de-CONSCIENTIZATION : ถอดจิต การสำรวจจิตสำนึกของผู้ถูกกดขี่ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

de-CONSCIENTIZATION : ถอดจิต

การสำรวจจิตสำนึกของผู้ถูกกดขี่

 

เมื่อไม่นานมานี้เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการที่น่าสนใจมานิทรรศการหนึ่งก่อนที่จะจบลงไปแบบฉิวเฉียด นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า de-CONSCIENTIZATION : ถอดจิต

นิทรรศการกลุ่มที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินจากสามสัญชาติอย่าง หอสินกางธ่งมหาสารคาม (หอสิน กธม), กลุ่มศิลปิน TRA-TRAVEL จากประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มศิลปิน Load na Dito จากประเทศฟิลิปปินส์

นิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการจงใจสำรวจและท้าทายผ่านการตั้งคำถามต่อจิตสำนึก (และจิตไร้สำนึก) ของคนในสังคม เมื่อถึงคราวต้องต่อสู้กับความหดหู่สิ้นหวัง หรือความเป็นความตายในยามที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ

“จิต” ของเราจะทำงานอย่างไรในเชิงวิพากษ์?

จะสามารถตั้งคำถาม สำรวจ สะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหา และนำมาซึ่งการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้หรือไม่?

การตระหนักรู้ร่วมกันจะก่อให้เกิดกระแสขบถในผู้ถูกกดขี่ได้เพียงใด?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีทุนทางสังคมน้อยกว่าผู้อื่นอย่างคนยากจน แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ คนไร้บ้าน และคนพิการ

ความจำกัดจำเขี่ยในการเข้าถึงโอกาสของคนเหล่านี้ตอกย้ำถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่องว่างระหว่างชนชั้น การขาดเสถียรภาพทางสังคม-การเมือง ภายใต้การบริหารงานของรัฐไทยและผู้นำซึ่งไร้วิสัยทัศน์ ขาดความรู้ความเข้าใจ

และไร้ซึ่งความเป็นธรรม

 

เพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์ ภัณฑารักษ์ กล่าวถึงแนวคิดเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“นิทรรศการนี้เริ่มต้นจากการร่วมกันของศิลปินกลุ่มจากสามประเทศ คือ TRA-TRAVEL ศิลปินกลุ่มจากโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น และ Load na Dito ศิลปินกลุ่มจากฟิลิปปินส์ และศิลปินจากหอสินกางธ่ง มหาสารคาม ซึ่งกลุ่มหลังเราเคยทำโครงการกับพวกเขามาก่อน”

“ในนิทรรศการนี้ เรามองถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่การระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากจะทำให้การเดินทางติดขัดชะงักงัน”

“สถานการณ์นี้ยังทำให้เรามองเห็นถึงโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวจากการบริหารที่ล้มเหลว”

“พอเจอกับโควิด ปัญหาทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใต้พรมก็โผล่ออกมาหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบ้านเรา”

“เริ่มด้วยกลุ่มศิลปินจากหอสินกางธ่ง ด้วยความที่เขาเป็นศิลปินจากภาคอีสาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นภูมิภาคที่ยากจน ด้อยการศึกษา และถูกกดทับให้เป็นคนชายขอบ เรามองว่าในสถานการณ์ที่บีบคั้นในช่วงโควิด และการถูกกดทับโดยภาครัฐให้หลังชนฝาแบบนี้ เขาจะพูดเรื่องอะไร”

ผลงานของอดิศักดิ์ ภูผา

“ศิลปินคนแรกของกลุ่มหอสินกางธ่งคือ อดิศักดิ์ ภูผา เขาอยากพูดเรื่องพ่อของเขาที่เคยเป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มองเห็นว่าภัยแล้งเป็นสิ่งที่คุกคามภาคอีสาน โดยเฉพาะในหมู่บ้านของเขา ที่ทำนายากลำบากเพราะไม่มีน้ำ พ่อของเขาก็พยายามพลิกดินที่แห้งแล้วให้กลายเป็นพื้นที่ในการปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้ราคาดีกว่าการเกษตรแบบปุ๋ยเคมี”

“เขาก็พยายามหาพลังงานทดแทน ทำกังหันลม สร้างกลุ่มเกษตรกรขึ้นมาจนเริ่มมีชื่อเสียง มีรายการมาถ่ายทำ มีกลุ่มจากต่างจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงาน ภาครัฐก็เริ่มเข้ามาให้งบประมาณมาทำเสาไฟเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อใช้ไฟฟ้าทำการเกษตร ซึ่งเป็นความฝันของพ่อของเขา แต่ที่เจ็บปวดก็คืองบประมาณที่ได้มาทำเสาไฟนั้นก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ไฟฟ้ามาถึงที่นาของพ่อของเขา”

“จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ถาโถมเข้ามาทำให้พ่อของเขามีความเครียดสะสม จนสุดท้ายก็ป่วยเป็นมะเร็ง และเสียชีวิตไปก่อน อดิศักดิ์ก็เลยทำออกมาเป็นผลงานวิดีโอที่เล่าเรื่องราวของพ่อของเขาที่เชื่อมโยงกับผลงานที่จำลองเสาไฟต้นที่ไม่ได้สร้างขึ้นมา เพื่อสะท้อนการถูกกดทับในความเป็นคนอีสาน ความเป็นคนชายขอบที่ถูกรัฐหักหลัง”

“นอกจากนี้ ยังมีผลงานภาพวาดฝีมือพ่อของเขาที่วาดในสมัยเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และเคยฝึกงานกับเปี๊ยก โปสเตอร์ การนำภาพวาดนี้มาแสดง นอกจากจะเป็นการแสดงการระลึกถึงพ่อของเขาแล้ว ยังเป็นการสะท้อนถึงสภาวะกดทับของคนทำงานสร้างสรรค์ในต่างจังหวัดหรือพื้นที่ชายขอบอันด้อยโอกาส ไม่มีพื้นที่หรือเวทีให้แสดงผลงานของตัวเอง”

 

ผลงานของสิทธิกร ขาวสะอาด

“ศิลปินในกลุ่มหอสินกางธ่งอีกคนคือ สิทธิกร ขาวสะอาด งานของเขาทำในประเด็นเกี่ยวกับคนอีสานที่มาทำงานในกรุงเทพฯ และถูกผลกระทบจากวิกฤตการณ์ต่างๆ ทำให้ต้องกลับถิ่นฐานบ้านเกิด เขาก็เลยไปสัมภาษณ์ญาติพี่น้องที่เขารู้จัก และเอาเสียงสัมภาษณ์ที่ได้มาผสมกับเสียงลมหายใจเปิดอยู่ประติมากรรมจัดวางที่ดูเหมือนมุ้งที่ใช้ครอบสัตว์กันยุง ซึ่งพื้นที่ในมุ้งก็เป็นเหมือนการแบ่งชนชั้นในสังคม ที่คนอีสานถูกมองว่าเป็นคนอีกชนชั้นหนึ่ง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเราสามารถเข้าไปสัมผัสเขาได้ โดยเสียงสัมภาษณ์ที่ว่าก็จะเป็นภาษาอีสานทั้งหมด”

ผลงานของชัยภัทร ยาฉาย

“ส่วนศิลปินคนสุดท้ายในกลุ่มหอสินกางธ่งคือ ชัยภัทร ยาฉาย ด้วยความที่เขาเป็นคนที่ต้องใช้ชีวิตสองพื้นที่ ถึงเขาจะเรียนจบจากมหาวิทยาลัยและทำงานศิลปะของเขาในภาคอีสาน แต่เขาก็ต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เราเลยถามเขาว่าตัวแทนความฝันของเขาคืออะไร เขาก็บอกว่าความฝันของเขาคือการได้ขึ้นไปเก็บเห็ดในป่า เพราะที่บ้านของเขาถ้าใครเก็บเห็ดได้ก็เหมือนได้ทองดีๆ นี่เอง เขาก็เลยเอาเหรียญมาหล่อเป็นรูปเห็ดขึ้นมา”

ผลงานของชัยภัทร ยาฉาย

“ผลงานอีกชิ้นพูดถึงการที่เขาต้องมาทำงานในกรุงเทพฯ ที่เขาเรียกว่าเป็นการท่องป่าคอนกรีต เขาเลยมองหาความแตกต่างระหว่างการเก็บเห็ดที่เป็นคุณค่าในวิถีชีวิตของคนอีสาน กับคุณค่าชีวิตของคนในเมือง เขาก็สังเกตจนได้พบลุงคนหนึ่งกำลังคุ้ยขยะ เขาก็เข้าไปพูดคุยสอบถามว่าเก็บอะไร? ลุงก็บอกว่า กระป๋องเบียร์ เขาก็รู้สึกว่าแค่กระป๋องเบียร์เปล่าๆ ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับบางคน เขาเลยหล่อกระป๋องเบียร์ขึ้นจากเหรียญใส่ไว้ในถังขยะ และมีเสียงประกอบเป็นเสียงคนคุ้ยขยะ และเสียงหนูอยู่ข้างใน”

 

ผลงานของศิลปินกลุ่ม Load na Dito

“ส่วนผลงานของกลุ่มศิลปิน Load na Dito จากการรวมตัวของ Mark Salvatus, Mayumi Hirano, Marian Barro และ Jad De Guzman กลุ่มนักวิจัยที่ใช้กระบวนการ Patchwork Ethnography หรือกระบวนการปะติดปะต่อทางชาติพันธุ์วิทยา ที่เขาชวนกลุ่มศิลปินอีสาน, ญี่ปุ่น และกลุ่มของเขามาเล่นโปรแกรม Patchwork ซึ่งเป็นเหมือนการแปะโน้ตโพสต์อิตออนไลน์ โดยโยนโจทย์มาว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด เมื่อพูดถึงคำว่าการเดินทาง แต่ละคนจะรู้สึกยังไง?”

“โดยให้ทุกคนเขียนพร้อมกันทางออนไลน์ และให้ศิลปินอัดเสียงสลับกันไปกันมาเพื่อเปิดในงานนี้ ในงานยังมีคิวอาร์โค้ดให้คนดูสแกนเข้าไปในเว็บไซต์ที่แสดงตัวหนังสือที่เราเขียน ว่ากลุ่มศิลปินไทยเขียนอะไร, ญี่ปุ่นเขียนอะไร, ฟิลิปปินส์เขียนอะไร”

“ด้วยความที่กลุ่มศิลปินจากฟิลิปปินส์เป็นนักวิจัย เขาก็จะมองในเชิงหาทางออกว่าคนเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้”

ผลงานของศิลปินกลุ่ม TRA-TRAVEL

“ผลงานของกลุ่มศิลปิน TRA-TRAVEL จากการรวมตัวของ Yukawa Nakayasu, Qenji Yoshida เป็นผลงานศิลปะจัดวางในรูปของเตียงกับวิดีโอสะสมความฝัน ด้วยการเข้าไปสัมภาษณ์ผู้คนในช่วงโควิด ว่าเจอสถานการณ์อะไร ถูกกระทำอย่างไร มีผลกระทบอะไร และมีความฝันอะไรบ้าง และเอาบางส่วนของวิดีโอสัมภาษณ์แต่ละคนมาผสมกันทั้งภาพและเสียง”

“งานของเขาพูดเรื่องการสื่อสารระหว่างจิต ความฝัน เลยทำออกมาเป็นเหมือนห้องนอนให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้นอนและซึมซับสิ่งที่ผ่านมาระหว่างโลกอนาคตกับโลกปัจจุบัน ซึ่งเตียงที่แสดงอยู่ก็ให้คนขึ้นไปนอนได้จริงๆ”

 

“ที่เราตั้งชื่อนิทรรศการว่า de-CONSCIENTIZATION : ถอดจิต เพราะเรามองว่า จิตสำนึก (หรือจิตไร้สำนึก) เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ ถ้าจิตสำนึกเราไม่ทำงาน เราก็ไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งที่กดทับเราอยู่ได้”

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งถูกสามีกดขี่หรือใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือจิตใจ แต่เขาไม่รู้สึกตัวว่าถูกกดขี่หรือถูกกระทำอยู่ เขาก็ไม่มีวันที่จะหนีพ้นได้ ดังเช่นแนวคิดของเปาโล เฟรรี (Paulo Freire) (อดีตศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และปรัชญาการศึกษาชาวบราซิล ผู้เขียนหนังสือ ‘การศึกษาของผู้ถูกกดขี่ : Pedagogy of the Oppressed’) ที่อ้างถึงความพยายามในการสะท้อนและตอบโต้ต่อปัญหาที่ เรียกว่า ‘Praxis’ อันเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างขุมพลังให้แก่ผู้ถูกกดขี่ และนำไปสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เราหยิบมาใช้เป็นแก่นแกนของนิทรรศการครั้งนี้”

ท้ายที่สุด สารที่สื่อผ่านนิทรรศการครั้งนี้ก็เป็นดังเช่นแนวคิดของเฟรรีที่ว่า ถ้าเราไม่รู้ตัวว่าเราคือผู้ถูกกดขี่ เราก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากการถูกกดขี่ได้ และต้องยอมจำนนไปเรื่อยๆ

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว มีเพียงความดื้อด้านและการไม่ยอมจำนนต่ออำนาจกดขี่เท่านั้น ที่จะช่วยให้เราสามารถถอดจิตสำนึกภายในตัวตน สำรวจปัญหาตามความเป็นจริง ยอมรับและกล้าเผชิญหน้ากับความปรารถนาที่แท้จริง เพื่อนำไปสู่แรงกระเพื่อมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด

นิทรรศการ de-CONSCIENTIZATION : ถอดจิต จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม 2564-5 กุมภาพันธ์ 2565 น่าเสียดายที่กว่านิตยสารจะวางแผง นิทรรศการก็คงจบไปแล้ว แต่ถ้าหากมีความเคลื่อนไหวอะไรเกี่ยวกับศิลปินเหล่านี้อีก เราจะนำมารายงานให้ทราบโดยพลัน!

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร