ฌาปนสถานคณะราษฎร (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ฌาปนสถานคณะราษฎร (จบ)

 

“…การเผาศพในเวลานี้ ก่อให้เกิดกลิ่นอันเป็นเหตุรำคาญอยู่เนืองๆ กลิ่นที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องจากกำลังเพลิงไม่แรงพอที่จะเผาศพให้แปรธาตุเป็นอนินทรียวัตถุได้จนสิ้นเชิง อนึ่ง ที่เผาศพไม่มีปล่องสูงและผนังอันมิดชิดเพื่อบังคับกลิ่นและควันให้ลอยสูงขึ้น ผู้อาศัยใกล้เคียงจึงเดือดร้อนด้วยกลิ่นเหม็นกระจายไปทำความรำคาญให้เนืองๆ…ตราบใดที่การเผายังใช้วิธีเช่นนี้อยู่ ราษฎรก็ยังไม่พ้นความรำคาญอยู่ตราบนั้น แม้กำหนดเวลาเผาให้ดึกเท่าใดก็ช่วยไม่ได้ ทางที่ดีควรดัดแปลงการเผาเสียใหม่ให้พ้นความรำคาญเรื่องกลิ่นเหม็น โดยใช้เตาเผาซึ่งสามารถเผาควันให้สูญสิ้นไปได้…”

บันทึกของพระไวทยวิธีการ และนายแพทย์กิมกัง

เรื่อง การจัดการศพในพระนคร 2 กันยายน พ.ศ.2478

 

หลังจากปรีดี พนมยงค์ แต่งตั้ง “กรรมการวางโครงการตั้งที่เผาศพ” เพียงไม่กี่วัน ได้มีการประชุมคณะกรรมการขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2478 โดยมอบหมายให้พระไวทยวิธีการ รวบรวมขอเท็จจริงเรื่องการเผาศพในพระนครตามสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนั้น เพื่อเสนอต่อที่ประชุมในครั้งต่อไป

ในบันทึกความยาว 15 หน้าของพระไวทยวิธีการ แสดงให้เห็นถึงสภาพอันน่าสังเวชของการจัดการศพคนธรรมดาที่ไร้ซึ่งสุขลักษณะ มาตรฐาน และสร้างความรำคาญทั้งทางสายตาและจมูกแก่ผู้คนทั่วพระนคร

ช่างเป็นภาพที่ขัดแย้งกับความศิวิไลซ์ของถนนและทางรถไฟสมัยใหม่ วังและอาคารราชการรูปแบบตะวันตก ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้หรูหรามากมายที่นำเข้ามาจากยุโรป

ในขณะที่เจ้านายและผู้ดีชั้นสูงในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดูจะเข้าถึงความเจริญล่าสุดของโลกแทบทุกอย่างได้อย่างรวดเร็ว แต่สามัญชนกลับต้องเผาศพญาติไม่แตกต่างจากที่บรรพบุรุษทำเมื่อหลายร้อยปีก่อน ทั้งที่เทคโนโลยีเตาเผาสมัยใหม่ก็ถูกผลิตขึ้นในโลกมานานพอสมควรแล้ว

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคมผ่านพิธีกรรมว่าด้วยความตายดังกล่าว ดูจะเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องให้แก้ไขเป็นอันดับต้นๆ เลยทีเดียว

ตัวอย่างที่สะท้อนสภาวะนี้ได้ดีคือ บทความชื่อ “การเผาศพ” ในหนังสือพิมพ์ “ยุวชน” วันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2478 ซึ่งได้มีการเรียกร้องให้มีการสร้างที่เผาศพด้วยเตาเผาสมัยใหม่อย่างเร่งด่วน

โดยในประโยคเปิดของบทความได้เขียนระบายความเอือมระอาต่อระบบที่เป็นอยู่เอาไว้อย่างชัดเจนว่า

“อะไรๆ ของเราก็นับว่าพอจะเจริญทันเทียมอารยประเทศเขาบ้างแล้ว แต่เรื่องการเผาศพนี่แหละช่างเหลือรับเสียจริงๆ…”

แผนผังฌาปนสถาน แบบ 1 ข

ย้อนกลับมาที่โครงการก่อสร้างฌาปนสถาน ภายหลังจากคณะกรรมการได้รับบันทึกของพระไวทยวิธีการ ที่ประชุมได้สรุปความเห็นเอาไว้หลายข้อ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ฌาปนสถานแห่งแรกควรเริ่มทดลองสร้างที่ฝั่งธนบุรี ในบริเวณป้อมเสาธง ปากคลองสาน ภายในที่ดินขนาดประมาณ 7 ไร่ โดยมอบหมายให้กรมโยธาเทศบาลรับผิดชอบในการออกแบบ

จากหลักฐานที่เหลืออยู่พบว่า มีการออกแบบทั้งหมด 5 แบบ โดย 4 แบบมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบทันสมัย อิทธิพล Art Deco เขียนโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ตรวจแบบโดยจรูญ ตุลยานนท์ และนารถ โพธิประสาท

ส่วนอีก 1 แบบ มีลักษณะสถาปัตยกรรมไทย เขียนโดยรำไพ ยาตรมงคราญ และตรวจแบบโดยจรูญ ตุลยานนท์ และนารถ โพธิประสาท

โดยส่วนตัว ผมคิดว่า แบบร่างที่ 1 ข มีความน่าสนใจที่สุด โดยสถาปนิกออกแบบให้อาคารประกอบด้วยพื้นที่ใช้สอยหลักคือ ที่พักแขก เมรุ เตาเผาศพสมัยใหม่ และ ที่เก็บศพ

แผนผังถูกออกแบบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ โดยโถงทางเข้าด้านหน้าออกแบบเป็นอาคารโค้ง กึ่งกลางของอาคารเป็นที่ตั้งของเมรุสำหรับตั้งโลงศพและประกอบพิธีวางดอกไม้จัน ส่วนอาคารด้านหลังคือเตาเผาศพ

ความพิเศษคือ อาคารเมรุตรงกลางนั้นถูกออกแบบให้เป็นผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนรูปด้านออกแบบเป็นแท่งสี่เหลี่ยมทรงสูงตามศิลปะ Art Deco โดยมีผนังเหนือทางเข้าทั้ง 4 ด้านทำเป็นผนังกระจกสูง แสงสามารถลอดผ่านเข้ามาภายในได้อย่างเต็มที่

ตัวเมรุยังถูกออกแบบให้มีที่ว่างขนาดใหญ่โดยรอบ ทำให้ตัวอาคารเด่นเป็นสง่า โดยถัดออกมาจะมีระเบียงทางเดินโล่งโอบล้อมอยู่ทั้ง 4 ด้าน และที่มุมระเบียงทำเป็นศาลา

 

จากแบบที่ปรากฏ เราจะเห็นว่าสถาปนิกออกแบบอาคารเมรุได้ทันสมัยมากอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเคยมีคนคิดออกแบบเมรุในลักษณะเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 90 ปีที่ผ่านมา

มองถัดมาที่ผังพื้นด้านหน้าโครงการ สถาปนิกออกแบบให้เป็นอาคารขนาดใหญ่แผนผังโค้งคล้ายแคปซูลยา ตรงกลางคือโถงทางเข้าโครงการและห้องรับแขก ปีกทั้งสองข้างทำเป็นที่บรรจุอัฐิ มีน้ำพุ และสวนประดับตกแต่งอยู่ภายใน

ถัดไปบริเวณผังด้านหลังของโครงการ ออกแบบเป็นเตาเผาศพขนาดใหญ่ เผาได้ 3 ศพ ด้านหลังเป็นปล่องควันสูงเพื่อปล่อยควันขึ้นสู่อากาศเพื่อไม่ให้กลิ่น (ที่อาจจะหลงเหลืออยู่บ้าง) ลอยมารบกวนผู้คน ปีกอาคารทั้งสองข้างของเตาเผาออกแบบเป็นที่เก็บศพ ห้องบังสุกุล ห้องเก็บของ และห้องน้ำ

จากรายละเอียดที่กล่าวมา เราจะเห็นว่า แบบร่าง 1 ข ได้รับการออกแบบอย่างคำนึงถึงการใช้สอยพื้นที่ตามพิธีกรรมและความเชื่อของคนไทยชนิดที่ครบวงจรอย่างสมบูรณ์ที่สุด

แต่ภายใต้การใช้สอยแบบประเพณี เปลือกนอกของอาคารที่ห่อหุ้มอยู่นั้น กลับเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ทันสมัยอย่างสุดขั้ว

รูปแบบนี้ ในทัศนะผม สะท้อนให้เห็นถึงการออกแบบที่คำนึงถึงวัฒนธรรมไทยไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ทางสถาปัตยกรรมที่ไม่ยึดติดกับเปลือกอาคารแบบประเพณีอีกต่อไป ซึ่งดูจะสะท้อนสปิริตของการปฏิวัติ 2475 ได้อย่างดี

ซึ่งน่าเสียดายมากที่ฌาปนสถานล้ำสมัยเช่นนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นจริง

 

ส่วนแบบร่าง 1 ก เป็นแบบที่ไม่สวยที่สุด ตัวแผนผังมีลักษณะเดียวกับ แบบร่าง 1 ข ทั้งหมด เป็นแต่เพียงออกแบบให้มีรูปทรงอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทย

แบบร่าง 2 มีลักษณะเล็กลงมาจาก แบบร่าง 1 ก และ ข พอสมควร โดยสถาปนิกออกแบบให้มีเพียงรูปทรงอย่างทันสมัยเท่านั้น (ไม่มีแบบไทย) ซึ่งแบบนี้ แม้จะมีความสวยงามไม่แพ้ แบบร่าง 1 ข แต่พื้นที่ใช้สอยดูยังไม่ค่อยลงตัวนัก

แบบร่าง 3 ก และ แบบร่าง 3 ข เป็นแบบประหยัด ที่พยายามตัดสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกไป เหลือไว้เพียงเฉพาะส่วนเตาเผาและศาลาโถงขนาดใหญ่เพียงห้องเดียวเท่านั้น เป็นผลทำให้อาคารไม่สามารถรองรับกิจกรรมตามความเชื่อได้ครบเท่าที่ควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีอาคารเมรุสำหรับตั้งศพเพื่อทำพิธีวางดอกไม้จัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อแบบร่างทั้ง 5 แบบถูกนำเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2478 แบบที่ได้รับคัดเลือกคือ แบบร่างที่ 3 ข โดยเหตุผลอาจเป็นเพราะด้วยงบประมาณในการก่อสร้างที่ถูกที่สุด คือใช้งบเพียง 28,600 บาท ในขณะที่แบบร่าง 1 ก ใช้งบฯ สูงถึง 146,800 บาท แบบร่าง 1 ข ใช้งบฯ 91,750 บาท และ แบบร่าง 2 ใช้งบฯ 48,650 บาท

ในการประชุมครั้งนั้น ยังได้ตกลงกันว่า โครงการก่อสร้างฌาปนสถานนี้ควรขอเงินจากรัฐบาลมาจัดสร้าง หรือไม่ก็ให้เทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบ

แต่เมื่อมีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังรัฐบาลกลับไม่ได้รับการตอบรับจัดสรรงบประมาณ ส่วนเทศบาลก็แสดงท่าทีว่าไม่พร้อมเป็นเจ้าภาพโครงการนี้เช่นกัน สุดท้ายจึงมีมติให้จัดตั้งเป็นองค์กรสาธารณะเพื่อเข้ามาดูแลโครงการแทน โดยมีการร่างเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ใช้ชื่อว่า “พระราชบัญญัติจัดตั้งกรุงเทพฌาปนการจำกัด พ.ศ.2479”

อย่างไรก็ตาม ดูเสมือนว่าพระราชบัญญัตินี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าไรนัก ทำให้โครงการดังกล่าวล้มเลิกไปในที่สุด และฌาปนสถานที่ล้ำยุคล้ำสมัยดังกล่าวก็พลอยถูกพับเก็บตามไปด้วย

 

แม้แนวคิดการสร้างเมรุเผาศพแบบสมัยใหม่ของกระทรวงมหาดไทย (ภายใต้นโยบายของปรีดี) จะถูกยกเลิกไป แต่สุดท้ายในปี พ.ศ.2483 เมรุถาวรสำหรับสามัญชนที่ใช้เตาเผาศพอย่างสมัยใหม่ก็ได้รับการก่อสร้างขึ้นในที่สุด ภายในพื้นที่วัดไตรมิตร

โดยในคราวนี้เป็นฝีมือการออกแบบของพระพรหมพิจิตร นายช่างสถาปัตยกรรมไทยของกรมศิลปากร

และนับตั้งแต่เมรุถาวรที่วัดไตรมิตรถูกสร้างขึ้น ความนิยมในการเผาศพด้วยเตาสมัยใหม่ก็แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วชนิดไฟลามทุ่ง (เสมือนว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนนั้นโหยหารอคอยมานาน) จนกลายเป็นสิ่งสามัญที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ผลที่เกิดขึ้นตามมาคือ กลิ่นศพเน่าเหม็นที่ลอยคลุ้งฟุ้งอยู่ทั่วพระนครก็ค่อยๆ สูญสลายหายไป ซึ่งทำให้เราอาจกล่าวได้ว่า เมรุถาวรสำหรับสามัญชน คือ หมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ ให้ก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์สมัยใหม่ในทางสาธารณสุขอย่างแท้จริง