ฐากูร บุนปาน : ความยับยั้งชั่งใจ-ไม่หยามเหยียดกดขี่เพศแม่

ข้อสังเกตประการหนึ่ง หลังเหตุการณ์วันที่ 25 สิงหาคม ก็คือ

ที่เห็นได้ชัดว่าหายไปจากสังคมไทย พร้อมกับการหายตัวของ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ก็คือเมตตา

หรืออีกชื่อหนึ่งว่าการเห็นคนอื่นเป็นคนเหมือนและเท่ากับตัวเอง

เพราะไม่ว่าจะเป็นครูบาอาจารย์

นักเขียนชั้นกวีรุจีรัตน์

ผู้มีเชื้อมีสาย

กระทั่งผู้ (ที่คล้ายจะ) ทรงศีล

ฯลฯ

รวมไปถึงกองหนุนกองเชียร์ของท่านเหล่านี้

ล้วนแสดงออกถึงความสะใจหรือความยินดีปรีดาที่เกินกว่าระดับปกติ

และเพื่อความสะใจหรือยินดีนั้น

หลายท่านพร้อมสละสิ่งที่ยึดถือกันว่าเป็นคุณค่าหรือความดีงามอันพึงยึดถือ หรือเคยประกาศตัวว่ายึดถือ

เช่น

ความสุภาพอ่อนโยน

การไม่หยามเหยียดหรือกดขี่เพศแม่

ความยับยั้งชั่งใจ

ฯลฯ

ถ้าไม่ใช่เพราะไม่เมตตาต่อกัน

หรือเพราะไม่ได้เห็นว่าเป็นคนเท่ากัน

ทำแบบนี้ไม่ได้นะครับ

อันที่จริงจะบอกว่าความเมตตาหรือความปรารถนาดีที่มีต่อกันเพิ่งจะหายไปก็ไม่ถูกต้องทีเดียวนัก

สังคมไทยเผลอทำคุณสมบัติข้อนี้ตกหล่นไปหลายหน (ทั้งโดยเจตนาหรือว่าจะเพราะด้วยความเคยชิน)

โดยเฉพาะในเวลาที่ความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งสูง

เอาเฉพาะในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย

ฆ่ากันในสงครามคอมมิวนิสต์นั่นใช่

6 ตุลา ก็ใช่

พฤษภาคม 2535 นั่นก็ใช่

และที่เพิ่งผ่านไปหมาด ชนิดรอยเลือดในใจยังไม่กรัง

ก็คือกรณีร้อยศพ 2553

ถ้ามีเมตตาต่อกัน (อย่างที่พยายามจะแสดงให้โลกเห็น)

หรือถ้าเห็นว่าคนเป็นคนเท่ากัน (ซึ่งพยายามจะยืนยันหรือปลอบใจตัวเองอย่างนั้น)

เราจะกระทำต่อกันเช่นนี้ได้ลงคอหรือ

ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณยิ่งลักษณ์ อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องเฉพาะตัวก็ได้

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนประกอบหนึ่งในภาพใหญ่ของความขัดแย้งในสังคมไทย

ก็เริ่มจากไม่เมตตาต่อกัน ไม่เห็นว่าเป็นคนเหมือนกัน-เท่ากันเสียแล้ว

ที่จะพูดดีต่อกันนั้นไม่มี

มีแต่จะประณาม หยามเหยียด หรือกดให้อีกฝ่ายหนึ่งต่ำลงไป

เป็นปิศาจ เป็นอสุรกาย หรือเป็นยักษ์เป็นมาร

พูดกันมากๆ เข้า ก็เผลอเชื่อเอาว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ

จากพูดเฉยๆ ก็ขยับปรับระดับขึ้นไปให้หนักข้อขึ้น รุนแรงขึ้น

สุดท้ายถึงได้ฆ่า (หรือสั่งฆ่า) กันกลางเมืองได้แบบหน้าตาเฉย

ไอ้ที่ไม่ชอบหน้ากันอยู่แล้วก็เพิ่มระดับของความเกลียดชังมากขึ้น

แล้วมันจะกลับคุยกันรู้เรื่องไหม

มันจะต้องกินเวลาอีกเท่าไหร่ ถึงจะทำให้สังคมพร้อมจะ “ลืม” หรือก้าวข้ามความรุนแรงที่กระทำต่อกันนี้ได้

จะต้องรอไปอีกชั่วอายุคน จนกว่าคนรุ่นนี้จะล้มหายตายจากไปกันหมดก่อนหรือไม่

หรือจะมีข้อตกลงอะไรบางอย่างร่วมกัน จนมีกลไกที่ทุกฝ่าย “พอรับได้”

เพื่อมาจัดการกับความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นมาถึงขั้นเป็นความเกลียดชังนี้ให้ได้

ก่อนจะเพลิดเพลินกับการฆ่ากันไปทั้งสองข้าง

ความไม่เมตตาหรือการเห็นคนไม่เท่ากันนั้น

ไม่ได้มีแต่ฝ่ายหนึ่งหรือสีหนึ่งปฏิบัติต่ออีกฝ่ายหนึ่งอีกสีหนึ่งเท่านั้น

แม้กระทั่งในสีหรือกลุ่มเดียวกันก็มี

มีตัวอย่างให้เห็นอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่ายครับ

ยกตัวอย่างขึ้นมา เดี๋ยวจะกลายเป็นเพิ่มระดับความเกลียดชังมากขึ้นไปอีก

เอาเป็นว่า ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะได้เห็นได้ยินอยู่แทบทุกวัน

ท่านไหนหรือองค์กรใดที่อยากจะทำให้ “ความปรองดอง” เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ฝากประเด็นนี้ไปขบด้วย

ส่วนที่มีญาติมิตรตั้งคำถาม (ที่ตอบยาก) ว่า การเมืองไทยหรือสังคมไทยหลังจากที่ไม่มีคุณยิ่งลักษณ์ (หรือบางคนบอกว่าหมดยุค “ชินวัตร” ไปแล้ว)

จะมีหน้าตาอย่างไร

ดีขึ้น-แย่ลง

ด้วยข้อมูลและสติปัญญาที่มีอยู่วันนี้ ขออนุญาตผัดไปก่อนครับ

อย่างน้อยก็จนกว่าจะได้ยินว่าฝ่ายที่หายหน้าไปจะสื่อสารกับสาธารณชนอย่างไร

และปฏิกิริยาตอบรับ (จากทุกฝ่าย) จะเป็นอย่างไร

รวมไปถึงว่า เราทุกคนได้ “บทเรียน” จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

หนังชีวิตน่ะครับ ต้องดูกันยาวๆ