เถลิงเหลิงในอำนาจ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

เถลิงเหลิงในอำนาจ

 

ทันทีที่สื่อในออสเตรเลียกระพือข่าวบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า รัฐบาลไทยได้อนุมัติให้ “อัครา รีซอร์สเซส” บริษัทลูกได้กลับเข้าทำ “เหมืองแร่ชาตรี” ดังเดิม ในฐานะฝ่ายค้านผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ “จิราพร สินธุไพร” จากร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย จึงตั้งคำถามว่า

รัฐบาลไทยกำลังมีดีลใหญ่กับบริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อแลกกับการถอนฟ้องหรือไม่

รัฐบาลไทยนำทรัพยากรของชาติไปใช้ในการเจรจาต่อรองลักษณะนี้ถือเป็นการดีลที่เกินกว่าข้อพิพาทหรือไม่

และควรแล้วหรือที่ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะผลักความผิดของตัวเองให้ประชาชนและประเทศชาติรับผิดชอบแทน

ข้อเท็จจริงคือ การไต่สวนของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเสร็จสิ้นตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 และกำหนดอ่าน “คำชี้ขาด” ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ปรากฏในเดือนตุลาคม 2563 คณะกรรมการแร่ “เห็นชอบ” อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษให้บริษัทอัคราฯ สำรวจแร่ทองคำอีก 44 แปลง พื้นที่ 397,696 ไร่ ที่ อ.ชนแดน และ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

การอ่านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เลื่อนจาก 31 ตุลาคม 2564 เป็น 31 มกราคม 2565

ระหว่างเดือนธันวาคม 2564 นั้นเอง คณะกรรมการแร่ “เห็นชอบ” ต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำใหม่ ให้แก่อัคราฯ อีก 4 แปลง มีอายุตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2564-29 ธันวาคม 2574 ในพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง เพชรบูรณ์กับ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร รวมทั้งให้อัคราฯ กลับมาทำ “เหมืองแร่ชาตรี” ที่ถูก “ม.44 ประยุทธ์” สั่งหยุด

31 มกราคม 2565 อนุญาโตตุลาการเลื่อนอ่านคำชี้ขาดอีกครั้ง!

 

“อํานาจ” ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายทั้งยังเป็น “สิ่งจำเป็น” เพียงแต่ว่าอำนาจนั้น “มีที่มา” โดยชอบหรือมิชอบ และ “ถูกใช้ไป” ด้วยจุดประสงค์อันใด

แย่งยึด ช่วงชิงเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม หรือพิทักษ์ปกป้องเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

ในวัฒนธรรมที่พัฒนาแล้วจึงคิดค้นออกแบบ “วิธีการได้มา” ซึ่งอำนาจและจัดลำดับความสัมพันธ์ จัดสรรแบ่งปัน ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ตลอดจนกระจาย ลิดรอน ริบยึด และการถอดถอนออกจากอำนาจ

เดิมทีเดียว “ประยุทธ์” ก็แค่ ผบ.ทบ.อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่เมื่อก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ประยุทธ์กับคณะก็กลายเป็น “รัฏฐาธิปัตย์”

ความจริงแล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 บัญญัติว่า

ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ

โทษมีเพียง 2 ต้องประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น!

น่ากลัว จึงเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้น “นิรโทษกรรม” ความผิดทั้งหมดให้กับคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ชั่วลัดนิ้วมือเดียวในวันที่ 25 สิงหาคม 2557 อดีต ผบ.ทบ.ประยุทธ์ก็ผงาดขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” และเมื่อปลดกฎอัยการศึกออกก็เล่นเล่ห์เพทุบาย ใช้ “ม.44” จากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 แทนกฎอัยการศึก ประยุทธ์คึกคักใช้ “ม.44” สั่งเพลินไปเกือบ 140 คำสั่ง ซึ่ง 1 ในนั้นคือคำสั่ง “ปิดเหมืองทองคำ” ของบริษัทอัคราฯ ที่มีนามว่า “เหมืองแร่ชาตรี” เหมืองทองคำใหญ่ที่สุดในประเทศ กินพื้นที่ 3,500 ไร่ รอยต่อพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา

คิงส์เกตฯ ในออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่อัคราฯ ฟ้องทันที เนื่องจากในสายตาต่างชาติเห็นว่า “ม.44” ไม่ใช่กฎหมาย ไม่อาจยอมรับได้

 

คิงส์เกตฯ เรียกค่าเสียหายคิดเป็นเงินไทยราว 30,000 ล้านบาท

หลายฝ่ายทักท้วงว่าไทยเสียเปรียบ

“ม.44” ถูกใช้เป็นอาวุธมากกว่าจะเป็นกฎหมาย ไม่มีประเทศไหนทำกันที่ให้ “คนผู้หนึ่ง” มีและใช้อำนาจเบ็ดเสร็จทั้งนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ

คำถามสำหรับคนไทยคือ ถ้าแพ้คดีคิงส์เกตฯ ใครเป็นคนจ่ายค่าสินไหมทดแทน

“ม.44” แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 สิ้นมนต์ขลังลงเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกประกาศใช้

“ประยุทธ์” อาศัยรัฐธรรมนูญ 2560 แปลงโฉม “นายกรัฐมนตรีแห่ง คสช.” เป็น “นายกรัฐมนตรีแห่ง 250 ส.ว.” สืบทอดอำนาจมาอย่างต่อเนื่อง จากระหว่าง 25 สิงหาคม 2557-10 กรกฎาคม 2562 ต่อด้วยระหว่าง 10 กรกฎาคม 2562-ปัจจุบัน กำลังจะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้

แต่เรื่องตลกโปกฮาประเภทศรีธนญชัยเกิดขึ้นได้เสมอในประเทศที่ “อำนาจ” ถูกใช้อย่างบิดเบือนไป ใช้เพื่อแย่งยึด ช่วงชิง และปกป้องผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียว

หลังจากมีข่าวไทยเปิดเหมืองแร่ทองคำให้อัคราฯ แลกกับ “การถอนคดี” จากอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาล คสช.ไม่ได้ไปยกเลิกหรือไปยึด เพียงแต่ให้หยุดไว้ก่อน เมื่อกฎหมายแร่ฉบับใหม่ออกมาก็ให้มาขออนุญาตได้

 

ประยุทธ์เก็บตัวและปิดปากสนิทจากกรณีพิพาทกับคิงส์เกตฯ

“กฎหมาย” คือกฎเกณฑ์ทางพฤติกรรมสูงสุดที่จะกำหนดว่า ใครทำอะไรได้หรือไม่ได้แค่ไหนอย่างไร จะว่าไปแล้วที่ต่างชาติไม่ยอมรับการใช้ “ม.44” ของประยุทธ์นั้นก็ถูกต้องแล้ว เพราะ “รัฏฐาธิปัตย์” ไม่ใช่กฎหมาย

รัฏฐาธิปัตย์เป็นบทจำนนของคนแพ้!

“รัฏฐาธิปัตย์” ไม่ได้มาจากการตกลงยินยอมพร้อมใจของหมู่มวลสมาชิกหรือประชากร แต่เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งใช้กำลังเป็นอำนาจเข้าหักหาญช่วงชิงแล้วก็ได้ชัยชนะ ซึ่งถ้าหากแพ้คนกลุ่มเดียวกันนั้นก็กลายเป็น “กบฏ” โทษทางอาญาในกฎหมายไทยมีเพียง 2 สถานคือ ประหารชีวิต กับจำคุกตลอดชีวิต

ตอนที่ใช้ “ม.44” สั่งให้อัคราฯ หยุดทำเหมืองทองคำเมื่อ 1 มกราคม 2560 นั้นอาจรู้สึกว่าง่ายดุจพลิกฝ่ามือ ไม่อันตรายเหมือนทำรัฐประหาร

แต่การยืนอยู่ในเวทีโลกได้ต้องใช้ปัญญา

“อำนาจ” ทุกชนิดต้องมีความชอบด้วยกฎหมาย อย่ามักง่าย คิดนึกทึกทักเอาเหมือนกับที่ใช้อำนาจเข้าปราบปรามเด็กๆ ที่คิดต่างพร้อมกับกล่าวหาว่ากระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 113

ทั้งๆ ที่ในประวัติศาสตร์ไม่เคยมี “คนมือเปล่า” ล้มล้างการปกครอง ฉีกรัฐธรรมนูญ รวบอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เอาไว้ในมือคนคนเดียว!?!!