คุยกับทูต : ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (จบ)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ซัยยิด เรซ่า โนบัคตี

การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน (จบ)

 

เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา อิหร่าน, จีน และรัสเซีย ซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งที่ 3 “2022 Marine Security Belt” บริเวณมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ บนพื้นที่ 17,000 ตารางกิโลเมตร (6,560 ตารางไมล์)

ทั้งสามประเทศนี้เคยจัดการฝึกในแบบเดียวกันในมหาสมุทรอินเดียและทะเลโอมานเมื่อปลายปี 2019 เมื่อครั้งที่มีความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและเพื่อนบ้านอาหรับในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียที่เป็นชาติพันธมิตรของสหรัฐ

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย เล่าว่า

“คำขวัญของการฝึกครั้งนี้คือ ‘ร่วมกันเพื่อสันติภาพและความมั่นคง’ (Together for Peace and Security) เป็นตัวอย่างที่ประจักษ์ชัดว่า อิหร่านไม่เคยและจะไม่มีวันถูกโดดเดี่ยวในภูมิภาคและโลกใบนี้จากการสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ตามความสนใจและความเคารพซึ่งกันและกัน”

“อิหร่าน รัสเซีย และจีน เริ่มซ้อมรบร่วมทางทะเลในมหาสมุทรอินเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางทะเล และครั้งนี้เป็นการซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่ 17,000 ตารางกิโลเมตรทางตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย และรวมถึงการสู้รบตอนกลางคืน ปฏิบัติการกู้ภัย และฝึกซ้อมการดับเพลิง ปฏิบัติการช่วยเหลือจากเรือไฟไหม้ ช่วยเรือถูกจี้ และยิงโจมตีเป้าหมายที่กำลังบินอยู่ในเวลากลางคืน”

“กองทัพเรืออิหร่านจะไม่ยอมให้มีภัยคุกคามใดๆ ในเขตน่านน้ำของเรา จุดประสงค์ของการฝึกซ้อมนี้ก็เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ตลอดจนขยายความร่วมมือพหุภาคีระหว่าง 3 ประเทศ เพื่อร่วมกันส่งเสริมสันติภาพโลก เสถียรภาพทางทะเล และสร้างชุมชนทางทะเลที่มีอนาคตร่วมกัน”

“ในอีกจุดประสงค์หนึ่งของการฝึกซ้อมนี้ ก็เพื่อให้มีความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างอิหร่าน จีน และรัสเซียในระดับที่มีนัยสำคัญ”

“การซ้อมรบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของอิหร่านในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค และไม่ขัดต่อประเทศใดๆ ในภูมิภาค”

การซ้อมรบร่วมทางทะเลครั้งที่ 3 นี้ อิหร่านเป็นเจ้าภาพและบัญชาการ แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือและกองทัพบกของอิหร่านมีศักยภาพ ความสามารถที่ดีเยี่ยม ในการสร้างความมั่นคงร่วมกับประเทศอื่นๆ และสามารถเสริมสร้างความมั่นคงในมหาสมุทรอินเดียเหนือ และทะเลโอมานได้

ซ้าย-ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน (Vladimir Putin)และ ขวา-นายซัยยิด เอบรอฮีม แรอีซี (Sayyid Ebrahim Raisi)ประธานาธิบดีอิหร่าน /AP

สําหรับการเดินทางไปเยือนมอสโกอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายซัยยิด เอบรอฮีม แรอีซี (Sayyid Ebrahim Raisi) ประธานาธิบดีอิหร่าน เมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ตามคำเชิญอย่างเป็นทางการของรัสเซีย ประเทศพันธมิตรของอิหร่าน ก็เพื่อขยายการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม

ประธานาธิบดีแรอีซี กับประธานาธิบดีปูติน ได้หารือ แลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ โครงการแผนเศรษฐกิจร่วมกัน และประเด็นระหว่างประเทศ ประธานาธิบดีแรอีซีได้เข้าร่วมและกล่าวปราศรัยที่รัฐสภาดูมาของรัสเซีย ไปพบปะกับประชาชนชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ในรัสเซีย และพบปะกับนักเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจของรัสเซีย ในโปรแกรมการเยือนสามวัน

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย

ส่วนการประชุมอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในซาอุดีอาระเบีย ทูตซัยยิด เรซ่า โนบัคตี กล่าวว่า

“อิหร่านยินดีเสมอที่จะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของซาอุดีอาระเบียและเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ของประชาชนของทั้งสองประเทศและภูมิภาค”

ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมานานแล้ว ประเด็นหลักๆ คือ

โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านที่ซาอุดีอาระเบียมองว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคง

ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ การเสียชีวิตของผู้แสวงบุญชาวอิหร่านมากกว่า 1,000 คนในระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครมักกะห์ เมืองในซาอุดีอาระเบีย

และความขัดแย้งล่าสุดที่มีสาเหตุมาจากการประหารชีวิตชีค นิมเมอร์ นักบวชชีอะห์คนสำคัญในซาอุดีอาระเบียนั่นเอง ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในชุมชนชาวชีอะห์หลายประเทศ แม้ว่าการประหารชีวิตผู้ต้องหาทั้ง 47 คนจะมีทั้งชาวสุหนี่และชีอะห์ก็ตาม

นอกจากนี้ ซาอุดีอาระเบียยังเป็นมุสลิมสุหนี่สาย “วาฮาบี” เคร่งศาสนา ที่มีฐานความคิดแตกต่างจากมุสลิมชีอะห์อย่างสิ้นเชิง

“การเจรจากับซาอุดีอาระเบียในปัจจุบันเป็นไปในเชิงบวกและสร้างสรรค์ และอิหร่านก็พร้อมที่จะเริ่มความสัมพันธ์กับประเทศนี้เมื่อใดก็ได้”

“เรามีการติดต่อกับซาอุดีอาระเบียเป็นประจำมากขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา และได้มีการพูดคุยที่ดีในประเด็นทวิภาคี”

“จำเป็นต้องอธิบายว่า การเจรจารอบใหม่ระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียซึ่งจัดโดยอิรักอยู่ในวาระการประชุม ถึงแม้จะมีกรณีพิพาทก็ตาม เราได้พยายามสานต่อเพื่อความสัมพันธ์อันมั่นคง ด้วยการเจรจาอย่างเปิดเผยและไม่ย่อท้อ ณ สถานที่ที่เหมาะสม”

“เราเชื่อว่าสันติภาพและเสถียรภาพในตะวันออกกลางสามารถกระทำได้โดยผ่านการเจรจาระหว่างประเทศหลักๆ ในภูมิภาคเท่านั้น”

“สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านพร้อมเสมอสำหรับการเจรจาที่สร้างสรรค์และเท่าเทียมกันกับประเทศที่เป็นมิตรในภูมิภาค และเราเชื่อว่าการเจรจาเหล่านี้สามารถนำไปสู่สันติภาพที่แท้จริงในตะวันออกกลาง”

 

โอกาสที่สหรัฐหวนคืนสู่เวทีการเจรจากับอิหร่าน

“ในการตอบคำถามนี้ ผมขออ้างอิงถึงคำพูดของรัฐมนตรีต่างประเทศของเรา นายฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน (Dr. Hossein Amir-Abdollahian) ที่กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากเราไปถึงขั้นที่จะมีการบรรลุข้อตกลงที่ดีและมีหลักประกันที่แข็งแกร่ง เราก็จะพิจารณาหากจำเป็นต้องมีการเจรจาโดยตรงกับสหรัฐ”

ที่ผ่านมาอิหร่านได้เจรจากับ 5 ประเทศคือ จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และอังกฤษ ซึ่งยังคงอยู่เป็นคู่สัญญาเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์หลังจากสหรัฐได้ถอนตัวออกไปจากข้อตกลงเดิมตัวแทนของ 5 ประเทศดังกล่าวได้พบปะเจรจากันในกรุงเวียนนาเมืองหลวงของออสเตรีย และมีตัวแทนของสหรัฐเข้าร่วมอย่างไม่เป็นทางการโดยตลอด

ทั้งนี้ อิหร่านตกอยู่ในสภาวะลำบากด้านเศรษฐกิจมาหลายสิบปี ตั้งแต่มีปัญหากับสหรัฐ

นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี (H.E. Mr. Seyed Reza Nobakhti) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านประจำประเทศไทย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้แสดงออกถึงความตั้งใจที่จะเจรจากับอิหร่านด้วยหวังว่าอิหร่านจะไม่มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อีกต่อไปเพื่อแลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร แต่อิหร่านก็เกี่ยงให้สหรัฐเป็นฝ่ายเริ่มต้น ด้วยหลักประกันของการหยุดมาตรการคว่ำบาตรเสียก่อน

ในขณะที่อิหร่านได้พัฒนาด้านอาวุธนิวเคลียร์ไปไกลแล้วรวมถึงการพัฒนาสารยูเรเนียมซึ่งสำคัญต่อโครงการ โดยอิหร่านอ้างว่าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของตนเองนั้นเพื่อแนวทางสันติภาพมากกว่า แต่เป็นที่รู้กันว่า การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จะทำให้สถานภาพการต่อรองของอิหร่านเข้มแข็งมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิหร่านชุดใหม่นี้ ดำเนินนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านและนโยบายมองตะวันออก

 

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน กล่าวว่า สถานการณ์ที่คลุมเครือในการกลับเข้าสู่โครงการนิวเคลียร์อิหร่าน หรือ JCPOA ของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีอิหร่านคนใหม่ นายซัยยิด เอบรอฮีม แรอีซี (Sayyid Ebrahim Raisi) ส่งผลให้อิหร่านเริ่มหมดความอดทนที่จะรอและฝากความหวังไว้กับพันธมิตรเดิมๆ ในยุโรป โดยเฉพาะกลุ่ม E3 ซึ่งประกอบไปด้วย ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ในการผลักดันให้สหรัฐหวนกลับคืนเข้าสู่โครงการดังกล่าว พร้อมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด รวมถึงชดเชยความเสียหายให้กับอิหร่านจากมาตรการคว่ำบาตรที่ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนและการขาดความเชื่อมั่นในพันธมิตรจากซีกตะวันตกนี้ อิหร่านจึงได้รื้อฟื้นนโยบายมองตะวันออก หรือ Pivot to the East ขึ้นมาอีกครั้ง หลังแผ่วไปในช่วงสิ้นสุดสมัยประธานาธิบดีอะมาดิเนจัด (Mahmoud Ahmadinejad) ปี 2005-2013 ได้สร้างความแข็งแกร่งและยกระดับการทูตทางเศรษฐกิจ หรือ Economic Diplomacy ให้กับอิหร่านได้เป็นอย่างดี

โดยเฉพาะกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น รัสเซีย จีน อินเดีย อิรัก และปากีสถาน ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางการเมือง และบทบาททางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของโลก

ไม่นับรวมการเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีจำนวนประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก

นโยบายมองตะวันออกของอิหร่านนี้ เป็นนโยบายที่มีพื้นฐานมาจากความพยายามลดการพึ่งพายุโรปในด้านเศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก

ซึ่งอิหร่านได้ตระหนักแล้วว่าท่ามกลางการคว่ำบาตรอย่างเข้มข้นของสหรัฐ ประเทศพันธมิตรของอิหร่านในยุโรปเหล่านี้กลับไม่อยู่ในสถานะที่จะช่วยเหลืออิหร่านได้แต่ประการใด ถึงแม้ส่วนใหญ่จะยังคงเห็นด้วยและคงความเป็นภาคีข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์อิหร่านก็ตาม

ดังนั้น การมองตะวันออกจึงเป็นทางออกสุดท้ายที่อิหร่านต้องการชี้ให้เห็นว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐรอบใหม่นี้ ไม่สามารถกดดันอิหร่านให้เข้าสู่ทางตันแต่ประการใด

ในขณะเดียวกันยิ่งเป็นการผลักดันให้อิหร่านหันไปสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งสี่ในทวีปเอเชีย อันประกอบไปด้วยรัสเซีย จีน อินเดีย และญี่ปุ่น ได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันอิหร่านก็สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งและสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ในอนาคต เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) และองค์การความร่วมมือแห่งเอเชียใต้ (SAARC) เป็นต้น

ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่มีความสำคัญและตั้งอยู่บนโครงการเส้นทางสายไหม One Belt-One Road ของจีน ที่กำลังขยายตัวและมีพัฒนาการเป็นที่น่าจับตามอง

 

อิหร่านมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในกลุ่มอาเซียน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่อิหร่านจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับไทยในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านการค้าที่ไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกสำคัญหลายรายการที่อิหร่านต้องพึ่งพาการนำเข้า เช่น สินค้าข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น เนื่องจากอิหร่านไม่สมารถผลิตเองได้ หรือมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ

สำหรับบทบาทของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประจำประเทศไทย

“เรามีแผนหลายอย่างในปี 2022 โดยจะพยายามดำเนินการให้เป็นไปตามแผนอย่างดีที่สุด” นายซัยยิด เรซ่า โนบัคตี ชี้แจง

“ได้แก่ การจัดฉายภาพยนตร์อิหร่าน ณ หอภาพยนตร์ไทย คอร์สพิเศษทางภาคการศึกษาเฉพาะทาง รวมทั้งงานปีใหม่ของอิหร่านในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ การจัดประชุมทางการค้าและเศรษฐกิจก็เป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญที่สุดในแผนด้วย”

และในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ข้าวไทยจำนวน 30,000 ตัน จะถูกส่งกระจายไปยังตลาดอิหร่านในทุกเดือน

อิหร่านได้ออกใบอนุญาตจำหน่ายข้าวไทยจำนวน 30,000 ตันต่อเดือนแล้ว ซึ่งผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงสินค้าผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายทั่วประเทศ และอ้างอิงถึงปริมาณคงคลังของสินค้านี้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมานั้น มีปริมาณการขายข้าวเพิ่มสูงขึ้นถึง 282,000 ตัน

เพราะข้าวเป็นอาหารหลักของผู้คนมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเช่นเดียวกันในอิหร่าน ข้าวกับขนมปัง จึงเป็นสององค์ประกอบหลักที่มักอยู่เคียงคู่กันเสมอบนโต๊ะอาหารของประชาชน