ฌาปนสถานคณะราษฎร ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ฌาปนสถานคณะราษฎร (1)

 

ผู้สนใจประวัติศาสตร์คณะราษฎร ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า “เมรุถาวรสำหรับเผาศพสามัญชน” เป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทยไม่นาน และสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับนโยบายของคณะราษฎร

โดยเมรุถาวรฯ แห่งแรก คือ เมรุวัดไตรมิตร (ปัจจุบันถูกรื้อถอนไปแล้ว) ทำการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2483

ผมเคยเขียนถึงเมรุวัดไตรมิตร หลายครั้งแล้ว ในฐานะมรดกสถาปัตยกรรมที่สำคัญมากที่สุดของการปฏิวัติ 2475 และพยายามค้นหาที่มาของแนวคิดนี้มานานว่าเกิดขึ้นจากใครและอย่างไร ก่อนที่จะถูกนำมาสร้างที่วัดไตรมิตร

จนในที่สุด จากข้อมูลใหม่ในงานวิจัยที่ผมกำลังศึกษาอยู่ (เรื่องการทำศพของคนไทยหลัง 2475) ทำให้พบว่า แนวคิดในการสร้างเมรุถาวรฯ เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติ 2475 เพียงไม่นาน

ซึ่งหลักฐานเก่าสุดที่พบ ณ ขณะนี้คือ คำสั่งแต่งตั้ง “กรรมการวางโครงการตั้งที่เผาศพ” ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2478 โดยมีพระยาบริรักษเวชชการ อธิบดีกรมสาธารณสุข เป็นประธาน

ชื่อโครงการนี้เมื่อแรกเริ่มใช้คำว่า “ที่เผาศพ” ต่อมาเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ฌาปนีย์” และสุดท้ายเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ฌาชนีย์สถาน” แต่บทความนี้จะขอใช้คำว่า “ฌาปนสถาน” ซึ่งเป็นคำที่คุ้นเคยในปัจจุบันแทน

ฌาปนสถาน แบบที่ 2 ข พ.ศ.2478

สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกในคำสั่งฉบับนี้ คือ ลงนามโดยหลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำให้เราอาจอนุมานในเบื้องต้นได้ว่า แนวคิดดังกล่าวถูกคิดขึ้นโดยปรีดี หรืออย่างน้อย (หากปรีดีไม่ได้เป็นคนต้นคิด) ก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากปรีดี

ความน่าสนใจอย่างที่สอง คือ คำสั่งนี้ทำให้เราทราบว่าแนวคิดเรื่องเมรุถาวรฯ มิได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2481 (ในช่วงสร้างเมรุวัดไตรมิตร) แต่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ภายใต้โครงการฌาปนสถาน ตั้งแต่ราวต้นปี พ.ศ.2478 หรือเพียง 2 ปีเท่านั้นหลังการปฏิวัติ (ควรกล่าวไว้ด้วยว่า โครงการนี้อาจเริ่มเห็นเค้าลางมาตั้งแต่ พ.ศ.2476 ดังปรากฏการอ้างถึงบันทึกฉบับหนึ่งของที่ปรึกษาชาวต่างชาติที่ทำข้อเสนอเกี่ยวกับเตาเผาสมัยใหม่แก่รัฐบาล)

คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดประชุมต่อมาอีกหลายครั้ง ซึ่งจากเอกสารที่ค้นพบ ทำให้เห็นว่ามีการเตรียมการในเรื่องการสร้างฌาปนสถานอย่างจริงจัง มีการศึกษารวบรวมข้อมูลการทำศพของคนไทย โดยเฉพาะในพื้นที่พระนคร ตลอดจนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

 

ทําไมฌาปนสถานจึงสำคัญจนคณะราษฎร (โดยปรีดี?) ต้องเร่งรีบในการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ผมคิดว่า เหตุผลอาจจำแนกได้เป็น 2 ส่วน

เหตุผลส่วนแรก คือ ความเดือดร้อนของประชาชนในวงกว้างซึ่งเกิดจากการเผาศพตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมของสังคมไทย ซึ่งนิยมการเก็บศพ และฝังศพ แบบชั่วคราวในเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงค่อยนำศพขึ้นมาเผาในขั้นสุดท้าย

ปัญหาของการฝังศพตามธรรมเนียมคนไทยที่นับถือพุทธ (จากรายงานที่คณะกรรมการชุดนี้ได้ให้ความเห็นเอาไว้) คือ การฝังศพที่มักกระทำอย่างลวกๆ และฝังลงในระดับดินที่ตื้นเกินไป เพราะสะดวกในการขุดศพมาเผาในภายหลัง ซึ่งแตกต่างจากธรรมเนียมของชาวคริสเตียนหรือมุสลิมที่จะฝังศพอย่างเป็นระเบียบและลึกมากกว่า เพราะนิยมการฝั่งแบบถาวร

ด้วยทัศนะที่มองการฝังเป็นเรื่องชั่วคราว ทำให้ขาดความใส่ใจในการฝังมีน้อย ขาดรั้วรอบขอบชิด บางแห่งน้ำท่วมถึง และหลายกรณีเกิดการคุ้ยเขี่ยจากสัตว์ต่างๆ ได้โดยง่าย จนศพโผล่พ้นดินเป็นที่น่ารังเกียจและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว

ส่วนปัญหาของการเก็บศพก็ไม่ต่างกันนัก เพราะที่เก็บศพจะมีลักษณะเป็นอาคารที่มิได้คำนึงถึงสุขลักษณะที่ดีพอ ไม่สามารถกันสัตว์ออกได้อย่างสมบูรณ์ ขาดระบบระบายอากาศ

ที่สำคัญคือ ไม่มีการออกแบบรองรับเลือด หนอง และน้ำเหลืองที่ไหลออกจากศพได้ ทำให้โรงเก็บศพทุกแห่งมีกลิ่นเหม็นรุนแรง

 

จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ.2478 พบว่า เฉพาะในพื้นที่สุขาภิบาลจังหวัดพระนคร มีสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เก็บศพ 16 แห่ง มีโรงเก็บศพ 33 โรง โดยมีจำนวนศพมากถึง 2,400 ศพที่รอการเผา เมื่อรวมกับพื้นที่ฝังศพตามป่าช้าต่างๆ ในเขตเทศบาลที่มีพื้นที่รวมกันมากถึง 13,000 ตารางเมตร และมีศพฝังอยู่มากกว่า 2,700 ศพ ก็น่าจะทำให้เราจินตนาการถึงมวลมหากลิ่นอันไม่พึงประสงค์ที่จะกระจายตัวอยู่ทั่วพระนครได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมศพที่ได้รับอนุญาตให้เก็บไว้ที่บ้านอีกนับไม่ถ้วนนะครับ

ปัญหาการเผาศพก็มีมากไม่น้อยกว่าการเก็บและฝัง เพราะการเผาในสมัยนั้นคือการเผาด้วยฟืนซึ่งนำมาวางขัดกันเป็นเชิงตะกอน จากนั้นก็นำศพขึ้นตั้งและทำการเผา ซึ่งกลิ่นเหม็นมหาศาลจากการเผานั้นได้สร้างความรำคาญต่อผู้คนอย่างมาก

สภาพดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนมหาศาลต่อประชาชนในเขตพื้นที่เมืองมายาวนาน แต่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเท่าที่ควร

หากตามค้นข้อร้องเรียนของประชาชนในยุคนั้น เราจะเห็นชัดเลยนะครับว่า ปัญหากลิ่นศพคือเรื่องใหญ่มากเรื่องหนึ่ง มีการทำหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ติดกำแพงวัดหลายครั้ง เพื่อต่อต้านการที่รัฐอนุญาตให้วัดใกล้บ้านจัดทำโรงเก็บศพ

 

เมื่อเกิดการปฏิวัติ 2475 ข้อเรียกร้องจากประชาชนให้มีการจัดการเผาศพอย่างทันสมัย ไม่อุจาด และไม่ส่งกลิ่นรบกวน ก็เริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นจากเงื่อนไขทางการเมืองที่เอื้อให้แสดงออกทางความคิดมากขึ้น

