ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | อัญเจียแขฺมร์ |
เผยแพร่ |
อัญเจียแขฺมร์
อภิญญา ตะวันออก
ไคสึเกะ ฮอนดะ
: คนเหนือโค้ช
นั่งชมนักพากย์ฉบับเขมรผ่าน BTV Cambodia ในรายการ “เอเอฟเอฟซูซูกิคัพยู 23/2022” ที่กัมพูชาผ่านทางออนไลน์
พลันฉันก็รำลึกถึงความสัมพันธ์อันทอดยาวของ “กัมพูชา-ญี่ปุ่น” โดยในสุ้มเสียงสำเนียงเขมรนั่น ยังพาเพลินในน้ำเสียงชื่นชมนักเตะไทยไม่น้อย
“ระเบือนระไบน่ะ” นักพากย์เขมรว่า ให้เครดิตแก่ฟอร์มการเตะที่แข็งแกร่งเกินวัย น่าแปลกใจที่เขาจำชื่อไทยได้ดีกว่านักเตะ “สิงหบุไร” (สิงคโปร์)
อืมห์ นี่มันเป็นเรื่องของ soft power (วัฒนธรรม) ในความเป็นชาติที่มีอัตลักษณ์ใกล้เคียงกัน จนถูกชาวเน็ตเวียดนามแซะว่ามีหน้าตา “เหมือนกัน” ไปดอกหนึ่ง!
แต่ยังมันปากไม่พอ “พหุกีฬาสถาน-มรดกเดโช” อันโดดเด่นและงดงามทางอัตลักษณ์ต่อสาธารณชน ช่างกระไรที่ฝนตกหนักจนสนามมีสภาพไม่ต่างจาก “อ่างเก็บน้ำที่รอระบาย” นี่ล่ะโลกจำลองของหมู่บ้านแห่งอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอล
และพึงสำเหนียกเถิดว่า นี่เป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับชาวหมู่บ้านของเรา!
ช่างเถอะ ยินดีต้อนรับสู่ภารกิจมหกรรมกีฬาร่วมประชาคมของกัมพูชา แม้จะล่าไปบ้างเมื่อเทียบกับลาว-เมียนมา แต่ก็ยังอยู่ในช่วงเวลาอันสำคัญของผู้นำประเทศที่เห็นว่า กัมพูชาจะต้องชูเหรียญรางวัลสำหรับความสำเร็จที่ทันเวลาในยุคของสมเด็จฮุน เซน ภายในปีนี้และหรือปีหน้า ที่ ไคสึเกะ ฮอนดะ/Keisuke Honda พึงตระหนักว่ามันคือภารกิจท้าทายโดยเฉพาะฟุตบอลทีมชาติที่เขาอาสามาเป็นโค้ช
และนักฟุตบอลญี่ปุ่นคนนี้ ก็ให้คำมั่นว่า มันถึงเวลาที่กัมพูชาจะแสดงศักยภาพ
ความที่ฉันอยากจะพูดถึง “ไคสึเกะ ฮอนดะ” มานมนานแล้ว ให้ตายเถอะ แต่จังหวะที่ฮอนดะยังสนุกกับการเอาตัวเองเป็น “มาตรวัดทางศักยภาพ” ทางกีฬาในฐานะนักฟุตบอลทีมดังจึงยังไม่ได้พูดถึง
ไคสึเกะ ฮอนดะ ยังจะบ้าพลัง เขามักจะอยู่กับเทคโนโลยีต่างๆ ทางกีฬา และพรีเซนต์มันราวกับเป็นผู้นำการ “อัพเทรนด์” ใหม่ๆ ตลอดเวลา มันยังไปได้ดีกับยุคที่มีนักสตรีมเมอร์เกมออนไลน์ โดยเฉพาะในเขมรที่ชอบเกมของฮอนดะในการอวดศักยภาพของเขา
ด้วยภาพลักษณ์หน้าตามุ่งมั่น บุคลิกที่ว่องไว ไคสึเกะ ฮอนดะ ได้สร้างแรงบันดาลใจมากมายแก่นักสร้างคอนเทนต์ที่เอาเขาไปผลิตเป็นโมเดลในเกมอี-สปอร์ตและต่อยอดความฝันของตนซึ่งก็เรียกยอดวิวได้เสมอ
ส่วนบรรดานักเตะเขมรรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ก็พากันตระหนักถึงศักยภาพด้านนี้ที่ต่อยอดให้ใกล้ชิดกับฮอนดะ โดยมิพักว่าเขาจะใช้ชีวิตเป็นนักเตะอาชีพและเป็น “โค้ช” ทางไกลไซด์ไลน์-เป็นส่วนใหญ่ก็ตาม
2-3 ปีมานี้ ในฐานะโค้ชทีมชาติกัมพูชา ไคสึเกะ ฮอนดะ จึงกลายเป็นอะนิเมชั่นจำลองโดยนักเล่นแร่แปรสารดิจิทัลชาวเขมร และนั่นก็ทำให้ฮอนดะมีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจไปอีก
เพราะเขามักจะเป็นโค้ชที่เก่งกาจของกัมพูชาในกีฬา “อี-สปอร์ต” หรือในเกมเสมอ และนั่นมันทำให้เขาเหมือนฮีโร่ในภาพยนตร์ทรานส์ฟอร์เมอร์สของโลกดิจิทัลและอะนิเมชั่น
เราจะได้เห็นพละกำลังทางกายภาพของมนุษย์จริงๆ ที่ “ก้ำกึ่ง” หรือ “หนึ่งเดียวกับโลกเสมือนจริง”
แต่ในชีวิตจริง ฮอนดะจะเป็นโค้ชในฝันของกัมพูชาหรือไม่ ก็วัดกันในคราวนี้!
มีคลิปหนึ่งที่ฉันเคยดู ไคสึเกะ ฮอนดะ กำลังดำน้ำอย่างสุดพลังเพื่อออกแบบการทำงานของปอดตนเอง โดยทีมงานวิทยาศาสตร์การกีฬาในออสเตรเลีย และนั่นก็ทำให้เราพบว่า หมอเป็นพวกบ้าพลังและช่างจินตนาการที่อิงกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย
ฮอนดะจึงเป็นโค้ชแบบไหนไม่รู้? รู้แต่ว่า ถ้าตัวเขาเป็นบรรทัดฐาน เขาคงใส่วิทยาการใหม่ๆ ให้ลูกศิษย์ของตนซึ่งก็พร้อมจะเรียนรู้ทุกอย่างในนวัตกรรมบวกความมีวินัยที่โค้ชของเขาเป็นแบบอย่าง แต่ในโลกเสมือนจริงของอีสปอร์ตที่มีไดสึเกะ ฮอนดะ เป็นโมเดลกับโลกแห่งความจริงที่มีชัยชนะเป็นเดิมพัน
มันเป็นคนละเรื่องกัน!
ไคสึกเกะ ฮอนดะ ก็เช่นกัน มันเริ่มต้นอย่างประหลาดที่เกิดจากวันหนึ่ง ขณะที่เขาเริ่มสะสมชื่อเสียงการค้าแข้งในยุโรป
จู่ๆ เขาก็บินไปเสียมเรียบเพื่อพบกับครูฝึกฟุตบอลคนหนึ่งที่ยากจนและฝึกหัดเด็กๆ ยากไร้ให้เป็นนักเตะจอมทรนง
ฮอนดะประทับใจในความมีชีวิตชีวาของเด็กๆ เขมรกลุ่มนี้ที่ยากไร้และครูฝึกของเขาก็แทบจะหาเลี้ยงชีพตนเองไม่ไหว นักเตะดังญี่ปุ่นยอมทิ้งเงินก้อนใหญ่ให้ครูเฒ่าคนนั้นเพื่อทำทีมฟุตบอลและสัญญาว่า เขาจะแวะเวียนมาหาทันทีที่มีโอกาส
จากนั้นมาทีมฟุตบอลของไคสึเกะ ฮอนดะ ก็เริ่มเติบโตและมีผู้คนรู้จัก กระทั่งความโด่งดังของฮอนดะได้ส่งผลอย่างมากต่อวงการนักลงทุนญี่ปุ่นในกัมพูชาที่หันมาสนับสนุนกีฬาฟุตบอลอย่างจริงจังอันส่งผลต่อลีกแคมโบเดียและทีมชาติที่ตามมา
รวมทั้งไคสึกะ ฮอนดะ ที่อาสามาเป็นโค้ช ขณะที่เวลานั้นสมาคมฟุตบอลกัมพูชายังไม่มีเม็ดเงินเพียงพอจะว่าจ้างโค้ชมืออาชีพที่ค่าตัวแพงมหาศาลมาคุมทัพและลังเลเมื่อไดสึเกะ ฮอนดะ ยังไม่เลิกค้าแข้งมาเป็นโค้ชเต็มตัว
แต่ความเป็นนักใช้สอยเทคโนโลยีพอตัว ฮอนดะก็ทำให้เห็นว่าเขาเป็นโค้ชทางไกลได้ หากสมาคมฟุตบอลเขมรเชื่อมั่นพอ
และโดยที่ไคสึเกะ ฮอนดะ กับภาคเอกชนญี่ปุ่นสนับสนุนสมาคมฟุตบอลกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดการบ่มเพาะที่ใช้เวลาก็เริ่มจะฉายโชนและเริ่มเป็นที่กล่าวถึง
มันทำให้ฉันนึกถึงสิ่งอันประหลาดในกว่ากึ่งศตวรรษของความสัมพันธ์ “เขมร-ญี่ปุ่น” ที่ซับซ้อนเกินกว่าที่ชาติอื่นจะเข้าใจ ตั้งแต่มหากาพย์จากสงครามมหาเอเชียบูรพาที่กองทัพญี่ปุ่นไปเปิดแคมป์ในกรุงพนมเปญ แต่ไม่เคลื่อนไหวใดๆ ตามข้อตกลงกับฝรั่งเศสอินโด
