กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “บ้าน หรือ โรงแรม”

www.facebook.com/eightandahalfsentences

ในขณะที่ผมกำลังนอนเหยียดกายอ่านหนังสืออย่างสบายใจเฉิบ

บนโซฟาตัวโปรด เปิดแอร์เย็นฉ่ำ กำลังเคลิ้มๆ

ก็ได้ยินเสียงภรรยา ส่งเสียงออกมาจากอีกห้องหนึ่ง

“หลอดไฟในห้องน้ำเมื่อไรจะเปลี่ยน”

ทำเอาผมสะดุ้งโหยง ในความนิสัยเสียของตัวเอง

ผัดวันประกันพรุ่ง มาจะเกือบครึ่งปีแล้ว

ก็ยังไม่ได้เปลี่ยน “หลอดไฟ” หนึ่งหลอดนี่เสียที

“จ้าๆ เดี๋ยวอาทิตย์นี้ไปซื้อมาเปลี่ยนให้นะ”

แฟนผมส่งเสียงตามมาด้วยความ “เซ็ง” สามี

“ช่วยกันดูแลหน่อยเธอ นี่บ้านนะ ไม่ใช่โรงแรม”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปร่วม “สัมมนา” ระดับชาติของ “สมาคมจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย”

คุยกันสองวันเต็มๆ มีนักธุรกิจจากกว่าร้อยบริษัท เข้าร่วมกว่า “สองพัน” คน

ได้พบปะวิทยากรระดับโลกชื่อ “ปีเตอร์ เซ็นเก้ (Peter Senge)”

เจ้าพ่อเรื่อง “องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)” ที่หลายๆ บริษัทในไทยพยายามเอาไปปรับใช้กัน

แต่เรื่องที่ชอบมากสุดคือ การเสวนาเรื่อง “การบริหารคนฝ่าวิกฤต”

ที่มี “คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช” ซีอีโอของกลุ่ม ปตท. และ คุณ “ณรงค์ เจียรวนนท์” ของกลุ่มซีพี ร่วมพูดคุย

คงจะพอทราบกันนะครับว่า “ปตท.” และ “ซีพี” นั้น เป็นบริษัท “ยักษ์ใหญ่”

จะทำอะไรสักอย่างย่อมมีทั้ง คนชอบ และ คนไม่ชอบ ดังที่เราได้เห็นๆ กันผ่านสื่อออนไลน์

โผล่ขึ้นมาทาง “เฟซบุ๊ก” บ้างล่ะ เพื่อนๆ ส่งข่าวมาให้ทาง “ไลน์” บ้างล่ะ

ตั้งแต่ “ทวงคืน ปตท.” กลับมาเป็นของคนไทย จนถึง “ซีพี” เอาเปรียบเกษตรกร

จริง ไม่จริง ไม่รู้ แต่เนื้อหาช่างเร้าใจให้เกิดอารมณ์ร่วมเสียนี่

จนบางทีเราเองก็เผลอส่งต่อ ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่า ข่าวจริง หรือ ข่าวปลอม

ด้วย “กระแสสังคม” ที่อาจจะบั่นทอนกำลังใจของผู้บริหาร และพนักงาน อยู่ไม่น้อย

ท่านทั้งสองมี “แนวคิด” ในการบริหารจัดการให้คนในองค์กรเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างไร

คุณ “เทวินทร์” เล่าว่า “ผมมักบอกพนักงานเสมอว่า ปตท. เป็นบ้านนะ ไม่ใช่โรงแรม”

ฟังแล้วก็ยังงงๆ นะครับ “บ้าน” กับ “โรงแรม” มีไว้อยู่อาศัย มันเกี่ยวอะไรกับ “ที่ทำงาน”

หรือว่า คุณเทวินทร์สนับสนุนให้พนักงาน “นอนกลางวัน”

แหะ แหะ มุขนะครับมุข … ฝืดไปบ้าง ขออภัย

คุณเทวินทร์ขยายความไว้อย่างน่าสนใจครับ

หนึ่ง เวลาเราไปโรงแรม เช็กอินเข้าห้องเรียบร้อย

มีใครไป “เคาะ” ห้องข้างๆ เพื่อแนะนำตัว เอาขนมไปฝาก เพื่อผูกมิตรมั้ยครับ

ถ้ามี ก็คง “มนุษยสัมพันธ์ดี” เกินไปหน่อย คนส่วนใหญ่คงจะไม่ทำหรอกครับ

ก็แหม จ่ายเงินมาพักสักคืน สองคืน ก็ไปแล้ว

จะมาเสียเวลาผูกมิตรกับคนรอบข้างทำไมล่ะ

เขาจะกลับบ้านกี่โมง ดึกแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่ต้องไป “เป็นห่วงเป็นใย” กันมากมาย

ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างไป ดีที่สุด

แต่ถ้าเป็น “บ้าน” ของเราล่ะ

พ่อ แม่ พี่ น้อง อากง อาม่า อาศัยอยู่กับเรา

คนไหนกลับบ้านดึก เราก็ต้องเป็นห่วง ต้องโทร.ตาม บางทีนอนไม่หลับด้วยซ้ำไป ถ้าคนในบ้านยังกลับไม่ครบ

ใครเจ็บไข้ ไม่สบาย เราก็ดูแล หายา พาไปโรงพยาบาล

น้องชายทำตัวออกนอกลู่นอกทาง ไม่ยอมเรียนหนังสือ

เราก็ต้องตักเตือน คอยแนะนำ คอยสอน ให้กลับมาทำตัวให้ดี ให้ถูกต้อง

เพราะว่า “ผูกพัน” กัน เป็นคนสำคัญ เป็นครอบครัวเดียวกัน

เช่นเดียวกับ “ที่ทำงาน”

เพื่อนร่วมงาน ก็เป็น “คนสำคัญ” ที่จะพาให้องค์กรของเราทำ “ภารกิจ” ให้สำเร็จลุล่วง

ต้องดูแลเหมือนคนในครอบครัว ใครทำดี ก็ต้องยินดีด้วย พาไปเลี้ยงฉลอง ตบรางวัล ชื่นชมยินดี

ใครทำตัวนอกลู่นอกทาง ไม่ดูแลบริษัท ก็ต้อง “ตักเตือน”

เพราะเราเป็นห่วง “เขา” และห่วง “บริษัท” ที่เป็นเสมือน “ครอบครัว”

จะสร้างโรงแรม ก็แค่ซื้อ “เตียงนอน หมอน มุ้ง” มาใช้สอย คอยบริการ

แต่จะเป็น “บ้าน” ได้ ต้องมี “คนสำคัญ” และความรู้สึกดีๆ ให้กัน

“ที่ทำงาน” ก็เช่นกัน

สอง เวลาที่เราเข้าไปในห้องโรงแรม แล้วเจอ “ไฟเสีย” หนึ่งดวง

ปกติ ถ้ามันทำให้ห้องมืด อยู่ไม่สะดวกสบาย เราก็โทร.เรียกให้พนักงานมาเปลี่ยน

ถ้าไม่มืดมาก พออยู่ได้ ก็ลืมๆ มันไป ไม่ต้องสนใจ

ก็เราเป็น “ผู้ใช้บริการ” นี่นา

แต่ถ้าเป็น “บ้านเรา” ล่ะ

ไฟเสีย น้ำไม่ไหล รีโมตถ่านหมด ทีวีฝุ่นจับ เข้า wifi ไม่ได้

จะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ก็คงจะไม่ได้

ต้องมี “ใครสักคน” จัดการซ่อมซะให้เรียบร้อย

เช่นเดียวกัน ถ้าเรามองที่ทำงาน เป็น “บ้าน”

มีอะไรเสีย อะไรพัง อะไรไม่ดี ก็ต้องช่วยกัน “แก้ไข”

พูดอย่างเดียวไม่พอ ต้อง “ทำ” ด้วย

เริ่มจาก “ตัวเรา” นี่แหละ ทำให้บ้านนี้ “น่าอยู่” ขึ้น

สาม ถ้าโรงแรมที่เราอยู่ มีคนเอาหินมาขว้างที่หน้าต่าง กระจกแตก

หรือมีคนบอกว่า เจ้าของโรงแรมนี้เป็น “คนไม่ดี”

เราคงไม่ไปตามหาไอ้คนปาหิน มาลงโทษ หาสาเหตุ ว่า ปาเข้ามาทำไม

หรือแม้แต่จะสนใจว่า “เจ้าของโรงแรม” ไปทำอะไรมา

แค่ห้องของฉัน สะอาดดี นอนสบาย ก็โอเคแล้ว

กลับกัน ถ้าเป็น “บ้าน” ของเราล่ะ

มีคนเอาสีมา “ป้าย” กำแพงหน้าบ้าน ปาก้อนหินเข้ามาในบ้าน แล้ววิ่งหนีไป

พอบ้านเราปิดไฟ ปิดม่าน นิดหน่อย ก็มานินทาว่า บ้านเรา “ค้ายา” ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความจริง

เราก็คงไม่ยอม ต้องออกไปหาคนที่ป้ายสีเรา ถามหาสาเหตุ จับตัวส่งตำรวจ

ต้องออกไป “อธิบาย” คนที่เอาบ้านเราไปนินทา

เปิดไฟ เปิดม่าน เชิญเขาเข้ามาดูบ้านเรา ว่าจริงๆ แล้ว “ปลอดภัย” ไม่มีอะไรในกอไผ่

ถ้าเราเห็นว่าที่ทำงานเป็น “บ้าน” เราก็ต้องช่วยกันปกป้อง รักษา

ทั้งสภาพแวดล้อม ทั้งชื่อเสียง ไม่ให้ใครเขาว่า “คนในบ้าน” เราได้ ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็น “ข้อเท็จจริง”

หากคนภายนอกจะเข้าใจผิดไปบ้าง เราก็ต้องช่วยกันออกไป “อธิบาย” ปกป้อง “ครอบครัว” ของเรา

เรียกว่า “เป็นเดือดเป็นร้อน” ในฐานะที่เราก็เป็น “เจ้าของบ้าน” คนหนึ่ง

แต่ถ้าพนักงานคิดว่าอยู่ “โรงแรม”

จะว่า “องค์กร” เราก็ว่าไป ฉันมาทำงานได้เงินเดือน ก็กลับบ้าน แค่นั้นพอ

แบบนี้ก็ไม่ใช่พนักงานที่เราอยากจะให้มาเป็น “สมาชิก” ในครอบครัวเดียวกัน

โรงแรม ฉันแค่มา “อาศัย” ใครจะว่าอะไรก็ช่าง ไม่ใช่ธุระ

แต่ “บ้านของเรา” เราต้องปกป้องสุดหัวใจ

ฟังแนวคิดเปรียบเทียบ “บ้าน” และ “โรงแรม” แบบนี้แล้ว

ขอเป็นกำลังใจให้ “องค์กร” ทั้งสอง ฝ่ามรสุมนี้ไปให้ได้ครับ

ย้อนกลับมาดู “พฤติกรรม” ตัวเองที่บ้าน

“นี่บ้านนะ ไม่ใช่โรงแรม” ภรรยาที่รักเริ่มไม่พอใจ ขึ้นเสียงกับเรา

ชายชาติชาตรี อกสามศอกอย่างผมนี่ลุกขึ้นยืนเลย

“จะรีบออกไปซื้อให้ตอนนี้เลยจ้า”

อันนี้ ด้วยความ “เกรงใจ” ล้วนๆ