มุกดา สุวรรณชาติ : การต่อสู้สองแนวทางของยิ่งลักษณ์ ในคอก หรือนอกกรอบ (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

ฉบับที่แล้วได้เขียนมาถึงตอนที่ว่า…อยากให้หนีแต่ไม่หนี จะเป็นแรงกดดันทุกฝ่าย…

แต่พอหลังวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ก็ต้องสรุปว่าแรงกดดันนั้นได้คลี่คลายไปแล้ว (แต่จะไปมีผลในอนาคต)

เบื้องหลังของการหายตัวไปของนายกฯ ยิ่งลักษณ์จะมีเหตุและผลที่ต้องวิเคราะห์กันต่อไป จะเป็นการถอยเพื่อสู้หรือไม่?

อย่างที่บอกมาแล้วว่าเกมในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นเกมต่อเนื่องที่สู้กันมาอย่างยาวนาน

จากภาพที่เห็นแสดงว่าฝ่ายทักษิณต้องยอมถอยร่น แต่ว่าจะมีการต่อรอง มีข้อแลกเปลี่ยนอะไรกันหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้

ในเกมที่ดำเนินมาแบบนี้ มีพื้นฐานมาจากวัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนและชนชั้นปกครอง ที่ทำให้เกมการเมืองของบ้านเราขัดแย้งยืดเยื้อมาจนทุกวันนี้

คนชั้นนำเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นอย่างไร การเมืองก็จะเป็นแบบนั้น จะไปหวังได้มะม่วงอกร่องจากกอไผ่ย่อมเป็นไปไม่ได้

ในกอไผ่ก็มีเพียงแค่หน่อไม้กับต้นไผ่เท่านั้น

สังคมไทยการยอมรับอำนาจ
จากการรัฐประหารว่าถูกต้อง

ผบ.ร้อย.สห.มทบ.23 พยานโจทก์คดี “ไผ่ ดาวดิน” ชูป้ายต้านรัฐประหาร บอกว่า การชูป้าย “คัดค้านรัฐประหาร” เป็นการทำลายประชาธิปไตย ต้องรับโทษและถูกปรับทัศนคติ

มีคนหัวเราะ แต่นี่ไม่ใช่เรื่องตลก และไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมนี้ มีคนจำนวนมากเชื่ออย่างนั้นจริงๆ ดังนั้น การเมืองไทยจึงยังล้าหลัง และวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์ ไม่ต่างจากครึ่งศตวรรษที่แล้ว

เพราะ…

ในสังคมไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมา ประชาชนจะยอมรับอำนาจของฝ่ายผู้ปกครองเสมอ ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมีที่มาอย่างไร แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ความเคารพเชื่อมั่นต่ออำนาจของตนเอง ของประชาชน ก็ยังน้อยกว่าความเกรงกลัวต่ออำนาจของผู้ปกครอง

ความเข้าใจของนายทหารท่านนี้หรือความเข้าใจของประชาชนจำนวนมาก ต่ออำนาจปกครอง คือเมื่อมีการรัฐประหาร ใครก็ตามที่ยึดอำนาจได้สำเร็จ จะได้รับการยอมรับไปชั่วระยะที่มีอำนาจ ว่าทำถูกต้อง การต่อต้านจะมีน้อยมาก จะมาประณามด่าว่า ก็ต่อเมื่อคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นตกอำนาจไปแล้ว จากวีรบุรุษจึงจะกลายเป็นผู้ร้าย

การยอมรับอำนาจรัฐที่มาจากการยึดอำนาจนั้นไม่เพียงจากคนธรรมดา แต่จะได้รับการยอมรับจากสถาบันต่างๆ

แม้แต่สถาบันตุลาการซึ่งเป็นหนึ่งในสามอำนาจก็ยอมรับ

ถึงแม้กฎหมายจะมีมาตรา 113 เขียนไว้ว่าโทษของผู้กำลังล้มล้างอำนาจอธิปไตยของประชาชน มีโทษถึงประหารชีวิต

แต่คณะรัฐประหารทุกชุด ก็จะนิรโทษกรรมตัวเอง

สภาที่เลือกตั้งส่วนใหญ่ก็มักจะถูกปิดถูกยุบไปแล้ว ฝ่ายบริหารก็จะถูกล้มไปแล้ว ฝ่ายตุลาการมักยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร และถือคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย

เมื่อศาลยอมรับ ประชาชนยอมรับ ก็จะกลายเป็นอำนาจชั่วคราว และนานไปก็กลายเป็นอำนาจถาวรในที่สุด เราจึงได้เห็นคำสั่งคณะรัฐประหารหลายชุด ที่กลายเป็นกฎหมายหลายฉบับ

 

สองแนวทาง…
ของการต่อสู้ในฝ่ายประชาธิปไตย

ที่ถกเถียงกันเองในฝ่ายประชาธิปไตย คือแนวทางการต่อสู้

กลุ่มหนึ่งคิดว่าต้องไม่ยอมรับอำนาจ ทุกอย่างที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติ รัฐบาล ศาลและกฎหมายต่างๆ ถือว่าใช้ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะมีที่มาไม่ถูกต้อง

ตอนที่โหวตประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เถียงกันว่าควรร่วมหรือไม่

กลุ่มนี้คิดว่าถ้าไปร่วมก็เท่ากับไปยอมรับกฎเกณฑ์ที่ฝ่ายยึดอำนาจร่างขึ้นมา เป็นการต่อสู้แบบถูกต้อนเข้าคอก เมื่อไปต่อสู้อยู่ในคอกไม่มีทางที่จะสู้ได้

อีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าต้องต่อสู้ในระบบที่เป็นอยู่จริง สามารถต่อสู้ในเวทีไหนได้ก็ต้องทำ เช่น ให้มีเลือกตั้งก็ลงเลือกตั้งด้วย ต่อสู้ทางศาลก็สู้ด้วย ตามกฎหมายที่กำหนดและเปิดช่องให้ ต้องต่อสู้ให้ได้มากที่สุด

การไม่ยอมรับและไม่มีโอกาสสู้เลยยิ่งไร้ประโยชน์

ปัจจุบันการต่อสู้นอกกรอบทำได้มากที่สุดก็คือถอยออกไปตะโกนโหวกเหวกอยู่ภายนอกซึ่งยังมีผลไม่มากนัก

แนวทางการต่อสู้
ได้สะท้อนมาสู่คดีจำนำข้าว
ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์

นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นเพียงคนธรรมดาที่ชะตากรรมลากเข้ามาสู่เวทีการต่อสู้แห่งนี้ และก็ทำหน้าที่เป็นนายกฯ ได้ดีที่สุดคนหนึ่ง

เพียงแต่ว่าสถานการณ์ที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในท่ามกลางคลื่นลมของการต่อสู้ที่รุนแรงมาก กำลังฝ่ายตรงข้ามที่มีองค์ประกอบพิเศษ

แม้คนที่มีประสบการณ์ มีความโชกโชนทางการเมือง มีความแกร่งอดทนต่อทุกอย่างยังยากที่จะผ่านได้

ที่สู้มาได้ถึง 6 ปีถือว่าทนทานพอสมควร

ฝ่ายที่เกลียดก็มีทั้งที่อยากให้หนี และอยากให้ติดคุก

ฝ่ายที่เชียร์ก็มีทั้งที่อยากให้สู้ตาย และฝ่ายที่อยากให้ถอย ไปสู้ข้างนอก นี่เป็นปัญหาที่ถกเถียงกัน

กองเชียร์พวกหนึ่งเสนอว่าให้สู้คดีอยู่ในประเทศแม้ถูกจับติดคุกก็ต้องยอม และจะส่งผลสะเทือนต่อการต่อสู้ สามารถสร้างกระแสต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมต่างๆ ได้

แต่อีกพวกหนึ่งเห็นว่าถ้าสู้ในกรอบ ในคอกก็จะถูกอำนาจและกฎหมายของฝ่ายตรงข้ามทำให้ต้องถูกจับขังคุก ยกตัวอย่างคดีต่างๆ ที่ผ่านมา ถูกมองว่าโง่ที่ไปเดินตามเกมของอีกฝ่ายหนึ่ง สมควรถอยออกไปสู้นอกกรอบ

การไม่ปรากฏตัวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ศาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ฝ่ายที่หนุนให้ออกมาสู้นอกกรอบจึงเฮรับ ร้องว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ฝ่ายที่อยากให้ต่อสู้ตามระบบกฎหมาย ยอมติดคุกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้แบบสันติก็รู้สึกผิดหวัง

สู้เวทีนี้มานาน
ทำไมมาตัดสินใจถอยตอนนี้

การที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ไปปรากฏตัวที่ศาลในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวพันทั้งชีวิตและการต่อสู้ของฝ่ายทักษิณ และตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์เอง

มีการประเมินสถานการณ์ต่างๆ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่าอำนาจชี้ถูกชี้ผิดสามารถปฏิบัติการแบบตุลาการภิวัฒน์ให้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองเช่นเดียวกับการรัฐประหารโดยไม่ต้องใช้กำลัง

แต่แนวทางหลักของฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ คือ สู้ตามระบบ ดึงเวลาจนถึงการเลือกตั้งใหม่ (ในขณะที่อีกฝ่าย ก็เลื่อนการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ)

1. ต้นปี 2560 ฝ่ายนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังคาดว่าคดีจำนำข้าวสามารถสู้ได้เพราะการปฏิบัติการตามนโยบายมีการควบคุมอย่างดี จึงประกาศต่อสู้ตามกรอบของกฎหมายและยืนยันว่าจะสู้ในเวทีนี้

แต่เมื่อเวลาผ่านไป แรงกดด้านต่างๆ ก็มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ ป.ป.ช.สอบ อัยการฟ้อง สนช.ถอดถอน มีการใช้อำนาจยึดทรัพย์ก่อนคดีจะตัดสิน แถมยังขู่ว่าจะมีการดำเนินคดีอื่นๆ ตามหลังมาอีก

สรุปว่าถ้าคดีนี้รอดก็ยังโดนคดีอื่นตามหลัง ถ้าไม่รอดก็จะมีของแถมตามให้อีก

เกมแบบนี้ฝ่ายทักษิณก็ประเมินได้ว่าเป็นการจะบีบให้หนีออกนอกประเทศ แต่ก็ยังมีการยืนยันว่าจะต่อสู้เพราะคิดว่าในทางคดีสู้ได้และน่าจะมีการประนีประนอมต่อรองกันได้

2. มีคนเตือนว่า 10 ปีที่ผ่านมาฝ่ายตรงข้ามทำได้ทุกอย่าง เพื่อจะรักษาอำนาจไว้ การรัฐประหารถึง 2 ครั้งมีตุลาการภิวัฒน์หลายครั้ง มีคนถูกปลดถูกบีบให้หลุดจากตำแหน่งทางการเมือง การสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ที่มีคนตายร่วมร้อย บาดเจ็บเป็นพัน

แสดงถึงการทุ่มเทเพื่อปกป้องและถ่ายทอดอำนาจเดิม ต่อมา หลายคนที่ต่อสู้ทางการเมืองก็ถูกจับในคดีต่างๆ พอถึงปีที่ 11 จะเห็นว่าฝ่ายหนึ่งยังไม่ต้องติดคุก อีกฝ่ายหนึ่งทยอยเข้าคุกไปตามๆ กัน

การปกป้องอำนาจและผลประโยชน์ทางชนชั้นสามารถขยายความขัดแย้งจนกลายเป็นสงครามได้

แต่การต่อสู้แบบประนีประนอม และเดินตามกรอบกฎหมายของฝ่ายทักษิณ ยิ่งลักษณ์ยังดำเนินต่อมา อย่างมีความหวังว่าจะสู้ในเวทีประชาธิปไตย

3. แต่พอถึง 2 เดือนสุดท้าย ก็รู้ว่าสถานการณ์จะไม่เป็นไปอย่างที่คิดเพราะ…

ในเดือนหลังๆ นี้แกนนำของฝ่ายเสื้อแดงไม่สามารถออกมาแสดงบทบาทภายนอกได้อีกแล้วเมื่อแกนนำถูกจับขังคุก บางคนถูกล็อกโดยคดี สถานีสื่อสารโฆษณาก็ถูกปิด สถานการณ์แบบนี้สะท้อนว่าเป็นการเตรียมปฏิบัติการตั้งรับสถานการณ์ใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

4. ยิ่งเมื่อใกล้ถึงวันตัดสินคดีจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ข่าวการเตรียมกำลังควบคุมพื้นที่บริเวณรอบศาล และการเข้าประกบตัวแกนนำในจังหวัดต่างๆ ไม่ให้เคลื่อนไหวถ้ามวลชนเข้ามาให้กำลังใจนายกฯ ยิ่งลักษณ์เหมือนเป็นการบอกว่าเกมจะแรง ตีความได้ว่าเป็นการเตือนหรือจะตีความว่าเป็นการขู่ก็ได้

5. จนถึงสัปดาห์สุดท้าย ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าจะถูกจัดหนัก มีข่าวแว่วออกมาโดยการประเมินหรือการคาดเดาก็ไม่ทราบได้ว่าคดีขายข้าวจีทูจี จะโดนเล่นงานหนักมาก ถ้าจะประเมินว่าเป็นการปล่อยข่าวบีบให้หนีออกไปก็ได้ (ผลออกมาก็หนักจริง)

แม้จะมีข่าวเรื่องเอาข้าวดีไปขายเป็นข้าวเน่าแทรกเข้ามา แต่มีเสียงสะท้อนมาว่า คดีนี้จะดูตามข้อมูลในสำนวนเท่านั้น

ตัดสินใจถอย… 27 กันยายน ไม่มาตามนัด

6.การตัดสินใจว่าจะสู้แบบเป็นสัญลักษณ์อยู่ในคุก หรือจะต่อสู้อยู่นอกคุกจึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจโดยฉับพลัน น่าจะมีขึ้นก่อนวันตัดสินไม่เกิน 1 สัปดาห์

เมื่อตัดสินใจแบบนี้ ก็จะลดแรงกดดันทางการเมืองให้น้อยลงไปกว่าการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะถูกจับไปขังอยู่ในคุก ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทั้งแรงกดดันจากมวลชนในประเทศและแรงกดดันจากต่างประเทศ

7. เมื่อทั้งฝ่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลมีประโยชน์ที่ตรงกัน จึงมีคนวิเคราะห์กันว่ามีคนเปิดทางให้ถอยเพื่อลดแรงกดดันทางการเมือง ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้ เพราะเส้นทางการหลบออกจากประเทศไทยสามารถทำได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะทางน้ำ ไม่ได้มีด่านตรวจเหมือนบนถนน

8. งานนี้วิเคราะห์กันว่ามีคนรู้น้อยมากแม้ในหมู่คนใกล้ชิดญาติพี่น้อง คนในพรรคยิ่งไม่มีโอกาสรู้เลย มีน้อยคนที่เฉลียวใจก็ต่อเมื่อเห็นข้อความที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์โพสต์แจ้งประชาชน ในค่ำวันที่ 24 ว่าไม่ต้องมาให้กำลังใจในเช้าวันที่ 25 และก็คงจะไม่ได้พบกัน

9. แม้มีบางคนยังหวังว่า ก่อนวันที่ 27 กันยายน หรือวันที่ 27 ที่ศาลนัดอีกครั้ง นายกฯ ยิ่งลักษณ์จะปรากฏตัวเพื่อแก้คดี แต่นั่นเป็นความหวังที่เลื่อนลอย ไม่มีทางเป็นไปได้

เพราะนี่เป็นการสู้กันทางการเมืองที่มีเดิมพันด้วยอำนาจและชีวิต

 

สมัยก่อน รัฐประหารปุ๊บ ต้องหนีปั๊บ ไม่งั้นถูกจับทันที

การรัฐประหารสมัย อ.ปรีดี สมัย จอมพล ป. หลบทันที สมัย พลเอกชาติชาย ถูกคุมตัวในเครื่องบิน สมัย 6 ตุลา 2519 นายกฯ เสนีย์ ปราโมช ก็ถูกคุมตัว พวกแกนนำนักศึกษาเผ่นเข้าป่าเกือบหมด ที่สู้คดีอยู่คือถอยไม่ทัน แต่สมัยนี้ต้องมีสตอรี่ สร้างคดีล็อกไว้ สุดท้ายฝ่ายแพ้ก็ถูกบีบให้หนีเหมือนกัน

การวิเคราะห์สถานการณ์นี้ไม่สามารถวิเคราะห์โดยมองการเมืองล้วนๆ แต่จะต้องมองมิติของความเป็นคนธรรมดาที่มีครอบครัว คนที่เป็นแม่ของลูก ควบคู่ไปกับการเมืองปัจจุบันและประวัติการเมืองในอดีต

การพยายามตอบคำถามว่า… ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ จึงมีขอบเขตที่จำกัดทั้งความเหมาะสมและข่าวสาร

ส่วนเรื่อง…มีผลอย่างไรต่ออนาคต ก็ต้องต่อตอนหน้า