ในประเทศ : บทเรียน “กลอนหู” ถอด “กวีศรีสยอง” นี่หรือ “ศิลปินแห่งชาติ”?

กระแสดราม่ามาเต็ม สำหรับ “กลอนหู” คำผวน ข้อความในเฟซบุ๊กของ ไพฑูรย์ ธัญญา นามปากกาของ รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากเรื่องก่อกองทราย เมื่อ พ.ศ.2534 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ปี 2559 ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาเมื่อไม่นานนี้

กลอนดังกล่าว นำเอาอาการป่วยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ส่งผ่านทนายมาแจ้งต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “น้ำในหูไม่เท่ากัน” ทำให้ปวดศีรษะไม่สามารถมาศาลได้ จนศาลออกหมายจับและมีข่าวลี้ภัยออกนอกประเทศ มาสร้างสรรค์เป็นบทกวี

ดูเหมือนจะมีทั้งคนชอบ คนสะใจ ขณะเดียวกันก็มีทั้งคนชัง ไม่ชื่นชอบ เพราะหยามเหยียดศักดิ์ศรีลูกผู้หญิงผ่าน “หู” ที่ถูกใช้เป็นอุปมาอุปไมยแทนอวัยวะเพศในลักษณะขบขัน

 

แม้เจ้าตัวจะลบข้อความดังกล่าวไปแล้ว แถมยังนิ่งสยบข่าวลือ ไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ

แต่ดูเหมือนกระแส “กลอนหู” ยังไม่ถูกกลบ ลุกลามไปสู่การร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์ประณาม จากกลุ่มกวี นักเขียน นักวิชาการ กว่า 126 รายชื่อ คัดค้านไม่ให้ รศ.ดร.ธัญญา เป็นตัวแทนกวีไทยไปร่วมงาน ASEAN Poets Forum ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

ด้วยเหตุผลว่า “กลอนคำผวน” ดังกล่าว ขัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่จะต้องไม่ละเมิดทางเชื้อชาติ เพศ และสีผิว ในฐานะที่ไทยเป็นรัฐภาคีของ “อนุสัญญาว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสิทธิสตรีทุกรูปแบบ” ตั้งแต่ ค.ศ.1985

เท่านั้นยังไม่พอ ปรากฏการณ์ล่ารายชื่อถอดถอนจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติก็ถูกหยิบยกขึ้นมาจากหลายฝ่าย ที่บอกว่า สถานะอันทรงเกียรติ ต้องไม่ควรถูกเหยียบย่ำทำลายโดยพฤติกรรมส่วนตัวผ่านบทกวีที่ไม่เหมาะสม

ตัวเลขผู้เข้าร่วมรายชื่ออาจไม่สำคัญเท่ากับความสงสัยถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้มีความเหมาะสมเป็นศิลปินแห่งชาติ รวมไปถึงการเสนอเรื่องให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ

 

ศ.ดร.สมภาร พรมทา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หนึ่งในผู้มีส่วนคัดเลือกศิลปินแห่งชาติปีที่ผ่านมา ถึงกับอดรนทนนิ่งเฉยไม่ไหว ออกมาฝากเหล่าคณะกรรมการผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ให้รำลึกถึงคำอภิปรายยาวเหยียดเรื่องคุณสมบัติผู้ที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติในส่วนที่เคยเป็นห่วง โดยย้ำว่าไม่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ แต่เกี่ยวกับการรักษามาตรฐานคุณสมบัติศิลปินแห่งชาติ และยอมรับตรงๆ ว่ารู้สึกเสียใจเพราะไม่คาดคิดว่าคุณภาพศิลปินแห่งชาติจะเป็นเช่นนี้

ความไม่ปลาบปลื้มนี้ยังลามไปถึงนักวิชาการอย่าง ศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงขั้นเขียนบทกลอนแสดงทรรศนะตอกกลับว่า เป็นกวีศรีสยอง เพราะกลอนสัมผัสที่เขียนขึ้นมานั้นสะท้อนธาตุแท้จริงออกมา

ขณะที่ รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าสลด เป็นการเปลี่ยนลานกวีให้กลายเป็นลานสังเวยทางเพศ เป็นเรื่องตลกขบขันที่ไม่ควร หากเป็นการวิจารณ์การกระทำทางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ย่อมเป็นสิทธิที่ทำได้จากสิทธิของความเห็นต่าง

 

แต่ถึงกระนั้น การถอดออกจากศิลปินแห่งชาติ คงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปตามคำเรียกร้องของหลายฝ่าย

เพราะ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อชัดเจนแล้วว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและกลุ่มศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำเฉพาะตัวบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ทั้งหมดต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วย

และขณะนี้ยังไม่มีกฎระเบียบสำหรับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ

“กรณีแบบเดียวกับบทกวีของ ไพฑูรย์ ธัญญา นั้น เราไม่ค่อยพบเจออยู่บ่อยนัก คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นดุลพินิจของเขาที่จะพิจารณาความเหมาะสม ก่อนหน้านี้เคยมีกรณีของศิลปินนักร้องบางคน เช่น “ลำไย ไหทองคำ” นักร้องเพลงลูกทุ่ง ที่ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมในการแต่งกายและไม่ยอมรับ เจ้าตัวและค่ายเพลงนั้นๆ ได้ออกมาขอโทษเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และได้ปรับปรุงตัวใหม่ แต่กรณีของนายธัญญา ผมว่า เขาได้ลบบทกวีดังกล่าวออกจากเฟซบุ๊กแล้ว ซึ่งทางกระทรวงยังไม่ได้ทำอะไร เพราะถือว่าท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของท่าน” รมว.วัฒนธรรมกล่าว

