รัฐบาล ‘กัดฟัน’ ลดภาษี 3 บาทตรึงดีเซล ในกระแสน้ำมัน ‘ขาขึ้น’/บทความพิเศษ ศัลยาประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยาประชาชาติ

 

รัฐบาล ‘กัดฟัน’

ลดภาษี 3 บาทตรึงดีเซล

ในกระแสน้ำมัน ‘ขาขึ้น’

 

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงหลังจากที่พุ่งทะยานเกินกว่า 95 เหรียญ/บาร์เรล (ปรับตัวสูงสุดในรอบ 7 ปี) ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาล่าสุดของน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 92.07 เหรียญ/บาร์เรล หรือลดลง 3.39 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 93.28 เหรียญ/บาร์เรล หรือลดลง 3.20 เหรียญ/บาร์เรล

การลดลงของน้ำมันดิบถึง 3 เหรียญ/บาร์เรลภายในแค่ชั่วข้ามคืนเป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนเริ่มผ่อนคลายลง เมื่อรัสเซียเริ่มถอนทหารบางส่วนห่างจากชายแดนยูเครน หลังจากพื้นที่พิพาท “โดเนตสก์-ลูฮันสก์” ที่รัสเซียให้การสนับสนุนกำลังจะแยกจากยูเครนออกมาเป็นรัฐอิสระ

นักวิเคราะห์ราคาน้ำมันเชื่อว่า การผ่อนคลายความตึงเครียดในยูเครนรอบนี้มีผลทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกไม่พุ่งเกินไปกว่า 100 เหรียญ/บาร์เรลเหมือนอย่างผลการวิเคราะห์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อกันว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มจะขึ้นไปถึง 120 เหรียญ/บาร์เรล หากรัสเซียบุกยูเครนจริง

 

แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะไม่ถึง 100 เหรียญ แต่ก็จะไม่ต่ำกว่า 90 เหรียญ/บาร์เรลในช่วงนี้แน่ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีมากกว่าการผลิต ประกอบกับกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ยังคงยึดมั่นตามข้อตกลงเดิมที่มีมติให้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบสำหรับเดือนมีนาคมเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันยังนับเป็น “ขาขึ้น” สำหรับประเทศไทยที่มีการประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันมากกว่า 8 ครั้ง ในขณะที่รัฐบาลเลือกที่จะ “ตรึงราคา” น้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกินไปกว่าลิตรละ 30 บาทโดยอาศัยการ “อุดหนุน” จากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในเบื้องต้นที่เชื่อกันว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะอยู่แถวๆ 80-85 เหรียญ/บาร์เรล แต่เอาเข้าจริงในช่วงหลังปีใหม่ราคาน้ำมันดิบกลับขยับขึ้นไปทะลุ 90 เหรียญ/บาร์เรล

แต่รัฐบาลยังคง “กัดฟัน” ที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อไป ท่ามกลางข้อเรียกร้องของภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการขนส่ง ที่อยากเห็นราคาน้ำมันดีเซล “ต่ำกว่า” ลิตรละ 30 บาท

 

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลต่อเนื่องจากปลายปี 2564 มาถึงต้นปี 2565 โดยที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง ส่งผลให้ “เงินอุดหนุน” ราคาน้ำมันจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง “ไหลออก” อย่างต่อเนื่อง

จากตัวเลขประมาณการฐานะกองทุนน้ำมัน ณ สิ้นเดือนมกราคม 2565 กองทุนอยู่ในฐานะติดลบ 14,080 ล้านบาท ทว่า มาถึงปัจจุบันกองทุนติดลบหนักขึ้นไปอีกถึง 18,151 ล้านบาท (13 กุมภาพันธ์ 2565)

ในจำนวนนี้หากจะพิจารณา “ไส้ใน” พบว่า กองทุนติดลบจากการชดเชยราคาก๊าซ LPG สูงถึง 25,761 ล้านบาท ขณะที่บัญชีกองทุนน้ำมันแม้จะยังเป็นบวกอยู่ที่ตัวเลข 7,610 ล้านบาท แต่ก็จะ “ลดลง” มาเรื่อยๆ จากตัวเลขที่ 10,589 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มกราคม 2565

นั่นหมายความว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เงินชดเชยจากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไหลออกไปเรื่อยๆ บัญชีน้ำมันจากที่ยังเป็นบวกก็จะกลายเป็นติดลบเหมือนกับเงินในบัญชีก๊าซ LPG ไม่เกินกลางเดือนมีนาคม และจะส่งผลให้สถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมจะติดลบเกินไปกว่า 20,000 ล้านบาท

นำมาซึ่งการขอแก้ไขแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีฐานะกองทุนน้ำมันติดลบ 20,000 ล้านบาทให้หยุดการชดเชย แก้มาเป็น หรือติดลบตามจำนวนที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26 (3) ของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแทน เพื่อ “เปิดช่อง” ให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถ “อุดหนุน” ราคาน้ำมันดีเซลต่อไปได้อีก

แสดงให้เห็นถึงภาวะวิกฤตในการขาดสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กำลังจะเกิดขึ้น ในขณะที่การ “กู้ยืม” เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ ครม.มีมติอนุมัติให้กองทุนกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นจำนวนไม่เกิน 30,000 ล้านบาท (กู้เฉพาะวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามกรอบกฎหมายของกองทุนน้ำมันที่มีอยู่และให้ดำเนินการกู้เพิ่มวงเงิน 10,000 ล้านบาทได้อีกตามพระราชกฤษฎีกา) ซึ่งมีมติมาตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2564 ปรากฏจนกระทั่งถึงขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดให้ความสนใจที่จะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกู้ยืมเงินเลย

 

ท่ามกลางความกดดันจากภาคการขนส่งและภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลปรับลดราคาน้ำมันดีเซลให้ “ต่ำลงมา” กว่า 30 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะตรึงต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ ไม่ให้ปรับราคาสูงเกินไปกว่าที่จำหน่ายในปัจจุบัน ทางออกสุดท้ายของรัฐบาลในเวลานี้ก็คือ ภาวะ “จำยอม” ที่จะต้องลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง หลังจากที่ยืนกระต่ายขาเดียวไม่ยอมลดภาษี ซึ่งเป็นรายได้หลักของรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น

ล่าสุด ในการประชุม ครม.วันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตร จากราคา 5.99 บาท/ลิตร ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 (ส่วนน้ำมันไบโอดีเซลอัตราภาษีที่ลดให้ก็จะลดน้อยลงตามสัดส่วนของเกรดน้ำมันที่ผสม) การยอมลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะที่เรียกเก็บจาก น้ำมันดีเซลลงในขณะนี้ ทางกระทรวงการคลังคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้รวม 17,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 5,700 ล้านบาท เพื่อแลกกับความเชื่อที่ว่า สินค้าอุปโภคบริโภคจะปรับลดราคาลง

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตรในครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก ณ หน้าสถานีบริการน้ำมันลดลงทันที 3 บาท/ลิตร หรือ จากราคาปัจจุบันที่ 29.94 บาท/ลิตร ลดมาเป็น 26.94 บาท/ลิตร

เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากการ “ขาดสภาพคล่อง” เงินกองทุนไหลออกไปสู่จุดที่กองทุนจะติดลบเกินกว่า 20,000 ล้านบาท ตราบเท่าที่กองทุนยังไม่สามารถหาเงินกู้อีก 20,000 ล้านบาทเข้ามาเสริมสภาพคล่องได้

 

แม้มติ ครม.ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจะเปิดทางให้กองทุนสามารถ “ชดเชย” ราคาน้ำมันดีเซลได้ต่อไป แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อกองทุนในระยะยาวในภาระที่บัญชีจะต้องติบลบมากขึ้นเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

จนเป็นที่มาของสูตรการลดภาษีสรรพสามิตที่จะให้ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 2 บาท/ลิตร ในส่วนที่เหลืออีก 1 บาท/ลิตรก็จะ “กันไว้” ใช้บริหารเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจาก 2 กรณี คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมาสู่ภาวะปกติ หรือมีสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งยอมให้กองทุนน้ำมันกู้ยืมเงินได้

สะท้อนให้เห็นถึงภาวะจนตรอกของรัฐบาลในการที่จะฝ่าวิกฤตราคาน้ำมัน อย่าว่าแต่ข้อเรียกร้องของภาคการผลิตที่ต้องการให้ราคาน้ำมันดีเซล “ต่ำกว่า” 30 บาท/ลิตรเลย

เพียงแค่การ “ตรึงราคา” ไว้ไม่ให้เกินไปกว่า 30 บาท/ลิตรก็เป็นเรื่องที่ยากแล้ว