หนังสือห้าเล่มที่ต้องอ่าน / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

Getty Images

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

หนังสือห้าเล่มที่ต้องอ่าน

 

ยังยืนยันว่าคนไทยตั้งแต่อายุสามสิบขึ้นไปหรือผู้จบอุดมศึกษาทุกคนต้องอ่านหนังสือห้าเล่มนี้ คือ

1. เสภาขุนช้าง-ขุนแผน

2. นิยายของไม้เมืองเดิม (เล่มใดก็ได้)

3. นิยายเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา

4. ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ของจิตร ภูมิศักดิ์

5. หนังสือของอาจารย์พุทธทาสภิกขุ (เล่มที่ถูกกับอุปนิสัย)

 

ขุนช้าง-ขุนแผน เป็นวรรณคดีไทยวิเศษสุดด้วยเป็นกลอนเสภาเล่มใหญ่ อ่านสนุกจนลืมความเป็นกลอนชนิดต้องเคร่งฉันทลักษณ์ไปเลย

จำได้ว่าอ่านตอนเป็นนักศึกษาอยู่ธรรมศาสตร์อ่านขุนช้าง-ขุนแผนอยู่สองวันสองคืน จนจบวางไม่ลงข้าวปลาแทบไม่ต้องกิน ถึงบทไหนดีก็จดไว้จำไว้ เช่น

รักพิมพิมรักพี่พลายแก้ว

รักแล้วปลูกรักมาหักหาญ

มาหักต้นโค่นทิ้งทรมาน

โอ้รักก็จะรานไปแรมไกล

ไม่ได้เคร่งฉันทลักษณ์อะไรเลย แต่กินใจนักเข้าทำนองที่ว่า “คำทุกคำสัมผัสใจ” จริงๆ

ลองอีกบทนะ

ขุนช้างเห็นนมกลมตละปั้น

มือคั้นหน้าแข้งยืนแยงแย่ง

โคลงตัวคลุกคลุกเหมือนตุ๊กแก

อีแม่เอ๋ยวันนี้นี่กูตาย

ภาษาสมัยนี้ก็ต้อง…5555

กระทั่งบทสรุปความรักที่ขุนแผนมีให้กับลูกชายคือพลายงาม ที่ว่า

ลูกเอ๋ยยังไม่เคยรู้ฤทธิ์ร้าย

เมื่อความรักกลับกลายแล้วหน่ายหนี

อันเจ็บปวดยวดยิ่งทุกสิ่งมี

ไม่เท่าที่เจ็บช้ำระกำรัก

นอกจากกลอนสัมผัสใจแล้วยังได้ความรู้จากท่านผู้รู้อีกว่า ตระกูลพลายของขุนแผนลูกขุนไกรนั้นเป็นตระกูลมอญ ดังต้นตระกูลอยู่เมืองกาญจน์ซึ่งเป็นเจ็ดหัวเมืองมอญมาแต่เดิม ซึ่งที่สุดขุนแผนได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองกาญจน์ที่พระสุรินทร์ฤาชัย

ดังปรากฏในทำเนียบเจ้าเมืองกาญจน์จนทุกวันนี้

เล่มต่อมาคือนิยายของไม้ เมืองเดิม เล่มไหนก็ได้ ด้วยแทบทุกเรื่องได้สะท้อนโครงสร้างของสังคมไทยดีที่สุดจริงที่สุดแม้จนวันนี้

พระเอกในนิยายของไม้ เมืองเดิมมักเป็นขบถต่อระบบอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมผ่านตัวละครผู้ปกครองท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน หาไม่ก็ลูกชายของผู้ปกครองผู้ทรงอิทธิพลนั่นเอง

ชาวบ้านผู้สยบยอมต่ออำนาจอันไม่เป็นธรรมไม่มีวันได้เป็นพระเอกของไม้ เมืองเดิมแน่

วิเศษยิ่งในนิยายของไม้ เมืองเดิมคือสำนวนลูกทุ่งที่ถือเป็น “กวีร้อยแก้ว” อันหาได้ยากในนิยายไทยๆ ทั่วไป

เล่มต่อมาคือ “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพาซึ่งแต่งขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ได้สักราวสี่ห้าปี แต่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับสถานภาพและศักดิ์ศรีของกุลสตรีไทยดีนัก โดยเฉพาะระบบ “คลุมถุงชน” และการ “รักนวลสงวนตัว” ของกุลสตรีแบบไทยๆ

ใครได้อ่านข้างหลังภาพมาตลอด คงจำประโยคเหล่านี้ได้ เช่น ตอนที่ ม.ร.ว.กีรติกล่าวกับนพพรตอนที่เธอป่วยหนัก เมื่อชี้ให้นพพรดูภาพน้ำตกมิตาเกะครั้งไปเที่ยวด้วยกันที่ญี่ปุ่น เธอถามนพพรว่าจำได้ไหมว่ามีอะไรเกิดขึ้น นพพรตอบว่า

ความรักของผมเกิดขึ้นที่นั่น

ม.ร.ว.กีรติแย้งทันทีว่า

ไม่ใช่ความรักของเธอ ความรักของเราเกิดขึ้นที่นั่น ความรักของเธอเกิดขึ้นที่นั่น และดับลงที่นั่น แต่ของอีกคนยังรุ่งโรจน์อยู่ในร่างที่กำลังแตกดับ

ประมาณนี้ ต้องไปหาอ่านเองนะ

 

เล่มถัดไปที่ต้องหาอ่านให้ได้แม้หายากสักหน่อยคือ ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ของจิตร ภูมิศักดิ์

จิตรบอกเราถึงรากเหง้าเผ่าพันธุ์ของผู้คนบนแผ่นดินถิ่นสยามทั้งขอม ลาว ไทย ผ่านการวิเคราะห์จากภูมิภาษา

ตั้งแต่คำว่า ขอม คือคำเดียวกับคำ สยาม จนถึงไทยใหญ่ในรัฐฉานว่าคือคำเดียวกันคือ ฉาม (สยาม)

หากแต่พม่าออกเสียงสะกด ม. เป็น น. ฉามจึงเป็นฉานจนฝรั่งเรียกชานสเตตนั่น

 

เล่มสุดท้ายคืองานของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุที่ว่าให้เลือกเล่มที่ถูกกับอุปนิสัย ก็ด้วยว่างานของท่านอาจารย์มีหลากหลายทั้งเรื่องและขนาดเล่ม คือตั้งแต่เรื่องที่เป็นภูมิรู้พื้นๆ จนถึงภูมิธรรมขั้นปรมัตถ์สัจธรรม ซึ่งทุกเรื่องล้วน “ถอดรหัสธรรม” ให้ได้รู้ได้เข้าใจแจ่มแจ้ง

ให้คำตอบทั้งทางวิชาการและปรัชญาชีวิตที่แท้ เช่น บางตอนจากเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม”

“ไม่มีภูเขาอะไรอื่น นอกไปจากภูเขาแห่งความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวตนและไม่มีความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวตนอะไรจะยิ่งไปกว่าความยึดมั่นในสิ่งที่ตนถือเอาเป็นที่พึ่งของตน”

ถ้าคนไทยทุกคนอายุสามสิบขึ้นไปหรือผู้จบอุดมศึกษาทุกคนได้อ่านหนังสือครบห้าเล่มนี้จริงแล้ว ก็เชื่อว่าจะลดช่องว่างทางความเข้าใจระหว่างคนไทยด้วยกันได้จริงด้วย

อย่างน้อยก็ช่วยปรับทัศนคติให้ใกล้เคียงกัน

มิใช่แตกต่างและห่างเหินกันอย่างนี้