แต่กองทัพซามูไรที่ไปฝังตัวอยู่กรุงพนมเปญนั้น ก็เพียงพอจะเป็นคบเพลิงทางความคิดให้แก่ “ขบวนการกู้ชาติ” เขมรที่เกิดขึ้นนับแต่นั้น และยังต่อมากลายเป็น “ขบวนการประชาธิปไตย” ในกลุ่มคนหัวก้าวหน้าของกัมพูชาเวลานั้นซึ่งมีซึง ง็อกทันห์ เป็นผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ราวกับเวลาไม่เคยผันผ่านไปจากอดีต ที่มิติความเป็น “ญี่ปุ่น” ในกัมพูชายังคงล่องลอยและอบอวลอยู่ในจินตนาการ เมื่อญี่ปุ่นที่เคยพ่ายแพ้สงครามกลับมาฟื้นฟูกัมพูชาประเทศและเป็นกระบี่มือหนึ่งในการบริจาคอย่างสม่ำเสมอไม่ว่ากัมพูชาจะมีสถานะใด
ในปี 1992 เมื่อพนมเปญมีผู้ว่าราชการเป็นชาวญี่ปุ่น (ชั่วคราว) พวกเขายังคงมั่นต่อความสัมพันที่พิเศษในทุกรูปแบบ ไม่ว่ากัมพูชาจะเปลี่ยนไประบอบใด และเจ้าภาพอันแท็ค (UNTAC) หลายรายในวันเก่าจะกลับมาเป็นศัตรูต่อผู้นำฮุน เซน อย่างไร
และนั่น ความเป็น “โมเดล” แห่ง “อดีต” ก็ยังเฉิดฉายและคงเส้นคงวา ไม่ว่าจะเป็นการเมืองกัมพูชาจะอ่อนไหวหรือเอนเอียงไปสู่พันธมิตรรายใหม่ที่เป็นคู่แข่งตนเช่นจีนแผ่นดินใหญ่ ญี่ปุ่นยังคงสนับสนุนเสมอกัมพูชาต่อไป แม้แต่กรณีเมียนมาที่ถูกเบือนหน้าจากผู้นำอาเซียน
นี่แหละจริตซามูไรที่ชาวกัมพูชาหลงรักและเราคงนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าญี่ปุ่นไม่แพ้สงครามโลกเสียตอนนั้น “กัมปูเจียวันนี้/ทไงนิ” จะมีโฉมหน้าเยี่ยงใด?
และว่า ทำไม ไคสึเกะ ฮอนดะ จึงมีต้นทุนสะสมที่ชาวเขมรหลงรัก
หึหึ เราไม่คิดว่ามันจะเป็นแบบเดียวกับอมตะวลีเด็ดอันลือลั่นของโค้ชโย่ง (วรวุธ ศรีมะฆะ) ที่ว่า “มันถูกลิขิตไว้แล้ว” แต่นั่นแหละ ฟุตบอลเป็นเกมกีฬาที่เหนือชั้นและบางครั้งก็ไม่ต่างจากการเมือง
ถ้าโชคชะตาจะลิขิตให้ครั้งหนึ่งในสงครามมหาเอเชียบูรพาที่วิถีของนักรบซามูไรได้มาถึงประเทศและทิ้งเมล็ดพันธุ์นักสู้การเมืองไว้ที่นี่
บางทีวิถีของไคสึเกะ ฮอนดะ ก็อยู่ในระนาบที่เขากำลังพิสูจน์บทบาทนี้ โดยมีเดิมพันอัตลักษณ์และศักดิ์ศรีของตำแหน่งประธานแห่งหมู่บ้านแห่งอาเซียนที่สมเด็จเดโชฮุน เซน ปรารถนาจะสร้างสถิติความสำเร็จให้ตัวเองเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากสเตเดียม-พหุกีฬาสถาน “มรดกเดโช” ได้เป็นที่จารึก
เหลือก็แต่ “ถ้วยรางวัล” ในระดับนานาชาติหรือสากล ที่ผู้นำกัมพูชาปรารถนาจะเชยชมโดยเฉพาะในวาระประธานอาเซียนและเจ้าภาพซีเกมส์ในปีหน้า
ได้โปรดเถิดฮอนดะ โปรดหยิบยื่นชัยชนะให้ผู้นำคนนั้น!