เหตุผลส่วนที่สอง คือ เหตุผลในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง จะเข้าใจประเด็นนี้เราต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า ธรรมเนียมการเผาศพของไทยนั้นยึดโยงแน่นหนากับสิ่งที่เรียกว่า “ฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรม” กล่าวคือ การเผาศพมิใช่เป็นแค่เรื่องของการจัดการศพให้สูญสลายไปเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องของการแสดงออกทางช่วงชั้นวรรณะและสถานะของบุคคลนั้นเมื่อครั้งยังมีชีวิตด้วย

ญาติของผู้ตายที่มีสถานะทางสังคมสูงต่างรังเกียจที่จะทำการเผาศพญาติที่มีสถานะสูงของตนเองร่วมกันในอาคาร (เมรุ) เดียวกันกับคนตายที่มีสถานะทางสังคมต่ำกว่า

ยิ่งบุคคลที่มีสถานะสูงมากๆ เช่น เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ และกษัตริย์ ยิ่งเห็นชัดเจน สะท้อนจากการที่มีการสร้าง “เมรุชั่วคราว” ขึ้นเฉพาะเพื่อทำพิธีเผาศพเป็นครั้งๆ ไป

ซึ่งทัศนะที่รังเกียจการเผาศพร่วมกันของคนที่มีสถานะต่างกันนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยอธิบายไว้อย่างชัดเจนมาก (สนใจดูเพิ่มจาก “สาส์นสมเด็จ” ในจดหมายฉบับวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2483)

ด้วยผลของทัศนะข้างต้น ทำให้คนธรรมดาสามัญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยุคก่อนหน้านั้น ต่างต้องจัดพิธีเผาศพบนเชิงตะกอนในที่แจ้งและส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วพระนครอยู่ร่ำไป โดยไม่อาจจะสร้างเมรุถาวรฯ ที่ใช้เตาเผาสมัยใหม่ได้

กล่าวให้ชัดก็คือ การที่เมรุถาวรฯ ไม่อาจมีได้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มิใช่เพราะเทคโนโลยีการเผาศพสมัยใหม่ยังไม่มีนะครับ แต่เป็นเพราะการแบ่งชนชั้นของผู้คนที่มีมากและหยั่งลึกลงไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตต่างหาก ที่ทำให้การเผาศพแบบสมัยใหม่ไม่อาจเกิดขึ้นได้

จากเหตุผลทั้งสองประการดังกล่าว จึงเป็นคำตอบว่าทำไมคณะราษฎรจึงให้คำสำคัญกับโครงการสร้างฌาปนสถานอย่างแทบจะทันทีหลังการปฏิวัติ

เพราะนอกจากจะแก้ปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนแล้ว โครงการนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงแนวคิดเรื่องความเสมอภาคของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ผ่านวิธีการเผาศพแบบสมัยใหม่ที่ทำลายฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมาคือ แนวคิดในการสร้างฌาปนสถานของกรรมการชุดนี้ที่มีความล้ำสมัยอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะเป็นโครงการออกแบบสถานที่เผาศพเป็นการเฉพาะ โดยตำแหน่งของที่ตั้งนั้นไม่สัมพันธ์กับวัดโดยตรง ซึ่งหมายความว่า ฌาปนสถานตามแนวคิดของกรรมการชุดนี้จะกลายเป็นพื้นที่ที่แยกออกจากพื้นที่ทางศาสนาอย่างมาก

ความล้ำสมัยอย่างที่สุดอีกอย่างคือ รูปแบบสถาปัตยกรรมของฌาปนสถานที่ถูกออกแบบมานั้น เกือบทั้งหมดถูกออกแบบขึ้นด้วยรูปแบบ Art Deco ที่ก้าวหน้าอย่างมาก หากแบบสถาปัตยกรรมเหล่านั้นไม่ถูกอธิบายด้วยข้อความภาษาไทย เราคงนึกว่าเป็นอาคารที่จะสร้างขึ้นในยุโรปหรืออเมริกามากกว่า

ซึ่งรายละเอียดในประเด็นนี้ ขอยกไว้ไปสัปดาห์หน้านะครับ

ใต้ภาพ

ฌาปนสถาน แบบที่ 2 ข พ.ศ.2478