ความรัก สังคมไทยและพระตรีมูรติ (again and again) | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
Brahma, Vishnu and Shiva seated on lotuses with their consorts, Saraswati, Lakshmi and Paravati respectively. ca 1770. Guler, India.

พอใกล้วันวาเลนไทน์ หรือเทศกาลแห่งความรัก สื่อต่างๆ ก็ยังคงติดตามเรื่องกระแสผู้ไปกราบไหว้พระตรีมูรติ หรือที่จริงคือเทวรูปพระสทาศิวะที่หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์อยู่ ผมและนักวิชาการที่พูดถึงเรื่องนี้บ้างก็มีสื่อมาชวนคุยเรื่องเดิมๆ เช่นนี้ทุกปี

จะว่าเบื่อก็ไม่เบื่อหรอกครับ เพราะอาชีพผมมันก็ต้องตอบคำถามชาวบ้านเขา รู้จริงบ้าง จำเขามาตอบบ้าง

พี่คนหนึ่งบอกว่าที่จริงอาชีพที่เรียกว่าวิชาการก็คล้ายการตอแหล เราอาจรู้ห้าสิบต้องตอบแปดสิบ เพราะต้องอธิบายขยายความให้เขาเข้าใจ จะหาคนรู้ร้อยพูดร้อยก็ยากจริงๆ บางคนรู้ร้อยแต่ไม่พูด หรือพูดแค่ยี่สิบก็มี

ดังนั้น ถ้ารู้ยี่สิบตอบเจ็ดสิบอาจน่าเกลียดไปหน่อย แต่ถ้ารู้ห้าสิบตอบหกสิบเจ็ดสิบก็ไม่น่าเกลียดจนเกินไป (ฮา)

ทว่าปีนี้สนุกกว่าเดิมนิด เพราะมีประเด็นที่เปลี่ยนไปบ้าง กล่าวคือ หลังจากมีการเผยแพร่ไปว่า เทวรูปที่เรียกว่าพระตรีมูรติที่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์นั้น ที่จริงคือพระสทาศิวะตามหลักประติมานวิทยา

ไม่ใช่พระตรีมูรติอย่างที่เคยเข้าใจ

ประเด็นใหม่จึงกลายเป็นว่า มีพระตรีมูรติแท้ๆ ประดิษฐานอยู่ที่ไหน พระศิวะทรงประทานเรื่องความรักไหม ตกลงเทพองค์ใดในศาสนาฮินดูที่เกี่ยวข้องกับความรัก ฯลฯ ซึ่งก็สนุกดี

ไหนๆ วันนี้ผมเลยอยากจะมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง แต่อาจมีแง่มุมแตกต่างไปนิดหน่อย

 

ที่จริงผมเขียนเรื่องตรีมูรติไปแล้วสามตอนต่อเนื่องกัน มีรายละเอียดอยู่ หากท่านสนใจก็สามารถกลับไปย้อนอ่านจากมติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์ได้ ทั้งนี้ ผมก็อยากสรุปไว้เผื่อใครจะคร้านตามไปอ่านจากบทความเดิม

ตรีมูรติ แปลว่าสามรูป ซึ่งเป็นแนวคิดที่พัฒนาขึ้นในยุคปุราณะ ไม่ได้เป็นความคิดที่เก่าถึงยุคพระเวท ในทางปรัชญาตรีมูรติมีความหมายถึงการที่พระเจ้าหรือพลังสูงสุดได้แบ่งหน้าที่ออกเป็นสามอย่าง คือ พลังของการก่อกำเนิด พลังของการรักษา พลังของการทำลายหรือหมุนเวียน

ดังนั้น ตรีมูรติ จะหมายถึง คณะเทพเจ้าสามพระองค์ก็ได้ เช่น พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ หรือจะหมายถึงพระเจ้าองค์เดียว ที่นับถือว่าเป็นเทพสูงสุดในแต่ละนิกายแต่สำแดงพระองค์เป็นสามภาค เช่น พระศิวะหรือพระวิษณุ ที่สำแดงพระองค์เป็นภาคผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลายก็ได้

จะรวมกันเป็นร่างหนึ่งเดียว หรือจะแยกเป็นสามองค์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับแนวคิดและการสร้างของช่างแต่ละยุคสมัย

 

แม้พระตรีมูรติมักจะถูกนิยามว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดของศาสนาฮินดู แต่ก็เป็นแนวคิดหนึ่งเท่านั้น ที่จริงพระเจ้าองค์ใดจะเป็นพระเจ้าสูงสุดต่างก็ขึ้นอยู่กับคัมภีร์หรือการอธิบายของแต่ละนิกาย

ในความเชื่อฮินดู นอกจากมีตรีมูรติแล้ว ยังมี “ตรีศักติ” คือ “พลังสาม” ซึ่งเป็นอิตถีภาวะหรือพลังของเทพสตรี อันเป็นพลังอันเคลื่อนไหว สรรค์สร้าง ไม่หยุดนิ่ง สะท้อนออกมาในเทวีสามองค์ ซึ่งมักอ้างตามเทวตำนานว่าเป็นชายาของพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระสุรัสวดี ชายาพระพรหม พระลักษมี ชายาของพระวิษณุ และพระปรรวตี ชายาของพระศิวะ หรือบางครั้งก็อาจหมายถึงเทวีองค์อื่น เช่นกาลีก็มี

พลังทั้งสามนี้ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับเทพบุรุษทั้งสาม ตามคติความเชื่อของฝ่ายศากตะหรือนิกายที่นับถือเทวี พลังเหล่านี้ก่อกำเนิดจากจากพลังสูงสุด อาจเรียกว่า อาทิปรศักติ คือพระเจ้าในฐานะอิตถีภาวะ ส่วนฝ่ายบุรุษมักเรียกว่า อีศวร ที่แปลว่าพระเจ้า หรืออาทิปุรุษะ แปลว่า บุคคลดั้งเดิม หรือพลังงานเดิมในฐานะบุคคล (บุรุษ)

ส่วนตรีมูรติจะเกี่ยวกับความรักโดยตรงหรือไม่ หากว่ากันโดยเทวตำนาน ก็อาจไม่ได้เป็นเทพที่ประทานพรความรักโดยตรง เพราะตามเทวตำนานอินเดียมีกามเทพเป็นตัวแทนของความรักอยู่แล้ว แต่ประเพณีการบูชากามเทพไม่ได้แพร่หลาย ปรากฏเล็กน้อย เช่น มนต์สั้นๆ บางบทหรือพิธีกรรมบางอย่าง

ดังนั้น ที่จริงแล้ว คนฮินดูขอพรความรักจากเทพองค์ใด คำตอบที่ง่ายๆ คือ นับถือองค์ใดก็พรจากเทพองค์นั้น

 

บางท่านกล่าวว่า ดูเหมือนพระเทวีต่างๆ น่าจะสัมพันธ์กับการขอพรเรื่องความรัก เช่น มักมีการให้เด็กสาวบูชาพระเทวีตุลสี (ต้นกะเพรา) ประจำบ้านเพื่อขอให้มีคู่ครองที่ดี หรือพระเทวีมีความใกล้ชิดกับชาวบ้านมากกว่าเทพบุรุษโดยเฉพาะกับชาวบ้านผู้หญิง จึงน่าจะขอพรกันได้สะดวกในเรื่องโลกย์ๆ

อีกทั้งพระเทวีก็สะท้อนความสุขทางโลกอยู่แล้ว เรื่องความรักนี่จึงสัมพันธ์กับท่านโดยตรง

คำถามถัดมาคือ บรรดาคนที่เขาไปไหว้ “พระสทาศิวะ” ที่หน้าห้างนั้น เขาจะได้พรเรื่องความรักไหม

ที่จริงผมเคยกล่าวว่า พระศิวะเผากามเทพในเทวตำนานนั้น ก็เป็นเชิงสัญลักษณ์ความเป็น “นักบวช”ของพระศิวะ ที่ต้องบำเพ็ญตบะ (ย่าง เผา) ความรักหรือ “กาม” นั่นแหละ

ในขณะเดียวกัน พระศิวะก็มีภาคที่เป็นหัวหน้าครอบครัวหรือสามีด้วย ในแง่นั้นพระองค์ปรากฏในรูป “พระสรเวศวร” หรือพระเป็นเจ้าของสรรพสิ่ง และ “พระกาเมศวร” พระเป็นเจ้าแห่งกามะ

ดังนั้น หากจะไหว้พระศิวะเพื่อขอพรความรักก็ย่อมได้ แต่นั่นแหละครับ โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหากับใครทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะไหว้ใครที่ไหนอย่างไร เพราะนั่นเป็นสิทธิในความเชื่อตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น อันนี้เป็นจุดยืนของผมมาโดยตลอด

กระนั้น ในฐานะคนทำงานวิชาการ สิ่งใดที่เป็นหลักวิชาหรือความรู้ ก็คงต้องนำมาบอกมากล่าวกันเป็นปกติ

อ่อ อีกอย่างครับ แม้ว่าทุกคนจะมีสิทธิในความเชื่อของตนเอง แต่ก็มิได้หมายความว่า สิทธิหรือความเชื่อของเราจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ อันนี้มักเข้าใจผิดว่า ถ้าเป็นสิทธิแล้วคนอื่นจะพูดถึงไม่ได้เอาเสียเลย คนอื่นที่เขาไม่เชื่ออย่างเรา ไม่เห็นด้วยอย่างเรา ก็มีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดียวกัน

 

ที่จริงสังคมไทยมีความลื่นไหลของสัญญะอยู่สูงมาก แม้แต่ในสมัยโบราณ รูปเคารพของศาสนานึงอาจกลายเป็นสัญญะหรือตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างศาสนาหรือต่างความเชื่อ เช่น เทวรูปพระนารายณ์กลายเป็นเจ้าพ่อหลักเมืองในศาลแบบจีนของสุพรรณ พระพุทธรูปกลายเป็นเจ้าพ่อต่างๆ หรือแทนตัวคนตาย พระเทวกรรมที่เอารูปลักษณ์พระคเณศไปใช้ ฯลฯ

ดังนั้น พระสทาศิวะจะกลายเป็นพระตรีมูรติก็เป็นอะไรที่เข้าใจได้ ทว่าความแตกต่างกับโลกโบราณคือ ในปัจจุบันมีอำนาจหรือกระแสของชุดความรู้หลายชุด มาปะทะกับตัวความเชื่อ

เช่น แม้คนส่วนหนึ่งจะนับถือเทวรูปหน้าห้าวเซ็นทรัลเวิลด์ว่าเป็นพระตรีมูรติ แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีชุดความรู้ทางประติมานวิทยามาโต้แย้ง หรือจากระบบคัมภีร์ฮินดูที่แตกต่างกัน

สิ่งเคารพจึงไม่ได้มีความหมายเดียวอีกต่อไป และไม่มีอำนาจจากที่เดียวมาผูกขาดการกำหนดความหมายอีกแล้ว มันจึงนำไปสู่การช่วงชิงความหมายสำหรับผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่ม

กลุ่มผู้ประกอบการที่ราชประสงค์ก็อาจอยากให้ความหมายของเทวรูปหน้าห้างนี้เป็นอย่างหนึ่ง เผื่อจะดึงผู้คนมายังที่นั่นให้มาก

ในขณะที่ห้างอื่นก็อาจแย้งว่า ฉันมีของที่ “แท้” กว่า ฉะนั้น พวกเธอควรมาสักการะของแท้ คนที่ไปสักการะก็คงสร้างความหมายที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย

ความซับซ้อนของการสร้างความหมายนี้ยังเกี่ยวกับระบบทุน ทั้งในแง่แรกดันต่อผู้ถืออำนาจทุนและผลกระทบบรรดาคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ภายใต้ระบบนั้น

สุดท้าย ผมคิดว่าจากสถานการณ์ที่ปรากฏ คำถามที่สำคัญสำหรับผมคือ การมีผู้คนที่ออกไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อขอความรักเป็นจำนวนมากนี้

เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน

เป็นสังคมที่ผู้คนสิ้นหวังขนาดไหน