จิตต์สุภา ฉิน : อุตสาหกรรมจุดจบของชีวิต

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เวลาที่เราถกเถียงกันว่า หุ่นยนต์จะมาแย่งงานใครบ้าง แล้วมนุษย์จะต้องไปทำอะไรต่อ หรือหุ่นยนต์จะทำหน้าที่แทนเราได้ดีแค่ไหน อาชีพประเภทใดจะไม่มีหลงเหลือให้มนุษย์ทำอีกต่อไปแล้ว

เราก็คงไม่ทันได้คิดกันใช่ไหมคะว่า การสวดอภิธรรมศพ ที่ปกติแล้วจะเป็นหน้าที่ของพระในศาสนาพุทธก็จะตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงของการถูกแทนที่โดยหุ่นยนต์กับเขาด้วยเหมือนกัน

ในงาน Tokyo Int”l Funeral & Cemetery Show ซึ่งเป็นงานจัดแสดงเกี่ยวกับพิธีศพและหลุมฝังศพระดับนานาชาติ (เออ เพิ่งรู้เหมือนกันแฮะ ว่ามีงานแบบนี้ด้วย แถมมีสโลแกนบนเว็บไซต์ว่า Life Ending Industry หรืออุตสาหกรรมจุดจบของชีวิต)

บริษัทเทเลคอมรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง ซอฟต์แบงก์ ได้นำเอาหุ่นยนต์นามว่า เปปเปอร์ หุ่นยนต์ชื่อดังของบริษัท มาออกงานในฐานะพระในศาสนาพุทธ

คือเปปเปอร์แต่งองค์ทรงเครื่องมาแบบพระในญี่ปุ่น เพื่อมาแสดงให้คนที่เข้าร่วมงานได้เห็นว่ามันสามารถประกอบพิธีทางศาสนาในงานศพได้ในแบบเดียวกับที่พระมนุษย์สามารถทำได้

ทั้งการเคาะ การสวด (สวดได้หลายบทด้วยเผื่อต้องประกอบพิธีแบบอื่น) แถมยังเทศนาได้อีกด้วย

ส่วนน้ำเสียงที่เปล่งออกมานั้นก็มีความเป็นหุ่นยนต์ผสมมนุษย์ จะว่าน่ารักก็น่ารัก จะว่าขลังก็ขลัง อธิบายไม่ถูกเหมือนกันค่ะ

ถึงแม้ว่าตอนนี้เปปเปอร์จะยังไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปนิมนต์ไปสวดตามงานศพ แต่ทางผู้ผลิตซอฟต์แวร์บอกว่านี่อาจจะเป็นทางเลือกสำหรับในเวลาที่พระไม่ว่าง

หรือในกรณีที่บางครอบครัวไม่มีงบประมาณพอที่จะจ้างพระที่เป็นมนุษย์ได้

ซึ่งข้อมูลจาก CNBC ระบุว่าปกติแล้วการนิมนต์พระมาสวดจะใช้เงินกันหลายพันดอลลาร์ เทียบกับราคาประมาณ 450 ดอลลาร์เท่านั้นถ้าหากว่าเลือกใช้เปปเปอร์แทน

 

นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในอีกหลากหลายเทคโนโลยีที่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของพิธีกรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่มนุษย์ทำเพื่อแสดงความเคารพและให้เกียรติคนที่รักเป็นครั้งสุดท้าย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพิธีศพหรือการรำลึกถึงคนที่จากไปอาจจะเปลี่ยนไปชนิดที่เราแทบจะไม่นึกฝันมาก่อน

ไม่เพียงแค่หุ่นยนต์เปปเปอร์สวดศพตัวนี้เท่านั้น แต่เมื่อเร็วๆ มานี้ในญี่ปุ่นอีกเช่นเดียวกัน ก็มีอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ทำให้เรารำลึกถึงคนที่จากไปได้แจ่มชัดมากขึ้น

