คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน (3) / ท่าอากาศยานต่างความคิด : อนุสรณ์ ติปยานนท์

ท่าอากาศยานต่างความคิด

อนุสรณ์ ติปยานนท์

[email protected]

 

คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้าน (3)

 

ความเข้าใจผิดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นง่ายเหลือเกินในชุมชนที่มีระเบียบ

เมื่อใดก็ตามที่รูปลักษณ์ การแสดงออก คำถาม หรือบทสนทนาที่ไม่คุ้นชินบังเกิดขึ้น ความเข้าใจผิดมักเป็นสิ่งที่ติดตามมา

คำว่า “คนที่เคยเข้าป่า” ในความหมายของผมและพี่ต่อจึงมีความหมายต่างกันลิบลับแม้ว่าจะเขียนเหมือนกันทุกถ้อยคำก็ตาม

หลังความเข้าใจผิดครั้งนั้น ทุกสิ่งที่ไม่คุ้นชินล้วนถูกผมจดใส่สมุดบันทึกเพื่อประมวลผล

ไล่เรียงตั้งแต่ชื่อของสัตว์หลายชนิดที่มีชื่อพื้นถิ่น การจะนำสัตว์เหล่านั้นไปปรุงอาหาร หากเราไม่เข้าใจชื่อของมันอาจต้องใช้เวลาในการอธิบายหรือค้นหาวิธีการปรุงมากกว่าปกติ

อาทิ ปลานางนั้นหมายถึงปลาเนื้ออ่อน ปลายอนหมายถึงปลาสังกะวาด ปลาปึ่งหมายถึงปลาเทโพ ปลาซวยหมายถึงปลาสวาย เป็นต้น

หรือในกรณีของผัก อีเลิดหมายถึงต้นชะพลู อีตู่นั้นคือแมงลัก ส่วนหอมเปนั้นคือผักชีใบเลื่อย

ตลาดสดที่ลำปาวนั้นเต็มไปด้วยปลาและผักมากมายที่ใช้ซื้อหากันด้วยภาษาถิ่น

การเข้าใจชื่อเรียกขานเช่นนี้จึงมีประโยชน์ในการสื่อสารความเข้าใจ

และการใช้ภาษาถิ่นดังกล่าวยังทำให้ผมในฐานะ “คนนอก” ถูกนับเข้าเป็น “คนใน” ในเวลาอันรวดเร็วด้วย

 

การเป็น “คนใน” นั้นสำคัญในแง่ที่ว่าหลายต่อหลายอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นจะไม่เกี่ยวข้องกับเราเลยหากเราไม่ถูกนับเป็น “คนใน”

งานบวช งานแต่งงาน งานพิธีกรรมต่างๆ ไปจนถึงข่าวสารในระดับชุมชนจะลอยผ่านหัวของเราไปหากเราไม่ถูกนับเช่นนั้น

ผู้คนจะรู้สึกเคอะเขินเมื่อต้องทำการสนทนาหรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วยกับบุคคลที่ไม่ใช่ “คนใน” ไม่นับไปถึงความไม่ไว้วางใจต่างๆ ที่จะบังเกิดมีในอนาคต

สภาพการออกไปตระเวนดูปลากับพี่ต่อแทบทุกวันที่ท่าเรือเขื่อนลำปาวทำให้ความกังวลสงสัยว่าผมกับพี่ต่อนั้นทำอะไรเป็นอาชีพกันแน่ ในส่วนของพี่ต่อนั้นอาจไม่มีคำถามมากนัก แต่สำหรับผู้มาใหม่ที่แลดูเป็นคนว่างงานที่ในแต่ละวันไม่เดินไปเดินมาก็นั่งอ่านหนังสือหลายต่อหลายชั่วโมงหน้าบ้านน่าจะก่อให้เกิดคำถามในใจของใครหลายคน

มันยากที่จะอธิบายว่าการเขียนหนังสือคืองานของผมโดยเฉพาะการเขียนหนังสือในยามค่ำที่ทุกคนเข้าสู่การหลับนอนพักผ่อนกันหมดแล้ว

หนึ่งทุ่มตรงแทบจะเป็นเวลาที่ชาวบ้านส่วนใหญ่กินอาหารค่ำพร้อมหน้ากัน ในขณะที่ผมเพิ่งดื่มกาแฟแก้วสุดท้ายเสร็จและปิดสมุดบันทึกงานเขียนลง

และในเวลาที่ทุกคนในหมู่บ้านเปิดโทรทัศน์เตรียมชมละครหลังข่าว จะเป็นเวลาที่พี่ต่อหิ้วเครื่องดื่มส่วนตัวมานั่งลงที่แคร่หน้าบ้านของผม

วิถีชีวิตที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกับขนบทั่วไปของคนทั้งหลายสร้างคำถามจนแม้แต่ร้านอาหารจานเดียวที่ผมฝากท้องบ้างเป็นครั้งคราวในถนนถัดไปเคยเอ่ยถามผมทีเล่นที่จริงว่า “เจ้าเป็นสายสืบบ่?”

ความสงสัยเหล่านี้หายไปหลังจากผมผูกมิตรกับพี่ต่อไม่นานนัก ในตอนแรกผมคิดว่าเป็นเพราะทุกคนรู้สึกว่าแม้วิถีชีวิตของผมจะดูแปลกแตกต่างออกไป แต่การที่พี่ต่อยอมคบผมเป็นเพื่อนนั่นหมายถึงว่าผมไม่มีอะไรที่ปิดบังซ่อนเร้นให้น่าห่วงต่อชุมชน

ทว่าคำตอบที่แท้จริงไม่ใช่เช่นนั้น การวางใจในความเป็นผมเกิดจากการที่พี่ต่อเล่าให้ใครต่อใครฟังว่าผมทำงานให้กับ “กรมประมง” โดยมีหน้าที่คอยตรวจตราพันธุ์ปลาหายากในเขื่อนลำปาวไม่ให้หมดหรือสูญพันธุ์ลง

คำบรรยายสรรพคุณของผมจากปากคำพี่ต่อลามลุกไปดังไฟไหม้ทุ่ง ไม่ช้านานมันก็ป่วยการที่ผมจะเล่าถึงงานอาชีพของตนเองและยอมรับสภาพ “นักประมงจำเป็น”

ทุกครั้งที่ซ้อนท้ายรถเครื่องไปเขื่อนกับพี่ต่อ คำทักทายเมื่อกลับเข้ามาในหมู่บ้านของผู้คนคือ “วันนี้ได้ปลาอะไรแปลกๆ มาวิจัยบ้างไหมคุณ?”

 

การมีตำแหน่งแห่งที่หรือ Place ในชุมชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ นั่นคือความจริงที่ผมได้ประจักษ์จากการพำนักอยู่ในบ้านโนนบุรี สหัสขันธ์ คุณคือใคร เป็นญาติกับใคร หรืออย่างน้อยรู้จักกับใครในพื้นที่นั้นบ้าง

ความเป็นคุณเช่นนี้คือสิ่งที่ต้องประกาศตน มันไม่ใช่เป็นเรื่องของความสอดรู้สอดเห็นหรือการแส่ส่ายในเรื่องส่วนตัว

แต่มันคือการสร้างความเข้าใจเพื่อจัดวางคุณลงในพื้นที่ของความนึกคิดที่เขาจะอธิบายตัวคุณได้

เช่น คุณเป็นครู เป็นพนักงานธนาคาร เป็นอนามัยตำบล ไปจนถึงเป็นข้าราชการกรมประมงหรือเป็นคนชายขอบแบบที่พี่ต่อเป็น

การถูกจัดเป็นคนชายขอบในพื้นที่ใดนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของมันคือการถูกรบกวนน้อยหรือน้อยที่สุดในชีวิต ในวิถีชีวิตแบบพี่ต่อ ไม่มีใครต้องการความเห็นหรือการมีส่วนร่วมจากพี่ต่อ

ไม่มีการประชุมใดที่เรียกพี่ต่อเข้าร่วม ไม่มีการรับฟังความเห็นทางสาธารณะแบบใดที่เรียกร้องการปรากฏตัวของพี่ต่อ

ในขณะที่ทุกคนรวมตัวกันที่ศาลาประชาคมกลางหมู่บ้าน พี่ต่อยังคงเดินออกจากบ้านของแกเช่นทุกวันอย่างปราศจากความกังวล มุ่งหน้าไปที่ร้านชำและค้นหาความสงบในชีวิตจากเครื่องดื่มขวดเล็กเยี่ยงทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ในการมีข้อดี ข้อเสียของมันคือการสูญเสียความเคารพนับถือ

การไม่ตกเป็นจำนวนนับของชุมชนย่อมบังเกิดถ้อยคำที่ว่า “อย่าไปยุ่งกับแกหรืออย่าไปยุ่งกับเขา” อันเป็นถ้อยคำที่บ่งแสดงถึงความไม่มีตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่

คนชายขอบคือคนสุดท้ายที่ผู้คนในชุมชนจะนึกถึง

อาสาสมัครชุมชนอาจขอตรวจดูการขังของลูกน้ำในโอ่งบ้านผมแต่จะเดินเลยบ้านพี่ต่อไปอย่างไม่ไว้ใจ

เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าอาจจดมิเตอร์ที่บ้านผมแต่จะขี่รถผ่านบ้านพี่ต่อแบบไม่แยแส

ตำแหน่งแห่งที่ของพี่ต่อคือการมีอยู่ในความไม่มี คือการดำรงอยู่ในฐานะผู้ที่ไม่มีตัวตนที่ดำรงอยู่จริง

 

การคบค้าสมาคมระหว่างผมกับพี่ต่อเป็นดังการรวมคนที่ไม่มีตำแหน่งแห่งที่เข้าด้วยกัน คนชายขอบที่รู้จักทุกอย่างในหมู่บ้านดีราวกับฝ่ามือตนเองแต่กลับถูกทุกคนหลงลืมกับคนแปลกหน้าที่ไม่มีใครรู้จักและเป็นบุคคลที่ชวนสงสัยในการมาอยู่ของเขา

ทุกค่ำคืนที่ลานหน้าบ้านของผมที่เริ่มด้วยการจุดไฟในเตาถ่านเพื่อหุงหาอาหารเพื่อช่วยกันปรุงอาหารสำหรับมื้อค่ำนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนชะลอรถลงถามไถ่เสมอว่า “วันนี้ทำอะไรกิน?”

การขลุกอยู่กับพื้นที่หน้าบ้านที่กลายสภาพเป็นครัวที่จำเป็น ในที่สุดทำให้ผมตัดสินใจต่อแคร่ให้ขยายขึ้นพอที่จะจัดวางเครื่องปรุงอาหารนานาชนิดที่สะสมมา การสะสมเครื่องปรุงอาหารนานาเช่นนั้นได้ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องของพื้นที่และตัวตนอีกครั้งหนึ่ง

บ่ายวันหนึ่งมีรถมอเตอร์ไซค์แล่นมาจอดที่หน้าบ้านพักของผม ชายหนุ่มในชุดลูกเสือรุ่นใหญ่ลงจากอานแล้วถามว่า “ที่นี่มีอะไรกินบ้างครับ?”

ผมมองไปรอบๆ ที่หลงเหลือเพียงบะหมี่สำเร็จรูป ของสดแจกจ่ายเพื่อนบ้านไปหมดแล้วเมื่อก่อนหน้าการลงไปกรุงเทพฯ ผมตอบผู้มาเยือนคนนั้นว่า “น่าจะเป็นผัดมาม่ากับซอสพริกแขกนะครับ ใส่ผักกาดเขียวคงพอได้ ผมไม่มีเนื้อสัตว์นะครับ กินได้ไหม?”

“ได้ครับ ผมรอที่แคร่นะครับ”

เตาถ่านที่จุดต้มน้ำแต่เช้าทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง ผมผัดมาม่าเส้นนิสชินที่แช่น้ำร้อนชั่วครู่กับ Sambal Sauce ก่อนใส่ผักกาดเขียวจนเสร็จแล้วแบ่งเป็นสองชามให้ผู้มาเยือนกับตนเอง

ชายหนุ่มผู้นั้นใช้ตะเกียบคีบมาม่าใส่ปากอย่างหิวโหย ราวห้าถึงหกนาทีมาม่าชามนั้นก็หมดลง

“ร้านพี่ หนังสือเยอะดีนะครับ” ชายหนุ่มเอ่ย

“บ้านครับ ไม่ใช่ร้าน” ผมตอบ

“อ้าว ผมนึกว่าร้านอาหารตามสั่ง เห็นเครื่องปรุงอาหารเต็มหน้าบ้านเลย”

“ผมเอาไว้ทดลองทำนั่นนี่นะครับ”

“แล้วกัน ขอโทษทีครับพี่ ผมนึกว่าร้านอาหาร” ชายหนุ่มยกมือไหว้ “แล้วผมจะจ่ายเงินพี่ยังไงล่ะทีนี้”

“ไม่ต้องให้ ผมกำลังจะทำกับข้าวกินพอดี ตามสบายๆ”

“ขอบคุณครับ ตอนผมถามพี่ว่ามีอะไรกิน พี่น่าจะบอกผม ขอโทษอีกครั้งครับ”

“ก็คุณถามว่ามีอะไรกิน ผมมีมาม่าก็ตอบตามตรง ถ้าคุณถามว่านี่ร้านอาหารไหมสิ ผมได้บอกคุณว่าไม่ใช่”

ชายหนุ่มหัวเราะ “ขอบคุณครับพี่ ผมไปก่อนล่ะครับ”

ตอนรถเครื่องเขาจากผมถึงนึกขึ้นได้ว่าลืมถามเขาว่าอาหารที่ทำให้เขานั้นมีรสชาติอร่อยหรือไม่ การตกอยู่ในสภาวะผิดที่ผิดทางอีกครั้งทำให้ผมหลงลืมคำถามใดๆ