ด้าน นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ ก็ออกมาโต้ทันควันกับผลที่ออกมาว่า หากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัว และความสามารถของ รศ.ดร.ธัญญา ก็ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แต่คณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมนั้นจะไม่สะกิดใจเลยเหรอว่าสิ่งที่ รศ.ดร.ธัญญาทำ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมหรือทำลายวัฒนธรรม

อย่างน้อยการออกมาขอโทษก็ยังดี

 

ทั้งนี้ ต้องย้อนไปถึงกระบวนการคัดสรรศิลปินแห่งชาติเสียหน่อยว่า กว่าจะผ่านการคัดเลือก แต่งตั้งให้เป็นศิลปินแห่งชาติได้นั้นต้องผ่านการคัดเลือกจากเหล่าคณะกรรมการ 3 คณะ เริ่มจากคณะกรรมการสรรหา คัดรายชื่อ ส่งไปยังคณะกรรมการอำนวยการ ดูรายละเอียด ก่อนเสนอคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

เท่านั้นยังไม่พอ บุคคลเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติ 7 ประการด้วยกัน คือ

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันตัดสิน

2. เป็นผู้ที่มีความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่น เป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินแขนงนั้น

3. เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะแขนงนั้นจนถึงปัจจุบัน

4. เป็นผู้ผดุงและถ่ายทอดศิลปะแขนงนั้น

5. เป็นผู้ปฏิบัติงานศิลปะแขนงนั้นอยู่ในปัจจุบัน

6. เป็นผู้มีคุณธรรมและมีความรักในวิชาชีพของตน

และ 7. เป็นผู้มีผลงานที่ยังประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ

“ศิลปินแห่งชาติ” นั้น กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้อธิบายไว้ในเว็บไซต์ว่า เป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน

เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า

 

การสรรหาศิลปินแห่งชาตินั้น เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติ

นอกจากเกียรติยศที่กล่าวมานั้น ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติยังจะได้รับเงินเดือน เดือนละ 20,000 บาท พร้อมค่ารักษาพยาบาล ค่าประสบสาธารณภัย ค่าสิ่งของที่นำไปเยี่ยมยามเจ็บป่วยหรือโอกาสสำคัญ อีกทั้งเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เป็นค่าร่วมบำเพ็ญกุศลศพ ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณี รวมถึงค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงานอีกด้วย

นับว่าเป็นสิ่งตอบแทนจำนวนไม่น้อย และที่สำคัญเงินส่วนนี้นั้นเป็นภาษีที่มาจากประชาชน ทำให้กลุ่มต่อต้านหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า สิทธิพิเศษที่มอบให้ศิลปินเหล่านี้ ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรได้รับสิทธิเป็นผู้คัดเลือกศิลปินเหล่านี้ด้วยหรือไม่

แต่ถึงกระนั้น ก็เคยมีผู้ปฏิเสธรับตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” มาแล้ว แถมไม่ยอมรับสวัสดิการใดๆ เลย คือ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่แม้จะยังมีชื่อในเว็บไซต์และเอกสารทางการ ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ประจำปี 2545 แต่เจ้าตัวก็ประกาศย้ำชัดเลยว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่รับตำแหน่งนี้อย่างเด็ดขาด

โดยให้เหตุผลอย่างทีเล่นทีจริงว่า “ฝีมือยังไม่ถึงขนาด” และยังต้องพัฒนาอีกมาก

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่อต้านแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ที่ครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า มีผู้เสนอให้วางหลักเกณฑ์ในการถอดถอนศิลปินแห่งชาติขึ้นในที่ประชุม โดยยกตัวอย่างศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง โดยส่วนตัวแสดงความเห็นว่า ตอนเสนอชื่อศิลปินแห่งชาติ ไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ถอดถอนไว้ และเชื่อว่าหากระบุเงื่อนไข ก็คงมีหลายคนถอนตัว ไม่ยอมรับตำแหน่ง การถอดถอนจึงไม่น่าทำได้

และหากให้ศิลปินมีการปฏิบัติตนเหมือนคนทั่วไป เขาคงไม่สามารถสร้างศิลปะที่ยิ่งใหญ่ได้ จึงมีการถอนวาระนี้ออกไป จากนั้นก็ไม่มีแนวคิดถอดถอนศิลปินแห่งชาติอีกเลย กระทั่งเกิดกรณีบทกวี “น้ำในหู” ขึ้นมา

จากนี้ เชื่อว่าเหตุการณ์คงจะไม่ลุกลามบานปลายมากนัก แต่ก็ถือเป็นบทเรียนให้เหล่าศิลปินแห่งชาติ บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญระมัดระวังในการนำเสนอความคิดเห็นมากขึ้น

แม้ในอนาคตอาจจะต้องเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติและแนวทางการดำเนินงานของศิลปินแห่งชาติขึ้นมาใหม่ตามที่ รมว.วัฒนธรรมบอก แต่หากเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้บานปลายขึ้นมา และสังคมมีความต้องการเรียกร้องให้ถอดถอนผู้ที่ไม่เหมาะสมอีกครา

ไม่แน่อาจจะถือเป็นปฐมบทใหม่ในการเริ่มต้นนับหนึ่ง กระบวนการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” ก็เป็นได้