แทนที่เราจะไปแสดงความรำลึกด้วยการวางดอกไม้ไว้ที่หลุมศพ ยืนจ้องป้ายหลุมศพที่สลักชื่อเอาไว้ แล้วมโนทัศน์หน้าของพวกเขาเหล่านั้นขึ้นมาในความคิดเอาเอง ตอนนี้เราสามารถเห็นคนที่จากไปได้ราวกับพวกเขายังมีชีวิตอยู่และยืนต้อนรับเราอยู่ที่หลุมฝังศพ

ด้วยการใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) หรือการซ้อนภาพเสมือนเข้าไว้กับภาพจริง

ซึ่งเค้าทำออกมาได้สวยงามนะคะ ไม่ใช่แบบน่ากลัวสยองขวัญอะไรแบบนั้น

บริษัทเรียวชิน เซคิไซ บริษัททำหลุมศพและป้ายหลุมศพในญี่ปุ่น เพิ่งจะเปิดตัวบริการใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วย เมื่อไปที่หลุมศพ เราเพียงแค่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาส่องป้ายหลุมศพ บนหน้าจอโทรศัพท์เราจะเห็นภาพคนที่จากไป อาจจะกำลังยืนยิ้มให้เรา โบกไม้โบกมือ หรือเป็นวิดีโอที่เคยบันทึกไว้ตอนพวกเขายังมีชีวิตอยู่

และอาจจะมีบับเบิลคำพูดลอยขึ้นมาประมาณว่า “ดูแลตัวเองให้ดีนะ ฉันจะยังคงเฝ้ามองเธออยู่ด้วยความรักเสมอ”

โดยที่รูปและคำพูดนั้นเพื่อนฝูงลูกหลานสามารถเลือกเองได้ทั้งหมด ว่าเราอยากจดจำคนที่จากไปในแบบไหน

 

นอกจากการใช้โทรศัพท์ส่องไปที่ป้ายหลุมศพแล้ว

บริการของบริษัทนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้ทำแบบเดียวกันในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่แห่งความทรงจำด้วย อย่างเช่น สวนสาธารณะที่เคยไปเดินด้วยกันบ่อยๆ หรือชายหาดที่เคยไปเล่นน้ำทะเลด้วยกัน เพียงแค่ยกโทรศัพท์ขึ้นมา เราก็จะรู้สึกเหมือนคนที่รักยังอยู่ตรงนั้น

ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับที่เรายืนอยู่ สำหรับหลายๆ คนแล้วนี่อาจจะเป็นความรู้สึกอุ่นใจและทำให้รับมือกับความโศกเศร้าที่มาพร้อมกับความสูญเสียได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้

ยิ่งสมจริงกว่านั้นอีก หากภาพหรือวิดีโอเหล่านั้นเป็นภาพที่ผู้ตายได้เลือกเอาไว้เอง หรือบันทึกไว้เองสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพราะจะได้สามารถฝากข้อความที่อยากสื่อสารกับคนข้างหลังไว้ในแบบที่ตัวเองต้องการได้เป๊ะๆ อาจจะเลือกบันทึกไว้แตกต่างกันสำหรับในแต่ละสถานที่ก็ได้

ในกรณีนี้อาจจะเหมาะสำหรับคนที่รู้ตัวว่าเวลาชีวิตเหลืออีกไม่มาก

หรือคนที่เชื่อว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอนและควรเตรียมพร้อมไว้เสมอ

อันที่จริงก็คงไม่แตกต่างไปจากการเขียนจดหมายหรือบันทึกวิดีโอไว้ให้คนที่อยู่ข้างหลัง แต่อันนี้สมจริงราวกับทักทายมาจากโลกหน้ากว่ามากมายเท่านั้นเอง

เมื่อลองคิดๆ ดูจะเห็นว่ากระบวนการขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับพิธีศพนั้นก็ได้เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงมาสักพักแล้วในยุคดิจิตอล เริ่มต้นตั้งแต่การแจ้งข่าวเพื่อนฝูงของผู้เสียชีวิตผ่านทางโซเชียลมีเดีย ประกาศครั้งเดียวรู้ ไม่จำเป็นต้องโทรศัพท์ไปแจ้งข่าวเป็นรายคนอีกต่อไป

