กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร : “หมึกแดง”

www.facebook.com/eightandahalfsentences

“นี่คุณ ขี้เกียจ หรือ โง่ กันแน่” (Are you just lazy or incompetent?)

ลองนึกภาพว่า คุณส่งงานให้ “หัวหน้า” คุณ ด้วยความ “ภาคภูมิใจ”

แล้วโดน “สวน” ด้วยคำพูดเช่นนี้

คุณจะรู้สึกอย่างไร

หัวหน้าคนนี้ คือผู้ใดกันหนอ ช่างใจร้าย ราวกับออกมาจาก “ประตูนรก”

แผดเผา “ความมั่นใจ” ของเราให้ระเหิดหายไปในอากาศได้อย่างรวดเร็ว

ด้วย “คำติ” ที่ดูรุนแรง ไม่สมเหตุสมผล

เราคงเคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า “ติเพื่อก่อ” มาหลายครั้งหลายครา

ติเพราะความหวังดี ติด้วยความห่วงใย

หวังจะก่อร่างสร้างลูกน้องให้มีความสามารถอย่างที่หัวหน้าต้องการ

แต่หลายครั้ง “คำติ” ของหัวหน้าหลายๆ คน

กลับให้ผล “ตรงกันข้าม”

จนกลายเป็น ปัญหาสุด “คลาสสิก” ของที่ทำงานไปแล้วก็ว่าได้

เมื่อสมัยที่ผมเรียนปริญญาโทบริหารธุรกิจอยู่ที่ “อเมริกา”

วิชาหนึ่งที่ชอบมากมีชื่อว่า “ผู้นำสมรรถนะสูง (High-Performance Leadership)”

สอนโดยอาจารย์ชื่อดังรุ่นเก๋าของคณะ “เดวิด แบรดฟอร์ด”

เขาบอกว่า “ผู้นำ” ที่สามารถสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้

นอกจากมี “วิสัยทัศน์ (Vision)” และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี (Lead by Example) แล้ว

จะต้องให้ “คำติชม (Feedback)” เป็นด้วย

เรื่องของ “วิสัยทัศน์” นั้น ต้องยอมรับว่า ค่อนข้างเป็น “ความสามารถส่วนตัว” อยู่พอประมาณ

เลียนแบบกันค่อนข้างยาก ตัวอย่างเช่น

“แลรี่ เพจ” เจ้าของกูเกิล ที่คิดจะสร้าง “รถยนต์ไร้คนขับ” หรือ

“อีลอน มัสก์” เจ้าของ สเปซ เอ็กซ์ (SpaceX) ที่อยากพาคนไป “ดาวอังคาร”

ดู “บ้าบอ” ดูไม่เป็นความจริง คิดได้ไงหว่า

เป็นวิสัยทัศน์ส่วนบุคคล

ในทางตรงข้าม

การให้ “คำติชม” ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่างของ “ผู้นำ” นั้น

สามารถ “ฝึกฝน” ได้ครับ

จะแปลกมั้ยครับ ถ้าผมจะบอกว่า ทักษะ “การให้คำติชม” ไม่ได้เริ่มจาก “การให้คำติชม”

แต่เริ่มจากการสร้าง “ความเชื่อใจ”

คุณมีมั้ยครับ สักคนที่คุณพร้อมจะ “เชื่อ” ในสิ่งที่เขาบอก

ใจคุณ “เปิด” ตั้งแต่ก่อนจะเดินเข้าไปหาเขาแล้ว

คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู คุณหมอ หรือ “หัวหน้า” คนไหนเขาทำให้เรา “เชื่อใจ” ทำให้ใจของเรา “เปิด” พร้อมรับ “ความคิดเห็น” ของเขา ที่มีต่อ “เรา”

ถ้าเป็น คุณพ่อ คุณแม่ ที่เราอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต

ความเชื่อใจ เกิดจาก “เวลา” ที่ใช้ร่วมกัน

ถ้าเป็น คุณหมอ คุณครู ความเชื่อใจเกิดจาก “ความรู้” ในสายอาชีพ

แต่ถ้าเป็น “หัวหน้า” งาน อาจจะมีความ “ซับซ้อน” มากกว่านั้น

อาจารย์ “แบรดฟอร์ด” ให้คำแนะนำว่า

การสร้างความเชื่อใจ เหมือน “การฝากเงินในธนาคาร” ครับ

เงินที่เราฝาก เปรียบเสมือน “ความรู้สึกดีๆ” ที่มีร่วมกัน

การถอนเงิน เปรียบเสมือน “ความลำบากใจ” ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แต่ละครั้ง

การให้ “คำติ” ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่าง “ความลำบากใจ” ที่ต้องเกิดขึ้น “ระหว่าง “หัวหน้า” และ “ลูกน้อง”

เรียกว่าเป็น “ความจำเป็น” ก็ว่าได้

ถ้าเราไม่มี “เงินฝาก” ในธนาคารเลย การ “ถอนเงิน” คงจะเป็นไปไม่ได้

เหมือนกับว่า ไม่เคยมีความรู้สึกดีๆ ให้กันเลย ไม่เคยไปกินข้าวกัน ไม่เคยไปเที่ยวกัน ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยช่วยเหลือกัน

การจะให้ “คำติ” ที่เป็นเหมือนการ “ถอนเงิน” นั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก

เพราะ “ความเชื่อใจ” ยังไม่เกิด

แต่ถ้าฝาก “ความรู้สึกดีๆ” ให้กันบ่อยๆ แสดงความชื่นชม ไปทานข้าว ไปเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำ คำปรึกษา

