ทำไม คนวัยทำงานของญี่ปุ่นเริ่ม บ๊าย บาย โตเกียวกันแล้ว ?

บทความพิเศษ | สุภา ปัทมานันท์

บ๊าย บาย…โตเกียว

เมื่อญี่ปุ่นผ่านพ้นช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนก็พุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในโตเกียวจากหลักร้อยพุ่งเกินหมื่น ผู้คนส่วนหนึ่งอัดอั้นที่ไม่ได้ฉลองปีใหม่ ไม่ได้พบหน้าครอบครัว จึงพบว่ามีการเดินทางในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าปีใหม่ปี 2564 หลายเท่า มีผู้ติดเชื้อเกินแสนคนต่อวัน ญี่ปุ่นเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 6 แล้ว

30 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ญี่ปุ่นพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนคนแรกเป็นชาวต่างชาติ รัฐบาลญี่ปุ่นตื่นตัวมากในการกำหนดมาตรการป้องกันโรค สกัดกั้นไม่ให้เข้ามาติดต่อในประเทศ(水際対策)รวมทั้งไม่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศเลยจนถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้

กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นเร่งเตรียมความพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ สำรองเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนัก พร้อมกับเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลจึงต้องนำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดมาใช้อีก เช่น ลดเวลาการเปิดร้านอาหารถึง 2 ทุ่ม ร้านขายเหล้าที่ได้รับอนุญาตเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ห้ามนั่งเกินโต๊ะละ 4 คน เป็นต้น ชาวโตเกียวก็ได้แต่พึมพำ “อีกแล้วเหรอ”

แม้ยังไม่ถึงกับมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน(緊急事態宣言)แต่ก็ได้ยกระดับเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดขั้นสูง(まん延防止等重点措置)เพิ่มขึ้นจากเดิม รวม 36 จังหวัดรวมทั้งโตเกียว โอซากา ด้วย มีระยะเวลาถึง 6 มีนาคมนี้ โดยให้อำนาจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับระบบสาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆ

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในโตเกียว ไม่ใช่ชาวโตเกียวโดยกำเนิดทั้งหมด เหมือนพลเมืองในเมืองใหญ่อื่นๆในโลก แต่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในโตเกียวเมืองที่เป็นศูนย์กลางทุกอย่างของประเทศ(東京一極集中) เมื่อต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 มา 2 ปี และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อใด จึงมีคนจำนวนไม่น้อยคิดขยับขยายที่อยู่ใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์

มีรายงานข่าวว่าตลอดปี 2021 เป็นครั้งแรกที่จำนวนประชากรในโตเกียว 23 เขต มีผู้ย้ายออกไปอยู่จังหวัดอื่นๆมากกว่าผู้ย้ายจากจังหวัดอื่นๆเข้ามา

จุดหมายปลายทางที่นิยม คือ จังหวัดรอบๆโตเกียว เช่น คานากาวา ไซตามะ และชิบะ เป็นต้น คือ ยังไม่ไปไกลจากศูนย์กลาง แต่กระนั้น จังหวัดห่างไกลออกไปก็มีไม่น้อยเช่นกัน มีสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ ปี 2019 เป็นต้นมา ในจำนวนนี้เป็นคนวัยหนุ่มสาวจนถึงวัย 40 ปี ถึง 70%

ชายวัย 31 ปี และภรรยา ทั้งสองคนทำงานด้านไอทีในบริษัทที่โตเกียว มีห้องพักอยู่ใจกลางโตเกียว บอกว่าตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน อีกทั้งบริษัทยังสนับสนุนให้พนักงานเลือกสถานที่ทำงานได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจย้ายจากโตเกียวมาที่โอดาวาระ จังหวัดคานากาวาซึ่งห่างจากโตเกียวโดยรถไฟด่วนประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ห้องพักขนาด 1 ห้องนอน มีครัวและที่วางโต๊ะอาหาร (1DK) ในโตเกียวราคา 1.5 แสนเยน (เกือบ 45,000 บาท) แต่ที่นี่ห้องพักขนาด 3 ห้องนอน (3DK) ราคาเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น สามีภรรยาสามารถนั่งทำงานคนละห้อง ไม่รบกวนกัน และที่นี่เขาสามารถอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ ทะเลและภูเขา ได้ด้วย

ชายวัย 35 ปี ให้เหตุผลว่าปีที่แล้วหลังจากพาลูกน้อยกลับบ้านเกิดภรรยาที่จังหวัดฟุคุโอกะ เกาะคิวชู และต้องทำงานจากที่บ้านนาน 3 เดือน พบว่าในแง่ความสะดวกแล้วไม่ต่างจากโตเกียวเลย และยังเป็นสถานที่เหมาะกับการเลี้ยงดูลูกมากกว่าโตเกียวด้วย

