ล้อมวงคุย ‘เรื่องเล่า ชีวิต มิตรภาพ’ 16 ปีแห่งการจากพราก ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

ล้อมวงคุย ‘เรื่องเล่า ชีวิต มิตรภาพ’

16 ปีแห่งการจากพราก

ของกนกพงศ์ สงสมพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ครบรอบ 16 ปีแห่งการจากพรากของนักเขียนหนุ่มตลอดกาล นามกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ (2509-2549) นิยุติ สงสมพันธุ์ จุฑาภรณ์ โสตถิโยธิน ร่วมกับหอศิลป์อาคารบ้านนักเขียนและหลาดใต้โหนด จัดล้อมวงคุยในบรรยากาศเรียบง่าย เพื่อรำลึกถึงนักเขียนซีไรต์ ปี 2539 จากรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น”

โดยมีประทุม เรืองฤทธิ์, วิสุทธิ์ ขาวเนียม, ชนะ เสียงหลาย, สุนันทวงศ์ เทพชู, พิณพิพัฒน ศรีทวี, ชาคริต แก้วทันคำ และเพื่อนๆ เข้าร่วม

ดำเนินรายการโดยศุภมิตร วรรณเปรม

วิสุทธิ์ ขาวเนียม

: ” แพงพวยภูเขา”

กับต้นธารบันดาลใจ

ในการเขียนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์

 

เพื่อนฉันตายอยู่บนภูเขา

ฝังร่างเขาไว้ข้างกระท่อม

ให้กระดูกขาวผลิบานเป็นดอกแพงพวย

ลมหายใจคือฝูงผึ้งก่อรวงรัง

ความรักคือลมแสนสาย

ล่องไหลจากยอดเขาสู่ท้องทะล

ดุจความงามอันแสนเศร้า

กวีครึ่งบทยังค้างคาอยู่บนโต๊ะ

ปรารถนาเปล่งวาจาถึงความโดดเดี่ยวอันแสนสุข

เพื่อนฉันตายบนภูเขา

ในวันที่แดดเดือนเมษายนกลายเป็นความว่างเปล่า

เมื่อกระอายหมอกทาบทา

จากขุนเขายะยือกสู่แผ่นดินร้อนรน

ไผ่ร้อยกอคือแสนลำขลุ่ยผิว

เปล่งสำเนียงแห่งโลก

กล่อมสรรพสิ่งให้หลับใหล

ขณะผู้คนต่างหลงมนต์

น้ำใสไหลเย็นในสายธาร

จากบ้านแห่งความดีงาม

ให้กวางน้อยดื่มต่างน้ำนม

ขณะหมู่ปลาลืมตาอยู่ในห้วงเวิ้งสีมรกต

ผ่านไปอีกค่ำคืน

กาฬเวลารินหยาดน้ำตาไว้บนใบหญ้า

แสงแรกแห่งอรุณเอื้อมมือมาดับตะเกียง

แดดแสนสายปลุกมวลดอกไม้เบ่งบาน

ลมหายใจฟื้นคืน

ดูนั่น… ความงามอันแสนเศร้า

แดดเที่ยงสาดส่องดั่งแดดเช้า

เปล่งประกายอยู่ในสายหมอกอวลพนา

เพื่อนฉันตายบนภูเขา

ปลูกแพงพวยไว้เหนือหลุมศพเขา-ข้างกระท่อม

เพื่อวันหนึ่ง เมื่อลมขลุ่ยผิวบรรเลง

แพงพวยดอกขาวจะได้เริงรำ

บทกวีข้างต้นชื่อว่า “แพงพวยภูเขา” กนกพงศ์เขียนเมื่อปี 2538 ก่อนจะถูกนำมารวมเล่มใน “หมื่นปีกนก” (2552) ซึ่งบทกวีชิ้นนี้ส่งแรงบันดาลใจให้วิสุทธิ์หันมาเริ่มเขียนบทกวีไร้ฉันทลักษณ์หรือกลอนเปล่า โดยเฉพาะบรรทัด “ให้กระดูกขาวผลิบานเป็นดอกแพงพวย ลมหายใจคือฝูงผึ้งก่อรวงรัง” ซึ่งถ้อยคำดังกล่าวยังตรึงตราอยู่ในทรงจำ

วิสุทธิ์กล่าวว่า เขารู้จักกนกพงศ์ครั้งแรกสมัยเป็นนักศึกษา ศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เชิญนักเขียนหนุ่มไปบรรยายวิชาการเขียน และวิสุทธิ์ก็ได้พบตัวจริงของกนกพงศ์ ขณะนั้นน่าจะปี 2538 เขามีรวมเรื่องสั้น “แผ่นดินอื่น” พิมพ์รวมเล่ม ก่อนปี 2539 จะได้รับรางวัลซีไรต์

หลังจากนั้นก็ได้ติดตามอ่านงานเขียนของกนกพงศ์อีกหลายเล่ม รู้สึกว่าชื่อตัวละครหลายๆ ตัวของเขาจะอยู่ในความทรงจำ อย่างเช่น ศรีนาคร ในเรื่องสั้น “ชายขายโรตีแห่งศรีลังกา เป็นต้น หรือเรื่องสั้นอีกหลายๆ เรื่องที่เอ่ยชื่อแล้วไม่มีใครไม่รู้จักหรือไม่เคยอ่าน อย่างเรื่องสั้น “แมวแห่งบูเก๊ะกรือซอ” “สะพานขาด” หรือ “โลกใบเล็กของซัลมาน”

นอกจากกนกพงศ์จะเป็นนักเขียนเพื่อชีวิตคนสุดท้ายแล้ว เขายังเป็นคนทำกับข้าวเก่ง และชอบปีนเขาหลวง จ.นครศรีธรรมราชอีกด้วย

พิณพิพัฒน ศรีทวี

: สัมพันธภาพระหว่างนักเขียนถึงนักเขียน

พิณพิพัฒนกล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่ได้รู้จักและสัมผัสกับกนกพงศ์ผ่านตัวตนของเขา แต่รู้จักผ่านสัมพันธภาพทางวรรณกรรม และฉากหนึ่งในเรื่องสั้นจากรวมเรื่องสั้น “สะพานขาด” ก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้พิณพิพัฒนเขียนเรื่องสั้นชื่อ “รอยรั่วบนหลังคาบ้านซึ่งวิญญาณไม่อาจสิ้นสลาย” ซึ่งต่อมาเรื่องสั้นนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ “เปลื้อง วรรณศรี” ครั้งที่ 3 ปี 2560

นอกจากนี้ เรื่องสั้น “บ้านคนป่วย” ของพิณพิพัฒนยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ครั้งที่ 7 ปี 2564

ซึ่งบางฉากและเบื้องหลังในเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องสั้น “ฝั่งฝันของชีวิต” ของชนะ เสียงหลาย นักเขียนรุ่นพี่ชาวจังหวัดตรัง ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารราหูอมจันทร์ vol.13 เรื่องลับของเมียรัก (2556)

ชาคริต แก้วทันคำ

: นักเขียนจดหมายกับศิลปะแห่งการอคอย

ชาคริตกล่าวว่า รู้จักกนกพงศ์ผ่านงานเขียน หนังสือเล่มแรกที่ได้อ่านคือกวีนิพนธ์ “หมื่นปีกนก” ซึ่งนำเสนออุดมคติของนักเขียน ชิ้นงานมีความสดใหม่ จากนั้นก็ได้อ่านเรื่องสั้น ซึ่งลักษณะเฉพาะในงานของกนกพงศ์ก็คือขนาดความยาว การให้ความสำคัญกับสถานการณ์ของเรื่อง เน้นบุคลิกตัวละคร และเลือกใช้ภาษาได้คมคาย แฝงนัย ก่อนที่ชาคริตจะบอกว่ารู้จักกนกพงศ์จริงๆ ผ่านจดหมาย หลังได้อ่านหนังสือ “จดหมายจากนักเขียนหนุ่ม” และ “จดหมายถึงเพื่อน”

“ผมจำเป็นต้องเขียนอะไรเพื่อให้ได้เงินหมุนเวียนมาบ้าง อย่างน้อยที่สุดก็ได้ซื้อข้าวสาร ปัญหาหลายเรื่องหลายอย่างทำให้ผมขยับตัวไม่ได้เลย แต่ไม่เป็นไร ผมถือว่านี่คือการหวนกลับมาสู่วิถีนักเขียนอีกครั้ง มันต้องมีแรงกดดัน นักเขียนจะทำงานได้ภายใต้แรงกดดัน” (บางส่วนจากจดหมายฉบับที่ 1 10 สิงหาคม 2544)

ข้อความข้างต้น เราจะเห็นถึงอุดมคติที่ถ่ายทอดผ่านชีวิต ความคิดและงานเขียน เสมือนบันทึกประจำวันที่กนกพงศ์ต้องการบอกเล่าสื่อสารผ่านคนอื่น ว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นเช่นไร การเป็นนักเขียนไม่ว่าจะอดีตหรือปัจจุบันเป็นเรื่องยาก เมื่อมีแรงกดดันเรื่องปากท้องเศรษฐกิจมาเป็นปัจจัยบีบคั้น มันไม่อาจหล่อเลี้ยงชีวิตตนและคนข้างกายได้เลย

ทั้งนี้ การเขียนจดหมายสำหรับกนกพงศ์ คือการฝึกมือหรือเขียนคั่นจากการเขียนเรื่องสั้น เพราะมนุษย์ทุกคนมีเรื่องเล่า การเขียนจดหมายจึงสื่อถึงยุคสมัยหนึ่งที่เป็นศิลปะตั้งแต่การเลือกกระดาษ ปากกา เขียนความรู้สึกลงไป พับใส่ซองและติดแสตมป์ ก่อนนำไปหย่อนตู้ไปรษณีย์ และรอคอยการตอบกลับ

หากกนกพงศ์ยังมีชีวิตอยู่ เขาคงดีใจที่จดหมายถึงเพื่อนเป็นหนังสือเสียง สามารถฟังผ่านยูทูบได้

และนี่เป็นเพียงตัวอย่างจากถ้อยสนทนาในล้อมวงคุยวันนั้น ขอทิ้งท้ายด้วยข้อความในจดหมายถึงเพื่อนอีกฉบับหนึ่ง เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนและนักอ่านผู้ยังศรัทธาในงานวรรณกรรม

“เพราะสำหรับคนเขียนหนังสือแล้ว ย่อมต้องผ่านการเรียนรู้ เอาตัวลงไปเกลือกกลั้ว เป็นการแสวงหาอย่างหนึ่ง ไม่เช่นนั้น เราจะเอาอะไรไปพรรณนาถึงความเป็นมนุษย์ในงานเขียนของเรา เราจะเข้าใจภาวะตัวละครแต่ละตัวของเราได้อย่างไร ในเมื่อแทบทั้งหมดของชีวิต ซึ่งปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรม ในนามของตัวละครล้วนเป็นชีวิตซึ่งไม่ปกติทั้งนั้น มีตัวละครในนิยายเรื่องใดบ้างที่เป็นคนปกติ เราล้วนมองหาเรื่องไม่ปกติมาเขียน ยิ่งไม่ปกติเท่าใด ยิ่งน่าสนใจ เพราะมนุษย์สนใจเรื่องไม่ปกติของคนอื่น ขณะเดียวกัน ความไม่ปกติก็เป็นหนทางที่เปิดเผยให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์มากที่สุด”

“ผมเชื่อเช่นนั้น”

บรรณานุกรม

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (2552). หมื่นปีกนก. ปทุมธานี : นาคร.

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์. (2560). จดหมายถึงเพื่อน รวมจดหมายจากกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ถึงขจรฤทธิ์ รักษา. พิมพ์ครั้งที่ 2 ฉบับปรับปรุงใหม่. นนทบุรี : บ้านหนังสือ.

พิณพิพัฒน ศรีทวี และสมใจ บุษบน : ภาพถ่าย และสุนันทวงศ์ เทพชู : คลิปวิดีโอ