หวานคมเคียว / เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

หวานคมเคียว

 

เพื่อนเมืองกาญจน์รุ่นเรียนมัธยมมาด้วยกันเล่าถึงบรรยากาศ “ลงแขก” เกี่ยวข้าวในนาสมัยโน้นว่าสนุกนัก โดยเฉพาะหนุ่มสาวจะถือเคียวดาหน้าเรียงแถว “จับหน้า”

จับหน้าคือเริ่มเกี่ยวเฉพาะกอข้าวบริเวณตรงหน้าเป็นต้นไป หน้าใครหน้ามัน ตรงไปจนสุดคันนาไม่เหลือข้าวเลยสักต้น

ยิ่งข้าวงามคือรวงงาม และมีน้ำคลอกออยู่ยิ่งเกี่ยวคล่องเคียวดีนัก เขาเรียก “หวานคมเคียว”

คำ “หวานคมเคียว” นี่แหละบันดาลใจให้แต่งกลอนนี้ขึ้นมา ดูจะเป็นกลอนบทแรกที่ตั้งใจจงใจใช้คำอย่างพิถีพิถันยิ่งให้สมคำ “หวานคมเคียว”…ประมาณนั้น

 

สัมผัสกลอนแปดแบบฉบับกลอนครู “สุนทรภู่” นั้นแบ่งจังหวะวรรคเป็นสามช่วงชัดเจนคือ

สาม-สอง-สาม หรือ สาม-สาม-สาม

หลักคือ สาม-สอง-สาม เช่น “พระโหยหวน-ครวญเพลง-วังเวงจิต”

ที่เป็น สาม-สาม-สาม เช่น “อยู่ข้างหลัง-ก็จะแล-ชะแง้คอย”

หวานคมเคียวก็เริ่มแบบนั้นเลย

เอนระนาบ-อาบน้ำค้าง-กลางแดดหนาว

ทอดรวงยาว-ยอดระย้า-ราน้ำใส

ละลานรอบ-ขอบฟ้า-คราพลิ้วใบ

เพียงพรมใหญ่-ไหวระยาบ-ทาบเปลวทอง

เว้นวรรคสามวรรคเดียว ที่เป็น สาม-สอง-สาม คือ “ละลานรอบ-ขอบฟ้า-คราพลิ้วใบ” นอกนั้นเป็นลักษณะ สาม-สาม-สาม ทั้งสามวรรค

บทต่อไปจึงเป็น สาม-สอง-สาม ทั้งหมดคือ

เพรียกเพลงเรือ-เมื่อสาง-หมอกจางสี

ระเรื่อยรี่-เลียบลัด-ตัดชายหนอง

สาวเจ้าพาย-ย้ายเยื้อง-ชำเลืองมอง

หนุ่มก็พร้อง-เพลงเกี่ยว-เกี้ยวแก้กัน

 

แบ่งจังหวะวรรคเป็นสามช่วงแล้ว ที่จะทำให้จังหวะชัดเจนนั้นต้องใช้ “สัมผัส” ช่วย สัมผัสหลักจะใช้สระเป็นตัวกำหนด ซึ่งในกลอน “หวานคมเคียว” นี้แทบทุกวรรคใช้สัมผัสสระกำหนดทุกช่วงในแต่ละวรรค ยกเว้นวรรคเดียวคือวรรคที่ว่า

ที่ไหนเลย-จะเชี่ยวเท่า-คนเจ้าชู้

ช่วงหนึ่งกับสองไม่มีสัมผัสสระ คือ “ที่ไหนเลย” กับ “จะเชี่ยวเท่า” นอกนั้นสัมผัสครบหมด

นอกจากจังหวะจะกำหนดด้วยสัมผัสสระแล้ว จังหวะยังกำหนดด้วยอักษรได้อีก เช่นวรรคที่ว่า

โอ้ช่อทิพย์-รวงทอง-ชะน้องเอ๋ย

คำ “ช่อทิพย์” กับ “รวงทอง” นั้นมีอักษรซ้ำเสียงตรงคำทิพย์กับทอง อันถือเป็นสัมผัสอักษรซ้ำเสียงท้ายช่วง คือคำที่สามกับคำที่ห้า ซึ่งมีอีกวรรคคือ

ดอกโสน-ริมนา-พี่ยาเอ๋ย

“โสนกับนา” คือคำซ้ำเสียงท้ายช่วงเสียงสะ

คำซ้ำเสียงระหว่างช่วงตรงๆ ก็เช่น

“ทั้งทุ่งทิว-ทั่วใกล้-ไกลเกินกู่”

“สาวหนุ่มคู่-คลอแข่ง-ร่วมแรงงาน”

คำ “ทิวกับทั่ว” และ “คู่กับคลอ” คือคำซ้ำเสียง “เชื่อมช่วง” เป็นคำเชื่อมระหว่างช่วงตรงๆ

สัมผัสกลอนจึงมีสองแบบคือ สัมผัสสระกับสัมผัสอักษร ซึ่งเป็นเสียงอักษรเดียวกันไม่ใช่เสียงเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่กำหนดด้วยวรรณยุกต์

 

ที่ว่า “หวานคมเคียว” จงใจพิถีพิถันกับสัมผัสยิ่งแทบทุกวรรคเว้นวรรคเดียวดังว่านั้น ก็เพราะดูจะเป็นกลอนบทแรกในชีวิตที่ตั้งใจจะเขียนให้ถูกต้องครบถ้วนตามฉันทลักษณ์กลอนแปด

ก่อนหน้านั้นหัดเขียนโคลงสี่สุภาพเป็นหลัก จำได้ว่ามาเริ่มหัดเขียนกลอนเอาจริงเอาจังเมื่อจบมัธยมหก สมัยโน้นเทียบสมัยนี้คือ ม.4

และกลอนแรกที่เอาจริงเอาจังก็ดูจะเป็นบท “หวานคมเคียว” นี่เอง ดังได้บันดาลใจจากคำเพื่อนเรื่อง “จับหน้า” และ “หวานคมเคียว” อันนำมาลงเป็นบทท้ายว่า

เขาเริงรื่นลงแขกแลกแรงเรี่ยว

ต่าง “จับหน้า” คว้าเคียวเกี่ยวผสาน

ล้วนข้าวงามอร่ามกอคลอน้ำนาน

เขาขานบอกออกอุทาน “หวานคมเคียว” ฯ

 

จากบทแรกของกลอน “หวานคมเคียว” ถึงวันนี้ประมาณได้ราวหกสิบห้าปีแล้วกระมัง ไม่รู้ว่ายังจะมีบรรยากาศนี้หลงเหลืออยู่ที่ใดหรือไม่

วิถีชีวิตชาวนานั้นนอกจากสะท้อนบรรยากาศสังคมการผลิตแบบ “ทำมาหากิน” ไม่ใช่ “ทำมาค้าขาย” แล้ว ยังให้เราสัมผัสได้ถึงชีวิตชีวาของผู้คนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติอีกด้วย

แม้เมื่อราวสามสิบปีมานี้เองได้ย้ายไปอยู่ละแวกคันนายาวใหม่ๆ ถามป้าชาวนามีข้าวเปลือกกองพูนอยู่ใต้ถุนเรือนว่า ยังไม่ขายข้าวอีกหรือ ป้าแกตอบคำที่ทำให้เราแทบจะกราบกองข้าวเปลือกได้เลย ป้าแกว่า

“ให้เขาเห็นหน้าน้องก่อน”

ป้าแกเห็นข้าวมีชีวิตเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องนั่นเลย

เราถามอีกถึงข้าว “รุ่นน้อง” ที่ยังอยู่ในนาว่าเป็นอย่างไร ป้าแกตอบอีกคำสะใจนักว่าคงได้ดีอยู่ถ้า

“…หนูไม่กัดวัดไม่กวนนะ”

นี่ยิ่งกว่า “สัมผัสคำ” ดังเกริ่นมายืดยาวนี่เสียอีก เพราะป้าแกใช้คำได้ “สัมผัสใจ” ดีนัก

สัมผัสคำนั้นเป็นกลอน

แต่สัมผัสใจนี่แหละเป็น

กวีโดยแท้

หวานคมเคียว

เอนระนาบอาบน้ำค้างกลางแดดหนาว

ทอดรวงยาวยอดระย้าราน้ำใส

ละลานรอบขอบฟ้าคราพลิ้วใบ

เพียงพรมใหญ่ไหวระยาบทาบเปลวทอง

เพรียกเพลงเรือเมื่อสางหมอกจางสี

ระเรื่อยรี่เลียบลัดตัดชายหนอง

สาวเจ้าพายย้ายเยื้องชำเลืองมอง

หนุ่มก็พร้องเพลงเกี่ยวเกี้ยวแก้กัน

“โอ้ช่อทิพย์รวงทองชะน้องเอ๋ย

พี่ควงเคียวเกี่ยวเกยไม่เคยหวั่น

หวาดแต่ใจเจ้าไม่จริงมิ่งแจ่มจันทร์

จะเกี่ยวค้างเสียกลางคันเท่านั้นเอยฯ”

สาวสะเทิ้นเอิ้นเอ่ยเผยโอษฐ์ “โอ้

ดอกโสนริมนาพี่ยาเอ๋ย

จะลดเลี้ยวเกี่ยวใจน้องไม่เคย

ที่ไหนเลยจะเชี่ยวเท่าคนเจ้าชู้ฯ”

 

เพลงรักแว่วแผ่วหวานกังวานหวิว

ทั้งทุ่งทิวทั่วใกล้ไกลเกินกู่

นกร่ายฟ้ามาเรียงเคียงริมคู

สาวหนุ่มคู่คลอแข่งร่วมแรงงาน

เขาเริงรื่น ลงแขก แลกแรงเรี่ยว

ต่าง “จับหน้า” คว้าเคียวเกี่ยวผสาน

ล้วนข้าวงามอร่ามกอคลอน้ำนาน

เขาขานบอกออกอุทาน “หวานคมเคียว” ฯ