2503 สงครามลับ สงครามลาว (69)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (69)

 

ตุลาคม 2514

มีรายงานว่าข้าศึกพยายามเข้าเกาะติดเพื่อเฝ้าตรวจความเคลื่อนไหวของฝ่ายเรา

ฉก.วีพีจึงได้ออกคำสั่งให้ออกลาดตระเวนและกวาดล้างออกไปโดยรอบฐานปฏิบัติการ

นอกจากนั้น ยังให้ทำการลาดตระเวนระยะไกลเชื่อมต่อระหว่างกลุ่มฐานที่มั่นต่างๆ ทำให้สามารถป้องกันการแทรกซึมของข้าศึก

และยังยึดเสบียงอาหารรวมทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก

 

ปรับการส่งกำลังบำรุง

มีการปรับกรุงการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเราโดยได้กำหนดตำบลส่งกำลังเพิ่มขึ้น 3 แห่งที่สนามบินชั่วคราวในทุ่งไหหิน

เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ซึ่งเคยลำเลียงสิ่งอุปกรณ์มาส่งที่ล่องแจ้งเพื่อแยกส่งตามฐานต่างๆ โดยเฮลิคอปเตอร์ เปลี่ยนไปใช้วิธีทิ้งร่มลงที่ตำบลส่งกำลังต่างๆ เหล่านั้น

ส่วนกำลังพลที่จะขึ้นไปแนวหลังก็ลำเลียงโดยเครื่องบินขนาดเล็ก ปอร์ตเตอร์ หรือออดเตอร์ ทวิน ไปลงยังจุดส่งกำลังนั้นด้วย จากนั้นจึงใช้เฮลิคอปเตอร์ส่งต่อไปยังจุดส่งลงต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการประหยัดเวลาบินของเฮลิคอปเตอร์ซึ่งเดิมทีต้องบินจากล่องแจ้งไปครั้งละเที่ยว ทำให้เฮลิคอปเตอร์อันมีจำนวนจำกัดปฏิบัติงานไม่ทันต่อสถานการณ์บ่อยครั้ง

ข้าศึกได้ตรวจการณ์เห็นและสืบทราบวิธีการใหม่ในการส่งกำลังของฝ่ายเรา จึงได้ยิงอาวุธหนักระยะไกลมายังจุดส่งกำลังต่างๆ ของเราเพื่อเป็นการรบกวนเป็นครั้งคราวทำให้การส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเราหยุดชะงักลงได้บ้าง

ฐานยิงต่างๆ ของฝ่ายเรายังคงเสริมสร้างที่มั่นต่างๆ ให้แข็งแรงยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในฤดูแล้งที่จะเริ่มในเดือนธันวาคม มีการสร้างคลังเก็บกระสุนอย่างแข็งแรงและพยายามรวบรวมกระสุนปืนใหญ่ให้มีอย่างน้อยกระบอกละ 1 อัตรามูลฐาน

จึงทำให้ทุกฐานยิงมีความมั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุนฝ่ายเราในการยึดรักษาทุ่งไหหินไว้ได้อย่างมั่นใจ

 

การวางกำลังฝ่ายเรา

ก่อนถึงหน้าแล้งปลายปี 2514 ฐานยิงสนับสนุนของทหารปืนใหญ่ในพื้นที่การรบมีทั้งสิ้น 6 ฐานยิง วางตัวจากเหนือลงใต้ ดังนี้

ฐานยิงสนับสนุน “คิงคอง” ที่ตั้งภูเก็ง ประกอบด้วย ปบค.105 – 3 กระบอก ปกค.155 – 2 กระบอก และ ค.4.2 -3 กระบอก ทหารราบ พัน ทสพ.606 และ 608 เป็นกำลังคุ้มกัน

ฐานยิงสนับสนุน “แพนเธอร์” ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อ 18 ธันวาคม พ.ศ.2514 เพื่อเพิ่มเติมอำนาจการยิงให้กับพื้นที่ตอนบนและตะวันออก ที่ตั้ง สนามบินบ้านทาง (LS 275) ประกอบด้วย ปบค.155 ม.ม. – 2 กระบอก และ ค.4.2 – 3 กระบอก ทหารราบ พัน ทสพ.610 (1 กองร้อย) เป็นกำลังคุ้มกัน

ฐานยิงสนับสนุน “มัสแตง” ที่ตั้ง บ้านโตน ประกอบด้วย ปบค.105 ม.ม. – 2 กระบอก ปกค.155 ม.ม. – 2 กระบอก และ ค.4.2 – 2 กระบอก ทหารราบ พัน ทสพ.603 และพัน ทสพ.607 เป็นกำลังคุ้มกัน

ฐานยิงสนับสนุน “ไลอ้อน” ที่ตั้ง ภูเทิง ประกอบด้วย ปบค.105 ม.ม. – 2 กระบอก ปกค.155 – 2 กระบอก ทหารราบ พัน ทสพ.609 และพัน ทสพ.605 เป็นกำลังคุ้มกัน

ฐานยิงสนับสนุน “สติงเรย์” ที่ตั้ง ภูเซอ ประกอบด้วย ปกค.155 ม.ม. – 2 กระบอก ทหารราบ พัน ทสพ.610 (2 กองร้อย) เป็นกำลังคุ้มกัน

ฐานยิงสนับสนุน “คอบร้า” ที่ตั้ง ภูหลวง ประกอบด้วย ปบค.105 ม.ม. – 2 กระบอก และที่กองพันทหารราบ บีซี 604 ซึ่งเป็นกำลังคุ้มกันมี ค.4.2 – 3 กระบอก

รวมอาวุธยิงสนับสนุนซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดของความสำเร็จตามแผนการตั้งรับ ทั้งสิ้น ปบค.105 ม.ม. 9 กระบอก ปกค.155 ม.ม. 10 กระบอก และ ค.4.2 11 กระบอก เพิ่มเติมด้วยการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินรบชนิดต่างๆ รวมทั้งเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ บี-52

ในส่วนกำลังทหารราบเสือพรานของไทยซึ่งมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 คนขณะนั้น จะใช้กำลังประมาณ 2,000 คนเพื่อป้องกันฐานยิงมัสแตงบนสันสกายไลน์ และฐานยิงไลอ้อนซึ่งอยู่ทางตะวันตกของภูเทิง และใช้กำลังอีกประมาณ 1,000 คนป้องกันฐานยิงคิงคองซึ่งอยู่ด้านเหนือของภูเทิง

กำลังที่เหลืออีกประมาณ 1,000 คน แบ่งป้องกันฐานยิง “แพนเธอร์” “สติงเรย์” และ “คอบร้า”

 

การกลับมาของเวียดนามเหนือ

: CAMPAIGN Z

หลังประสบความล้มเหลว ไม่สามารถเข้ายึดเมืองล่องแจ้งได้ตามเป้าหมายของ CAMPAIGN 74B เมื่อต้นปี พ.ศ.2514 เวียดนามเหนือก็ยังคงทิ้งกำลังบางส่วนไว้เพื่อรักษาอิทธิพลในพื้นที่ทุ่งไหหิน

ครั้นถึงปลายปีเมื่อฤดูแล้งกำลังจะมาถึง ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เตรียมเปิดการรุกทางการทหารขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่งตามแผนยุทธการใหม่ “CAMPAIGN Z” โดยมีความมุ่งหมายเช่นเดิมเพื่อยึดครองทุ่งไหหินและศูนย์บัญชาการการรบของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่เมืองล่องแจ้งให้ได้

BATTLE FOR SKYLINE RIDGE บันทึกแผนรบแตกหักครั้งใหม่ตาม CAMPAIGN Z ไว้ดังนี้

กันยายน 2514 นายพลเหงียน ฮู อัน (Ngyuen Huu An) แห่งกองทัพเวียดนามเหนือ เข้าพบนายพลโว เหงียน เกี๊ยป เพื่อรับทราบแนวทางการวางแผนก่อนเข้าร่วมประชุมที่กรุงฮานอย

สหายเก่าทั้งสองได้สนทนากันสั้นๆ โดยนายพลเกี๊ยปบอกเหตุผลที่เชิญมาพบว่า กำลังของวังเปาได้เข้ายึดคืนทุ่งไหหินในลาวแล้วสร้างที่มั่นสู้รบไว้บนที่ราบแห่งนี้

เกี๊ยปจึงต้องการให้นายพลอันเดินทางไปยังกองบัญชาการสนามของกองทัพเวียดนามเหนือเพื่อสำรวจและจัดหน่วยเข้าปฏิบัติการ รวมทั้งจัดทำแผนการรบแล้วรายงานกลับมาให้ทราบ

 

แผนของนายพลอัน

นายพลอันใช้เวลารวม 4 วันในการเดินทางถึงกองบัญชาการส่วนหน้า ขณะที่ผจญกับพิษไข้มาลาเรียและต้องใช้เวลาอีกถึง 2 วันกว่าจะฟื้นตัว แต่ในที่สุดเขาก็สรุปจำนวนหน่วยกำลังรบที่จะต้องใช้ในยุทธการครั้งใหม่ที่กำหนดชื่อว่า “CAMPAIGN Z” ครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 7 กรมทหารราบ (21 กองพัน กองพันละ 600 คน) ดังนี้

กองพล 312 ประกอบด้วย 4 กรมทหารราบ ได้แก่ กรม 141 กรม 165 กรม 209 กรมอิสระ 866 เพิ่มเติมกำลังด้วย กองร้อยลาดตระเวน 24 และกองพันขนส่งที่ 8 สมทบด้วย กองร้อยรถถังที่ 18 ( รถถัง T-34 10 คัน รถถัง T-76 3 คัน และรถกู้ 1 คัน)

กองพล 316 ประกอบด้วย กรม 148 กรม 174 (กองพันที่ 1, 2, 3 และ 4) กรม 335 (กองพัน 1, 2 และ 3) หน่วยขึ้นสมทบ กองร้อยรถถังที่ 9 (รถถัง T-34 8 คัน รถสายพานลำเลียงพล K-63 4 คัน) 3 กองพันแซปเปอร์

เพิ่มเติมกำลังด้วย 6 กองร้อยแซปเปอร์อิสระ

หน่วยยิงสนับสนุน ประกอบด้วย 1 กองพันปืนใหญ่สนาม 130 ม.ม. 1 กองร้อยปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง 122 ม.ม. 1 กองร้อย เครื่องยิงระเบิด 120 ม.ม. (กองร้อยอาวุธหนัก 67 เปลี่ยนอาวุธจากเดิม เครื่องยิงระเบิด 82 ม.ม.) กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานอิสระ 226 กองพัน 117 (3 กองร้อยปืนกล 37 ม.ม. 1 กองร้อยปืนกล 23 ม.ม.) กองพัน 128 (2 กองร้อย ปืนกล 37 ม.ม. และ 1 กองร้อยปืนกล 14.5 ม.ม.) กองพัน 125 (3 กองร้อยปืนกล 14.5 ม.ม.) กองพันอิสระ 242 (จากกรม 559)

เพิ่มเติมกำลังด้วยปืนกล 12.7 ม.ม. 54 กระบอก 3 กองพันทหารช่าง 9 กองพันทหารราบจากกองทัพประเทศลาว กุลี (กรรมกรแบกหาม) 2,500 คน

รวมกำลังพลทั้งสิ้น ประมาณ 27,000 คน

กองกำลังทั้งหมดอยู่ภายใต้การบัญชาการรวมโดยนายพลวู แลป (Vu Lap) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการที่มีประสบการณ์โชกโชนในสนามรบลาว

ช่วงแรกของการปฏิบัติ นายพลลี ตรอง ตัน (Le Trong Tan) รองหัวหน้าเสนาธิการ จะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ที่ฮานอยในนามของรัฐมนตรีกลาโหมและกรรมาธิการกลางการทหาร

นายพลตันผู้นี้ในขณะนั้นเป็นหนึ่งในผู้บัญชาการระดับสูง

ส่วนนายพลตันผู้จัดทำแผนการรบนี้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บัญชาการในสนามรบในนามของนายพลเกี๊ยปด้วย