ก็เหมือนฝากเงินไว้ “เต็ม” ธนาคาร

พอจะถอนออกมาสักหน่อย ด้วยการ “ติ” เพื่อก่อ

ก็คงจะไม่ได้ทำร้ายความรู้สึกกันมากมาย

สถิติที่น่านำไปลองใช้คือ จะติใครได้สักครั้ง คุณควรมั่นใจว่า “ทำดี” กับเขาแล้ว “ห้า” ครั้ง

หรือว่า “ห้าต่อหนึ่ง” นั่นเอง

เหมือนหยด “หมึกแดง” ลงไปในแก้วที่ใส่น้ำเปล่า

จะให้หมึกแดง “เจือจาง” ลง ก็ต้องใส่น้ำเปล่าเพิ่มมากหน่อย

ฝรั่งบอกไว้ “bad is stronger than good”

คนเรามักจำเรื่อง “ไม่ดี” แม่นกว่าเรื่องดีๆ

หมั่น “ทำดี” สร้าง “ความเชื่อใจ” ให้บังเกิด

คือ ก้าวแรกของการให้คำ “ติ” อย่างมีประสิทธิภาพ

สมมุติว่า วันฝนตกวันหนึ่ง คุณมาทำงานสาย

หัวหน้าเรียกคุณเข้าไปพบแล้ว บอกคุณว่า

“คนอื่นยังมาตรงเวลา ทำไมคุณมาไม่ได้ อย่าขี้เกียจสิ พี่หวังดีนะ ถึงได้เตือน”

คุณจะรู้สึกอยาก “ปรับปรุง” ตัวมั้ย

ทีนี้ลองใหม่กับ “หัวหน้า” อีกคนหนึ่ง สถานการณ์เดียวกัน

เขาเรียกคุณไปพบในห้อง แล้วบอกคุณว่า

“พี่เห็นว่าเรามาสายเป็นครั้งที่สองแล้วนะ พี่ก็เลยไม่ค่อยสบายใจ

พี่ไม่แน่ใจว่า พี่สื่อสารไม่ดี หรือว่าเรางานหนักไป

เรื่องการมาทำงานตรงเวลา จะส่งผลดีกับตัวน้องเองในระยะยาว

พี่พอช่วยอะไรได้บ้างมั้ย ให้เรามาทำงานได้ตรงเวลา”

รู้สึกแตกต่างมั้ยครับ

เฉลย ความต่างอยู่ที่ “การล้ำเส้น”

คนแรก “ล้ำเส้น” ไปตัดสิน “นิสัย” ของลูกน้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น

คำว่า “ขี้เกียจ” เป็นการเหมารวม ตีตรา ว่าคนคนนี้ เป็นแบบนี้ เป็น “การตีความ” ไม่ใช่ “สิ่งที่เกิด”

การตีความไปเอง ว่าเป็น “นิสัย” เช่น ขี้เกียจ เห็นแก่ตัว ไม่จริงใจ ไม่ตรงไปตรงมา

สิ่งเหล่านี้ เป็นการ “ตีตรา” ลักษณะของคนแบบ “เหมารวม”

มักจะนำไปสู่การ “ปิดใจ” และการ “ทะเลาะ” ตามมา

คนที่สอง “ไม่ล้ำเส้น” พูดเพียงสิ่งที่เห็น หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรม”

“ผมเห็นคุณมาสายสองครั้งแล้ว” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้

ตามด้วย “ความรู้สึก” ของเราเองว่า “ไม่สบายใจ”

แสดงให้เห็นถึง “ผลกระทบ” ของพฤติกรรมของลูกน้อง ต่อ “หัวหน้า” โดยตรง

พร้อมยินดีเสนอตัวช่วยเหลือ เป็นส่วนหนึ่งในการ “แก้ปัญหา” ของลูกน้อง

คนที่สอง ไม่ “ตัดสิน” ตัวบุคคล พูดเพียง “สิ่งที่เห็น”

เป็นการให้คำ “ติ” ที่ตรงไปตรงมา แต่ไม่ “ล้ำเส้น”

ไม่นำไปสู่การ “ทะเลาะ” แต่นำไปสู่การร่วม “แก้ปัญหา”

“ความเชื่อใจ” ผนวกกับการ “ไม่ล้ำเส้น” คือ “เสาเข็ม” ของการให้คำ “ติชม” ที่มีประสิทธิภาพ

ลองเอาไปใช้กันได้ครับ

กลับมาที่ คำติ “ยอดแย่” ในตอนต้น

ว่า “ตกลงเอ็ง ขี้เกียจ หรือ โง่ กันแน่”

ซึ่งผิดหลักการข้างต้นที่กล่าวมาอย่างสิ้นเชิง

“ล้ำเส้น” ไปสิบช่วงตัว

ผู้พูดตัวจริงคือ “เจฟ เบซอส” จอมโหด เจ้าของบริษัทอเมซอน

บริษัทซึ่งไม่เคยได้รับรางวัล “พนักงาน” มีความสุขเลย แม้แต่ครั้งเดียว ไม่ว่าธุรกิจจะก้าวกระโดดแค่ไหนก็ตาม

แตกต่างจาก “กูเกิล” ที่ได้รางวัล “ผู้จ้างงานเยี่ยมยอด” หลายครั้งหลายคราจากนิตยสาร “Forbes”

ผู้นำที่ดี คือ ผู้ที่พัฒนาผู้นำรุ่นต่อไปได้สำเร็จ ผ่านคำแนะนำ “ติชม” ปลุกปั้น

“คำติ” จะเป็น “ยาขม” ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

หรือ ยาพิษ ทำลาย “ความมุ่งมั่น” ให้มอดม้วย

ท่านผู้นำ “ปรุง” ได้ตามใจชอบครับ