ทางรอดอยู่ในครัว : โจ๊กในวันที่ดี / ครัวอยู่ที่ใจ : อุรุดา โควินท์

ครัวอยู่ที่ใจ

อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: โจ๊กในวันที่ดี

 

บางคนไม่ชอบกินข้าวใหม่ แต่ฉันชอบมาก เราจะได้กินข้าวใหม่ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่เกินสามเดือน ที่ข้าวจะหอม มียาง และนิ่มนวล

ช่วงที่ข้าวยังใหม่ ฉันจึงคิดแต่จะกินข้าว ฉันไม่ได้ผัดพาสต้ากินเลย (น่าจะร่วมสองเดือน) ฉันผัดก๋วยเตี๋ยวน้อยลง กินขนมปังน้อยลง ทั้งหมดก็เพราะฉันจะกินข้าวใหม่

ในตู้เย็นของฉัน มีน้ำพริกตาแดง มีเคยคั่ว มีน้ำพริกกะปิ และน้ำพริกปลาร้า ซึ่งฉันทยอยทำทีละชนิด ใส่กระปุกเก็บไว้ เพื่อกินกับข้าวใหม่ มื้อกลางวันของฉัน มักเป็นผัดผัก กับน้ำพริก อาจมีไข่เจียว ไข่ดาว หรือหมูทอด

เราเพิ่งถอยหม้อหุงข้าวใหม่มา คิดว่าถึงเวลาแล้ว เราใช้หม้อหุงข้าวก๊องแก๊งตลอดมา ร่ำลือกันว่า หม้อหุงข้าวรุ่นหนึ่งไม่ใช่แค่อุ่นข้าวได้ แต่มันทำให้ข้าวอร่อยขึ้นอีกด้วย

หลังจากซื้อมาฉันพบว่าที่ลือกันนั้นยิ่งกว่าจริง หม้อหุงข้าวใหม่และข้าวใหม่ คือเหตุผลที่ฉันขยันคิดเมนูเกี่ยวกับข้าว

 

เช้านี้ฉันจะทำโจ๊ก ทำแบบง่ายๆ ไม่เน้นเนื้อโจ๊กว่าต้องแน่นหนา ขอให้ซุปอร่อย หมูนิ่ม ไม่ปั้นก้อนใหญ่เกิน

เมื่อวานฉันทำซุปไว้หม้อใหญ่ ใช้กระดูกหมู หอมหัวใหญ่ทั้งหัว และหัวผักกาดหั่นชิ้นโต

ใส่น้ำให้เยอะหน่อย ตั้งไฟแรงจนเดือด แล้วลดเป็นไฟอ่อน หย่อนรากผักชีลงไปสักสามสี่ราก กลิ่นของซุปจะหอมขึ้น

นอกจากช้อนฟองทิ้ง ก็ไม่ต้องทำอะไรอีกเลย ปล่อยซุปไว้กับไฟอ่อนอย่างน้อย 45 นาที (ส่วนใหญ่ฉันจะเคี่ยวนานกว่าหนึ่งชั่วโมง) จะได้ซุปไว้ทำข้าวต้ม แกงจืด หรือไม่ก็โจ๊ก

มีร้านโจ๊กใหม่ถือกำเนิดในฤดูหนาวหลายร้าน ทุกร้านตักข้าวให้เรามากมายจนกินไม่หมด

เกือบทุกร้านใส่หมูก้อนใหญ่ เหมือนแข่งกันว่าร้านไหนหมูก้อนใหญ่กว่า ซึ่งฉันไม่ค่อยชอบ

และที่ฉันไม่ชอบเอาเลย คือหมูเด้ง

โจ๊กเป็นอาหารที่เราควรกินตอนร้อนจัด ซื้อมากินที่บ้าน หรือให้ไรเดอร์มาส่ง เราย่อมได้กินโจ๊กที่อุ่น ไม่ใช่ร้อน

ถ้าอยากกินโจ๊ก ฉันจึงทำเอง แม้ไม่ใช่โจ๊กที่สมบูรณ์ แต่มันถูกปากทั้งฉันและเขา

 

ฉันตื่นแต่เช้า เอาข้าวที่หุงเมื่อวานเย็นมาต้มในน้ำซุป ต้มไปเรื่อยๆ ไฟอ่อนๆ

ข้าวหุงกลายเป็นข้าวต้ม จากนั้นจะกลายเป็นข้าวต้มเละๆ และสุดท้ายข้าวจะเละแบบไม่เห็นเม็ดข้าว นั่นบอกได้ว่า เราเดินทางใกล้ความเป็นโจ๊กแล้ว

วันที่ทำโจ๊ก ฉันจะบอกตัวเอง-ไม่รีบนะ ตื่นเช้า หยิบหนังสือติดมาในครัวหนึ่งเล่ม

จิบน้ำร้อนแก้วที่หนึ่ง

จิบน้ำร้อนแก้วที่สอง

แล้วจึงชงเอสเพรสโซร้อนสามช็อต

หลังกาแฟแก้วแรก ฉันตื่นอย่างแท้จริง และข้าวเริ่มได้ที่ ฉันวางหนังสือ หยิบหมูสับออกมาจากตู้เย็น ใช้หมูติดมันจะอร่อยกว่า และควรหมักนานกว่านี้ แต่บังเอิญว่าฉันเพิ่งตื่น ก็ไม่เป็นไร เอาเท่าที่เราสะดวก

หมักแสนง่าย อย่างเบาบาง ด้วยซีอิ๊วขาวกับน้ำมันงา

 

เขาเข้าครัวมาทำอาหารให้หมา

“มีโจ๊ก ทำจากข้าวใหม่ ต้องดีแน่” ฉันรีบบอก เพราะหลังจากเขาพาท้าวฮุ่งไปเดินออกกำลังกาย บางทีเขาก็แวะร้านคนเยอรมัน ซื้อไส้กรอกกับขนมปังมาเป็นมื้อเช้า วันนี้เราไม่ควรตุน ทั้งขนมปัง และไส้กรอก

เขาเปิดตู้เย็น หยิบอาหารบาร์ฟของท้าวฮุ่งออกมา “ขอขิงเยอะๆ นะ”

ได้เลย ฉันก็ชอบขิง เราซอยขิงเอง เราไม่ซื้อขิงที่ซอยแล้ว แม้ว่ามันจะสะดวก

เตรียมขิง ต้นหอมซอยนิดหน่อย ทอดเส้นหมี่ไว้ รอเขากับท้าวฮุ่งกลับมา ค่อยรวมร่างโจ๊ก

“เช้านี้ฮุ่งกินอะไร” ฉันถาม

“ปลานิลกับกระดูกไก่” เขาตอบ

ท้าวฮุ่งชอบปลามาก ในวงเล็บว่าต้องสุก แปลกที่มันกินเนื้อสัตว์ดิบทุกชนิดอย่างอร่อย ยกเว้นปลา ไม่ว่าจะเป็นปลาอะไร เราต้องนึ่งให้ท้าวฮุ่งก่อน

ท้าวฮุ่งเดินครึ่งชั่วโมง รวมการเดินทางไปกลับ ใช้เวลาราว 45 นาที ระหว่างนั้นฉันปิดหม้อโจ๊ก ลวกไข่ไว้ เตรียมถ้วยโจ๊ก ยกเครื่องเคราไปรอที่โต๊ะ แล้วอ่านหนังสือ จิบน้ำร้อนไปเรื่อยๆ

 

ครั้นเขาเปิดประตูรั้ว เอารถเข้าบ้าน ฉันก็เปิดไฟอุ่นโจ๊กให้ร้อน โจ๊กค่อนข้างข้น ฉันต้องคนอย่างสม่ำเสมอ ไม่อย่างนั้นจะไหม้ติดก้นหม้อ ใส่หมูหมักลงไป โดยทยอยใส่เป็นชิ้นเล็กๆ ปรุงรสด้วยเกลือเล็กน้อยก็อร่อย (ถ้าซุปเข้มข้นพอ)

ครั้นหมูสุกก็เปิดเตา ยกโจ๊กทั้งหม้อไปที่โต๊ะ

ตักโจ๊กร้อนควันฉุยลงถ้วย ตามด้วยไข่ลวก วางขิงซอยด้านบน ต้นหอม และหมี่ขาวทอดเล็กน้อย

พริกไทยให้เขาเยาะเอง จะได้สาแก่ใจ (เขาชอบพริกไทยขาวมาก)

ฉันใช้ชามซุป เพราะตั้งใจให้เราเติมโจ๊กชามที่สอง ก็…ทำไมต้องเสิร์ฟโจ๊กในชามใหญ่โตเท่าบ้านด้วยล่ะ

ชามที่สอง ไม่มีไข่ลวก แต่โจ๊กยังร้อนอยู่ เป็นข้อดีของหม้อก้นหนา มันเก็บความร้อนได้นานพอที่เราจะกินสองชาม (อย่างร้อน)

“ดีจัง” เขาวางช้อน

ฉันก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน ชีวิตไม่ได้ดีนัก การเมืองไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดี อันที่จริง รายได้ของเราก็ไม่ได้ดี แต่แปลก ที่เรารู้สึกดีหลังจากได้กินโจ๊กอร่อยไปสองชาม

“คงต้องขอบคุณข้าวใหม่อ่ะ” ฉันว่า

“ต้องขอบคุณแม่ครัวด้วยมั้ย”

อันนี้ต้องทุกมื้อนะ ฉันแค่คิด ไม่ได้พูดออกไป