ส่วนคนที่ได้รับข่าวก็สามารถแสดงความเสียใจในช่องคอมเมนต์ได้เลย ญาติคนที่เสียชีวิตค่อยมานั่งไล่อ่านทีหลังได้เมื่อพร้อม ไม่จำเป็นต้องรับและมีปฏิกิริยาต่อคำปลอบโยนที่ถาโถมเข้ามาตามเวลาจริง

การจัดงานรำลึกถึงคนที่จากไปไม่จำเป็นต้องเป็นในรูปแบบที่ทุกคนมาเจอกันในที่เดียวกันเวลาเดียวกันเสมอ เพราะครอบครัวของผู้ตายก็สามารถตั้งเว็บเพจขึ้นมาให้คนรู้จักแวะมาแสดงความอาลัย ทิ้งข้อความไว้ในสมุดข้อความเสมือนจริง หรือทิ้งดอกไม้เสมือนเอาไว้ได้ เกิดนึกถึงขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ยังสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ได้เรื่อยๆ

ถ้าการซ้อนภาพเสมือนที่หลุมศพดูจะเยอะเกินไป เทคโนโลยีที่น้อยกว่านั้นก็มี ตอนนี้มีบริการที่จะแปะ QR Code เอาไว้ที่หลุมศพ ใครไปเยี่ยมก็แค่ยกสมาร์ตโฟนขึ้นมาอ่านโค้ดนั้น มันก็จะพาเข้าไปที่เว็บไซต์ซึ่งครอบครัวได้เลือกเอาไว้ อาจจะเป็นหน้าเว็บที่สร้างขึ้นมาใหม่เพื่อรวบรวมประวัติของผู้ตาย รวบรวมคำไว้อาลัย และภาพถ่ายต่างๆ

 

สตาร์ตอัพหลายแห่งหันมาให้ความสนใจว่าจะปฏิวัติเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับความตายกันได้ยังไงบ้าง

อย่างเช่น Funeralbooker ที่ทำเป็นมาร์เก็ตเพลสให้คนเข้าไปตรวจสอบและเปรียบเทียบราคาของการจัดงานศพได้ ซึ่งเจ้าของบริษัทบอกว่าก่อนหน้านี้การจะหาราคาการจัดงานศพบนอินเตอร์เน็ตแทบจะไม่มีให้เห็นเลย หากต้องการเปรียบเทียบราคาก็จะต้องเข้าไปคุยกับแต่ละที่ด้วยตัวเอง

นี่ยังไม่รวมถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้เรามีตัวตนอยู่ต่อไปได้ในรูปแบบอวตารดิจิตอลภายหลังความตาย ซึ่งตอนนี้มีสตาร์ตอัพหลายแห่งที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง อย่างเช่น Eternime (อีเทอร์นิมี) ซึ่งไม่ใช่แค่ภาพจำลองเฉยๆ นะคะ เพราะอวตารนี้จะมีรายละเอียดทางด้านชีวภาพพื้นฐานที่เหมือนเราทุกอย่าง และยังสามารถมีบทสทนากับคนอื่นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในแบบที่เป็นตัวเราอีกด้วย บริการนี้จะพร้อมเปิดตัวในปีหน้า และตอนนี้ก็มีคนสนใจลงชื่อใช้บริการไปแล้วถึง 37,000 คน

คนที่คิดว่าความตายคือจุดจบของทุกอย่างและไม่มีความจำเป็นต้องสนใจอะไรอีกแล้วก็อาจจะไม่แคร์บริการพวกนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะออกแบบ วางแผน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากที่ตัวเองจากไปแล้ว เพราะมันเป็นความอุ่นใจที่ทำให้รู้สึกว่าใช้ชีวิตที่เหลืออย่างจำกัดต่อไปได้หมดห่วง

และไม่แน่นะคะ จุดจบของเผ่าพันธุ์มนุษย์เรา ก็อาจจะมีหุ่นยนต์อย่างเปปเปอร์คอยทำพิธีสวดมนต์ให้ก็ได้…บรึ๋ยยส์