หญิงวัย 30 ปี บอกว่า ปีที่แล้วเธอได้ไปเที่ยวจังหวัดซางะ บนเกาะคิวชู แล้วติดใจในธรรมชาติ คิดว่าเป็นที่ๆจะอยู่ได้อย่างสบายๆไม่เร่งรีบเหมือนโตเกียว

ที่น่าสนใจคือ เมืองฮิงาชิคาวา ฮอกไกโด ที่มีประชากรประมาณ 8,300 คนก็ตื่นตัวขานรับกระแสการย้ายถิ่นที่อยู่จากโตเกียว โดยตั้งแผนกส่งเสริมการย้ายถิ่นมาในพื้นที่ประชากรเบาบาง กระตุ้นให้ผู้ที่เคยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างแออัด อยากมาอยู่ในพื้นที่กว้างๆ โล่งๆ อย่างมีความสุข จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมเพื่อการทำงาน มีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี มี co-working space มีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนท้องถิ่น เป็นต้น

บางพื้นที่ที่ห่างจากโตเกียว เทศบาลส่วนท้องถิ่นมีโปรโมชั่น ช่วยค่ารถไฟส่วนที่เชื่อมต่อกับโตเกียวให้อีกด้วย

การใช้ชีวิตทำงานอยู่ในเมืองใหญ่ที่แออัดและทุกอย่างเร่งรีบตลอดเวลาอย่างโตเกียว แต่เป็นโอกาสในการสร้างครอบครัวสำหรับคนหนุ่มสาวมาหลายต่อหลายรุ่น ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอันเนื่องจากผลกระทบจากโควิด- 19 คงมีน้อยคนที่คิดจะไปใช้ชีวิตในจังหวัดห่างไกลศูนย์รวมทุกอย่าง แต่การแพร่ระบาดที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด ทำให้หลายคนตัดสินใจทิ้งแสงสี ความวุ่นวาย สับสน แต่ไม่ทิ้งงาน ไปหาประสบการณ์ใหม่ ไม่อยู่ในกรอบเดิม หรือเลือกที่จะใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ตามนี้ โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะบางพื้นที่ก็ไม่มีงานให้ทำ โดยเฉพาะงานสำหรับผู้หญิง เงื่อนไขการย้ายที่อยู่นี้จึงยังอยู่ในวงจำกัดของผู้ที่มีงานเดิมรองรับ หรือผู้ที่ยินดีเปลี่ยนอาชีพไปเลย

การย้ายที่อยู่โดยไม่ต้องเปลี่ยนงาน(転職なき移住)นี้เป็นผลจากการระบาดของโควิด-19 ถ้าแนวโน้มนี้มีการขยายตัวเร็วขึ้น คงจะมีผลต่อลักษณะการทำงานขององค์กรในญี่ปุ่นโดยรวมได้ หมายความว่า จะอยู่ที่ใดในญี่ปุ่น แม้ไม่ใช่ที่อยู่ถาวรก็ทำงานให้บริษัทได้ สามารถย้ายที่อยู่ไปได้เรื่อยๆ แล้วแต่จะพอใจที่ใด ตรงนี้เองที่จะเป็นโอกาสอันดีของท้องถิ่นห่างไกลเมืองใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีประชากรอาศัยอยู่เบาบาง เร่งปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อคนวัยทำงานจะมาอยู่อาศัยไปตลอด ไม่ใช่มาชั่วคราว และมีปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น ช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของคนท้องถิ่น โดยเฉพาะคนสูงวัยให้มีชีวิตชีวาขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญไม่ฟันธงว่าแนวโน้มนี้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้คนที่เข้ามาเรียน ทำงานที่โตเกียว มีจำนวนลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 แต่หากการระบาดสิ้นสุดลงเมื่อใด ก็เป็นไปได้ว่ายังมีผู้คนที่อยากมาอยู่โตเกียวอีก เนื่องจากโตเกียวยังเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง(東京一極集中)ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีความสะดวกในเรื่องการเรียนและการทำงาน ยังต้องรอดูแนวโน้มนี้อีกสักระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับเมืองใหญ่โดยใช้เวลาไม่นานย่อมน่าดึงดูดใจมากกว่าชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไปแน่นอน

กระแสคนวัยทำงานของญี่ปุ่นเริ่ม บ๊าย บาย โตเกียวกันแล้ว แต่จะหวนกลับมาหรือไปแล้วไปลับ ไม่กลับมาอีก คงต้องดูกันต่อไป