ผลแห่งการหนีคดี “ยิ่งลักษณ์” หมายจับ-ผู้ร้ายข้ามแดน-ลี้ภัย กับโอกาสเหยียบแผ่นดินเกิด

นับว่าหักปากกาเซียนกันเป็นแถว หลังจากในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว จนทำให้รัฐเสียหายหลายแสนล้านบาท

แต่เมื่อถึงเวลานัด ปรากฏว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งทนายความขึ้นแถลงศาล อ้างอาการป่วยน้ำในหูไม่เท่ากัน วิงเวียนศีรษะ ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป

แต่องค์คณะผู้พิพากษา ไม่เชื่อว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ป่วยจริง อีกทั้งยังไม่มีใบรับรองแพทย์มายืนยัน มีเหตุเชื่อว่ามีเจตนาหลบหนี

ออกคำสั่งให้ออกหมายจับ ปรับนายประกันเต็มจำนวน 30 ล้านบาท

หลังจากนั้นมีกระแสข่าวจำนวนมาก ระบุว่าตัวอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศโดยใช้ช่องทางธรรมชาติ ไปขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศสิงคโปร์ โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายมารอรับ หลังจากได้วางแผนเกี่ยวกับการหลบหนีคดีมาระยะเวลาหนึ่ง

อีกทั้งยังมีข่าวต่อมาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปพำนักที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นที่พำนักของพี่ชายที่ไม่มีการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรืออีกกระแสข่าวหนึ่งระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะใช้วิธีการขอลี้ภัยที่ประเทศอังกฤษ

ในเรื่องนี้ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) มือกฎหมายระดับปรมาจารย์อธิบายเรื่องการขอลี้ภัยว่า เรื่องดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกันกับ พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551

กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หากทราบว่าอยู่นอกประเทศ การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นส่วนมากในคดีอาญาที่เป็นคดีการเมืองนั้น ควรกระทำต่อเมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำเลยก่อน

เพราะในการยื่นคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน อัยการสูงสุดจะต้องยื่นคำร้องที่มีคำพิพากษาเป็นพยานหลักฐานประกอบไปด้วย

“ส่วนขั้นตอนนั้นเราจะต้องรู้พิกัด ทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเป็นคนระบุว่าบุคคลที่เราต้องการตัวอยู่ในประเทศใด และเมื่อเรายื่นเรื่องไป ทางรัฐบาลของประเทศนั้นจะเป็นผู้พิจารณาก่อนว่าสมควรส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นสมควรก็จะส่งเรื่องให้ทางสำนักงานอัยการของประเทศนั้นเป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลในประเทศดังกล่าว กระบวนการจะสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ว่าจะอนุญาตส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาตามที่เราร้องขอหรือไม่ แต่ทั้งนี้ ฝ่ายที่ถูกร้องขอส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนสามารถอ้างได้เสมอว่าเป็น เรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การทหาร หรือเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งตรงนี้หากคำกล่าวอ้างดังกล่าวประเทศปลายที่เรายื่นคำร้องไปเห็นว่าฟังขึ้นจะเข้าข่ายเป็นการลี้ภัยได้ ผู้พิจารณาตัดสินว่าจะเป็นการลี้ภัยทางการเมืองได้หรือไม่นั้น คือประเทศปลายทางที่เราได้ร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไป ว่าจะมีการพิจารณาอย่างไร

“แม้ทางเราจะบอกเป็นความผิดทางอาญาล้วนๆ สามารถที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ แต่ถ้าต่างประเทศบอกว่าเป็นการเมืองการทหาร เขาก็สามารถอนุญาตให้ลี้ภัยได้”

อดีต อสส. ระบุ

ขณะที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด กลับมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่น่าจะสามารถลี้ภัยทางการเมืองได้เนื่องจากไม่มีเหตุเพียงพอ

เพราะในต่างประเทศจะไม่มีการมองในเรื่องของการหนีคำพิพากษาของศาลเป็นเรื่องของการลี้ภัย

อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เองเข้ากระบวนการไต่สวนพยานจำเลยจนครบจบกระบวนการแล้ว เหลือเพียงรอฟังคำพิพากษา ตรงนี้จะถูกทำให้เห็นว่าตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมรับในกระบวนการพิจารณาพิพากษา

ต่างจากกรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ถือโอกาสหลบหนีออกนอกประเทศเเละขอลี้ภัยระหว่างที่กำลังมีปัญหาบ้านเมืองไม่ปกติจากการรัฐประหาร

นายปรเมศวร์ ยังคาดการณ์ถึงกรณีหากศาลยกฟ้องหรือรอลงอาญา ก็เป็นไปได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่กลับประเทศ เพราะยังมีกระบวนการของการขังระหว่างอุทธรณ์อยู่

เพราะหากกลับมาแล้วศาลอาจจะออกหมายเรียกมารับทราบเรื่องการอุทธรณ์เเละมาควบคุมตัวได้ เพราะปกติแล้วคดีอาญา ถ้าหากศาลยกฟ้องไปแล้วก็จริง แต่ศาลอาจให้ขังระหว่างอุทธรณ์ได้อีก หากมีคำสั่งขังมาจำเลยก็จะต้องประกันตัวไป

แต่ถึงได้ประกันตัว ศาลอาจจะมีเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามคำสั่งเดิม เพราะถือว่าตัวยังอยู่ในอำนาจศาล

ส่วนตัวคิดว่าแม้ยกฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์คงไม่กลับมา จนกว่าจะทราบว่า อัยการจะยื่นอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ถ้าหากอัยการอุทธรณ์ขึ้นมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ คงอยู่นอกประเทศเลยไม่กลับมา

“แม้จะมีการแก้กฎหมายว่า ถ้าตัวจำเลยจะยื่นอุทธรณ์จะต้องมาปรากฏตัวต่อศาล แต่ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังสามารถยื่นเเก้อุทธรณ์ได้อยู่ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เขียนว่าห้ามยื่นแก้อุทธรณ์อัยการ”

นายปรเมศวร์ ให้ความเห็นทิ้งท้าย

ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในวันที่ 27 กันยายนนี้ ที่ศาลอาจอ่านคำพิพากษาลับหลังกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ปรากฏตัว แต่ถ้าผลออกมายกฟ้องหรือรอลงอาญา เป็นคำพิพากษาที่เป็นคุณกับจำเลย แต่หากอัยการยื่นอุทธรณ์ ตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์เองจะตกอยู่ในอำนาจศาล ก็แปลว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมาปรากฏตัว ก็มีสิทธิที่ศาลฎีกาฯ จะมีการพิจารณาเรื่องประกันตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำเลย ที่ครั้งหนึ่งเคยหลบหนีการฟังคำพิพากษาไปแล้ว

บางทีรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดเรื่องการอนุญาตให้สามารถอุทธรณ์คดีในศาลฎีกาฯ โดยไม่จำเป็นต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่หลายคนดูเหมือนว่าจะเป็นคุณกับจำเลยนั้น อาจเป็นผลย้อนศร ปิดประตูกลับบ้านของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสียเอง

จากกรณีหลบหนีไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม