คือ เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ : ประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2477/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

คือ เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ

: ประกวดนางสาวสยามในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2477

 

นักหนังสือพิมพ์ฮั่วเฉียวเยอะเป้าบันทึกว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญของประเทศสยามนับเป็นงานมโหฬารและสำคัญอย่างยิ่งของชาติ”

(วูจงแฟน, 2477)

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริงของพลเมืองอย่างแท้จริง เป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้เหล่าพลเมืองเชื่อมต่อเข้ากับการปกครองระบอบใหม่ที่กำเนิดขึ้น และเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ไทยเคยจัดมา และไม่เคยมีงานไหนที่ใหญ่โตขนาดนี้มาก่อนจวบต้นสงครามเย็น

ดังนั้น งานฉลองรัฐธรรมนูญจึงเป็นงานรื่นเริงที่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง และสร้างความตื่นตัวให้กับเหล่าพลเมืองเป็นอย่างมากในการจัดงาน ในแง่การสนับสนุน การบริจาค และความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของต่องาน (ปรีดี หงษส์ต้น, 2562)

ภายหลังเมื่อรัฐบาลสร้างรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแจกจ่ายทุกจังหวัดในปี 2477แล้ว กิจกรรมงานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัดเริ่มต้นคึกคักมาก ทางจังหวัดจะอัญเชิญรัฐธรรมนูญฉบับจำลองแห่เลียบไปรอบเมือง มีข้าราชการ ประชาชน นักเรียนและลูกเสือในขบวนแห่ มีงานรื่นเริงออกร้านของหน่วยราชการและเอกชนแล้วยังมีการแสดงปาฐกถาเผยแพร่รัฐธรรมนูญของบุคคลสำคัญของจังหวัด

อันสะท้อนถึงความพยายามในการเผยแพร่ความรู้การปกครองระบอบใหม่ให้แก่พลเมืองตามหัวเมืองทราบ

โดยแม่งานการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญในต่างจังหวัด คือ สมาคมคณะรัฐธรรมนูญของแต่ละจังหวัด โดยสมาคมถูกจัดตั้งในปี 2477 ต่อมามีขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ภารกิจสำคัญของสาขาสมาคมคือ การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญตามต่างจังหวัดเป็นประจำทุกปี และนำรายได้จากงานฉลองรัฐธรรมนูญไปใช้ในกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์

(ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2562,42)

แววตา รอยยิ้ม ความผ่อนคลายสะท้อนอิสระและความหวังของสตรีไทยหลัง 2475 เครดิตภาพ น้องนนท์

แห่รัฐธรรมนูญเลียบพระนคร-ธนบุรี

: ฉลองทั่ว 3 ภพ

ด้วยเหตุที่งานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2477 จัดทำสมุดกำหนดการเป็นปีแรก จึงเป็นหลักฐานชั้นต้นที่ทำให้การศึกษางานรื่นเริงของพลเมืองที่มีชื่อเสียงนี้สามารถศึกษาได้ในรายละเอียดมากยิ่งขึ้นได้ ทั้งนี้ งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้เป็นงานร่วมกันของกรุงเทพฯ และธนบุรี มีงาน 5 วัน ตั้งแต่ 8-12 ธันวาคม แบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ภาค ดังนี้

“ขบวนแห่ทางบก” เริ่มเวลาบ่ายโมง วันที่ 8 ธันวาคม ซึ่งเป็นงานวันแรกด้วยขบวนแห่ทางบก โดยสมาชิกสภาผู้แทนฯ กรุงเทพฯ อัญเชิญรัฐธรรมนูญฉบับจริงจากพระที่นั่งพุทธไธสวรรค์ ขึ้นรถม้ากองเกียรติยศจากขบวนแห่จากกระทรวงทบวงกรม ขบวนอาวุธยุทโธปกรณ์ ขบวนแห่ของกรรมกร กสิกร พ่อค้า ประชาชน และสมาคมสโมสรต่างๆ

โดยริ้วขบวนเริ่มจากอนุสาวรีย์ทหารอาสา เลียบไปยังถนนราชดำเนินกลาง ถนนมหาไชย ถนนตรีเพชร ข้ามสะพานพุทธ เข้าถนนพระปกเกล้าฯ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนลาดหญ้า อ้อมวงวียนใหญ่ ข้ามสะพานพุทธกลับมา เข้าถนนตรีเพชร ถนนเจริญกรุง ถนนสนามไชย ถนนพระจันทร์ สนามหลวง มีแถวนักเรียนหญิงชาย ลูกเสือให้การต้อนรับ มีการมอบรัฐธรรมนูญให้ข้าหลวงประจำพระนคร โดยผู้แทนราษฎรกล่าวสุนทรพจน์ มีการประกวดแต่งรถขบวนแห่รัฐธรรมนูญอีกด้วย

