ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม
เกษียร เตชะพีระ
รายงานความเหลื่อมล้ำโลก 2022 (จบ)
จันทร์ที่ 17 มกราคมศกนี้ กำลังที่บรรดาอีลิตเศรษฐกิจการเมืองนานาชาติพากันประชุมสุมหัวออนไลน์เพื่อจัดวาง The Davos Agenda แก่โลกโดยการอำนวยการของ World Economic Forum อยู่นั้น (https://www.weforum.org/events/the-davos-agenda-2022)
องค์การกุศลอิสระนานาชาติเพื่อแก้ไขบรรเทาความยากจนทั่วโลก Oxfam International ก็ได้เผยแพร่รายงาน Inequality Kills ออกมาแฉโพยว่านับแต่โควิด-19 เริ่มระบาดเป็นต้นมา ประชากรโลกอีก 160 ล้านคนได้ตกลงสู่ภาวะยากไร้ ขณะคนรวยที่สุดในโลก 10 คนกลับเพิ่มทรัพย์สินของตนเป็นทวีคูณ (https://policy-practice.oxfam.org/resources/inequality-kills-the-unparalleled-action-needed-to-combat-unprecedented-inequal-621341/)
Oxfam พบว่าในแต่ละวัน ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกสมทบส่วนส่งผลให้มีคนตายลงอย่างน้อย 21,000 คนทุกวัน หรือนัยหนึ่งตายลง 1 คนทุกๆ 4 วินาที ทว่าในหนึ่งวันเดียวกัน ยอดทรัพย์สินของคนรวยที่สุดในโลก 10 คนรวมกันกลับเพิ่มขึ้น 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทุกวันเช่นกัน!
ชะตากรรมอันเหลื่อมล้ำน่าอนาถของชาวโลกดังกล่าวทำให้เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนิโอ กูร์เตเรส กล่าวเตือนอย่างสะทกสะท้อนใจในวันเดียวกันนั้นว่า :
“สองปีหลังมานี้ได้สาธิตให้เห็นสัจจะง่ายๆ อันโหดเถื่อนประการหนึ่งว่า : ถ้าเราทิ้งใครสักคนไว้ข้างหลัง ท้ายที่สุดเราก็จะทิ้งทุกคนไว้ข้างหลังเหมือนกัน หากเราประสบความล้มเหลวที่จะฉีดวัคซีนให้กับทุกคน เราก็จะปล่อยให้เกิดเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่แพร่กระจายข้ามชายแดนต่างๆ และทำให้ชีวิตประจำวันและเศรษฐกิจทั้งปวงสะดุดหยุดลง และถ้าเราประสบความล้มเหลวที่จะผ่อนเบาภาระหนี้สินและจัดหาเงินทุนให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายแล้ว ก็เท่ากับเราสร้างการฟื้นตัวที่เอียงกระเท่เร่ขึ้นมา ซึ่งอาจเสือกไสเศรษฐกิจโลกที่เชื่อมต่อถึงกันและกันให้หมุนคว้างร่วงหล่นลงได้” (Headlines for January 18, 2022 | Democracy Now!)
คนรวยที่สุด
ยังเป็นตัวการหลัก
ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้โลกร้อน
รายงานความเหลื่อมล้ำโลกปี 2022 (https://wir2022.wid.world/) ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งยังแปล/แปรออกมาเป็นความเหลื่อมล้ำในแง่รอยเท้านิเวศด้วย (ecological footprint ดูคำอธิบายที่ https://www.wwf.or.th/news_and_information/livingplanetreport2016/ecologicalfootprint/)
บรรดาประเทศมั่งคั่งทั้งหลายมีความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ในฐานะตัวการปล่อยก๊าซ CO2 ส่วนสำคัญออกมา ค่าที่พัฒนาอุตสาหกรรม สร้างสังคมเมืองและบริโภคนิยมมาก่อนประเทศอื่นๆ ในโลก
ในทำนองเดียวกัน ภายในแต่ละประเทศเอง ครัวเรือนร่ำรวยที่สุดก็เป็นผู้ก่อมลภาวะ CO2 มากที่สุดด้วยเหมือนกัน
คิดสะระตะแล้วจึงปรากฏว่าตัวการหลักปล่อย CO2 ใส่โลกได้แก่ คนรวยที่สุด 10% แรกในสหรัฐอเมริกาซึ่งปล่อย CO2 ออกมาถึงคนละ 73 ตัน/ปี เทียบกับชาวอเมริกันจนที่สุด 50% ซึ่งปล่อย CO2 ออกมาคนละ 9.7 ตัน/ปีเท่านั้น
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คนรวยที่สุด 10% แรกในภูมิภาคนี้ปล่อย CO2 ออกมาคนละ 38.9 ตัน/ปี เทียบกับเพื่อนร่วมภูมิภาคจนที่สุด 50% ซึ่งปล่อย CO2 ออกมาคนละแค่ 3.1 ตัน/ปี
รอยเท้านิเวศเรื่องการปล่อย CO2 ในยุโรปยิ่งเล็กลงไปอีก คืออยู่ที่คนละ 29.2 ตัน/ปี สำหรับคนยุโรปรวยที่สุด 10% แรก และคนละ 5.1 ตัน/ปี สำหรับชาวยุโรปจนที่สุด 50%
ส่วนทวีปแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราลงมามีรอยเท้านิเวศด้านนี้เล็กที่สุด คือคนละ 7.3 ตัน/ปีสำหรับคนแอฟริกันรวยที่สุด 10% แรก และคนละครึ่งตัน/ปีเท่านั้นเองสำหรับชาวแอฟริกันจนที่สุด 50% (ดูแผนภูมิประกอบ)
จำเป็นต้องกระจายความมั่งคั่ง
ให้เท่าเทียมและทั่วถึงขึ้น
ถ้าหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้นเลย ความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งถ่างกว้างห่างออกไปในหลายทศวรรษข้างหน้าจนถึงสัดส่วนที่เหลือจะค้ำยันเอาไว้อีกได้
สมมุติว่าแนวโน้มที่เราสังเกตเห็นได้นับแต่ปี ค.ศ.1995 เป็นต้นมาคงดำเนินต่อไป เมื่อถึงปี ค.ศ.2070 หรืออีก 48 ปีข้างหน้า คนรวยที่สุด 0.1% ของโลก (= ผู้ใหญ่ราว 5.2 ล้านคนในปี 2021) ก็จะยึดครองทรัพย์สินของโลกไว้ในสัดส่วนที่สูงกว่าคนชั้นกลางทั้งหมดของโลกตอนนั้นรวมกันด้วยซ้ำไป
เพื่อหลีกเลี่ยงความเหลื่อมล้ำที่เหลือจะค้ำยันเอาไว้ได้อีกต่อไปดังกล่าว รายงานความเหลื่อมล้ำโลกเสนอว่าจะต้องลงทุนด้านการศึกษา, สาธารณสุข และการสร้างเศรษฐกิจปลอดคาร์บอนขึ้นมาเพื่อลดทอนความเหลื่อมล้ำก่อนเก็บภาษีและก่อนการกระจายรายได้และทรัพย์สินลงไป เพราะสิ่งนี้แหละเป็นกลไกหลักในการขับดันความเหลื่อมล้ำ นอกจากนี้ รายงานก็สนับสนุนการก่อตั้งระบบการคลังที่ก้าวหน้ากว่านี้
(เว็บไซต์ห้องทดลองความเหลื่อมล้ำได้นำเสนอเครื่องมือที่เปิดให้จำลองสถานการณ์ทางออนไลน์ได้ว่าการขึ้นอัตราภาษีที่เก็บจากคนรวยที่สุดจะส่งผลลัพธ์ทางการคลังเช่นใดในภูมิภาคต่างๆ ดู https://wid.world/world-wealth-tax-simulator/)