บันไซ | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
Japan's Emperor Naruhito (Photo by various sources / AFP) / Japan OUT

จะเป็นความผิดพลาดของผู้เขียน (Christopher Harding) หรือของผู้พิมพ์ (Tuttle) ก็ไม่ทราบ ที่ตั้งชื่อหนังสือเล่มนั้นว่า A History of Modern Japan

ผมเห็นหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือมาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยสนใจ เพราะคิดว่าก็คงเหมือนกับ “ตำรา” ที่เคยอ่านๆ มาแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่งด้วยเหตุใดไม่ทราบจึงหยิบขึ้นพลิกดู อ้าว ไม่เหมือนกับที่เคยอ่านมาแล้ว และดูจะน่าสนใจกว่าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นทุกเล่มที่เคยอ่านมาแล้วด้วย จึงตัดสินใจซื้อมาอ่าน

เป็นจริงอย่างที่คาด หนังสือเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยของสังคมญี่ปุ่นผ่านการสร้างสรรค์และความตึงเครียดทางวัฒนธรรม นับตั้งแต่วรรณกรรม, ละคร, จิตรกรรมและประติมากรรม, ศาสนา, จิตวิทยา, ปรัชญา, เพลงและดนตรี ฯลฯ จนมาถึงยุคปัจจุบัน

การเข้าสู่ความทันสมัยของญี่ปุ่นนั้น เป็นนิยาย “สัจนิยมมหัศจรรย์” ที่เล่ากันบ่อยมากในวงวิชาการ และมักจะให้ความสำคัญแก่กลุ่มชนชั้นนำที่เป็นผู้นำและกำกับความเปลี่ยนแปลง ไปสู่ความเจริญมั่งคั่งอย่างเดียวกับประเทศตะวันตก และความผิดพลาดที่นำไปสู่ความหายนะอย่างที่ญี่ปุ่นไม่เคยประสบมาก่อน และสู่การรื้อฟื้นความเจริญมั่งคั่งกลับคืนมา

และเพราะท้องเรื่องของนิยายเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ชีวิตของศิลปินผู้เสนองานที่ไม่มีใครสนใจ, ผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี, นักอนาธิปไตยซึ่งถูกประหารชีวิต, นักปรัชญาซึ่งต้องจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย, นักเขียนซึ่งซ่อนทางเลือกใหม่อันไม่เป็นที่ถูกใจของอำนาจรัฐไว้ในนิทานพื้นบ้าน ฯลฯ ไม่เคยถูกกล่าวถึงเลย ในขณะที่คนเหล่านี้คือชีวิตเลือดเนื้อที่ขับเคลื่อนนิยายในงานของ Harding

 

อาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นถูกเล่ากันตาม “ตำรา” ว่าด้วยเรื่องของชนชั้นนำดังที่กล่าวแล้ว จึงทำให้มักจะนำเอามาเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ไทย เพราะความเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยในประเทศไทย ก็เป็นเรื่องของการนำและกำกับของกลุ่มชนชั้นนำเหมือนกัน ยิ่งทั้งญี่ปุ่นและไทยเป็นสองประเทศที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตกโดยตรง ก็ยิ่งทำให้น่าเปรียบเทียบกันมากขึ้น

แต่การเปรียบเทียบ มักหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะนำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นอย่างที่ญี่ปุ่นเป็น และไทยจึงเป็นอย่างที่ไทยเป็นเล่า?

ส่วนใหญ่ของคำตอบคือการวิเคราะห์กระบวนการความเปลี่ยนแปลงของสองประเทศ ว่ามันต่างกันอย่างไร เช่น ฝ่ายญี่ปุ่นเน้นการสร้างกำลังทางทหารเพื่อปกป้องตนเอง ในขณะที่ฝ่ายไทยเน้นด้านการทูตหรือการถ่วงดุลอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศแทน เป็นต้น

หนึ่งในคำตอบที่เคยดังมามากเป็นของ Norman Jacob ในหนังสือชื่อ Modernization Without Development ของเขา ซึ่งสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็คือ การทำให้ทันสมัยคือความเปลี่ยนแปลงในเชิงปริมาณ เช่น มีกระทรวงทบวงกรมเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับอำนาจรัฐแบบใหม่, มีทางรถไฟกี่กิโลเมตรจากที่ไม่เคยมีเลย, ไฟฟ้าเข้าถึงประชากรกี่เปอร์เซ็นต์, มีโรงเรียนเพิ่มขึ้นเท่าไร ฯลฯ ในขณะที่การพัฒนาคือความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ เช่น ระบบราชการที่เกิดใหม่ ต้องหลุดจากระบบเส้นสายของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบเก่า การผลิตข้าวไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะขยายที่นาอย่างเดียว แต่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านวิธีการผลิตด้วย เป็นต้น

ทำไมการเข้าสู่ความทันสมัยของญี่ปุ่นจึงมีความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพ ในขณะที่ของไทยมีแต่ความเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณ ดูเหมือน Norman Jacob จะให้น้ำหนักอย่างมากแก่ความเป็นสังคมศักดินาทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติของญี่ปุ่นก่อนเปิดประเทศ คืออำนาจในทุกด้าน ไม่เฉพาะแต่อำนาจทางการเมืองเท่านั้น ไม่กระจุกอยู่ที่แคว้นใดแคว้นหนึ่ง หรือ “ชนชั้น” ใดเพียงหนึ่งเดียว ในขณะที่อำนาจทุกด้านในสังคมไทยก่อนเปิดประเทศ กระจุกอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ อย่างน้อยก็ในเชิงทฤษฎี เพราะฉะนั้น เมื่อจำเป็นต้องเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของความทันสมัย การต่อรองเพื่อความเปลี่ยนแปลงจึงกระทำกันในกลุ่มคนวงแคบๆ ที่ส่วนกลางเท่านั้น

 

ผมมีคำอธิบายของผมเองซึ่งดูจะง่ายกว่าและซับซ้อนน้อยกว่า ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นคือการปฏิวัติ ในขณะที่ของไทยเป็นแค่การปฏิรูป (อย่างที่เรียกกันว่าการปฏิรูปจักรี) และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ควรเอามาเปรียบเทียบกันตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งที่ดูเหมือนกันในการเข้าสู่ความทันสมัยระหว่างญี่ปุ่นและไทย เป็นเรื่องผิวเผินและบางกรณีอาจ “ผิด” ด้วย

เช่น รัชศกเมจิ ไม่ได้ทำให้สถาบันจักรพรรดิมีอำนาจบริหารอย่างแท้จริง ในขณะที่รัชสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ เป็นผลให้อำนาจสูงสุดในการบริหารและตุลาการตกอยู่ในมือสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้เป็นจริงในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่เป็นจริงในทางปฏิบัติเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย การเปรียบเทียบจักรพรรดิเมจิกับ ร.5 จึงดูจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวไปมาก

จะนิยามการปฏิวัติว่าอย่างไรก็ตาม แต่ผมคิดว่า การปฏิวัติต้องนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพในทุกส่วนของสังคม คนไม่เหมือนพ่อ-แม่หรือปู่ย่าตายายของเขา คิดและทำอะไรอย่างที่บรรพบุรุษ-สตรีของเขาไม่มีทางเข้าใจได้เลย เราคุ้นชินกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลเช่นนี้ในการปฏิวัติว่าต้องมาจากการนำและกำกับของรัฐ แต่ผมคิดว่าไม่จำเป็น ความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์อื่นๆ ก็ได้ และหลายครั้งด้วยกันก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่รัฐเองกลับหวาดระแวงหรือเห็นเป็นอันตรายจนต้องปราบปรามกดขี่ด้วยก็ได้

 

หนังสือ A History of Modern Japan เล่มนี้ ช่วยย้ำความคิดของผมว่า เพื่อเข้าสู่ความทันสมัย ญี่ปุ่นได้ผ่านการปฏิวัติมาอย่างแท้จริง

ผมขอยกตัวอย่างเรื่องจักรพรรดิว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติอย่างไร

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า จักรพรรดิญี่ปุ่นไม่มีอำนาจทางการเมืองอะไร แต่มีความสำคัญเพราะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเอกภาพของญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อโชกุนวงศ์ใดมีอำนาจขึ้นมา ก็ย่อมอยากมีอำนาจเหนือทุกแว่นแคว้น โชกุนจึงต้องมีอำนาจในนามของจักรพรรดิ คือเป็น “ผู้พิชิตคนเถื่อนของจักรพรรดิ” เพื่อรักษาอำนาจของตนไว้เหนือทุกแว่นแคว้น

แต่องค์พระจักรพรรดินั้นไม่สำคัญในการปกครอง และมักถูกทอดทิ้งให้ไร้อำนาจในพระราชวังที่ราชธานีเกียวโต แม้กระนั้น ก็ไม่เป็นที่วางใจได้สนิทนักในทางการเมือง เพราะอย่างน้อยจักรพรรดิก็มีอำนาจทางวัฒนธรรม อาจใช้อำนาจนี้สั่งสมกำลังเป็นอริกับโชกุนได้ จักรพรรดิจึงไม่แต่เพียงถูกทอดทิ้ง แต่ถูกกีดกันระแวดระวังมิให้มีกำลังใดๆ ได้เป็นอันขาด เขาเล่ากันในเกียวโตว่า จักรพรรดิบางองค์แทบจะไม่มีเงินจุนเจือญาติพี่น้องและบริวาร จนต้องเสด็จออกมารับจ้างเขียนอักษรสวยๆ นอกวัง

กลุ่มซามูไรระดับล่าง ซึ่งแย่งอำนาจจากโชกุนโตกุงาวาได้ด้วยคำขวัญ “ฟื้นฟูพระจักรพรรดิ” ก็ไม่ได้ต้องการคืนอำนาจแก่จักรพรรดิจริง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ระบอบใหม่ที่ยกย่องเชิดชูพระจักรพรรดิอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ขนาดกฎหมายทุกฉบับก็ต้องออกในพระปรมาภิไธย (ไม่ใช่คำสั่งโชกุนอย่างที่เคยเป็นมา) ยิ่งทำให้สถาบันจักรพรรดิน่ากลัวมากขึ้น เพราะอาจเอาอำนาจจริงจากกลุ่มซามูไรเหล่านี้ไปเสียเลยก็ได้

จะเป็น Monarchist ภายใต้ Monarch ไร้อำนาจได้อย่างไร

 

หนึ่งในวิธีการที่ทำคืออัญเชิญพระจักรพรรดิซึ่งประทับอยู่ในราชธานีห่างไกลให้ย้ายมาประทับที่โตเกียวอันเป็นนครหลวงของระบอบใหม่ ปัญหาคือจะย้ายอย่างไรให้ดูไม่เป็นนักโทษ ก็ต้องแห่มาเป็นขบวนพระเกียรติยศอย่างยิ่งใหญ่สิครับ ตลอดทางมีประชาชนคอยรับเสด็จเป็นจำนวนมาก

แต่ประชาชนไม่เคยสนใจพระจักรพรรดิมาก่อน หากเป็นขบวนของไดเมียวเจ้าครองแคว้นค่อยน่าดูหน่อย ข้อนี้แก้ได้ไม่ยากด้วยการเกณฑ์ประชาชนมารับเสด็จ ปัญหามาอยู่ที่ว่าจะให้มายืนชมพระบารมีอยู่เงียบๆ (หรือเผลอๆ อาจคุยกันแซ่ดโดยไม่สนใจขบวนเลย) ก็ไม่ได้ เพราะดูไม่เจริญอย่างฝรั่ง ต้องให้ประชาชนร้องถวายพระพรกันเซ็งแซ่จึงจะสมควร

แต่ไม่มีคำถวายพระพรสำหรับให้ประชาชนญี่ปุ่นร้องกันอย่างกึกก้องมาก่อน จะให้ร้องอะไรดี กระทรวงศึกษาเสนอคำว่า hoga แปลว่า “ขอแสดงความยินดีด้วยความนับถือ” แต่คำนี้ใกล้เคียงกับคำว่า aho ga ซึ่งแปลว่า “ไอ้งั่ง” เสี่ยงมากไปที่จะถูกแกล้งร้องผิด ในที่สุดจึงหันกลับไปใช้คำเก่าที่เอามาจากจีนคือ Tenno heika banzai “ขอพระจักรพรรดิทรงพระชนม์พันปีหมื่นปี” หรือที่ร้องกันสั้นๆ ในเวลาต่อมาว่า บันไซ แทน

เรื่องอย่างนี้ทำให้อดคิดถึงคำถวายพระพรไทย “ทรงพระเจริญ” ไม่ได้ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกในสมัยโบราณ ราษฎรไทยถูกบังคับให้ขึ้นเรือนปิดประตูหน้าต่างหมด ถ้าใครยังหลงเหลืออยู่บนถนนก็หมอบลงกับพื้นแล้วอย่ามองขึ้นไปยังขบวนเสด็จเป็นอันขาด จนเมื่อมีการแต่งเนื้อเพลงสรรเสริญพระบารมี ก็ถวายพระพรยืดยาว “ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย…” ผมไม่ทราบว่า “ทรงพระเจริญ” มาตั้งแต่เมื่อไร และมาอย่างไร ช่วงจังหวะเหล่านั้นช่วยอธิบายประวัติศาสตร์ไทยได้หรือไม่ เพียงไร

ที่สำคัญกว่าคำถวายพระพรที่เหมาะกับการรับเสด็จแบบใหม่ ก็คือคนที่มาโห่ร้องอยู่ริมถนนเพื่อถวายพระพรคิดถึงกษัตริย์-จักรพรรดิอย่างไร กษัตริย์-จักรพรรดิเสด็จไปไหนมาไหนบ่อยๆ ทำไม ความเรียบร้อยของเส้นทางพระราชดำเนินและขบวนเสด็จแตกต่างจากความเรียบร้อยในสมัยก่อนอย่างไร และ ฯลฯ สรุปคือสถาบันกษัตริย์-จักรพรรดิเปลี่ยนไปอย่างไร และความสัมพันธ์ของสถาบันนี้กับส่วนอื่นของสังคมเปลี่ยนไปอย่างไร

 

จากความเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นคำถวายพระพรนั้น สะท้อนความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่ใหญ่กว่าและสลับซับซ้อนกว่าเสมอ

อะไรที่ดูเก่าแก่คู่เคียงมากับบ้านเมืองแต่โบราณ เอาเข้าจริงก็เพียงแต่ใช้ชื่อเก่า แต่เนื้อหาได้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่งไปหมดแล้ว ว่าเฉพาะญี่ปุ่น พุทธศาสนานิกายต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศ แม้มีชื่อเหมือนเก่าและเล่าตำนานของตนเองย้อนกลับไปถึงสมัยที่นำเอาพุทธศาสนามาจากประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถัง แต่ที่จริงก็ได้ถูกเปลี่ยนไปจนหมดแล้ว พุทธศาสนาไทยในปัจจุบันก็เหมือนกัน ที่เรียกว่าพุทธศาสนาไทยในปัจจุบัน คงต่างจากสมัยอยุธยาไปมากแล้วเพราะการ “ปฏิรูป” ที่ผ่านมา

ที่เขาเลิกสวดพระมาลัยนั้น ไม่ใช่แค่ความนิยมต่อตำนานเรื่องใดเรื่องหนึ่งเปลี่ยนไป แต่มันสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในหลักความเชื่อบางอย่างด้วย

ที่เราเรียกว่าศาสนาชินโตก็เช่นกัน สมัยก่อนเมจิ ชินโตเป็นความนับถือศรัทธาต่อเทพในท้องถิ่น ซึ่งไม่ตรงกันระหว่างท้องถิ่นหนึ่งกับอีกท้องถิ่นหนึ่ง แต่ในช่วงเมจินี้เอง ที่ “ทางการ” ของชินโต เผยแพร่ทั้งรูปเคารพ, พิธีกรรม, บทสวด ฯลฯ จากส่วนกลางออกไปสู่ศาลเจ้าทั่วประเทศ รวมทั้งแทรกซึมหลักความเชื่อใหม่ๆ เหล่านี้เข้าไปในอุดมการณ์ของรัฐ เช่น บูชิโด ซึ่งโดยตัวของมันเองก็ถูก “สร้าง” ขึ้นใหม่ ให้เป็นสิ่งที่คู่กัน “จิตวิญญาณญี่ปุ่น เทคนิคฝรั่ง” หรือเทคโนโลยีตะวันตก

 

หนังสือของ Harding นำเราไปสู่ความทุกข์ยากของคนเล็กคนน้อยทั่วสังคม ชัยชนะอันรุ่งโรจน์ในสังคมญี่ปุ่น-รัสเซียนำไปสู่ความหายนะทางการคลังของรัฐ และการขึ้นภาษีแก่ชาวนาซึ่งต้องแบกรับภาษีหนักอึ้งอยู่แล้ว

นำเราไปสู่เรื่องผีและสิ่งเร้นลับที่กลับขึ้นมาใหม่ แต่เป็นผีและสิ่งเร้นลับที่อธิบายไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผีบรรพบุรุษ สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงระดับเมือง ซึ่งมีแต่คนแปลกหน้าระหว่างกัน เพราะการอพยพเข้าอย่างรวดเร็วทำให้เมืองเติบโตแบบก้าวกระโดด โตเกียวในทัศนะของ Hayashi Fumiko นักเขียนหญิงหัวรุนแรงคนหนึ่งก็คือ “…ถ้าคุณแอบยัดระเบิดให้ฉันสักลูก ฉันจะโยนมันด้วยความยินดี…

และนำเราไปสู่การต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนอีกมากที่เราไม่เคยสำนึกมาก่อน

ในความเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติหรือปฏิรูป ไม่เคยมีการเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นโดยไม่มีรอยสะดุด ทั้งเล็กและใหญ่ แต่ประวัติศาสตร์มักจะข้ามรอยสะดุดเหล่านี้ออกไปสู่วิถีที่ราบรื่น โดยมีการนำอย่างเข้มแข็งของกลุ่มผู้นำ ซึ่งอาจเพิ่งได้อำนาจมาใหม่หรือสืบทอดอำนาจมาจากอดีต เพราะทำให้เราสามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงอันสลับซับซ้อนนั้นได้ง่ายขึ้น

สักวันหนึ่งข้างหน้า คงมีใครสักคนที่หันมาใส่ใจกับรอยสะดุดในประวัติศาสตร์ไทยบ้าง และทำให้เราได้เรียนรู้ความสลับซับซ้อนของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่เคยง่าย แต่ก็ไม่เคยยากจนเปลี่ยนไม่ได้ และไม่เคยเกิดขึ้นได้เพราะการกระทำหรือไม่กระทำของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว