิ้นนั้นๆ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ถูกหรือผิด เหลียวซ้ายแลขวา มองแทบไม่เห็นใครอีกเลย กลายเป็นว่า ตัวเรานั่นเองที่แทบจะเป็นผู้อาวุโสที่สุดแล้วในแวดวงประวัติศาสตร์ศิลปะล้านนา

ดังนั้น เมื่อทราบข่าวว่า พี่แดง-จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา ได้ออกหนังสือเชิงลึกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะเล่มใหม่ชื่อ “เจดีย์ล้านนา” ย่อมสร้างความปีติยินดีให้แก่ดิฉันอย่างท่วมท้น

แสดงว่าหลายปีที่พี่เขาเงียบหายไปนั้น ลึกๆ แล้วจิตวิญญาณและไฟปรารถนาที่จะทำงานวิจัยด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ยังคงคุโชนอยู่ มิเคยมอดดับ

 

ปกหลังของหนังสือ “เจดีย์ล้านนา” เป็นภาพเจดีย์วัดเชียงมั่น

จิตวิญญาณแห่งความเสียสละ

หนังสือปกสวยทั้งด้านหน้าและด้านหลัง (เขียนภาพโดยศิลปินล้านนาชื่อก้อง “พรชัย ใจมา“) เรื่อง “เจดีย์ล้านนา” เล่มนี้ จิรศักดิ์ เดชวงศ์ญา ได้ใช้งบประมาณส่วนตัวของเขาในการจัดพิมพ์

ด้วยปณิธานที่แน่วแน่ว่า รายได้จากการจัดจำหน่ายทั้งหมด (ไม่มีการหักต้นทุนค่าสมอง หรือค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ใดๆ) ผู้เขียนตั้งใจมอบสมทบเป็นทุนการศึกษาให้แก่พระภิกษุ สามเณร ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ภายใต้การดำเนินงานของ “กองทุนรากแก้วพุทธทายาท” ส่วนหนึ่งของ “มูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” มูลนิธินี้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (ม.จ.ร.) วิทยาเขตสวนดอก

หนังสือราคาเล่มละ 350.- ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อได้ทาง ID Line : jirasakdeang

ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเสียสละอันสูงส่งที่อยากช่วยเหลือกุลบุตร พุทธบุตรผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษานี่เอง ทันทีที่ดิฉันได้ทราบข่าว และได้รับอภินันทนาการหนังสือจากพี่แดง จิรศักดิ์ ดิฉันจึงเรียนปรึกษาพี่เขาว่า ควรมีการจัดงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้อย่างเป็นทางการด้วยจะดีไหม? (หนังสือเพิ่งพิมพ์เสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2564) เชื่อว่างานนี้น่าจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง

เมื่อพี่แดง จิรศักดิ์ เห็นชอบ จึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมเสวนาทางวิชาการ บรรยายถ่ายทอดองค์ความรู้บางห้วงบางตอนของรูปแบบเจดีย์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ เป็นวิทยาทานให้แก่ผู้เข้าร่วมงานเปิดตัวหนังสือด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเจาะลึกเนื้อหาทั้งหมดในเวลาอันจำกัด แค่หยิบยกมาบางรูปแบบของเจดีย์ก็พอ

หมวดหมู่รูปแบบเจดีย์ในล้านนาที่คุณจิรศักดิ์ทำการจำแนกนั้น แบ่งเป็น 8 กลุ่มหลักๆ (โดยใช้ตัวอย่างงานศึกษาเจดีย์ตามวัดต่างๆ ทั้งวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาและวัดร้าง จำนวนมากกว่า 100 แห่ง) แบ่งได้ดังนี้

1. เจดีย์ทรงปราสาทสี่เหลี่ยม (เช่น เจดีย์กู่กุด (ดิฉันใช้ “กู่กุฏิ”) วัดจามเทวี)

2. เจดีย์ทรงปราสาทแปดเหลี่ยม (เช่น เจดีย์วัดสะดือเมือง)

3. เจดีย์ทรงปราสาทยอดเจดีย์ (เช่น เจดีย์วัดเกาะกลาง ป่าซาง)

4. เจดีย์ทรงมณฑปปราสาท (เช่น มณฑปพระเจ้าแก่นจันทน์ ท้ายอุโบสถวัดเจ็ดยอด)

5. เจดีย์ทรงระฆัง (เช่น พระธาตุหริภุญไชย)

6. เจดีย์ปล่อง (วัดกู่เต้า)

7. เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (เช่น วัดร้างธาตุกลาง)

8. เจดีย์ทรงเพิ่มมุม หรือย่อมุม (เช่น เจดีย์วัดหมื่นตูม) ซึ่งสามรูปแบบหลังนี้พบจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับแบบที่ 3 ถึง 5

เฉพาะเจดีย์ทรงระฆังล้านนาเพียงรูปแบบเดียว ก็ยังสามารถจำแนกแยกย่อยออกได้อีกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะพุกาม กลุ่มที่สอง เจดีย์ที่รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย และกลุ่มที่สาม เจดีย์ที่รับรูปแบบจากศิลปะพม่า (ยุคสัมปทานไม้) ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 เป็นต้นไป (ศัพท์ของดิฉันใช้คำว่ากลุ่ม “มอญ-ม่าน-เงี้ยว”)

ด้วยเหตุนี้ งานเปิดตัวหนังสือ “เจดีย์ล้านนา” ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ ศกนี้ เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องประชุม หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก เชียงใหม่ คุณจิรศักดิ์จึงเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวของ “เจดีย์ทรงระฆังล้านนา” เพียงรูปแบบเดียว (ลำพังแค่เรื่องเดียวก็ปาไปสามกลุ่มย่อยแล้ว)

หลังจากบรรยายเสร็จในห้องประชุม ระหว่าง 16.00-17.00 น. วิทยากรจะพานำชมเจดีย์ทรงระฆังล้านนาในสถานที่จริง โดยเลือกเจดีย์ร้างองค์หนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เชียงใหม่ บริเวณใกล้กันกับหอสมุดแห่งชาติฯ มาเป็นกรณีศึกษา

ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างองค์ความรู้ที่หาได้ยากยิ่งให้แก่ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมไปถึงมัคคุเทศก์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงบรรยายนำชมแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย

ท่านใดสนใจเข้าร่วมกิจกรรมโปรดติดต่อดิฉันทางกล่องข้อความในเฟซบุ๊ก Pensupa Sukkata เพื่อจะได้ทราบจำนวนผู้ลงทะเบียน งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ •