เปิดใจ ‘พิธา’ ‘เกมสภา’ ต้องสู้ด้วย ‘เทคนิค’ และ ‘เนื้อหา’/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

เปิดใจ ‘พิธา’

‘เกมสภา’ ต้องสู้ด้วย ‘เทคนิค’ และ ‘เนื้อหา’

 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ รายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ทางช่องยูทูบมติชนทีวี มีโอกาสสัมภาษณ์ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ประเด็นแรกที่ผู้ดำเนินรายการชวน “ทิม พิธา” พูดคุย ก็คือ “ปัญหาสภาล่ม” ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียง-วิวาทะมากมาย

ตามความเห็นของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในแง่มุมแรก ปัญหานี้คือกระจกสะท้อนเสถียรภาพของรัฐบาลที่ไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาเอาไว้ได้

ยิ่งกว่านั้น เรื่องสภาล่มยังสะท้อนถึงสิ่งที่พิธาเรียกว่าปรากฏการณ์ “ดาบนั้นคืนสนอง” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดกฎกติกาพิกลพิการ จนเกิด ส.ส.ปัดเศษ หรือ ส.ส.พรรคเล็กจำนวนหนึ่ง ที่ถูกใช้เป็น “สะพาน” หรือ “บันได” ให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก้าวขึ้นสู่อำนาจ

ครั้นพอสถานการณ์ปัจจุบันพลิกผันไป “สะพาน” และ “บันได” เหล่านั้น ก็กลายสภาพเป็น “ดาบเล่มเดิม” ที่หันกลับมาทิ่มแทง พล.อ.ประยุทธ์ จนอาจกระเด็นตกจากบัลลังก์อำนาจในที่สุด

 

ในอีกแง่มุมหนึ่ง พิธายืนยันว่าการขอนับองค์ประชุมโดยพรรคฝ่ายค้าน เป็นกลไกตรวจสอบรัฐบาลที่มีความชอบธรรม และไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด

ทว่า ในมุมมองส่วนตัว เขาเสนอว่าฝ่ายค้านไม่ควรใช้กลวิธีนี้ให้บ่อยครั้งจนเกินไป

“การเช็กองค์ประชุมก็เป็นหนึ่งในกลไกในการตรวจสอบเอกภาพของรัฐบาล เพียงแต่ผมเห็นว่าไม่ควรที่จะใช้บ่อย ถ้ายิ่งใช้บ่อย ทั้งประสิทธิภาพและความชอบธรรมของการเช็กองค์ประชุมมันจะหายไปเรื่อยๆ กระสุนมันจะด้าน”

หัวหน้าพรรคก้าวไกลเสนอต่อว่า การนับองค์ประชุมไม่ใช่ “วิธีการเดียว” ที่จะใช้ตรวจสอบเอกภาพของรัฐบาล เพราะท่ามกลางภาวะระส่ำระสายของขั้วรัฐบาล ซึ่งปรากฏผ่านภาวะ “เสียงหาย” ในสภา และการ “บอยคอต” ไม่เข้าร่วมประชุม ครม.ของรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองบางพรรค

ฝ่ายค้านก็ยังมี “วิธีการต่อสู้แบบอื่นๆ” อยู่ในมือ เช่น การโหวตสนับสนุนร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านและโหวตคว่ำร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาล

“ฝ่ายค้านของพวกเราควรจะใช้จุดอ่อนของรัฐบาลตรงนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่แค่ในเชิงเทคนิคเหมือนการเช็กองค์ประชุม แต่เราสามารถรวมตัวกันที่จะโหวตกฎหมายของฝ่ายค้านให้ผ่าน ถึงแม้ว่าจะเป็นวาระแรกก็ตาม หรือวีโต้ (ยับยั้ง) กฎหมายของรัฐบาลได้ เพราะเขาอ่อนแออยู่

“ถ้าเกิดฝ่ายค้านรวมตัวกันเช็กองค์ประชุมบ้าง โหวตกฎหมายบ้าง ถ้าโหวตกฎหมายมันจะได้ทั้งเทคนิคและก็ได้ทั้งเนื้อหา ได้ทั้งตีรัฐบาล แล้วก็ประชาชนได้ประโยชน์ อย่างเช่นสุราก้าวหน้า อย่างเช่นสมรสเท่าเทียม อย่างเช่นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น”

ตามความเห็นของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชัยชนะในสภาที่เขาอยากเห็น คือ การเอาชนะกันในทางเนื้อหา ซึ่งประชาชนจะได้รับผลประโยชน์ตามไปด้วย