บนท้องฟ้าพระนครวันนั้น มีเครื่องบิน 18 ลำทิ้งพวงมาลัย รวม 180 พวงสักการะรัฐธรรมนูญ

สำหรับ “ขบวนแห่ทางน้ำ” มีในวันที่ 10 ธันวาคม เริ่มขบวนเรือจากวัดราชาธิวาส เมื่อถึงบางซื่อแล้วล่องกลับมายังแถบถนนตก แล้ววกกลับมาที่ท่าราชวรดิษฐ์ พร้อมเชิญรัฐธรรมนูญขึ้นบุษบกเรืออนันตนาคราชที่จอดกลางน้ำ มีการประกวดเรือขบวนแห่ ตกค่ำมีเห่เรือ ให้ประชาชนขึ้นชมสักการะรัฐธรรมนูญ มีจุดพลุฉลองในยามค่ำ

กันยา เทียนสว่าง นางสาวสยามคนแรก 2477

งานรื่นเริงของพลเมือง

และระบอบใหม่ให้โชค

ที่สวนสราญรมย์นั้นมีงานออกร้านประกวดงานฝีมือ เต้นรำลีลาศวอลซ์ ร้านแสดงกิจการของรัฐบาล ร้านสมาคม สโมสร ร้านทหารบก ทหารเรือ ร้านของผู้แทนฯ กรุงเทพฯ และธนบุรีจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ร้านแสดงสินค้าไทยและต่างประเทศ ร้านแสดงงานฝีมือนักเรียนประชาบาลกรุงเทพฯ และธนบุรี และการจัดแสดง “ไร่นาผสม” ของจังหวัดปทุมธานี

มีการประกวดการแต่งร้านที่สวนสราญรมย์แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.สวยงาม 2.จูงให้ระลึกถึงชาติและรัฐธรรมนูญ และ 3.แปลก และที่อาคารสโมสรคณะราษฎรมีการประกวดเต้นรำ ที่สร้างความครึกครื้นและเป็นการฝึกฝนหนุ่มสาวแห่งระบอบใหม่ให้รู้จักสังสรรค์ในพื้นที่สาธารณะด้วย

ส่วนงานที่ท้องสนามหลวง มีมหรสพต่างๆ เช่น โขนหลวง ประชันงิ้วยี่ห้อตงเจ๊กกี่เฮียงกับลำไซฮั้ว เพลงของนางอิน ละครรำและหุ่นกระบอกของนายไข่ ระบำจำอวดของนายแฉล้ม ภาพยนตร์จากบริษัทบูรพาและน่ำแช แคนวงของ ส.ต.ท.น้อม ฯลฯ เล่นจนถึงเที่ยงคืนทุกวัน มีการเปิดหอสมุดพระนครและพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนชมเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ มีการออกสลากในวาระพิเศษในงานฉลองรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งนี้ ฉลากพิเศษงานฉลองรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นครั้งแรกในงานฉลองปี 2476 มีวัตถุประสงค์ระดมหาทุนอุดหนุนการเผยแพร่รัฐธรรมนูญ (สวรรคยา มงคลวรเดช และศิริพร ดาบเพชร, 2563, 162-163) มีจำนวนขายวันละ 5 หมื่นฉบับ ฉบับละ 1 บาท มีการออกสลากทุกวัน โดยรางวัลที่ 1 มีมูลค่า 10,000 บาท และรางวัลอื่นๆ ลดลั่นลงไป คิดเป็นมูลค่ารางวัลครึ่งหนึ่งของยอดขาย

รายได้จากการขายสลากแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ให้การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญและกองทัพ อีกส่วนแบ่งให้กับกิจกรรมเผยแพร่รัฐธรรมนูญ คือ สมาคมรัฐธรรมนูญ สมาคมรัฐธรรมนูญกรุงเทพฯ สมาคมธนบุรี และสโมสรคณะราษฎรเท่าๆ กัน

ในวันที่ 9 ธันวาคม มีการวิ่งทนระยะทาง 7,000 เมตร แข่งขันตะกร้อ แข่งขันหมากรุกระหว่าง ส.ส.กรุงเทพฯ กับธนบุรี แข่งชกมวย เป็นต้น

สลากกินแบ่งบำรุงงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2479

สตรีไทยคือมิ่งขวัญประชาธิปไตย

ท่ามกลางบรรยากาศของความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิงที่เกิดขึ้น นักหนังสือพิมพ์บันทึกว่า เขาเคยได้ยินมาว่า “คนสวยอยู่ที่โพธาราม คนงามมีอยู่ที่บ้านโป่ง” เหมือนอย่างเมืองจีนที่มีนครโซวจิว แต่เมื่อจีนปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว คนสวยมิได้มีอยู่ที่โซวจิวเท่านั้น แต่มีอยู่ทั่วจีน เพราะการศึกษาเจริญขึ้น ผู้คนทั้งชายหญิงมีสิทธิเสรีภาพและความรู้สามารถจัดการตนเองให้งดงามตามแบบสากลได้เฉกเช่นเดียวกับคนงามของสยามย่อมกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้ว

เขาเล่าว่า เพื่อนของเขากังวลว่า การประกวดนางงามคงไม่ได้คนงามเลิศตัวจริงเพราะหญิงไทยส่วนใหญ่ขี้อายไม่กล้าแสดงออก แต่เขากลับเห็นว่า

“สุภาพสตรีไทยที่ได้รับการศึกษาสมัยนี้ย่อมจะทราบดีว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นอันพ้นสมัยเสียแล้ว และสมัยนี้เป็นสมัยแห่งประชาชาติทั้งหลายต่างอวดความดีงามต่างๆ แห่งประเทศของตน ก็การประกวดนี้มิใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของผู้ใด แต่เพื่อเกียรติยศของท้องถิ่นซึ่งเป็นภูมิลำเนาและเป็นเกียรติยศของประเทศชาติ” (วูจงแฟน, 2477, 17)

นอกจากการประกวดจะเป็นแสดงเกียรติคุณของสตรีไทยแล้ว ยังประกาศเกียรติของชาติด้วย เนื่องจากขณะนั้นมีการประกวดนางงามโลก อีกทั้งไทยเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติด้วย ดังนั้น ไทยจึงต้องการส่งตัวแทนประเทศประกวดด้วยเช่นกัน (กุหลาบ นพรัตน์, 2477, 29)

สำหรับกิจกรรมประกวดนางงามในงานฉลองรัฐธรรมนูญเริ่มประกวดนางสาวธนบุรีก่อนในคืนวันที่ 8 ธันวาคมที่สวนสราญรมย์ วันถัดมาประกวดนางสาวพระนคร และมีประกวดนางสาวสยามในวันที่ 12 ธันวาคม ด้วยเหตุที่การประกวดนางสาวสยามไม่เคยมีมา และเมื่อสตรีไทยมีความเสมอภาค งานประกวดนี้จึงได้รับความสนใจจากสังคมมาก

กันยา เทียนสว่าง (2457-2503) คือนางสาวสยามคนแรกที่ได้รับรางวัลในวันนั้น เธอจบการศึกษาจากสตรีวิทยา รางวัลที่เธอได้รับ คือ มงกุฎทำด้วยผ้ากำมะหยี่ปักดิ้นเงิน ขันเงินสลักชื่อ “นางสาวสยาม ๗๗” ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ เข็มกลัดทองคำลงยา อักษรว่า “รัฐธรรมนูญ ๗๗” ส่วนเงินสด 1,000 บาทนั้น ทางรัฐบาลขอรับบริจาคเพื่อบำรุงการทหารไป

กล่าวได้ว่า วัตถุประสงค์แรกเริ่มของกิจกรรมประกวดนางสาวสยาม คือ เปิดพื้นที่ให้สตรีแสดงสิทธิสำแดงตัวตนในสังคมใหม่พร้อมแสวงหาสัญลักษณ์ที่เป็นศรีสง่าแก่ระบอบประชาธิปไตยและชาติ และค่อยๆ พัฒนารูปลักษณ์และความหมายจนกลายเป็นเทพีแห่งรัฐธรรมนูญในต้นทศวรรษ 2480 ในที่สุด

คติเทพีแห่งรัฐธรรมนูญค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนเห็นชัดเจนในต้นทศวรรษ 2480 ภาพแรก 2481 ภาพหลัง 2483