ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 กุมภาพันธ์ 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว |
ผู้เขียน | มุกดา สุวรรณชาติ |
เผยแพร่ |
หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
มุกดา สุวรรณชาติ
เลือกผู้ว่าฯ กทม…
เลือกคน… หรือเลือกข้าง (1)
เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งแรก
เจอรัฐประหาร เว้น 10 ปี
คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในการประชุมสัปดาห์หน้า ถือเป็นการลดแรงกดดันทางการเมืองเฉพาะหน้า ทำให้การว่างเว้นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นานถึง 9 ปี เกือบทำสถิติเท่ายุคหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2518 ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนแรก ด้วยคะแนนเสียง 99,247 คะแนน โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงร้อยละ 13.86
แต่นายธรรมนูญถูกปลด เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้
ทำให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของคณะรัฐประหาร ปลดออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2520 ภายใต้เผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบ มีการแต่งตั้งผู้ว่าฯ อีก 4 คน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2528 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติให้ความเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง
ถือว่าเว้นไป 10 ปี จึงมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2528
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในนาม “กลุ่มรวมพลัง” (เข้าสู่วงการเมืองเป็นเลขาธิการนายกฯ เปรม ติณสูลานนท์ ช่วงปี 2522) ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยคะแนนเสียง 408,237 คะแนน มากกว่านายชนะ รุ่งแสง จากประชาธิปัตย์ซึ่งได้เพียง 241,002 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 34.65
ยุคนิยมตัวบุคคล
7 มกราคม พ.ศ.2533 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งลงสมัครในนามพรรคพลังธรรม ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยคะแนนเสียง 703,672 คะแนน ชนะนายเดโช สวนานนท์ จากพรรคประชากรไทยซึ่งได้คะแนนเพียง 283,895 คะแนน และที่ได้คะแนนน้อยที่สุดก็คือ ปชป.ได้เพียง 60,947 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 35.85
การเลือกตั้งครั้งต่อมามีขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2535 เนื่องจาก พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ลาออกจากตำแหน่ง (ก่อนพฤษภาทมิฬ) แต่หนุน ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าฯ กทม. ลงสมัคร ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 363,668 คะแนน ชนะ ดร.พิจิตต รัตตกุล จาก ปชป.ได้คะแนน 305,740 คะแนน ส่วนประชากรไทยได้เพียง 70,000 คะแนนเท่านั้น การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิ์เพียงร้อยละ 23.02
เมื่อ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี จึงมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2539 โดย ดร.พิจิตต รัตตกุล ผู้สมัครในนาม กลุ่มมดงาน ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน (49.47%) โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คิดเป็นร้อยละ 43.53 ของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด
ในครั้งนี้ ดร.พิจิตตที่เคยพ่ายแพ้ในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งก่อน ได้คะแนนมากสูงสุดตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งอาจวิเคราะห์ได้ว่าน่าจะเป็นเพราะความตั้งใจ และการสมัครอิสระ ส่วน พล.ต.จำลองได้คะแนน 514,401 คะแนน และ ร.อ.กฤษฎาได้คะแนนเพียง 244,002 คะแนน เพราะลงแข่งตัดคะแนนกันเองทำให้ ดร.พิจิตตสามารถชนะการเลือกตั้งได้ไม่ยาก
เมื่อ ดร.พิจิตต รัตตกุล ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี จึงมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2543 ก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีขึ้นในต้นเดือนมกราคม 2544
ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยได้เปิดตัวแล้วแต่ยังไม่มีชื่อเสียงมาก เพราะเป็นพรรคใหม่จึงได้ส่งสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.แข่งกับนายสมัคร สุนทรเวช
นายสมัครได้คะแนน 1,016,096 คะแนน (45.85%) สุดารัตน์ได้เพียง 521,184 คะแนน ส่วน ปชป.ได้เพียง 247,650 คะแนน โดยมีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งถึงร้อยละ 58.87
นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีผู้มาลงคะแนนเกินกว่าร้อยละ 50 และมีผู้ว่าฯ ได้คะแนนเกิน 1 ล้าน
มีผู้วิเคราะห์ว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายขวา
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มีการแปรเปลี่ยนคะแนนเสียงที่รวดเร็วมาก ยกตัวอย่างความนิยมของ พล.ต.จำลองเคยขึ้นสูงสุดถึงเจ็ดแสนและต้องมาพ่ายแพ้ได้เพียงห้าแสนคะแนน หลังจากนั้นสนับสนุนใครก็ไม่ได้รับชัยชนะ ปชป.ซึ่งเคยตกต่ำเหลือเพียง 60,000 คะแนน และไต่กลับขึ้นไปได้ 250,000 คะแนน เมื่ออยู่ในสถานการณ์การเมืองที่เหมาะสม
พรรคประชากรไทยเคยได้ประมาณ 1-2 แสนคะแนน แต่วันที่นายสมัครมาลงเองเมื่อชาวบ้านอยากทดลองก็สามารถทำคะแนนได้ถึงหนึ่งล้านคะแนน
การเลือกข้างและการก่อตัวของกลุ่มอนุรักษนิยม
เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีจึงมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2547 ช่วงนั้น พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งครั้งแรกปี 2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ ส.ส.ใน กทม.ถึง 29 คน คะแนนพรรค 1,131,510 คะแนน ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ส่วน ปชป.ได้ ส.ส.ใน กทม. 8 คน ได้คะแนนพรรค 718,167 คะแนน เป็นฝ่ายค้าน
ผ่านไป 3 ปี ปชป.ได้ทุ่มกำลังเข้ายึดตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ที่มั่นสุดท้ายอย่างเต็มที่ ส่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ลงแข่งสามารถทำคะแนนได้ถึง 911,441 คะแนน ขณะที่ปวีณา หงสกุล ซึ่งลาออกจากชาติพัฒนา ได้ 619,039 คะแนน แม้จะสมัครในนามกลุ่มอิสระแต่ก็เป็นที่รู้กันว่าพรรคไทยรักไทยสนับสนุนคะแนนของปวีณาจึงพุ่งขึ้นเท่ากับคะแนนของพรรคไทยรักไทย
จำนวนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง คิดเป็น 62.5%
ผู้สมัครอิสระที่เด่นจริงๆ คือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้คะแนนถึง 334,168 คะแนน
หลังการรัฐประหาร 2549 ไม่มีการปลดผู้ว่าฯ กทม. แต่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ 5 ตุลาคม 2551 ใช้ พ.ร.บใหม่ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเข้าไปมีบทบาทดูแลการเลือกตั้ง ทั้ง กกต.กลาง และ กกต.กทม. จากเดิมเป็นหน้าที่ของปลัดกรุงเทพมหานคร
ผู้สมัครต้องจ่ายเงินค่าสมัครเพิ่มขึ้นจากเดิม 5,000 บาท เป็น 50,000 บาท
ต้องมีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ ไม่น้อยกว่า 1 ปี
ผลการเลือกตั้ง นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ คนเดิมจากพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนน 991,018 คะแนน นายประภัสร์ จงสงวน จากพรรคพลังประชาชนซึ่งเปลี่ยนชื่อจากไทยรักไทยที่ถูกยุบได้คะแนน 543,488 ที่ 3 ยังเป็นนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ 340, 616 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ์ 54.17%
แต่ 12 พฤศจิกายน 2551 ป.ป.ช.มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6,687 ล้านบาท นายอภิรักษ์จึงลาออก
11 มกราคม 2552 มีการเลือกตั้งใหม่ ปชป.ส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงแข่งชนะการเลือกตั้งได้คะแนน 934,602 คะแนน พรรคพลังประชาชนส่งยุรนันท์ ภมรมนตรี ได้คะแนน 611,669 คะแนน ส่วนที่ 3 คือ ม.ร.ว.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือหม่อมปลื้ม ได้คะแนน 334,846 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิ์ร้อยละ 51 หรือประมาณ 2,120,000 คน
คะแนนของพรรคไทยรักไทยกล่าวได้ว่ายืนพื้นฐานอยู่ที่ 5-6 แสนคะแนนทั้งสามครั้ง ส่วน ปชป.ได้คะแนนเกิน 9 แสนทั้ง 3 ครั้ง ผู้มาใช้สิทธิ์ทั้ง 8 ครั้ง นับจากปี 2528-2552 เฉลี่ยแล้วประมาณ 45.3% เท่านั้น
การเลือกข้างเริ่มชัดเจนเมื่อมีการเคลื่อนไหวของพันธมิตรเสื้อเหลือง จนถึงหลังการรัฐประหาร 2549 และยิ่งชัดเจนหลังการล้อมปราบการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553