“เพราะฉะนั้น ในระบบประชาธิปไตย ก็ต้องใช้จุดอ่อนของรัฐบาลให้เป็นประโยชน์ต่อการคว้าชัยชนะที่มันเป็นน้ำเป็นเนื้อ และประชาชนได้ประโยชน์ ได้ทั้งเนื้อหาแล้วก็ได้เทคนิค ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องชนะแบบเทคนิคอย่างเดียวเหมือนที่ผ่านมา”

 

เมื่อถามความเห็นของทิม พิธา ถึงกรณีที่ร่างกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” และ “สมรสเท่าเทียม” ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูก ครม.นำไปพิจารณายื้อเวลาหรือ “ดอง” นาน 60 วัน

เขายอมรับว่า ตนเองทั้งรู้สึก “ผิดหวัง” และ “มีหวัง” ไปพร้อมๆ กัน

ที่ว่าผิดหวัง ก็เป็นเพราะร่างกฎหมายทั้งสองฉบับผ่านกระบวนการช่วยกันเขียน ช่วยกันคิด และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นอดีตพรรคอนาคตใหม่

แต่จนถึงบัดนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทั้งคู่กลับยังไปไม่ถึงการโหวตรับ/ไม่รับในวาระแรกด้วยซ้ำ

ทว่า อีกด้านหนึ่ง “ความหวังรางๆ” บางประการ ก็ปรากฏขึ้นในทัศนวิสัยของหัวหน้าพรรคก้าวไกล

“ขณะเดียวกัน ก็มีหวัง แล้วพูดกับพี่ธัญวัจน์ (ส.ส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์) ก็ดี พูดกับเท่าพิภพ (ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร) ก็ดี ว่ามันมีหวัง แสดงว่าเราเกาถูกที่คัน แสดงว่าเราโรยเกลือโดนแผล

“แล้วเขาไม่สามารถเถียงเราในเรื่องของเนื้อหาได้ว่ามันมีการผูกขาดผ่านกฎหมายผ่านการเสียภาษีจริง มันมีความไม่เท่าเทียมในสิทธิ ขณะที่ประเทศไทยชอบพูดว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานขั้นต่ำ ที่มีคนจำนวนมากยังไม่ได้เข้าสู่สิทธิในการสร้างครอบครัว ในการสร้างบ้าน ในการดูแลกันและกันจนวันสุดท้ายของชีวิต มันเป็นเรื่องจริง

“เรื่องจริงขนาดที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นด้วย แต่ไม่สามารถเถียงในเนื้อหาได้ ก็เลยใช้เทคนิคในการดอง แสดงว่าเรามาถูกทาง”

 

ท่ามกลางบรรยากาศที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอาจมีการเลือกตั้งใหญ่เกิดขึ้นไม่นานนับจากนี้ ทางรายการจึงสอบถามพิธาถึงความพร้อมในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และ “จุดแข็ง” ที่เขามีเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ

“ประกาศ (ว่าพร้อมเป็นแคนดิเดตนายกฯ) มาน่าจะหกเดือนเรียบร้อยแล้ว ผมคิดว่าจุดแข็งของผมก็คือว่าเป็นคนที่มีความร่วมสมัย ด้วยวัยที่อายุ 40 กว่าๆ ก็จะเข้าใจถึงคนที่มาก่อนผม แล้วก็เข้าใจคนที่กำลังมาหลังผม สามารถที่จะแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างในเรื่องของเจเนอเรชั่น ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมืองหรือวิกฤตสังคมได้

“ในอีกมุมหนึ่ง ก็ได้ทั้งต่างประเทศ แล้วก็ได้ทั้งต่างจังหวัด ก็คือทั้งทันสมัยในระดับต่างประเทศ เคยใช้ชีวิตไปเรียนมา แต่ขณะเดียวกัน ผมก็รู้ว่าพี่น้องเกษตรกรต้องเจออะไรมา เนื่องจากเคยประกอบธุรกิจการเกษตรมาก่อน…

“เจอกับประธานาธิบดีระดับโลกก็สามารถจะสื่อสารกับเขาได้อย่างทันที หรือถ้าจะเจอกับพี่น้องประชาชนในที่ทุรกันดาร ผมก็สามารถจะพูดคุยกับเขาได้ สามารถที่จะเอาตรงนี้มาทำให้เกิดฉันทามติในการเป็นผู้นำ และสามารถนำพาประเทศให้พ้นวิกฤตได้”

นี่คือคำประกาศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล