คำเก่าๆ / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

คำเก่าๆ

 

‘งาย’ เป็นคำเกี่ยวกับเวลาที่น่าสนใจ “ไตรภูมิพระร่วง” วรรณคดีสำคัญสมัยสุโขทัยใช้คำนี้อยู่ทั่วไป ดังตอนที่กล่าวถึงการเดินทางอย่างรวดเร็วของพระมหาจักรพรรดิราชโดยอาศัยช้างแก้วเป็นพาหนะ

“อันว่าพระญาจักรพรรดิราชเจ้าก็ดี แลฝูงรี้พลทั้งหลายก็ดี ก็ไปเวียนเขาพระสุเมรุราช แล้วจิงไปเลียบกำแพงจักรวาฬ แล้วจิงเสด็จกลับคืนมาสู่พระนครที่พระองค์เสด็จอยู่นั้นเร็วแต่เช้าก่อนงาย ไปแล้วกลับมากินเข้ายังมิทันสายเลยแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ทั้งความรวดเร็วและระยะทางไม่ต่างกับประทับม้าแก้ว

“ม้านั้นจิงพาพระองค์เหาะไปโดยอากาศกับด้วยรี้พลทั้งหลาย ธ ก็เสด็จไปเลียบกำแพงจักรวาฬ …ฯลฯ … แล้ว ธ จิงกลับคืนมาเถิงที่อยู่ ธ นั้น พอทันกินเข้างาย บมิทันสายเลยแล”

ข้อความว่า ‘เร็วแต่เช้าก่อนงาย กลับมากินเข้ายังมิทันสาย’ และ ‘พอทันกินเข้างายบมิทันสาย’ ความหมายครือๆ กัน เปรียบเทียบว่าเดินทางไปกลับเร็วมาก กลับมา ‘ทันกินเข้างาย’ คือ ทันกินข้าวเช้าพอดี

 

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ ให้รายละเอียดว่า

“งาย, คือ เพลาเช้าประมาณสามชั่วโมง, สี่ชั่วโมงนั้น (เพลา = เวลา – ผู้เขียน)

งายเช้า, คือ เพลากินเข้าเช้าแล้วนั้น (เข้าเช้า = ข้าวเช้า)

งายแก่, คือ เพลาสายๆ ประมาณสี่ชั่วโมงเศศนั้น

แสดงว่า ‘งาย’ น่าจะอยู่ในช่วงเวลาราวๆ 08.00-10.00 น.

“ไตรภูมิพระร่วง” ตอนที่กล่าวถึงโชติกเศรษฐี มีข้อความว่า

“พอยามงายแล พระญาจิงว่าแก่เศรษฐีดั่งนี้ กูจะกินเข้างายในปราสาทมหาเศรษฐี มหาเศรษฐีนั้นจิงว่า สาธุข้ายินดีนักแล”

ยามงาย คือ ยามเช้า กินเข้างาย คือ กินข้าวเช้า

 

วรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เรื่อง “ลิลิตตะเลงพ่าย” ตอนที่สมเด็จพระวันรัตจะไปทูลขออภัยโทษแม่ทัพนายกองจากสมเด็จพระนเรศวร กวีบรรยายว่า

“กระทั่งแรมสิบห้าค่ำ ย่ำสองนาฬิกาปลาย ทำงนงายพอเสร็จ จึ่งสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้วแคล้วคลา กับราชาคณะสงฆ์ ยี่สิบห้าองค์สองแผนก แฉกงาสานสรล้าย ผ้ายลุยังวังราช พระบาท ธ ให้นิมนต์”

หลังจากสมเด็จพระวันรัต ‘ทำงนงายพอเสร็จ’ คือ ทำธุระตอนเช้า หรือฉันจังหันเช้าเสร็จแล้วก็ออกเดินทางพร้อมสงฆ์บริวารฝ่ายคันถธุระ (เรียนคัมภีร์) และฝ่ายวิปัสสนาธุระ (เรียนกรรมฐาน) ไปเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรทันที

‘งาย’ คือ เวลาเช้า คู่กับ ‘เพรา’ คือ เวลาเย็น

“ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงเทวดาที่ ‘จุติ (=ดับ) จากสวรรค์นั้นไปเกิดแห่งอื่น เพราะว่าบุญสิ้นดั่งนั้น’

“เทพยดาลางจำพวกอยู่เหล้นสนุกนิ์ด้วยนางฟ้าแลลืมกินอาหารทั้งหลาย เทพยดานั้นก็สิ้นชีวิต แม้นว่าลืมกินแต่งายดังนั้นก็ดี ลืมกินแต่เพราเดียวดั่งนั้นก็ดี แม้นว่ามากินเมื่อภายหลังได้แลร้อยคาบก็ดี ก็มิอาจคงชีวิตคืนได้เลย”

ข้อความว่า ‘ลืมกินแต่งาย’ คือ ลืมกินตอนเช้า หมายถึง ลืมกินอาหารเช้า ส่วน ‘ลืมกินแต่เพราเดียว’ คือ ลืมกินตอนเย็น หมายถึง ลืมกินอาหารเย็นมื้อเดียว

 

วรรณคดีเรื่องนี้ยังเล่าถึง ‘สัญชาติสาลี’ ที่เป็นพระกระยาหารของพระเจ้าอโศกมหาราช พระญาจักรพรรดิราชแห่งเมืองปาตลีบุตรไว้ว่า

“เข้านั้นเป็นเข้าต้น เป็นกระยาเสวยแด่สมเด็จพระบาทท้าวศรีธรรมาโศกราชทุกเพราทุกงาย”

ทุกเพราทุกงาย คือ ทุกเย็นทุกเช้า หมายถึง ทั้งอาหารเย็นและอาหารเช้า

“ไตรภูมิพระร่วง” ใช้คำว่า ‘เข้าเพรา’ หรือ ‘ข้าวเย็น’ ไว้เป็นระยะๆ เมื่อกล่าวถึงเจ้าเมืองที่รับสินบน ตัดสินคดีไม่เที่ยงธรรม ‘แลอดเข้าเพราเถิงตัวตาย’ คือ อดข้าวเย็น ถึงแก่ความตายกลายเป็นเปรต

“วันนั้นมันก็อดเข้าเพรานอนในกลางคืนวันนั้นเหตุว่ามันมิเคยอดเข้าเพรา ครั้นว่ามันอดเข้าเพรานอน ลมก็ถือตนมัน มันก็ตายในกลางคืนวันนั้นแล ด้วยบาปกรรมของมันที่มันเป็นนายเมือง แลกินสินจ้าง แลมิบังคับความโดยกลองธรรม ดั่งนั้นมันจึงเป็นเปรตยากเผ็ดเร็ดไร้ใหญ่หลวงนักหนา หาอาหารจะกินบ่มิได้เลยสักหยาดแล ย่อมเอาเล็บมือของตนอันคมดั่งมีดกรด แล่ขอดเอาเนื้อหนังของตนเองทุกเมื่อดั่งนี้”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

คําว่า ‘งาย’ และ ‘เพรา’ นอกจากใช้เดี่ยวๆ ตามลำพัง ยังใช้คู่กันว่า ‘เพรางาย’ ดังจะเห็นได้จากบทละครครั้งกรุงเก่า เรื่อง “นางมะโนห์รา” บรรยายถึงพรานบุญไม่มีอาหารตกถึงท้องมาหลายวันเพราะมัวแต่ซุ่มดูนางกินรีโดย’แฝงตัวเอาไว้มิให้เห็น’รูปโฉมของนางทำให้พรานตกตะลึงถึงกับ ‘ยืดคอยาวยาวดูชาวฟ้า’ ความหิวโหยทั้งหลายกลายเป็นอิ่มอกอิ่มใจ

“ให้พะวงหลงรักนางชาวฟ้า รูปร่างช่างมาหน้างามงาม

อดข้าวเพรางายมิได้กิน ทั้งหลายหายสิ้นมาอิ่มหนาม”

‘อดข้าวเพรางายมิได้กิน’ คือ ไม่ได้กินทั้งข้าวเย็นข้าวเช้า

“บทเห่สังวาส” ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์รำพันด้วยความคิดถึงห่วงหาอาลัยนางผู้เป็นที่รัก เมื่อไร้นางก็ไร้สุขทุกเช้าเย็น

“เพรางายวายเสพย์รส แสนกำสรดอดโอชา

อิ่มทุกข์อิ่มชลนา อิ่มโศกาหน้าน้องชล”

บทละครนอกเรื่อง “คาวี” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ใช้คำว่า ‘เพรางาย’ เช่นกัน ดังตอนที่ยายเฒ่าทัดประสาทพยายามเกลี้ยกล่อมนางจันท์สุดาให้ลืมพระสวามี และยอมปลงใจกับกษัตริย์ชราที่ ‘จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้’ ทั้งยัง ‘ฟันหักผมหงอกเหมือนดอกเลา’

“ทรงธรรม์สันนุราชเรืองชัย จะเสกให้แม่เป็นมเหสี

อย่าทรงโศกโศกาถึงสามี เทวีจะเป็นสุขทุกเพรางาย”

ยายเฒ่าอ้างว่า ท้าวสันนุราชจะทำให้นางจันท์สุดา ‘เป็นสุขทุกเพรางาย’ คือ สุขทุกเวลาไม่ว่าจะเย็นหรือเช้า

‘งาย’ ‘เพรา’ และ ‘เพรางาย’ ล้วนเป็นคำเกี่ยวกับเวลาทั้งสิ้น โดยเฉพาะ ‘งาย’ ถึงจะ ‘เก่าแก่’ แต่ ‘ไม่เก่าเก็บ’ ยังมีลมหายใจในอดีตและมีชีวิตในปัจจุบัน คำว่า ‘งายเช้า’ และ ‘งายเย็น’ ใช้นับเวลาการทำงาน แม้ความหมายจะต่างจาก ‘งาย’ คำเดิมอยู่บ้าง ก็ยังมีใช้ในภาษาถิ่นใต้ ‘งายเช้า’ คือ ช่วงเวลาเช้าก่อนเที่ยง ‘งายเย็น’ คือ ช่วงเวลาทำงานตอนบ่าย (จาก พจนานุกรมฉบับมติชน)